ย้อนรอยโศกนาฏกรรมอำพราง "โบสถ์คริสตจักรเวียงเชียงราย" รื้อทำไม ใครสูญเสีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในวาระครบรอบ 750 ปีเชียงราย นอกจากควรจัดสัมมนาเรื่องสะสางการเรียกชื่อ "พระญามังราย" "พ่อขุนเม็งราย"  ให้ถูกต้องแล้ว ยังมีประเด็นของ "โบสถ์คริสตจักรที่ 1" ที่ยังคารังคาซังอยู่  ซึ่งพอดีดิฉันได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่ ม.ราชภัฏเชียงรายวันที่ 28 สค.นี้ จะถือโอกาสขอบิณฑบาตมิให้ทุบทิ้ง ต้องช่วยกันรณรงค์อนุรักษ์ ดังบทความชิ้นนี้ (จากคอลัมน์ ปริศนาโบราณคดีตอนที่ ๒๙)

 

รับทราบข่าวร้อนเรื่องคณะกรรมการโบสถ์คริสต์ที่เชียงรายบางส่วนมีความประสงค์จะรื้อ "โบสถ์คริสตจักรที่ ๑ เวียงเชียงรายหลังงามอายุเกือบ ๑๐๐ ปีเพื่อสร้างโบสถ์หลังใหม่ใหญ่โตทับที่เดิม ท่ามกลางกระแสคัดค้านของนักอนุรักษ์ทุกฝ่ายที่ช่วยกันออกแรงปกป้องมานานแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ.๒๕๕๒ กระทั่งคณะกรรมการโบสถ์คริสตจักรเชียงรายได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง กรณีที่กรมศิลปากรมีหนังสือขอร้องให้ระงับการรื้อโบสถ์นั้นเสีย โดยอ้างต่อศาลว่าภาครัฐได้ใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพก้าวก่ายมายุ่งเรื่องการพระศาสนา

 

สองปีผ่านไปศาลปกครองได้ยกฟ้องคดีดังกล่าวด้วยเห็นว่า กรมศิลป์ทำไปตามหน้าที่และโบสถ์หลังนี้คือมรดกของแผ่นดิน เรื่องราวค้างคาอีนุงตุงนัง กระทั่งกลายมาเป็นข่าวเด่นประเด็นดังอีกครั้ง ในช่วงก่อนวันแรงงานที่ผ่านมาเมื่อทางกรรมการโบสถ์คริสตจักรเชียงรายนัดหารือแกนนำเดินหน้ารื้อโบสถ์ต่อไป โดยไม่อินังขังขอบต่อคำตัดสินของศาลปกครอง นำไปสู่ไพ่ใบสุดท้ายที่กรมศิลป์จำเป็นต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีข้อหารื้อทำลายโบราณสถานของชาติ เมื่อหลักรัฐศาสตร์เอาไม่อยู่ หลักนิติศาสตร์จึงถูกขุดนำมาใช้เป็นแผนสอง

 

พลิกตำนานหมอบริกส์ กว่าจะเป็นโบสถ์คริสเตียน

 

อีกสามปีข้างหน้า "โบสถ์คริสตจักรที่ ๑ เวียงเชียงรายหรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกสั้นๆ จนติดปากว่า "โบสถ์คริสต์ประตูสะหลี(สลี)" เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับประตูเมืองทางทิศใต้ที่ปลูกต้นโพธิ์แต่ปัจจุบันประตูรื้อไปแล้ว จะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี (สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗)

 

ตำนานความเป็นมาของโบสถ์มีความน่าสนใจไม่แพ้ความงามสง่าของสถาปัตยกรรม เหตุเพราะถือกำเนิดขึ้นเคียงคู่กับการก่อเกิดสภาคริสตจักรเชียงราย เป็นผลงานการออกแบบของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน (American Presbyterian Mission) คนดังนาม ศาสนาจารย์ หรือนายแพทย์วิลเลียม เอ บริกส์ (Dr. William A. Brigs) ผู้ที่ชาวบ้านนิยมเรียกย่อๆ ว่า "หมอบริกส์"หรือ "พ่อเลี้ยงตาดุ(มีดวงตาใหญ่โตเวลามองคนชอบจ้องเขม็ง) หนึ่งในปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการต่อชาวเชียงรายหลายด้าน

 

หมอบริกส์เป็นใครมาจากไหน ก่อนอื่นขอท้าวความย้อนกลับไปถึงปีพ.ศ. ๒๔๓๑ หรือราวสองทศวรรษก่อนการเดินทางมาเชียงรายของหมอบริกส์ ว่าเคยมีศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี ( Dr.Danial McGilvary ) ได้ขึ้นมาเผยแพร่คริสตศาสนาที่เชียงรายก่อนหน้านั้นแล้ว โดยวางรากฐานก่อตั้งโรงเรียนแห่งแรกในเชียงรายชื่อ บอย สกูล (Boy School) หลังจากที่ท่านสาธุคุณแมคกิลวารีได้มุ่งมั่นประกาศศาสนธรรมในแถบเชียงใหม่-ลำพูนอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปี ๒๔๑๐

 

กระทั่งถึงยุคของหมอบริกส์ ผู้มีปูมหลังเป็นชาวอเมริกัน เข้ามาสอนศาสนาคริสเตียนในประเทศไทยโดยเริ่มต้นเดินทางมายังสถานมิชชั่นลำปางและแพร่ก่อน กระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๔๖ จึงได้เดินทางต่อมายังเชียงรายเพื่อสืบสานงานต่อจากสาธุคุณแมคกิลวารี

 

คนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นมิชชันนารีในยุคก่อนนั้น ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ ต้องมีคุณสมบัติอัจฉริยะรอบด้านแบบ ๑๐ อิน ๑ คือนอกจากจะเป็นนักธรรมนักเทศน์ผู้แตกฉานในพระคัมภีร์ หรือเป็นนักจิตวิทยา ร้อง-เล่น-เต้น-แต่งดนตรี เอนเตอร์เทนคนให้บันเทิงเริงรมย์ได้แล้ว ยังต้องเป็นทั้งคุณหมอที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้สารพัดโรค แถมยังต้องเก่งเรื่องออกแบบก่อสร้างไปในตัวด้วย เพราะสมัยนั้นตามหัวเมืองยังไม่มีทั้งสถาปนิก วิศวกร กล่าวให้ง่ายก็คือมิชชันนารีต้องทำหน้าที่หนักหนาสาหัส ไม่เพียงแต่ช่วยเยียวยาจิตวิญญาณของมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังต้องเยียวยาเรื่องปากท้อง สมอง และคุณภาพชีวิตให้ผู้คนอยู่ดีกินดีขึ้นอีกด้วย

 

ชวนให้นึกถึงมิชชันนารีคณะเยซูอิตที่ถูกส่งมาในราชสำนักอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ต้องทำหน้าที่ทั้งออกแบบก่อสร้างเวียง วัง วัด วงเวียน น้ำพุ จตุรัส ตัดถนน สะพาน ศาลา โบสถ์คริสต์ โรงเรียนเผยแผ่ศาสนา ฯลฯ

 

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าภายในตัวเมืองเก่าเชียงรายนั้น มีการตัดถนนที่เป็นระเบียบจำง่าย คล้ายกับผังเมืองของมหานครตะวันตก แถมยังมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นเรียงรายริมทางเท้า ว่ากันว่ามนต์เสน่ห์กลางเวียงเชียงรายของถนนแบบบูลวาร์ดหลายสายนี้เกิดจากก้อนสมองของหมอบริกส์ด้วยเช่นกัน แต่กว่าจะได้สิ่งนี้มา ชาวเชียงรายจำต้องยอมแลกด้วยการเปิดไฟเขียวให้หมอบริกส์ยิงเสือจอมโหดทิ้งไปตัวหนึ่งที่คอยคำรามกัดคนตายอยู่แถวกำแพงเมืองเก่าใกล้น้ำแม่กก (แม่กกน้อยช่วงนี้เรียกว่าแม่ลาว) ข้อสำคัญการวางผังเมืองมาตรฐานในครั้งนั้น ได้มีการรื้อกำแพงเมืองเก่าที่สร้างด้วยอิฐสมัยล้านนาทิ้งไปในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยหมอบริกส์ให้เหตุผลว่า

