‘ก.พลังงาน’ รุกกระบี่ ส่งนิด้าทำ SEA ด้าน ‘อดีตคน กฟผ.’ รับโรงไฟฟ้ากระทบคนปกาสัย

กระทรวงพลังงานรุกพื้นที่ จ.กระบี่ส่งนิด้าประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ อดีตคน กฟผ.รับโรงไฟฟ้ากระทบคนปกาสัย หวั่นส่งผลชุมชน-ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม กลุ่มชาวบ้านยันชักธงรบต้าน-เผยข้อมูลไม่พอ

 
 
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 29 สิงหาคม 2555 ที่ศาลาการเปรียญวัดปกาสัย ตำบลปกาสัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ สำนักปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเวทีเสวนาและรับฟังความคิดเห็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการด้านพลังงาน ภายใต้โครงการด้านพลังงาน กรณีศึกษาจังหวัดกระบี่ โดยใช้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ซึ่งมีนายอำเภอเหนือคลอง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจากตำบลปกาสัย ตำบลตลิ่งชัน และตำบลใกล้เคียง ประมาณ 70 คน
 
รองศาสตราจารย์จำลอง โพธิ์บุญ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า การศึกษาโครงการฯ มุ่งศึกษาศักยภาพและข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมในการวางนโยบาย และพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดกระบี่ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับศักยภาพของจังหวัด เพื่อศึกษารูปแบบ กระบวนการขั้นตอน และองค์ประกอบในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า และจัดทำแนวการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจังหวัดกระบี่
 
รองศาสตราจารย์จำลอง ชี้แจงอีกว่า เพื่อพัฒนารูปแบบ และกระบวนการมีส่วนร่วม ที่สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า ทั้งในกระบวนการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การคัดเลือกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกำหนดกิจกรรมการมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนา เพื่อศึกษาแนวทาง วิธีการพัฒนาภาพลักษณ์นโยบาย แผนงาน โครงการ แนวทางวีธีการประชาสัมพันธ์
 
ส่วนรองศาสตราจารย์วิสาขา ภู่จินดา ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดลัอม ชี้แจงว่า โครงการมีศึกษารูปแบบที่เหมาะสมของกองทุนสิ่งแวดล้อมด้านการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชน ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อให้กองทุนฯ เป็นที่ยอมรับของชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนวางแผนการบริหารจัดการให้กองทุนดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
 
ด้านนายดำรัส ประทีป ณ ถลาง กำนันตำบลปกาสัย กล่าวในเวทีว่า โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ผ่านมามีการจัดเวที 4 ครั้ง ประกอบด้วยวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 ที่โรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุงตำบลเหนือคลอง วันที่ 7 สิงหาคม 2555 ที่วัดปกาสัย และระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2555 ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 2 ตำบลโคกยาง อำเภอเหนือคลอง
 
“ถึงแม้ว่าโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ตั้งอยู่ในตำบลคลองขนาน แต่คนตำบลปกาสัยได้รับผลกระทบเต็มๆ ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากควันของโรงไฟฟ้า ในอนาคตหากมีการก่อสร้างชาวบ้านได้รับผลกระทบแน่ๆ อีกทั้งเส้นทางการขนส่งถ่านหินจากท่าเทียบเรือผ่านคลองปกาสัย ชาวบ้านกังวลว่าจะกระทบกับทรัพยากรทางทะเล และสุขภาพ” นายดำรัส กล่าว
 
นายชลิต สุโข สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย หมู่ที่ 1 ตำบลปกาสัย กล่าวในเวทีว่า ตนยืนยันไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นทุกเวทีที่ผ่านมา เพราะมีผลกระทบต่อคนปกาสัย ไม่ใช่คนคลองขนาน เขาพนม ปลายพระยา ฯลฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ไปรับงานจากกระทรวงพลังงาน ต้องวางตัวให้เป็นกลางอย่าชี้นำ ก็เหมือนๆ กับคนรับจ้างถางสวนยางพารา ต้องถางให้ดีเจ้าของส่วนถึงจะจ่ายเงินให้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ก็เช่นกันต้องตอบสนองต่อกระทรวงพลังงานให้ได้
 
ขณะที่นายไพฑูรย์ สุวรรณบริบาล อดีตผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เล็งพื้นที่ภาคใต้ 9 จังหวัด ที่เหมาะสม เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ตนยอมรับว่ามีผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมจริง ซึ่งปัจจุบันยังต้องแก้ไข ถ้าในอดีตไม่ต้องพูดถึงทั้งฝุ่น และเถ้าลอย แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะแก้ปัญหาให้ อีกทั้งกระบี่มีความชื้นในอากาศสูงจึงมีควันจากโรงไฟฟ้า 5-6 กิโลเมตร
 
“ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ดีขึ้นต้องยอมรับว่าสามารถควบคุมได้ 70 เปอร์เซ็นต์ จนสามารถตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์ ไม่ให้เกิดมลพิษซ้ำอีก ชาวบ้านไม่ต้องกังวลกระทรวงพลังงาน หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดไหม เรามีมาตรการเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบตามมา” นายไพฑูรย์ กล่าว
 
 
 
โครงการขยายกาลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
 
ตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ขนาดกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 870 เมกะวัตต์ (ขนาดกาลังผลิตสุทธิประมาณ 800 เมกะวัตต์) โดยใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิง มูลค่าโครงการทั้งหมดประมาณ 50,000 ล้านบาท
 
