Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิธีหนึ่งที่เราจะสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมคนไทยจำนวนหนึ่งเชื่อและยึดมั่นใน ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ อย่างที่ตรวจสอบและวิพากษ์ไม่ได้ นั่นคือการมองความเชื่อและการยึดมั่นของคนเหล่านั้นต่อสถาบันกษัตริย์และในหลวงผ่านมิติทางศาสนา

ในสังคมที่ผู้คนจำนวนมิน้อยเชื่อว่านักการเมืองส่วนใหญ่นั้นโกงกิน เลวและเห็นแต่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง (ซึ่งเป็นผลพวงของสังคมที่สามารถตรวจสอบวิพากษ์นักการเมืองได้มากขึ้นเป็นลำดับ) ผู้คนจำนวนไม่น้อยถวิลหาความดีและคนดีแบบมิต้องสงสัยหรือถ้าสงสัยก็ต้องถูกห้ามมิให้วิพากษ์หรือแสดงข้อกังขาสงสัยในที่สาธารณะ การยึดมั่นยกย่องให้สถาบันกษัตริย์และในหลวงเป็นสถาบันและบุคคลที่ดีเหนือความสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้นจึงมีมิติทางศาสนาเหมือนผู้เคร่งครัดหรือยึดติดกับศาสนา (religious extremism and fundamentalism) ที่จะยอมให้ศาสนาและพระเจ้าของพวกเขาถูกผู้ใดหมิ่นหรือวิพากษ์วิจารณ์มิได้เพราะความ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ จะลดลงหรืออาจหมดไปหากปล่อยให้ความเชื่อของพวกเขาและสถาบันฯ รวมถึงผู้ที่พวกเขายึดมั่นถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์ได้

หากการบูชาสถาบันกษัตริย์เป็นศาสนาและกษัตริย์เป็นดุจพระเจ้าในสายตาผู้ที่รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง คำสอนของในหลวง หรือพระราชดำริที่รวมเป็นเล่มๆ และมีขายตามร้านหนังสือทั่วไปย่อมไม่ต่างจากพระคัมภีร์ที่สื่อกระแสหลักไม่ว่าทีวี วิทยุหรือหนังสือพิมพ์มักนำมาผลิตซ้ำๆ ซ้ำๆ ซ้ำๆ และถี่ๆ อย่างไม่มีวันพอเพียง

ในศาสนาที่มีพระผู้เป็นเจ้าแต่พระองค์เดียว ย่อมต้องมีซาตาน

ซาตานในอดีตยุคสงครามเย็นอาจเป็นพรรคคอมมูนิสต์ แต่ทุกวันนี้ซาตานในสายตาคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงได้แก่ ทักษิณ ชินวัตร และคนเสื้อแดง รวมทั้งคนที่ไม่เอา ม.112 หรือเท่าทันสถาบันฯ กษัตริย์ ซึ่งก็ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกล้มเจ้าล้มสถาบันฯ อันเป็นศาสนาหรือลัทธิของผู้รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงไปเสียแล้ว

การปฏิบัติตนเป็นคนดีในศาสนาบูชาเจ้า สามารถกระทำได้โดยการล่าแม่มดทางอินเทอร์เน็ต อย่างที่เคยกระทำกับสาวน้อยที่ใช้นามแฝงว่า "ก้านธูป" หรือกับคนอย่างนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ที่ปฏิเสธที่จะยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง

การตอกย้ำแสดง ‘ความรัก’ และจงรักภักดีถี่ๆ ซ้ำๆ อย่างไม่รู้จักพอเพียงก็ถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่มีมิติทางศาสนาชนิดหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติยิ่งทำก็ยิ่งรู้สึกอิน (involved) หรือมีความรู้สึกร่วมกับความเชื่อที่เหมือนศาสนาของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากคนไปนั่งทำสมาธิหรือทำบุญสักเท่าไร (ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ของการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมทางอินเทอร์เน็ตในเฟซบุ๊ก คือปรากฏการณ์ภาพของเมฆที่คล้ายภาพถ่ายในหลวงที่ทรงถือวิทยุสื่อสาร ซึ่งมีคนกด Like มากกว่า 60,000 คน)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในหลวงเองยังเคยมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่าวิจารณ์พระองค์ได้ แต่บรรดาผู้รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงก็ยังสนับสนุนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) อย่างแข็งขันและต่อต้านการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ในทุกรูปแบบ – ทั้งนี้เพราะลึกๆ แล้วพวกเขาอาจเกรงว่าวันใดที่ข้อมูลต่างและข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับสถาบันฯ ถูกเผยแพร่ได้โดยไม่ผิดกฎหมายและประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ ภาพขาวดำดีชั่วแบบสุดขั้วที่พวกเขายึดมั่นดั่งเป็นสรณะทางศาสนาอาจได้รับผลกระทบและมันอาจกระทบต่อศรัทธาของคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเอง

แท้จริงแล้ว คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงมุ่งปกป้องความเชื่อของพวกเขาที่ดูเหมือนได้กลายเป็นศาสนาไปแล้ว ให้อยู่เหนือสิ่งอื่นใด เพราะมันช่วยให้คนเหล่านี้รู้สึกมั่นคงในความเชื่อของพวกเขา ที่พวกเขาเชื่อว่าสามารถช่วยจรรโลงใจเขาให้ดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความหมายและความภาคภูมิใจในสิ่งและคนที่ ‘ดี’ อย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ

และการพยายามตั้งคำถามใดๆ ก็มักจะทำให้บรรดาผู้รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงรู้สึกมีอารมณ์โกรธจนมักควบคุมตนเองมิได้ เพราะคำถามเหล่านั้นไปกระทบความเชื่อของพวกเขาที่พวกเขาไม่ต้องการให้มีการตั้งคำถามหรือสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net