 

“กำแพงเมืองอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม บริเวณประตูเป็นโคลนตม หล่มงู สกปรก เป็นแหล่งหมักหมมเชื้อและพยาธิที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อีกทั้งกำแพงเองก็ปิดกั้นการถ่ายเทของอากาศบริสุทธิ์ ประชาชนไม่ได้รับแสงแดดในการฆ่าเชื้อโรคอีกด้วย"

 

นั่นคือมุมมองของนักการสาธารณสุขเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน นักอนุรักษ์ยุคปัจจุบันคงได้แต่ร้องเสียดาย แต่เมื่อพินิจพิเคราะห์ดูแล้ว ก็ยังเห็นว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่ากว่าหลายเมืองที่จู่ๆ ก็ปล่อยให้เทศบาลรื้อกำแพงเมืองฟรีไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับถนนที่ไร้มาตรฐานอีก

 

ผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่หมอบริกส์ได้ออกแบบก่อสร้างในเมืองเชียงรายมีจำนวนมากนับไม่ถ้วน เฉพาะ ที่เด่นๆ ได้แก่ อาคารศาลากลางเก่า (ปัจจุบันเป็นสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย) โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค เรือนจำเก่า และโบสถ์คริสตจักรที่ ๑ เวียงเชียงราย ซึ่งกำลังจะถูกรื้อเร็วๆ นี้

คุณูปการที่หมอบริกส์ได้ฝากไว้แก่เมืองเชียงรายเกินคณานับ ทำให้มีชื่อถนนสายหนึ่งสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ท่านชื่อ "ถนนบริกส์แพทย์"

 

สูญเสียซ้ำซ้อน แต่ยังไม่สาย

 

โบสถ์คริสต์หลังนี้เคยได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ราวปี พ.ศ.๒๕๔๔ หรือสิบปีก่อนนี่เอง น่าเสียดายที่คณะศรัทธาดำเนินการแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงไม่เฉลียวใจว่าการนำเอาแผ่นหินอ่อนราคาแพงไปกรุอุดปิดทับบริเวณพื้นและผนังตอนล่างรายรอบภายในโบสถ์ หรือการนำเอาอิฐตัวหนอนพร้อมการลาดซีเมนต์ปิดลานพื้นรอบนอกโบสถ์นั้น เป็นการเร่งทำลายโบราณสถานให้ถึงแก่กาลอวสานเร็วยิ่งขึ้น

 

ไม่ฉุกใจคิดกันบ้างหรืออย่างไรว่า ไฉนอาคารที่มีอายุยืนยาวมาได้กว่า ๙๐ ปีนั้น ก่อนมีการซ่อมครั้งใหญ่ไยจึงคงสภาพเดิมอยู่ได้ จะผุพังก็เพียงแค่แผ่นไม้ที่ใช้ประดับตามหน้าบัน-หอระฆังบางส่วนเท่านั้น อุตส่าห์ระดมทุนบูรณะเสียเลิศหรู แต่หลังจากนั้นไม่ถึงสิบปีกลับยิ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างผิดหูผิดตาเช่นนี้ แสดงว่าต้องมีอะไรที่ผิดปกติ!

 

ความผิดปกตินี้ เกิดจากความชื้นของน้ำใต้พื้นดินระเหยขึ้นมาทำปฏิกิริยากับปูนกัดกร่อนแท่งเสาและผนังถึงเนื้อในอิฐจนขึ้นเชื้อราและคราบเกลือ อันเป็นภาพที่พบเห็นจนชินตา ไม่ใช่แค่โบสถ์คริสต์หลังนี้เท่านั้น แต่ตามโบสถ์วิหารทั่วไปของชาวพุทธนี่แหละ โดยเฉพาะวัดที่รังเกียจลานทรายหรือลานดินหาว่าสกปรกเลอะเทอะ จึงจัดการเทคอนกรีตปูแผ่นหินขนาดใหญ่อุดทับ พื้นดินตอนล่างอยู่ในสภาพอับทึบไม่มีอากาศหายใจ เมื่อความชื้นไม่มีทางระบายตามวิถีธรรมชาติ ก็ย่อมหันมาเล่นงานกัดกินกับแท่งเสาจนผุกร่อนเป็นธรรมดา

