Skip to main content
sharethis

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นำเสนอผลการวิจัย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง”  พบยอมรับเงินจากผู้สมัคร แต่ไม่เลือก 46.79 และแม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือก 48.62 

สำนักข่าวไทยรายงานเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ในการสัมมนาทางวิชาการของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง  “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง” โดยการวิจัยดังกล่าวได้สุ่มตัวอย่างผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 941 คน  ในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 ที่ผ่านมา  พบว่า ในส่วนการเลือกตั้งระดับชาติปัจจุบันการใช้เงินเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตนเองในการเลือกตั้งระดับชาติ มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยลงจากเดิม และไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการแพ้หรือชนะการเลือกตั้งอีกต่อไป 

ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ยอมรับเงินจากผู้สมัคร แต่ไม่เลือกผู้สมัครรายนั้น ถึงร้อยละ 46.79 และที่ตอบว่า แม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือก มีร้อยละ 48.62 ส่วนผู้ที่ตอบว่าเลือกเพราะได้รับเงินมีเพียง 4.59 ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสัมมนากลุ่มย่อยของผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่พบว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกผู้สมัครเพราะเงิน 

นอกจากนี้ยังพบว่า ความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นและความรู้สึกผิดที่รับเงิน แล้วไม่เลือกหรืออาจเป็นบาปที่เลือกลดลงไป ทำให้ในการตัดสินใจเลือกตั้ง ส.ส.ระดับชาติ ปัจจุบันผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล  โดยจากผลสำรวจในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 54 แม้ในแบบแบ่งเขต ซึ่งเลือกเฉพาะชอบตัวบุคคลคิดเป็นร้อยละ 46.26 ขณะที่เลือกเพราะชอบนโยบายพรรค ร้อยละ 37.64 และเลือกเพราะอยากได้หัวหน้าพรรค ร้อยละ 16.10  แต่เมื่อรวมผลสำรวจระหว่างการเลือกเพราะชอบนโยบายพรรคและอยากให้หัวหน้าพรรค เป็นนายกฯ เท่ากับว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาชน เลือกพรรคมากกว่า 53.74

การนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาใช้ทำให้พรรคการเมืองต้องแข่งขันกันในทาง นโยบายมากขึ้น ตัวผู้สมัครมีความสำคัญลดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคมากขึ้น ส่งผลให้การใช้เงินซื้อเสียงได้ผลน้อยลง นอกจากนี้ความแตกแยกแบ่งข้างทางการเมืองในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ยังทำให้ประชาชนพิจารณาเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล และทำให้การรับเงินแล้วไม่เลือกมีมากขึ้น 

ผลวิจัยยังระบุว่า การให้เงินปัจจุบันไม่ใช่ความสัมพันธ์ในลักษณะการซื้อและการขายเสียงอีกแล้ว เพราะการให้จะไม่มีการตรวจสอบควบคุมให้คนรับเงินต้องเลือกตนเอง แต่เป็นการให้ลักษณะให้เปล่าคล้ายเบี้ยเลี้ยงหรือสินน้ำใจ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับเงินก็ไม่รู้สึกว่าถ้าได้รับแล้วไม่เลือกจะเป็นบาปหรือเป็นการไม่ซื่อสัตย์ โดยจำนวนเงินที่มีการจ่ายกันก็เพียง 300-500 บาท ไม่มากเหมือนสมัยก่อน ซึ่งผู้สมัครที่ยังใช้เงินก็รู้ว่าได้ผลน้อย แต่ที่ยังต้องจ่ายเพราะกลัวแพ้หรือกลัวว่าอีกฝ่ายให้เงินจึงต้องให้เงินด้วย

 

ที่มา: สำนักข่าวไทย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net