Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


วิรุฬห์ สะแกคุ้ม 
 

“........ปัง ปัง ปัง...”

เสียงประทัดระรัวพร้อมประกายไฟระยับ เปลือกหุ้มสีแดงปลิวว่อน ขณะกลุ่มควันคละคลุ้งทั่วอาณาบริเวณ สอดรับกับเสียงเฮและการปรบมือเกรียวกราวของผู้คนจำนวนหนึ่ง ดังมาจากบ้านพักรถไฟ ซึ่งเป็นอาคารไม้เก่าๆ รั้วลวดหนามบิดเบี้ยวสนิมเขรอะ ตรงซอยเล็กๆ หน้าห้างโรบินสัน ข้างสถานีรถไฟหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในช่วงสายก่อนเที่ยงของวันที่ 26 กรกฎาคม 2555

ป้ายเหล็กระบุว่า อาคารไม้หลังนั้นเป็นสถานที่ทำการของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (หาดใหญ่) The State Railway Worker Union Of Thailand SRUT-HY ขณะที่อีกด้านหนึ่งขึ้นป้ายร้านค้าสวัสดิการ สร.รฟท. SRUT 6&7 WWW.SRUT6–7.COM  มีภาพลูกศรชี้ไปยังอาคารไม้เก่าๆ ของที่ทำการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาภาคใต้ (หาดใหญ่) ติดกันมีร้านมินิมาร์ทเล็กๆ กั้นด้วยกระจกใสแถบเขียว–ส้ม ปรากฏอักษร SRUT 6&7  นาม “SRUT SHOP”

“หลังจากผมถูกไล่ออกจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมา 3 ปีกว่า ทำให้ผมรู้จักคิด ทำให้ผมโตขึ้น เข้มแข็งขึ้น จากนายสถานีกิ๊กก๊อก ทำเท่อยู่ในสถานี ผมมีโลกทัศน์กว้างไกลมากขึ้น รู้จักเพื่อนพ้องแรงงานมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมต้องขอบคุณเพื่อนพ้องสหภาพฯ ที่ให้การสนับสนุนเรื่องเงินทุนและให้กำลังใจ”

เป็นคำพูดบนเวทีของ “นิตินัย ไชยภูมิ” อดีตนายสถานีบางกล่ำ ฝ่ายการเดินรถ หนึ่งใน 6 สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ ที่ถูกผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไล่ออก เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 พร้อมกับธวัชชัย บุญวิสูตร ช่างเครื่อง 5 สรวุฒิ พ่อทองคำ ช่างเครื่อง 5 สาโรจน์ รักจันทร์ ช่างเครื่อง 5 ประชานิวัฒน์ บัวศรี พนักงานรถจักร และวิรุฬห์ สะแกคุ้ม พนักงานรถจักร 6

“สหภาพแรงงานรถไฟรวมใจมารวมพลัง ตั้งใจพัฒนารถไฟ รถไฟไทยรับใช้ประชา ปกป้องไว้เพื่อมวลประชา  ชนชั้นคนงานรถไฟ ดุจดังเหล็กไหลแกร่งกล้า ...สู้ไปสู้ไป เอ้าสู้เข้าไป ชึ้กกะชั่กๆ...สหภาพแรงงานรถไฟรวมใจมารวมพลัง ตั้งใจพัฒนารถไฟ รถไฟไทยรับใช้ประชา ปกป้องไว้เพื่อมวลประชา”

ผู้ร่วมชะตากรรมทั้ง 6 คน ร่วมกันผสานเสียงร้องเพลงของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ท่ามกลางเสียงปรบมือให้กำลังใจจากเพื่อนพ้องสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มาร่วมงานเปิดร้านสวัสดิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย “ SRUT 6&7” กว่า 100 คน

ผู้มาร่วมงานในวันนี้ มีสาวิทย์ แก้วหวาน รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย สุพิเชษฐ สุวรรณชาตรี อดีตเลขานุการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็น 2 ใน 7 พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยส่วนกลางที่ถูกไล่ออก

นอกจากนี้ยังมีศุภวัฒน์ รัตนกระจ่าง กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย  และสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษาสหภาพฯ รวมอยู่ด้วย

วิรุฬห์ สะแกคุ้ม ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ บอกถึงวัตถุประสงค์ของการเปิดร้านค้าสวัสดิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย “SRUT 6&7” เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อาจจะถูกเลิกจ้างในอนาคต รวมทั้งที่ถูกเลิกจ้างไปแล้ว 6 คนที่หาดใหญ่ และอีก 7 คนที่ส่วนกลาง

ร้านค้าแห่งนี้ใช้งบประมาณเพียง 200,000 บาท ระดมทุนมาจากเพื่อนชาวสหภาพแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำมาใช้ปรับปรุงสถานที่และซื้อสินค้ามาจำหน่าย