 

ถามว่าปัญหาเพียงเรื่องความชื้นจากใต้ดินแก้ไขใหม่ได้ไหม คำตอบง่ายๆก็เพียงแค่คุณสกัดวัสดุหยาบแข็งที่มาบดบังลมหายใจของน้ำใต้ดินทิ้งออกไปเสีย แล้วจัดการเปิดท่อระบายความชื้นด้วยวัสดุที่เหมาะสมใหม่ขึ้นมาทดแทน ก็เท่านั้น

 

หากทว่า ความคิดเรื่องการรื้อโบสถ์หลังเดิมนั้น มิได้อ้างว่ามีมูลเหตุมาจากความผุกร่อนของโครงสร้างเพียงอย่างเดียวไม่ เหตุผลอีกสองประการที่ถูกนำมาใช้เป็นข้อต่อรองของทุกวัด เมื่อมีแผนจะรื้ออาคารเดิมแล้วสร้างอาคารใหม่มักหนีไม่พ้น

 

ประการแรก อาคารเก่ามีขนาดเล็กคับแคบ พื้นที่ไม่เพียงพอต่อการใช้สอย จำเป็นต้องรื้อแล้วสร้างหลังใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อรองรับคนมาร่วมประกอบศาสนพิธีได้จำนวนมากกว่าเดิม

 

ประการที่สอง มักอ้างว่าผู้เป็นเจ้าของดูแลโบสถ์นั้นคือเจ้าอาวาส หากเป็นคริสเตียนก็เรียกว่า"ศาสนาจารย์" ซึ่งกรมศิลป์หรือภาครัฐอื่นๆ ไม่มีสิทธิ์มายุ่งเกี่ยว เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ดังนั้นหากทางวัดมีความประสงค์จะรื้อย่อมทำได้โดยฐานะนิติบุคคล

 

ข้ออ้างทั้งสองข้อนี้ เรามักได้ยินได้ฟังมาอย่างซ้ำซาก ข้อแรกนั้นเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อหลังยิ่งเข้าใจผิดมหันต์

 

ข้อแรกที่ว่าฟังไม่ขึ้นนั้น เพราะย่อมมีผู้แย้งว่า ทำไมไม่แก้ไขในเชิงปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการใหม่ เช่น จำกัดจำนวนผู้เข้าไปประกอบพิธีกรรมโดยแบ่งเป็นกลุ่มคณะ และกำหนดเวลาเป็นช่วงๆ หากคิดว่าชาวคริสเตียนเชียงรายเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากในรอบร้อยปีที่ผ่านมา จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องสร้างโบสถ์หลังใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม ก็ใช้สถานที่แห่งอื่นมิได้หรือ ทิ้งโบสถ์หลังนี้ไว้ดุจเดิม บูรณะปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์นำเสนอประวัติความเป็นมาของหมอบริกส์ เมืองเชียงรายจักได้มีแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง

 

ส่วนข้ออ้างที่สองนั้น คงต้องขอให้ช่วยกันทบทวนเรื่อง "กรรมสิทธิ์ถือครอง" ว่าใครควรเป็นเจ้าของที่แท้จริงของโบสถ์ วิหาร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้างในศาสนา-นิกายใด ประชาชนหรือเจ้าอาวาส (ศาสนาจารย์)?

 

ปัจจัยที่นำมาใช้ก่อสร้างอาคารล้วนแล้วแต่เป็นเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาทั้งรายใหญ่-รายเล็ก จริงอยู่ในกรณีของโบสถ์คริสตจักรที่ ๑ เวียงเชียงราย อาจได้รับเงินสนับสนุนการก่อสร้างก้อนใหญ่จากองค์กรที่ดูแลคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน หรือสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ก็ตาม แต่คุณค่าความสำคัญของอาคารนั้น ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะถูกกรอบให้เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของสภาคริสตจักรเท่านั้นไม่

 

