Skip to main content
sharethis

8 ส.ค.55 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า ทางเอฟทีเอ ว็อทช์ได้ทำหนังสือถึงนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และสำเนาถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอคำชี้แจงในกระบวนการการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 จากการที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาว่าจะมีการเสนอรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ให้ได้ในเดือน ส.ค.นี้

เอฟทีเอ ว็อทช์ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่สร้างผลกระทบเสียหายกับสาธารณชนโดยรวม  รวมถึงต้องไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ดังนั้นกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานภาครัฐจึงต้องรักษาหลักการดังกล่าว โดยดำเนินการให้วิธีการในกระบวนการเจรจาทางการค้าฯ เป็นไปอย่างโปร่งใสและทำให้สาธารณชนเข้าใจ อย่างน้อยโดยการให้ความชัดเจนเกี่ยวกับข้อคำถามเบื้องต้นเหล่านี้

1.การที่กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบกรอบการเจรจาภายใน  ส.ค.นี้ ร่างกรอบเจรจาฯดังกล่าว จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ อย่างไร และเมื่อใด ก่อนหรือหลังการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตามมาตรา 190 วรรค 3 ระบุว่า “ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย” แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในส่วนของการให้ข้อมูลและการจัดรับฟังความเห็นประชาชน

2.ก่อนหน้านี้ นายวีระชัย นพสุวรรณวงศ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เคยระบุว่า สหภาพยุโรปต้องการให้ไทยจัดทำกรอบเจรจาความตกลงร่วม หรือ scoping exercises และต้องมีการลงนามใน scoping exercises ดังกล่าวก่อนเริ่มเจรจาจา กระบวนการดังกล่าวทางกรมฯได้มีการหารือกับกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแล้วว่า ถือเป็นกระบวนการเริ่มการเจรจาตามมาตรา 190 ขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการ scoping exercises กับทางสหภาพยุโรปหรือยัง หากดำเนินการแล้วเหตุใดจึงยังไม่มีการเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

3.ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) กำลังดำเนินการประเมินผลกระทบต่อการเข้าถึงยาที่อาจจะเกิดจาก ข้อต่อรองเรียกร้องจากอียู และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เหตุใดการเจรจาจึงไม่รอผลการรับฟังความเห็นและการประเมินผลกระทบครั้งนี้

4.การจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจะถูกนำเข้าไปพิจารณาในการจัดทำหรือปรับร่างกรอบการเจรจาอย่างไร กรุณายกตัวอย่างเนื้อหาและกระบวนการที่ชัดเจน”

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปนั้น ข้อห่วงใยที่สำคัญอยู่ที่ข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงความรู้และกระทบต่อฐานทรัพยากรชีวภาพ

“แม้แต่ในการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและอินเดียก็ติดล็อคในประเด็นเหล่านี้ เพราะอินเดียไม่ยอม ล่าสุดแม้แต่สภายุโรปก็ยังรับไม่ได้กับเนื้อหาความตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์เช่นนี้ ด้วยการคว่ำ

ร่างความตกลงต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง หรือ Anti-Counterfeiting Trade Agreement เรียกย่อๆว่า ACTA ซึ่งมีเนื้อหาด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ใกล้เคียงกับข้อบทในเอฟทีเอ ดังนั้นการจะมุ่งเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปเพียงเพื่อแก้เกมส์การตัดสิทธิจีเอสพีจึงเป็นความคิดที่แคบและตื้นเขินมาก เพราะในที่สุดจะเกิดผลกระทบหากเราไม่มองการเจรจาเอฟทีเออย่างรอบด้านมากพอ”

ทั้งนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภคจะจัดเวทีสนทนา“จาก ACTA ถึง FTA: รูปแบบใหม่ของการผูกขาดอำนาจการค้า”ขึ้น เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเจรจาการค้าในระดับโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน และจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยต่อจุดยืนในนโยบายการค้าของประเทศ บ่ายวันจันทร์ที่ 13 ส.ค.นี้ ณ โรงแรมมิราเคิล

“อยากให้กระทรวงพาณิชย์มองการเจรจาเอฟทีเอทั้งผลได้และผลกระทบอย่างรอบด้าน ในเวทีเราจะนำเสนอผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจำเป็น ผลกระทบต่อการเข้าถึงความรู้ และผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงมองให้ทะลุยุทธศาสตร์ขยายอำนาจทางการค้าของสหรัฐฯและสหภาพยุโรป โดยจะเชิญตัวแทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, กรมทรัพย์สินทางปัญญา,สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และตัวแทนนักกฎหมายมาร่วมแลกเปลี่ยน” กรรณิการ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net