สาวิทย์ แก้วหวาน ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดร้านค้าสวัสดิการแล้ว 2 สาขาคือ ที่กรุงเทพมหานครและหาดใหญ่ โดยกำไร 80% ส่งเข้ากองทุนสวัสดิการ และอีก 20% เป็นค่าจ้างผู้บริหารร้านค้า

“พนักงานรถไฟทั้ง 13 คน ถูกไล่ออกแล้วก็จริง แต่ก็ยังทำงานกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เงินเดือนคนละ 7,000 บาท ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก เราอยู่ได้ด้วยอุดมการณ์ เราต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า เราเรียกร้องเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม

วิรุฬห์ สะแกคุ้ม ที่ปัจจุบันดำรงสถานะเป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ เท้าความถึงเหตุการณ์อันเป็นจุดหักเหสำคัญในชีวิตว่า เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 อันเป็นวันที่ขบวนรถด่วนที่ 84 (ตรัง–กรุงเทพมหานคร) ตกรางที่สถานีเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 84 คน

หลังเกิดเหตุการณ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย มีมติให้หยุดเดินรถเพื่อตรวจสอบความพร้อมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก่อนนำออกมาปฏิบัติงาน

จากการตรวจสอบพบระบบความปลอดภัยของรถจักรไม่สมบูรณ์ถึง 12 รายการ เช่น สปีดมิเตอร์ควบคุมความเร็ว ระบบเกจ์วัดรอบ ระบบเดทแมนหรือระบบหยุดรถขณะคนขับหลับใน รวมทั้งที่ปัดน้ำฝน เป็นต้น จึงเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ซ่อมหัวรถจักรให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก่อนนำมาออกมาใช้งาน พร้อมกับขอให้นำหัวรถจักรชนิดพิเศษกลับมาใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะเกรงว่าอาจจะเกิดกรณีรถไฟตกราง ก่อให้เกิดความเสียหายผู้โดยสารบาดเจ็บล้มตายขึ้นมาอีก

ต่อมา วันที่ 27 ตุลาคม 2552 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีคำสั่งไล่ออกกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ 6 คน กล่าวหาว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ทั้งยังขออำนาจศาลแรงงานกลางให้มีคำสั่งเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์อีก 7 คน ประกอบด้วย สาวิทย์ แก้วหวาน ภิญโญ เรือนเพ็ชร บรรจง บุญเนตร์ ธารา แสวงธรรม เหลี่ยม โมกงาม สุพิเชษฐ สุวรรณชาตรี และอรุณ ดีรักชาติ

กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย อ้างว่าถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติยืนตามคำสั่งไล่ออกของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ต่อมากรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งระเทศไทย หาดใหญ่ ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี วันที่ 15 มกราคม 2553 คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มีมติว่าคำสั่งเลิกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นคำสั่งมิชอบ ให้รับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้ง 6 คน กลับเข้าทำงานภายใน 30 วัน

การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมกับร้องให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และขอคำสั่งศาลคุ้มครองไม่รับกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยกลับเข้าทำงาน จนกว่าคดีถึงที่สุด

กระทั่งปี 2553 ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่ให้รับกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ทั้ง 6 คนกลับเข้าทำงาน

ส่วนกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย ร้องศาลแรงงานกลางให้มีคำสั่งเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 7 คน พ้นจากการเป็นพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเลิกจ้างได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับระเบียบ พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 7 คน จำนวน 15 ล้านบาท

การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงมีคำสั่งเลิกจ้างทั้ง 7 คน ในเวลาต่อมา

จากนั้นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่นำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการการรถแห่งประเทศไทยพิจารณา โดยอ้างว่าผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย มีอำนาจสั่งเลิกจ้าง

พร้อมกับมอบอำนาจให้รองผู้ว่าการการรถไฟการรถไฟแห่งประเทศไทย ฟ้องสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เรียกค่าเสียหายจากการหยุดเดินรถเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 เป็นเงิน 80 ล้านบาท ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาว่า สหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยได้กระทำการเพื่อประโยชน์สาธารณะมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง

ขณะนี้ สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ ที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 6 คน และกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ถูกเลิกจ้างอีก 7 คน ได้ยื่นฎีกาต่อศาลแรงงานกลาง

“ตอนนี้พนักงานรถไฟที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 13 คน มั่นใจว่าพวกเราจะชนะ การต่อสู้ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยยังต้องดำเนินต่อไป เพราะปัจจุบันสภาพหัวรถจักรยังอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์พร้อมจะให้บริการ”

เป็นถ้อยยืนยันจากปากของที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ นาม “วิรุฬห์ สะแกคุ้ม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net