โบสถ์หลังดังกล่าวออกแบบโดยหมอบริกส์ ควบคุมการก่อสร้างโดยนายช่างฮิมกี่ บรรพบุรุษเจ้าของร้านฮิมกี่ที่ขายวัสดุก่อสร้างในปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าผู้สั่งให้สร้าง ผู้ออกแบบ หรือผู้ลงมือก่อสร้างด้วยการรับจ้าง ทายาทของคนเหล่านั้นต่างก็ไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจในการรื้อถอนโบสถ์

 

การทุบโบสถ์เก่าแก่ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี เพื่อสร้างของใหม่เช่นนี้ ประชาชนหลายคนที่มีจิตสำนึกทางสังคมและสภาคริสตจักรในประเทศไทยคงไม่เห็นด้วยแน่

 

เพราะโบถส์คริสต์เป็นสมบัติของมหาชนทั้งชาวคริสเตียนเชียงราย ชาวคริสเตียนทั่วประเทศ และของชาวไทยทุกคน ยิ่งได้ทราบมาว่าชาวคริสเตียนเชียงรายที่ไม่เห็นด้วยในการรื้อโบสถ์ เคยจัดให้มีการล่ารายชื่อคัดค้านเปิดเวทีประชาพิจารณ์มาแล้วตั้งแต่สองปีก่อน พบว่ามีผู้เข้าร่วมลงนามหลายพันคน มากกว่าจำนวนของผู้ที่เห็นด้วยกับการอยากรื้อและสร้างของใหม่ เพียงแต่ว่าเสียงข้างมากนั้นเบาเกินไป ในขณะที่เสียงของฝ่ายรื้อซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนนั้นดังกลบเสียงฝ่ายต่อต้าน

 

นักอนุรักษ์ ซาตานหรือนักบุญ?

 

นักอนุรักษ์ที่ออกโรงมาคัดค้านเคลื่อนไหวเรื่องนี้ หากเป็นผู้นับถือศาสนาอื่นก็จะถูกประณามว่า เป็นมนุษย์นอกศาสนา ส่วนหากเป็นชาวคริสเตียนหรือเป็นกรรมการบริหารสภาคริสตจักรที่เห็นหน้าค่าตากันอยู่ทุกวัน กลับถูกกล่าวหาว่าเป็น “ซาตาน” หรือคนบาปในคราบนักบุญ

 

นักอนุรักษ์หลายคนยอมให้ถูกกล่าวหาว่าเป็น "ซาตาน" บางคนเข้าไปเหยียบในโบสถ์ไม่ได้อีกเลย แต่ก็ยังยืนหยัดที่จะอนุรักษ์ไว้ ย่อมแสดงว่าโบสถ์หลังนี้ต้องมีคุณค่าความสำคัญอย่างเอกอุ

 

นอกเหนือจากจะเป็นอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์หรือเป็นตำนานหน้าแรกแห่งการเผยแผ่คริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ในเชียงรายโดยคณะมิชชันนารีนำโดยหมอบริกส์ ที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวไปถึงศาสนาจารย์แมกกิลวารี หรือผู้วางรากฐานการพิมพ์คนแรกอย่างหมอแดนบีช บรัดเลย์แห่งกรุงสยามแล้ว

 

ตัวสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอกก็ยังมีคุณค่าอยู่ในตัวเอง เพราะมันสะท้อนถึงคติปรัชญาหรือหัวใจของความเป็น "โปรเตสแตนท์"

 

โบสถ์คริสต์ที่เชียงรายและโบสถ์คริสต์ในนิกายโปรเตสแตนท์ทุกแห่งทั่วภูมิภาค อาทิ โบสถ์คริสต์ที่สำเหร่ โบสถ์เชียงใหม่คริสเตียนริมน้ำแม่ปิง เชิงสะพานนวรัตน์ ล้วนมีรูปแบบที่เรียบง่าย ไม่หรูหราอลังการ สร้างบนผังรูปตัว T หรือที่เรียกว่าผังแบบ "Latin Cross" ภายในมีเครื่องประดับเพียงแค่ไม้กางเขน หาได้มีประติมากรรมตกแต่งอย่างมากมายเหมือนกับโบสถ์คริสต์ในนิกายแคทอลิกไม่ ดังที่รู้กันอยู่ว่านิกายโปรเตสแตนท์นั้นเป็นนิกายปฏิรูปที่เน้นเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้คนมากกว่าการทุ่มเทในรายละเอียดของศิลปกรรม นอกจากไม้กางเขนแล้วยังมีแค่นาฬิกาไม้โบราณจำหลักลวดลายแบบอาร์ตนูโว ยืนพิงผนังอย่างเงียบสงบ

