Skip to main content
sharethis

เมื่อวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2555 ที่ร้าน Book Re:public ถ.คันคลองชลประทาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีการจัดเสวนาหัวข้อ "Bowring: the Treaty that Change Bangkok (สนธิสัญญาเบาริ่งเปลี่ยนกรุงเทพ?)" วิทยากรคือ มาลินี คุ้มสุภา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หัวข้อ "การเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ พ.ศ.2398-2452: ผลกระทบจากการตั้งถิ่นฐานของชาวอังกฤษและคนในบังคับ (CHANGES IN URBAN BANGKOK 1855-1909: THE IMPACT OF THE SETTLEMENT OF THE BRITISH AND THEIR SUBJECTS)" และร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

จากบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ของมาลินี ระบุว่า สนธิสัญญาเบาริงมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2398 สภาพบังคับของสนธิสัญญามีผลหลายประการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งชุมชนของคนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ พวกเขาได้รับสิทธิพิเศษทั้งทางกฎหมาย การค้า และการถือครองที่ดิน การได้รับประโยชน์ของคนเหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯต่อมา จากเงื่อนไขของสนธิสัญญาข้างต้น ก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงสามประการ

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพ อันเกี่ยวเนื่องจากการตั้งถิ่นฐานและการสร้างชุมชน โดยเฉพาะบริเวณตอนใต้ของกรุงเทพฯ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เกิดจากการสร้างถนนและตึกแถวจำนวนมาก ชุมชนคนในบังคับอังกฤษเติบโตมากขึ้นตามลำดับในเวลาต่อมา ที่ดินได้กลายเป็นแหล่งแสวงหารายได้ของรัฐและขุนนางนักลงทุนที่ดิน เกิดการจัดสรรที่ดินเพื่อทำกำไร และกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ถูกรับรองด้วยการออกโฉนดที่ดิน ทำให้ชาวอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษถือครองที่ดินและสามารถตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ ได้อย่างถาวร

ประการที่สอง ชาวอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษมีส่วนร่วมในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจภาครัฐและเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ชาวอังกฤษในกรุงเทพฯ เป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่และได้รับผลประโยชน์จากการส่งออกข้าว ไม้สักและการขนส่งทางเรือ โดยมีผู้ช่วยในกิจการเป็นคนในบังคับเชื้อสายเอเชีย จีน และอินเดีย คนในบังคับเหล่านี้ มีส่วนสนับสนุนผลประโยชน์ของชาวอังกฤษในรูปแบบของการเป็นพ่อค้าปลีก นายทุนนายหน้า ซึ่งต่อมาได้สะสมทุน และกลายเป็นนายทุนดำเนินธุรกิจตนในที่สุด

ประการที่สาม การตั้งถิ่นฐานของชาวอังกฤษและคนในบังคับ ได้ก่อให้เกิดการบริหารจัดการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิเช่น การรักษาความสงบเรียบร้อย การจัดสรรที่ดิน การจัดเก็บภาษี การรักษาความสะอาด และการสาธารณสุข ทำให้เกิดการปฏิรูปและก่อตั้งหน่วยงานใหม่ๆ ในกรุงเทพฯ การพัฒนาและปฏิรูประบบริหารราชการเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนและมีส่วนร่วมจากที่ปรึกษาชาวอังกฤษและเจ้าหน้าที่คนในบังคับอังกฤษในการปฏิรูปและบริหารงานอย่างดี และชุมชนของคนอังกฤษและคนในบังคับในชุมชนชาวต่างชาติของกรุงเทพฯ ได้มีส่วนในการสร้างความคิดริเริ่มการบริหารจัดการเมืองในรูปแบบ “สุขาภิบาล” ซึ่งแนวคิดนี้ได้ถูกนำไปปรับใช้ในการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยในเวลาต่อมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net