Skip to main content
sharethis

เช้าวันนี้ 14 ส.ค.55 ที่โขงเจียม กับการหาปลา ด้วยมองซำ (มองหยั่ง) 

ไปเดินตลาดอำเภอโขงเจียม แม่ค้า-พ่อค้าคึกคักมาก และที่สำคัญมีปลาแม่น้ำจำนวนมาก แต่ละตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้น
และนี่เป็นผลที่เกิดจากการเปิดประตูเขื่อนปากมูล
 
ปลาแม่น้ำ สด สด ที่ตลาดโขงเจียม
 
ปลาโจก ที่ตลาดโขงเจียม
 
แม่น้ำมูนถูกปิดกั้นมานานตั้งแต่ปี 2537 ด้วยการสร้างเขื่อนปากมูล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
 
เขื่อนปากมูลใช้งบประมาณจากธนาคารโลกกว่า 240 ล้านดอลลาร์ (พ.ศ.2537) ในการก่อสร้าง แต่ได้กลายเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่มีอาชีพประมงเป็นอย่างมาก ขณะที่เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 20.81 เมกะวัตน์ต่อปีเท่านั้น
 
ทั้งยังกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งเรื่อง “เขื่อนกับการพัฒนา” ในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน... แต่ละปีชาวบ้านต้องไปร้องเรียนให้ กฟผ.มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูล 4 เดือน เพื่อให้ชาวบ้านได้หาปลา
 
สมัชชาคนจน (กลุ่มเขื่อนปากมูล) ร่วมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P Move ชุมนุมต่อเนื่องเพื่อให้รัฐบาลเร่งเจรจาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อเดือน ก.พ.54
 
ปี 2555 นี้ กฟผ.ดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล โดยลดระดับน้ำเขื่อนปากมูล ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.55 เป็นเวลา 10 วัน และเปิดบานประตูน้ำสุดบานทั้ง 8 บาน ในวันที่ 15 ก.ค.55
 
“ปลากระเบนน้ำโขง” น้ำหนัก 159 กิโลกรัม จับได้ที่แม่น้ำมูน แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง หลังจากเปิดเขื่อนได้ไม่กี่วัน นับเป็นสิ่งยืนยันว่า ปลาแม่น้ำโขงทั้งตัวเล็กและใหญ่ ต่างว่ายทวนน้ำขึ้นมาเพื่อมาขยายพันธุ์ในลำน้ำสาขา
 
 
วันที่ 13 ส.ค.55 เมื่อเวลา 9.00 น.ชาวบ้านวังสะแบงใต้ ซึ่งไหลมองไปได้ปลาฝาไล หรือปลากระเบนน้ำจืด ขนาดน้ำหนักโดยประมาณไม่ต่ำกว่า 120 กิโลกรัม ซึ่งปลาชนิดนี้ไม่ค่อยจะมีการจับได้บ่อยมากนัก ซึ่งหลังตกลงซื้อขายที่ท่าน้ำราคากิโลกรัมละ 100 บาท หากรอชั่งน้ำหนักอีกครั้ง ปลาตัวนี้คงมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท
 
“ปลากระเบน” ที่เราเห็นจากภาพนี้ มาจากรถบรรทุกเครื่องเสียงและเท้าของชาวประมงที่เดินออกไปเรียกร้องให้เปิดเขื่อนอยู่ทุกปี....
 
 
การจับปลากระเบนน้ำจืดขนาดใหญ่ตัวนี้ได้ บ่งชี้ให้เห็นถึงการกลับมาของปลาจากแม่น้ำโขง
 
บ้านวังสะแบงใต้แห่งนี้ห่างจากเขื่อนปากมูลโดยย้อนตามลำน้ำ ประมาณ 10-14 กิโลเมตร นั่นแสดงว่าปลาจากแม่น้ำโขงเดินทางเข้ามาสู่แม่น้ำมูนจำนวนมากแล้ว
 
 
เมื่อวันที่ 12 ส.ค.55 ลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ริมแม่น้ำมูนซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกน้ำท่วมในช่วงที่เขื่อนปากมูลปิดประตูน้ำแต่เวลานี้เมื่อเขื่อนเปิดประตูระบายน้ำ พื้นที่เหล่านี้ก็ได้โผล่พ้นน้ำกลายมาทำหน้าที่ในการเป็นแหล่งเลี้ยงวัว ควายของชาวบ้านอีกครั้ง
 
วัว ควาย กำลังกินหญ้าในพื้นที่ทาม
 
หากเขื่อนปากมูลไปเปิดประตูเขื่อน ชาวบ้านที่มีวัว ควาย ก็จะหาที่เลี้ยงยาก
 
ในช่วงนี้ที่เป็นฤดูการทำการเกษตร พื้นที่ซึ่งอยู่สูงขึ้นไป ที่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ในฤดูแล้งหรือช่วงที่ไม่มีการทำการผลิต พื้นที่เหล่านั้นก็จะเป็นแหล่งเลี้ยงวัว ควายของชาวบ้าน
 
ปีนี้เขื่อนปากมูล เปิดประตูเขื่อนทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำมูนโผล่พ้นน้ำ วัว ควาย จึงมีแหล่งอาหาร ที่สมบูรณ์
 
 
ภาพของการวางตาข่าย (มองซำ) ที่ดูเหมือนขยะ จำพวกโฟม และขวดพลาสติก ลอยเกลื่อนทั่วลำน้ำ นั่นคือทุ่นตาข่ายที่วางดักปลา ซึ่งมีจำนวนมากจนตาข่ายหลายผืนถูกวางซ้อนทับกัน
 
 
ที่สำคัญ ที่เขื่อนปากมูลยังมี “บันไดปลาโจน” ต้นแบบ ที่จะนำไปสร้างที่เขื่อนไซยะบุรีอีกด้วย...
 
สำหรับชาวบ้านที่ปากมูนผู้ได้รับผลกระทบ "เขื่อน" คือเครื่องมือควบคุมแม่น้ำให้อยู่ในมือของผู้มีอำนาจ และสร้างความลำบากให้ประชาชน
 
... เมื่อเปิดเขื่อนปากมูลใครว่าน้ำแห้ง นี่ของจริงครับ
 
 
.........................
 
หมายเหตุ: ติดตามสถานการณ์กรณีปัญหาเขื่อนปากมูลได้ที่ เปิดเขื่อน ปากมูล
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net