กระบวนการผลิต การผลิตไอน้า หม้อไอน้าทำหน้าที่ผลิตไอน้าแรงดันสูงเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า การผลิตไอน้าแรงดันสูงเริ่มจากถ่านหินจากพื้นที่กองเก็บ ถูกส่งไปบดให้เป็นผงขนาดเล็กและป้อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ก๊าซร้อนซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ภายในหม้อไอน้าจะถ่ายเทความร้อนให้แก่น้า ทาให้น้ามีอุณหภูมิสูงขึ้นจนกลายเป็นไอ ไอน้าที่ผลิตได้ถูกป้อนเข้าสู่เครื่องกาเนิดไฟฟ้าต่อไป ทั้งนี้ ก๊าซร้อนจากการเผาไหม้ถ่านหินประกอบด้วยมลสารต่างๆ เช่น ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และฝุ่นละอองจากเถ้าเบา ซึ่งมลสารดังกล่าวถูกควบคุมด้วยระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน โดยใช้ตัวเร่งร่วมกับแอมโมเนียเหลว (Selective Catalytic Reduction; SCR) ระบบดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator; ESP) และระบบควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulphurization ; FGD) ตามลาดับ ก่อนปล่อยสู่บรรยากาศทางปล่องสูงต่อไป
 
การผลิตไฟฟ้า ไอน้ำแรงดันสูงที่ผลิตได้จากหม้อไอน้ำถูกส่งไปขับเครื่องกังหันไอน้าซึ่งเชื่อมติดอยู่กับแกนเพลาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เมื่อกังหันไอน้ำหมุนก็จะทำให้แกนเพลาขับเคลื่อนแม่เหล็กให้เคลื่อนที่ตัดกับขดลวดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น โครงการมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งประมาณ 870 เมกะวัตต์ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่ง (ประมาณ 70 เมกะวัตต์) ถูกนามาใช้ภายในโครงการ โดยกระแสไฟฟ้าส่วนที่เหลือประมาณ 800 เมกะวัตต์ ถูกเพิ่มแรงดันด้วยหม้อแปลงไฟฟ้าก่อนส่งเข้าระบบสายส่งต่อไป สำหรับไอน้ำที่ผ่านการใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วจะมีพลังงานลดลงและถูกส่งมาควบแน่นที่ระบบหล่อเย็น เพื่อนำกลับไปใช้ผลิตไอน้ำอีกครั้ง
 
ระบบสนับสนุนการผลิต
1. น้ำใช้ โครงการมีความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆของโครงการประมาณ 3,830 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยรับน้ำมาจากบ่อน้ำดิบของโครงการ
 
2. ระบบหล่อเย็น มีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของอุปกรณ์ต่างๆ ในส่วนการผลิต พร้อมทั้งควบแน่นไอน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วให้กลายเป็นของเหลว(น้ำคอนเดนเสท) เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์อีกครั้ง ทั้งนี้โครงการตั้งอยู่ใกล้กับคลองปกาสัยจึงใช้น้าจากคลองปกาสัยเป็นน้ำหล่อเย็น น้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วจะถูกระบายกลับสู่คลองปกาสัย
 
3. ระบบระบายน้ำฝน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ น้ำฝนที่ไม่มีโอกาสปนเปื้อนจะถูกระบายลงสู่รางระบายน้าฝนของโรงไฟฟ้า ส่วนน้ำฝนที่อาจปนเปื้อน โครงการได้จัดให้มีระบบบาบัดน้ำเสีย
 
4. ระบบขนถ่ายและลาเลียงถ่านหิน โครงการนาเข้าถ่านหินบิทูมินัสจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ซึ่งมีการขนส่งด้วยเรือมายังท่าเทียบเรือของโครงการ
 
สารเคมี
สารเคมีที่ใช้ในโครงการส่วนใหญ่ถูกใช้ในระบบเสริมการผลิตหรือระบบสาธารณูปโภค เช่น การปรับปรุงคุณภาพน้ำ ระบบหล่อเย็น การควบคุมมลภาวะทางอากาศ เป็นต้น สารเคมีที่ใช้ในโครงการ เช่น แอมโมเนียมเหลวใช้สำหรับระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน แอมโมเนียใช้ในการปรับความเป็นกรด-ด่าง (พีเอช) ของน้ำในระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำในเครื่องผลิตไอน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดตะกรัน และการกัดกร่อนของระบบท่อและอุปกรณ์ต่างๆ ก๊าซคลอรีนใช้เติมในระบบหล่อเย็นเพื่อควบคุมและป้องกันการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น เพรียงหอย เพื่อไม่ให้ไปอุดตันระบบท่อและอุปกรณ์ของระบบหล่อเย็น และใช้ในระบบควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
 
จากการตรวจสอบสารเคมีกับข้อมูลของหน่วยงานสากลต่างๆ เช่น International Agency for Research on Cancer (IARC) พบว่าสารเคมีที่ใช้ในโครงการมิได้จัดอยู่ในกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ นอกจากนี้ อาคารเก็บสารเคมีเป็นอาคารปิดมิดชิด เป็นอาคารที่มีหลังคาสูงโปร่ง มีการระบายอากาศที่ดี มีทางเข้าออกง่าย มีเครื่องมือแสดงทิศทางลมติดตั้งไว้ พร้อมมีอุปกรณ์ความปลอดภัย ได้แก่ หน้ากากกรองอากาศและเครื่องช่วยหายใจ
 
 
ที่มา:เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นการกำหนดขอบเขตและแนวทาง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท