Skip to main content
sharethis

สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์หยุดการทำร้าย ทำลายคนจน แจง 3 ข้อเสนอวอนประชาชนร่วมหนุน ด้านกรรมการสิทธิฯ ร่อนหนังสือถึง ‘นิวัฒน์ธำรง-ยงยุทธ-รมว.ทรัพย์’ ระงับข้อพิพาท ป้องพื้นที่โฉนดชุมชน ชี้อุทยานฯ ควรรอผลตรวจสอบก่อน

 

 
ขอ ปชช.ร่วมหนุนชาวบ้านเขาบรรทัด ส่ง จม.ถึงนายกฯ ผ่าน facebook
 
วันนี้ (30 ส.ค.55) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ ‘หยุดการทำร้าย ทำลายคนจน’ ระบุขณะนี้เกษตรที่เป็นผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมในเขตเทือกเขาบรรทัด ในภาคใต้ กำลังเผชิญกับการบุกรุกจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ส่งกองกำลังพร้อมอาวุธเข้าโค่นทำลายพืชผลทางการเกษตร ตามนโยบายปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าในเขตภาคใต้ ซึ่งเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการ 50 ล้านบาท แต่กรมอุทยานกลับไม่ได้แยกแยะระหว่างคนทำลายป่า กับชาวบ้านดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาก่อนที่รัฐจะประกาศให้ที่ทำกินของตนเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
 
เมื่อวันที่ 27 ส.ค.55 แนวร่วมปกป้องสิทธิที่ดินทำกินดั้งเดิมริมเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นการรวมตัวของชาวบ้านผู้ประสบผลกระทบจากกรณีดังกล่าว รวมทั้งเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเขาบรรทัดซึ่งเป็นสมาชิกของสมัชชาคนจน ได้จัดให้มีเวทีสาธารณะขึ้นที่จังหวัดตรัง มีชาวบ้านกว่า 300 คน จากจังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สตูล และกระบี่เข้าร่วม โดยได้มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายปราบปรามการบุกรุกป่าที่ได้ละเมิดสิทธิชุมชนด้านที่ดิน เนื่องจากชาวบ้านในเขตดังกล่าวยังไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจจากฝ่ายรัฐ แนวร่วมปกป้องสิทธิฯ จึงตัดสินใจที่จะระดมสมาชิกและเปิดการปฏิบัติการมวลชนตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.เป็นต้นไป
 
ทั้งนี้ แนวร่วมปกป้องสิทธิฯ ยืนยันว่าที่ดินที่ถูกทางการเข้าบุกรุกทำลายนั้นเป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลดังนี้ 1.ให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 พ.ค.55 โดยทันที 2.ให้กองกำลังพร้อมอาวุธที่นำโดยกรมอุทยานฯ ถอนกำลังออกจากพื้นที่โดยด่วน 3.ให้รัฐบาลเรียกประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้
 
สมัชชาคนจน ระบุขอความร่วมมือจากประชาชน หน่วยงาน กลุ่มองค์กรทางสังคมในการร่วมส่งจดหมายแสดงความสมานฉันท์ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการมวลชนของแนวร่วมปกป้องสิทธิฯ และสนับสนุนข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาล โดยส่งไปยังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านหน้าเพจสื่อออนไลน์ facebook ทาง http://www.facebook.com/Y.Shinawatra และส่งสำเนาถึงสมัชชาคนจนที่ aop_t@yahoo.com โดยการส่งจดหมายดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนความพยายามของสมัชชาคนจนในการแสวงหาความร่วมมือและความเข้าใจทั้งจากรัฐบาลและสาธารณะ
 
 
เผย อุทยานฯ มีเป้าเข้าทำลายพื้นที่เกษตรอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ภายใน ส.ค.นี้
 
นอกจากนั้น แถลงการณ์ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการตามนโยบายปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าในเขตภาคใต้ดังกล่าว กรมอุทยานฯ ก็ได้มีการเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านดั้งเดิมมาแล้ว เช่น ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.55 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่าได้นำกำลังเข้าตัดโค่นพืชผลของชาวบ้านรวมทั้งต้นยางพาราในชุมชนดั้งเดิมหลายแห่งในเขตจังหวัดตรังและพัทลุง แต่งบประมาณที่ได้รับทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น
 
นับตั้งแต่เดือน ก.ค.55 เป็นต้นมา พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านในชุมชนดั้งเดิมราว 200-300 ไร่ถูกตัดฟันทำลาย มีชาวบ้านจำนวนมากจากจังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสตูลได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการนี้ และกรมอุทยานฯ ยังมีเป้าหมายที่จะเข้าทำลายพื้นที่ของชาวบ้านที่ยากจนเหล่านี้อีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ภายในเดือน ส.ค.นี้
 
สถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้นเมื่อกองกำลังพร้อมอาวุธจากกรมอุทยานฯ และตำรวจตระเวนชายแดนได้บุกเข้าไปตัดฟันทำลายพืชผลทางการเกษตรรวมถึงต้นยางพาราของชาวบ้านใน ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์, ต.ตะแพน อ.ศรีบรรพต และอ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 23 ส.ค.55 ทั้งนี้ กองกำลังดังกล่าวเข้าพื้นที่ในช่วงเวลาเช้ามืด โดยปราศจากการแจ้งล่วงหน้าที่เหมาะสม สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านตลอดเขตเทือกเขาบรรทัด แต่ในทางตรงกันข้ามปฏิบัติการเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นหากคู่กรณีเป็นนายทุน อีกทั้งกรณีการบุกรุกป่าเพื่อสร้างที่พักตากอากาศหรือรีสอร์ทที่เป็นคดีความก็ใช้เวลานานกว่าคดีจะสิ้นสุด
 
แถลงการณ์ระบุว่าในส่วนจังหวัดตรัง หากมีการบุกรุกโดยเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นจะเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างชาวบ้านกับจังหวัดตรังที่ได้ทำไว้เมื่อเดือน ม.ค.55 ซึ่งได้ตกลงที่จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อหาข้อเท็จจริง เพื่อจะระบุขอบเขตที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านและดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุกป่าที่เข้ามาใหม่ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่ากรมอุทยานฯ ไม่ให้ความสำคัญกับคณะกรรมการดังกล่าว และเลือกที่จะใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้านที่ยากจน
 
 
กสม.จี้ อุทยานฯ หยุดฟันต้นยางพาราในตรัง-พัทลุง ชี้หลักฐานพื้นที่อุทยานฯ ไม่ชัด
 
เมื่อวันที่ 28 ส.ค.55 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งมีนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธานมีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิสิทธิมนุษยชน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขอให้ระงับการเข้าตัดฟันต้นยางพารา โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
ตามที่ได้ปรากฏข้อมูลทางสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค.55 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้กว่า 1,500 คน พร้อมอาวุธปืน มีดพร้า และเครื่องเลื่อยยนต์ เข้าตัดฟันทำลายต้นยางพาราของราษฎรในชุมชนหลายพื้นที่ เช่น บ้านคอกเสือ หมู่ที่ 8 ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ และต.ตะแพน อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง เป็นพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 200 ไร่ และมีการตรึงกำลังเพื่อเตรียมการเข้าตัดฟันทำลายต้นยางพาราของราษฎรในชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรังด้วย ซึ่งกรมอุทยานฯ กล่าวอ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดและเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า
 
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มีราษฎรประมาณ 100 กว่าคน ชุมนุมคัดค้านในพื้นที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าดำเนินการได้ รวมทั้งมีราษฎรจำนวนประมาณ 50 คน เดินทางไปศาลากลางจังหวัดตรัง เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรังขอให้มีคำสั่งชะลอการตัดฟันต้นยางพาราและพืชผลทางการเกษตรอย่างเร่งด่วน โดยราษฎรได้แจ้งว่าจะกลับไปชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดตรังในวันที่ 24 ส.ค.55 นั้น  
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นเบื้องต้นต่อการดำเนินการดังกล่าวของกรมอุทยานฯ ดังนี้ 1.เนื่องจากพื้นที่ชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู เป็นพื้นที่เดียวกับที่ราษฎรในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่าและเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้เข้าตัดฟันทำลายต้นยางพาราและพืชผลเกษตรและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพยายามจับกุมราษฎร ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 และยังเป็นพื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 อีกด้วย ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น
 
คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนดังกล่าว มีความเห็นเบื้องต้นต่อว่า การดำเนินการตามที่ปรากฏเป็นข่าวข้างต้นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยอาจทำให้กระบวนการตรวจสอบไม่ได้ข้อเท็จจริงที่รอบด้านและถูกต้องอย่างเพียงพอในระดับที่สามารถนำมาประมวลและวิเคราะห์เพื่อนำเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบในประเด็นแนวเขตพื้นที่โฉนดชุมชนของบ้านทับเขือ-ปลักหมู ซึ่งจากการเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2555 ร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร พร้อมด้วย นายฐิติ กนกทวีฐากร ในฐานะผู้แทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และผู้ร้องเรียน พบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า พื้นที่ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เข้าไปตัดฟันต้นยางพาราตามกรณีร้องเรียนข้างต้นนั้น น่าจะอยู่ในเขตพื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ซึ่งหากมีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติม ก็อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
 
2.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เคยมีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีปัญหาข้อพิพาทในเรื่องการปลูกต้นยางพาราระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่ากับราษฎรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ดังนั้น การดำเนินการตามที่ปรากฏเป็นข่าวข้างต้นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีดังกล่าว
 
3.คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความห่วงใยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกับกลุ่มราษฎรทั้งในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดตรังที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อระงับเหตุการณ์เผชิญหน้าดังกล่าว ก็อาจส่งผลให้สถานการณ์มีความรุนแรงบานปลายไปสู่ปัญหาความมั่นคงได้
 
ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำที่อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น จึงขอให้ระงับหรือยับยั้งการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเอาไว้ก่อน จนกว่าการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะแล้วเสร็จ
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net