กะเทยแต่งหญิงรับปริญญา: ฤาจะได้ไม่คุ้มเสีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากกระแสข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม 2555 พาดหัวข่าวว่า “ธรรมศาสตร์ไฟเขียวบัณทิตชายแต่งหญิงรับปริญญาฯ” ในฐานะตนเองนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและความป็นธรรมทางเพศในมิติความหลากหลายทางเพศ (กะเทย ทอม ดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชายและเกย์) ต้องขอปรบมือและแสดงความชืมยินดีกับคุณบารมี พานิช หรือคุณเด่นจันทร์ที่ลุกขึ้นปกป้องและพิทักษ์สิทธิของตนเอง เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเพศ หากเมื่อพิจารณาการใช้เหตุผลอธิบายสนับสนุนเพื่อได้มาซึ่งสิทธิในแต่งกายที่เหมาะสมสำหรับตนเองหรือข้ามเพศนั้นจะพบว่ามีข้อสังเกตบางประการ กล่าวคือ

การใช้วาทกรรมทางการแพทย์อธิบายสนับสนุนว่า การเป็นกะเทย และหรือสาวประเภทสอง และหรือคนข้ามเพศ นั้นเป็นความเจ็บป่วยทางจิตที่ควรได้รับการบำบัดรักษาด้วยการแต่งกายข้ามเพศ นั้นขัดต่อหลักการยอกยาการ์ต้าว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (2551) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้มีการบีบบังคับผู้ใดให้รับกระบวนการทางการแพทย์ รวมถึงการผ่าตัดแปลงเพศ การทำหมัน การรักษาด้วยฮอร์โมน เพราะเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ได้มาซึ่งการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายให้นักศึกษากะเทยต้องมีใบรับรองทางการแพทย์เป็นหลักฐานในการยื่นเรื่องขอแต่งเครื่องแบบหญิง ทำให้กะเทยต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอมตกเป็นผู้ป่วยทางจิต

แท้ที่จริงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในวิถีชีวิตทางเพศของบุคคล เป็นสิทธิโดยชอบธรรม ติดตัวมาโดยกำเนิด ไม่สามารถพรากจากหรือรอนซึ่งสิทธิดังกล่าวได้ ดังนั้น กะเทยจึงมีความชอบธรรมในการกำหนดและบอกว่าตนเองเป็นเพศอะไร โดยไม่ต้องพึงความเห็นจากสถาบันทางการแพทย์

การระบุถ้อยคำ “ภาวะเพศสภาพได้ตรงกับเพศกำเนิด” เป็นถ้อยคำที่ถูกระบุในกฎกระทรวงกลาโหม เพื่อใช้ในการระบุในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (สด.43) เท่านั้น เพราะในอดีตที่ผ่านมากะเทยที่ผ่านกระบวนการเกณฑ์ทหารจะถูกระบุในใบ สด.43 ว่าเป็นโรคจิตวิกลจริตรุนแรงถาวร ดังนั้น ทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ร่วมกับมูลนิธิธีรนาถ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย และภาคีพันธมิตรจึงได้ร่วมกันสรรหาถ้อยคำ ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนจนได้ถ้อยคำว่า “ภาวะเพศสภาพได้ตรงกับเพศกำหนด” ซึ่งเป็นถ้อยคำในเชิงบวก เพื่อใช้ระบุแทนถ้อยคำเดิมที่มีความหมายเชิงลบ ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกระบวนการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ทางเพศภาวะและเพศวิถีก่อนการเกณฑ์ทหารนั้น กระทำโดยสถาบันการทางการแพทย์เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเพื่อยืนยันตัวตนทางเพศของกะเทย มิใช่ใช้ในการควบคุมและกำกับวิถีชีวิตกะเทยภายใต้นิยามของความเจ็บป่วยทางจิต

ผลกระทบระยะยาว ด้วยสังคมไทยยังไม่มีความรู้และเข้าใจเรื่องวิถีชีวิตทางเพศของกะเทย และองค์ความรู้ส่วนใหญ่ที่อธิบายเป็นองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่มองว่าเป็นความผิดปกติและเบี่ยงเบนทางจิต ปรากฎอยู่ในหลักสูตรสุขศึกษาและตำราทางการแพทย์ ซึ่งปราศจากการอธิบายในมิติสิทธิมนุษยชน สังคมและวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความรังเกลียดและกลัว ส่งผลให้เกิดการตีตราเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ สอดคล้องกับรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ปี 2547 – 2550 ในประเทศไทย (2552) โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึง สถานการณ์การตีตราและการเลือกปฏิบัติ การปฎิเสธการรับสมัครงาน กฎระเบียบตามสถาบันการศึกษาที่ห้ามนักเรียนแต่งชุดนักศึกษาข้ามเพศ การไม่อนุญาตให้แต่งกายผู้หญิงเข้าสอบ รวมถึงการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวมถึงในบางสาขาวิชาที่ไม่ได้ถูกระบุเป็นกฎระเบียบที่ชัดเจนแต่เพื่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสมัครเรียนจึงถูกปฏิเสธ เป็นต้น กะเทยมีอัตลักษณ์ที่เด่นชัด จึงมีแนวโน้มที่จะถูกกระทำความรุนแรงและเลือกปฏิบัติ และคุกคามทางเพศสูง ดังนั้น หากกะเทยจำยอมให้ถูกระบุว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต ถือเป็นการเปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสมัครงานหรือการศึกษาต่อในบางสาขาวิชา ที่มีระเบียบนโยบายไม่รับผู้มีอาการทางจิต

เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ “หยุดระบุคนข้ามเพศเป็นผู้ป่วยทางจิต (Stop Trans Pathologisation)” นำโดยสหภาพกะเทยยุโรป Transgender EU, The International Lesbian and Gay Association (ILGA Europe) และองค์กรกะเทยอีก 130 ประเทศทั่วโลก ได้เล็งเห็นความสำคัญว่า รากฐานแห่งความเกลียดชังกะเทย และหรือสาวประเภทสอง และหรือคนข้ามเพศ อันก่อให้เกิดการตีตรา การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ นั้น สาเหตุหลักมาจากสถาบันทางการแพทย์ที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตตัวตนของกะเทย จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้พร้อมกับรื้อสร้างองค์ความรู้ใหม่ว่า “กะเทยไม่ได้ป่วยทางจิต” เพื่อให้กะเทยได้มีความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตทางเพศของตนเองและลดการตีตราจากภายใน พร้อมสร้างความเข้าใจเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติทางสังคมที่มีต่อกะเทยและคนข้ามเพศในทางบวกต่อไป

ท่านผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมของเครือข่ายได้ที่ www.thaitga.com หรือในเฟซบุ๊ก www.facebook.com/thaitga

----------------------------------

เจษฎา แต้สมบัติ ปัจจุบันเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย กำลังระดับศึกษาปริญญาโท สาขาสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นผู้ช่วยผู้ประสานงานภาคีความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านเพศภาวะเพศวิถีและสุขภาพ (คอนซอร์เทียม)

----------------------------------

เอกสารอ้างอิง

รายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ปี 2547-2550 ในประเทศไทย, กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,  2552.
หลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2551.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท