Skip to main content
sharethis

ภายในครึ่งปีหลังของปี 2555 ข้อพิพาทอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในน่านน้ำแปซิฟิกและทะเลจีนใต้กลายเป็นข่าวระดับโลกแล้วอย่างน้อย 3 กรณี และล่าสุด กรณีเกาะเตียวหวีหรือเซนคากุ ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างจีนและญี่ปุ่น ทำให้มีการประท้วงแล้วว่า 20 เมืองในจีน

 

กรณีเกาะเตียวหยูลุกลาม จีนประท้วงญี่ปุ่นลามกว่า 20 เมือง

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา เรดิโอฟรีเอเชีย รายงานว่า รัฐบาลจีนเปิดทางใก้กับการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งเมือวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ตามท้องถนน ต่อต้านกรณีที่มีนักเคลื่อนไหวชาวญี่ปุ่นเข้าไปในพื้นที่เกาะเตียวหยูซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของญี่ปุ่น แต่ถูกอ้างสิทธิเหนือดินแดนโดยจีน

เกาะดังกล่าวนั้นมีภาษาจีนว่า เตียวหยู และมีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า เซนคากุ

ที่มาของการประท้วงใหญ่เกิดหลังจากที่นักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาชาวญี่ปุ่นลองเรือนเข้าไปและปักธงชาติญี่ปุ่นลงบนเกาะดังกล่าวโดยอ้างว่าเพื่อรำลึกถึงชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในบริเวณที่ใกล้กับเกาะเตียวหยู/เซนคากุ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่การกระทำดังกล่าวน้นได้สร้างความโกรธเคืองให้กับชาวจีน นำไปสู่การประท้วงและเหตุรุนแรงในกว่า 12 เมือง ก่อนหน้านั้นผู้ว่าการกรุงโตเกียวได้ออกมาประกาศว่า จะซื้อเกาะเตียวหยู/เซนคากุ เพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด

โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าญี่ปุ่นจะต้องระมัดระวังในการดำเนินการต่อประเด็นดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

นักข่าว NHK ของญี่ปุ่นรายงานว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ประท้วงอย่างรุนแรงต่อทูตญี่ปุ่นประจำเมืองจีนแล้ว

เรดิโอฟรีเอเชีย รายงานว่า การประท้วงใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นวานนี้อยู่ที่เมืองจี่หนาน ซึ่งมีประชาชนกว่า 2,000 คนออกมาประท้วง ขณะที่สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นก็รายงานว่ามีผู้ประท้วงจำนวนกว่า 5,000 คนที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง โดยมีการทำลายภัตตาคารญี่ปุ่นและยานพาหนะด้วย

สำหรับสถานที่ที่มีการประท้วงนั้น สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสรายงานผ่านเฟซบุ๊กว่าวานนี้ มีชาวจีนออกมาประท้วงญี่ปุ่นทั้งสิ้นมากกว่า 20 เมือง โดยเมืองใหญ่ในจีนที่มีการชุมนุมใหญ่ต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ มีดังต่อไปนี้ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เฉิงตู, หังโจว, กว่างโจว, เซินเจิ้น, ฉางซา, หนานหนิง, ฉางชุน, จี่หนาน, ชิงเต่า, ไท่หยวน, เสิ่นหยาง, ฮาร์บิน, เจิ้งโจว, กุ้ยหยาง, หลินหยี, ซีอาน, ฉางโจว, เวินโจว, ต๋าโจว, หนานชาง, กั้นโจว, เยียนไถ, และอื่นๆ

สำหรับข้อพิพาทเหนือเกาะต่างๆ ในแถบเอเชียตะวันออก มหาสมุทรแปซิฟิก ในปีนี้ มีอย่างน้อย 3 กรณีที่ยังคงยืดเยื้อ คือ

 

กรณีเกาหลี-ญี่ปุ่น: เกาะด็อกโก หรือทาเกชิมา ซึ่งปะทุความขัดแย้งขึ้นมาเนื่องจากประธานาธิบดีอีเมียงบัก แห่งเกาหลีใต้ เดินทางไปเยือนเกาะดังกล่าวซึ่งยังเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมากว่าทศวรรษแล้ว ส่งผลให้ญี่ปุ่นเรียกเอกอัครราชทูตประจำประเทศเกาหลีใต้กลับประเทศ และทั้ง 2 ประเทศได้เลื่อนการประชุมประจำปีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังออกไป

และวันที่ 12 ส.ค. คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ "ไอโอซี" มีคำสั่งห้าม พาร์ค จอง-วู นักฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ เข้าร่วมพิธีรับเหรียญทองแดง ที่เกาหลีใต้ชนะญี่ปุ่นไป 2-0 เนื่องจากเขาชูป้ายหลังจบเกมเป็นภาษาเกาหลีว่า "ด็อกโด คือ ดินแดนของเรา"

 

จีน-อาเซียน พิพาทอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรดลีย์ และพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ซึ่งหลายชาติในอาเซียนและจีนอ้างกรรมสิทธิ์ มีการประท้วงทั้งในฟิลิปปินส์ เวียดนาม ต่อการที่จีนพยายามจะเข้ามาอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้

สำหรับจีนนั้น ได้ตั้งจังหวัดใหม่ "ซานชา" ขึ้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารหมู่เกาะ และพื้นที่ในทะเลจีนใต้ทั้งหมดขึ้นต่อมณฑลไหหนานของจีน ในขณะที่ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ยังมีการพิพาทระหว่างจีน และฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอีกหลายชาติในอาเซียน

ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. ให้ความเห็นว่าถือเป็นการหยั่งอิทธิพลลงไปในกลางทะเลจีนใต้ เพื่อตอบโต้รัฐที่ตั้งอยู่รายรอบซึ่งมีข้อพิพาทกันเรื่องการครอบครองทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ยังเป็นการผนวกเชิงสัญลักษณ์ โดยนอกจากตั้งถิ่นฐาน การตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางเศรษฐกิจ และการทหารแล้ว การผนวกการปกครองเกาะในทะเลจีนใต้ให้เป็นจังหวัดหนึ่งของจีน ยังเป็นความพยายามทำให้เรื่องพิพาทในทะเลจีนใต้กลายเป็นกิจการภายใน ขณะที่ในบริเวณดังกล่าวกินพื้นที่เกินชายฝั่งทะเลของจีนไปมาก อย่างไรก็ตามการตัดสินใจดังกล่าว เป็นการตัดสินใจทางการทูตและการทหารที่เสี่ยงเพราะเป็นการสะบั้นความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ และจีนอาจต้องเผชิญการที่มหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเข้ามาหนุนหลังชาติที่พิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ ทิศทางที่จีนกำลังปรับหลักนิยมทางการทหารใหม่ โดยกองทัพบกจีนเปลี่ยนจากการป้องกันประเทศเป็นพื้นที่มาเป็นสามารถป้องกันประเทศได้ครอบคลุมทั้งหมด กองทัพเรือจากกองเรือชายฝั่งเปลี่ยนเป็นกองเรือที่เดินเรือในทะเลลึกได้มากขึ้น และกองทัพอากาศที่สามารถส่งไปรบนอกชายฝั่งได้ไกลมากขึ้นนั้น เป็นการตอบสมการที่สะท้อนว่าจีนต้องการขยายอำนาจออกสู่ทะเลจีนใต้

 

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net