Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านแจงปฏิเสธเข้าร่วมประชุมกรมเจ้าท่า เหตุประสานก่อนงานแค่วันเดียว พร้อมทำหนังสือแจ้งให้ชะลอการดำเนินการ เผยมีการนำรถรถแบ็คโฮลงพื้นที่แล้วแต่ถูกขวางเพราะเกรงขุดลอกกระทบนาข้าวที่เพิ่งหว่าน-ดำ

 
 
วานนี้ (17 ส.ค. 55) เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่บ้านธาตุหาญเทาว์ หมู่ 2 ต.บ้านขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภูว่า กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี หรือ กรมเจ้าท่า มีแผนจะดำเนินโครงการขุดลอกลำน้ำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู และจะลงพื้นที่เพื่อทำการประชุมประชาคมชาวบ้านและชี้แจงโครงการก่อนที่จะเข้ามาดำเนินการขุดลอกลำน้ำพะเนียง แต่ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม โดยอ้างเหตุผลว่าได้รับการประสานงานอย่างกระชั้นชิด อีกทั้งเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมากับนาข้าวภายหลังจากการขุดลอก
 
นายบานเย็น จันดำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านธาตุหาญเทาว์ หมู่ 2 ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีการนำรถแบ็คโฮเข้ามาจอดในหมู่บ้านและเตรียมที่จะเข้าไปขุดลอกพื้นที่บริเวณลำน้ำพะเนียง แต่กลุ่มชาวบ้านที่มีที่ดินติดกับลำน้ำไม่ให้มีการนำเครื่องจักรหรือรถแบ็คโฮเข้าไป เพราะเกรงว่าจะเหยียบย่ำนาข้าวที่ดำนาเสร็จแล้วและพืชผลทางการเกษตรเสียหาย
 
 
นายบานเย็น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อคืนวันที่ 16 ส.ค.55 เวลาประมาณ 19.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่าประสานผ่านทางโทรศัพท์ ว่าจะขอเข้ามาดำเนินการประชุมประชาคมชาวบ้านเพื่อดำเนินการขุดลอกลำน้ำพะเนียงในวันที่ 17 ส.ค.55 โดยไม่มีหนังสือแจ้งล่วงหน้ามาก่อนแต่อย่างใด อีกทั้งระยะเวลาในการแจ้งประสานงานเพียง 1 วัน โดยตามหลักแล้วหากจะมีการประชุมใด ๆ ในหมู่บ้านต้องมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และตอนนี้ชาวบ้านเองยังไม่รู้ข้อมูลใด ๆเลยเกี่ยวกับโครงการ
 
“ชาวบ้านได้หารือกันแล้วว่าถ้าจะเข้ามาประชุมและดำเนินการขุดลอกระยะเวลานี้ไม่เป็นการเหมาะสม เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูการผลิตการทำนาข้าว หากมีการดำเนินการขุดลอกโดยเครื่องจักรขนาดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อนาข้าวที่อยู่ข้างเคียงลำน้ำพะเนียง จึงปฏิเสธที่จะให้มีการประชุม พร้อมทั้งทำหนังสือถึงกรมเจ้าท่าให้ชะลอการดำเนินการขุดลอกลำน้ำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ออกไปก่อน” นายบานเย็นกล่าว
 
 
ทั้งนี้ ลำน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู เคยมีการขุดลอกขยายมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2547 โดยการดำเนินการของกรมชลประทาน ภายหลังจากการขุดลอกได้เกิดผลกระทบตามมา อาทิ ที่ดินที่นาหายไปกับการขุดลอก ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้เนื่องจากถูกคันถนนที่ถูกสร้างขึ้นขวางทางน้ำ ระบบนิเวศที่เคยมีสูญหายและลดลง
 
ที่ผ่านมา ชาวบ้านฟ้องกรมชลประทานต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเป็นคดีความกว่า 140 คดี โดยคำพิพากษาศาลตัดสินให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะคดี และกรมชลประทานต้องทยอยชดเชยค่าเสียหายในทุกๆ คดีที่คำพิพากษาสิ้นสุดลง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net