Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่น่าแปลกใจอะไรถ้าวัยรุ่นไทยยุคใหม่อาจจะต้องประสบปัญหาพอสมควรกับการคิดด้วยตรรกะที่ใช้เหตุผลและข้อมูลต่าง ๆ ร่วมประกอบ เพราะในชีวิตจริงของเขานั้นไม่ค่อยได้เสพสื่อที่มีเนื้อหาแบบนั้น

ช่วงสองสามปีมานี้มีรายการวัยรุ่นผุดขึ้นตามสถานีดาวเทียมร่วมนับสิบรายการ กรอบกฎเกณฑ์หลาย ๆ อย่างที่ถูกควบคุมบังคับมิให้กระทำในหน้าสื่อฟรีทีวีค่อย ๆ ถูกท้าทายเนื่องด้วยไม่ค่อยมีใครสนใจตรวจสอบ เราจึงได้เห็นพิธีกรสาวประเภทสองแต่งตัวโป๊ ๆ ในรายการคุยข่าวเม้าท์ดาราตลอดชั่วโมง บ้างก็ขายสินค้าสรรพคุณเหลือเชื่อ ไปจนถึงดูดวงกันสด ๆ จะ ๆ ออกทีวีกันไปเลย

รายการทางทีวีดาวเทียมได้รับความนิยมเป็นอันมาก ยิ่งรายการวัยรุ่นด้วยแล้ว แต่ละบริษัททีมงานต่างขุดเอากลยุทธ์ใหม่ ๆ มาสร้างรายการแปลก ๆ เรียกความสนใจแก่คนดู บางสิ่งที่ดูห่าม ๆ หรือไร้สาระ ไม่สามารถนำเสนอได้ในช่องฟรีทีวีก็ได้ถือโอกาสอุบัติขึ้นมา

หนึ่งในรายการที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นเป็นอันมากได้แก่รายการ VRZO (วีอาร์โซ) กลยุทธ์นำเสนอน่าสนใจ โดยรายการจะตั้งโจทย์มาเทปละหนึ่งรายการ (อาทิ เลือกอะไรระหว่างมีแฟนหล่อแต่จน กับ อัปลักษณ์แต่รวย) แล้วทีมงานก็จะเดินทางไปตามแหล่งศูนย์รวมวัยรุ่นที่ต่าง ๆ คัดเอาคนหน้าตาดี ๆ หรือไม่ก็ดูแปลก ๆ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถามคำถามที่กำหนดไว้ ผู้ตอบก็ต้องใช้ ‘ความรู้เฉียบพลัน’ ตอบคำถามนั้น ก่อนจะปิดท้ายด้วยการกล่าวคำสามพยางค์อะไรก็ได้ที่อยากบอก

ปกติในรายการทีวีทั่วไปก็มักจะมีการถามความคิดเห็นของประชาชนใส่ลงไปในรายการด้วย เราเรียกกันว่า vox-pop จุดมุ่งหมายคือเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนคร่าว ๆ ต่อประเด็นนั้น ๆ โดยมากศาสตร์ในการเลือกทำว๊อกซ์พ๊อพจะเลือกเอาคนที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับประเด็นนั้น ๆ สักสี่ห้าคนมาเสนอ แล้วตัดต่อสลับชายหญิงไม่ให้ดูน่าเบื่อ ทั้งนี้จำนวนคนที่ปรากฎในแต่ละเทปก็ขึ้นอยู่กับความยาว บางทีถ้าสั้นมากก็จะมีคนหรือสองคนเท่านั้น และในความจริงความคิดเห็นของคนเหล่านี้ก็ดูจะไม่ได้รับความสนอกสนใจจากคนดูเสียเท่าใดนัก

แต่รายการวีอาร์โซไปไกลกว่านั้น ทางรายการเลือกคนสัมภาษณ์ผสมชายหญิงรวมแล้วทั้งสิ้นหนึ่งร้อยคนในแต่ละเทป แม้อาจจะไม่ได้เต็มที่ทางสถิติแต่ก็พอจะเห็นความคิดเห็นรวม ๆ ได้บ้างว่ากลุ่มเป้าหมายคิดอะไรอยู่

สิ่งที่น่าสนใจคือรายการนี้ได้รับความนิยมเป็นอันมาก ผู้เขียนเองเคยดูอยู่หลายครั้ง สารภาพว่าต้องใช้ความพยายามสุด ๆ ในการดูตั้งแต่แรกจนจบ เพราะลักษณะโครงสร้างรายการเป็นลักษณะถามตอบกันตลอดหนึ่งชั่วโมง สิ่งที่จะเรียกความน่าสนใจได้ก็มีอยู่สองอย่างคือหน้าตาของคนตอบและลีลาการให้คำตอบที่กวนโอ๊ยของแต่ละคน แถมคำตอบของแต่ละคนก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ใช้ความรู้ฉับพลันตอบปั๊บ ทำเอาบางทีแฟนที่ยืนอยู่ข้าง ๆ ถึงกับเคืองก็มี

รายการนี้เป็นถูกใจวัยรุ่นแม้ปัจจัยสำคัญจริง ๆ คือการได้เห็นหน้าตาของวัยรุ่นหน้าตาดี (หรือมีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์) แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เป็นตัวประกอบสำคัญคือคำตอบที่ปรากฎในรายการ แม้เป็นความคิดที่ไม่ซีเรียสจริงจัง แต่หลาย ๆ ครั้งก็แฝงด้วยทัศนคติที่คนดูอาจจะคิดว่าตัวเองคาดไม่ถึง กลายเป็นว่าคนเราเองก็ชอบดูชอบฟังความคิดเห็นของคนอื่น (โดยเฉพาะที่ไร้สาระ) อยู่ไม่น้อย

แต่สิ่งที่ขาดหายไปในรายการนี้คือ น้อยครั้งที่เราจะได้เห็นคนต่าง ๆ วิเคราะห์บนฐานของข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลอย่างชัดเจนว่าทำไมถึงคิดอย่างนี้ (ซึ่งยอมรับว่ารายการเน้นบันเทิง ย่อมไม่ต้องการอะไรที่จริงจังแบบนั้น และไม่ใช่เรื่องผิดที่รายการไม่จริงจัง) ซึ่งเมื่อผู้ชมที่ติดตามชมบ่อยเข้า ๆ ก็จะกลายเป็นผู้ที่ชอบการเสพความคิดเห็นไปโดยปริยาย โดยไม่ได้สนใจว่าความคิดเห็นนั้นถูกต้องหรือไม่ วางอยู่บนฐานคิดใด และมีข้อมูลอะไรที่ประกอบกระบวนการคิดนั้น

ดังนั้นไม่น่าแปลกใจอะไรถ้าวัยรุ่นไทยยุคใหม่อาจจะต้องประสบปัญหาพอสมควรกับการคิดด้วยตรรกะที่ใช้เหตุผลและข้อมูลต่าง ๆ ร่วมประกอบ เพราะในชีวิตจริงของเขานั้นไม่ค่อยได้เสพสื่อที่จริงจัง แถมยังนิยมเสพความคิดเห็นเสียมาก กลายเป็นว่าความคิดเห็นคือข้อเท็จจริงเสียแล้ว

ใครดูรายการไหน อย่างไรก็มีผลส่งต่อพฤติกรรมอยู่เหมือนกัน ซึ่งก็น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยว่าต่อไปคนไทยจะเกิดภาวะตัดสินใจจากความคิดเห็นเป็นสำคัญกว่าตัดสินจากข้อมูลข้อเท็จจริงหรือเปล่าไม่รู้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net