 

 

 

 

 

เนื่องจากยุคสมัยที่กำลังก่อสร้างโบสถ์เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ หมอบริกส์บันทึกไว้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างหอระฆังของโบสถ์คริสต์และโรงพยาบาลให้สูงชะลูดมากเป็นพิเศษ เพื่อใช้เป็นจุดสังเกตมองเห็นแต่ระยะไกล จะได้ปลอดภัยจากการทิ้งระเบิดไม่ว่าของฝ่ายใดๆ

 

หอระฆังโปร่งหลังนี้มีการตีระฆังทุกวัน เป็นสัญญาณบอกเวลาให้ทราบ ในยุคนั้นประชาชนยังไม่มีนาฬิกาใช้ จะมีก็แต่มิชชันนารีหรือชาวต่างชาติเท่านั้น โดยเสียงระฆังจะดังก้องกังวานไปไกลทั่วเมือง ต่อมาเมื่อสิบปีก่อนเมื่อมีการซ่อมโบสถ์ครั้งใหญ่จำเป็นต้องยกระฆังลงมาไว้ข้างล่าง เนื่องจากหอระฆังเริ่มเก่าทรุดโทรมแบกรับน้ำหนักระฆังใหญ่ไม่ไหว

 

ถามว่าหน่วยงานองค์กรต่างๆ นอกเหนือจากกรมศิลปากรแล้ว มีใครเคลื่อนไหวอย่างไรกันบ้างในช่วงสองปีที่ผ่านมา เท่าที่ทราบฝ่ายสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบรางวัลประกาศให้โบสถ์คริสต์เชียงรายเป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นอย่างไม่รั้งรอ นอกจากผู้บริหารโบสถ์คริสต์จะไม่เข้าไปรับรางวัลแล้ว ยังปิดข่าวนี้ไม่ให้ชาวคริสเตียนเชียงรายรับรู้

 

ในขณะที่ฝ่ายเทศบาลนครเชียงรายเองก็ได้จัดให้โบสถ์หลังนี้เป็น ๑ ในโบราณสถาน ๑๓ แห่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยกำหนดห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน ๑ ชั้นหรือเกิน ๖ เมตรภายในระยะรัศมี ๓๐ เมตรจากแนวเขตโบราณสถานเหล่านั้น

 

การประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากรหรือไม่จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่ากับการที่ทางจังหวัดเชียงราย อบจ.เชียงราย เทศบาลนครเชียงราย สภาวัฒนธรรมจังหวัด กรมศิลปากร สำนักโยธาธิการและผังเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย กรรมการโบสถ์ มวลชนผู้รับใช้พระเจ้าแห่งคริสตจักรที่ ๑ เวียงเชียงราย ต้องเกิดการตื่นตัวหันมาทบทวนกันอย่างถ่องแท้ว่า

 

การฉลอง ๑๐๐ ปี คริสตจักรที่ ๑ เวียงเชียงรายในอีกสามปีข้างหน้าด้วยการสถาปนาโบสถ์หลังใหม่นั้น เป็นการทำลายรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญหรือไม่ อาคารโบสถ์ไม่ใช่แค่อิฐแค่ปูน แต่มันมีหัวใจของผู้สร้างอยู่ในนั้นด้วย ไม่ใช่แค่หัวใจของหมอบริกส์พ่อเลี้ยงตาดุกับนายช่างฮิมกี่ หากมันคือหัวใจของปู่ย่าตายายชาวเชียงรายที่ร่วมกันสร้างสถานที่แห่งนี้เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนนั่นไง

 

อย่าให้ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญฉากหนึ่งของเมืองเชียงรายต้องถูกทำลาย

อย่าให้อำนาจตัดสินใจของชนชั้นนำส่วนน้อยคอยควบคุมชะตากรรมของสมบัติส่วนรวม

อย่าให้ไพร่รากหญ้าต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำซ้ำซาก กับโศกนาฏกรรมที่อำพรางนั้น!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท