ประชาธิปไตยของนักฟังเพลง?: เหตุที่ยุคอินเทอร์เน็ตไม่ต้องการ “นักวิจารณ์”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสได้ติดตามการโต้เถียงในพื้นที่ออนไลน์ต่างๆเกี่ยวกับการเสนอความคิดในทางลบมากๆของนักวิจารณ์ดนตรีชาวไทยที่เคยยิ่งใหญ่มากในอดีตคนหนึ่งเกี่ยวกับบทเพลงต่างประเทศยอดนิยมร่วมสมัยที่กำลังฮิตเปรี้ยงปร้างอยู่เพลงหนึ่ง ความเห็นที่ออกมามีหลายประเภทมากจนผู้เขียนอยากจะลองจัดประเภทของความเห็นดู (แต่คงไม่อาจทำในที่นี้) อย่างไรก็ดีความเห็นที่ผู้เขียนพบว่าน่าสนใจที่สุดก็คือความเห็นในทำนองว่า นักวิจารณ์เป็น “เผด็จการทางรสนิยม” หรือ “นักวิจารณ์ไม่มีสิทธิ์ตัดสินรสนิยมการฟังเพลงของผู้อื่น” เรื่องเหล่านี้เป็นปรากฎการณ์ร่วมสมัยที่น่าสนใจมากจนผู้เขียนเห็นว่าน่าจะลองคิดๆ เขียนๆ เกี่ยวกับมันดู

หลายๆ คนอาจไม่รู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดอะไร แต่ในสายตาของผู้เขียน นี่เป็นความตกต่ำอย่างถึงที่สุดของนักวิจารณ์ดนตรีสมัยนิยมทั้งหลายแหล่ไม่ว่าจะแนวไหนๆ ยุคนี้น่าจะเป็นเป็นยุคที่ความเห็นของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักวิจารณ์ดนตรี” มีราคาต่ำที่สุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในสายตาของคนในสังคมไทยในวงกว้าง (อย่างน้อยก็เท่าที่ความรู้อันจำกัดจำเขี่ยของผู้เขียนมี) และนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากความห่วยแตกของนักวิจารณ์บางคนหรือนักวิจารณ์เป็นหมู่คณะที่จะทำให้ชื่อของนักวิจารณ์เสื่อมเสียไปจนไม่มีใครอยากรับฟัง หากแต่เกิดจากผลของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการบริโภคศิลปวัฒนธรรมที่ส่งผลให้สังคมในยุคอินเทอร์เน็ตในภาพรวมไม่ต้องการนักวิจารณ์ในแบบดั้งเดิมอีกต่อไป ซึ่งนี่จะเป็นประเด็นที่บทความชิ้นนี้ต้องการอภิปราย

ความเป็น “นักวิจารณ์ดนตรี” ในยุคที่สังคมยังต้องการนักวิจารณ์

ในยุคก่อนที่จะมี MTV หรือกระทั่งอินเทอร์เน็ต สื่อที่ทางอิทธิพลกับการซื้องานดนตรีผู้ฟังมากที่สุดก็คือวิทยุและนิตยสารดนตรี และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการแนะนำดนตรีใหม่ๆ และประเมินคุณค่าทางดนตรีให้กับผู้คนในสังคมก็คือนักวิจารณ์ในนิตยสารดนตรีนี่เอง (คนอีกกลุ่มที่มีบทบาทก็คือ DJ ของสถานีวิทยุ ซึ่งผู้เขียนก็พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงของบทบาทไปมากเช่นกัน แต่นั่นก็ดูจะเป็นประเด็นใหญ่ที่ต่างออกไปเกิดกว่าที่จะนำมาอภิปรายร่วมในที่นี้)

ทำไมสังคมในยุคก่อนถึงต้องการนักวิจารณ์? คำตอบแบบบ้านๆ คือ “แผ่นมันแพง” “เทปมันแพง” ผู้ฟังทั่วไปไม่สามารถจะซื้อหามาครอบครองได้มั้งหมด ต้องมีคนบางกลุ่มในสังคมที่จะคอยช่วยบอกว่างานดนตรีชิ้นไหน “ดี” สมควรจะซื้อหามาฟัง งานดนตรีชิ้นไหนเป็น “ขยะ” ไม่ควรค่าแก่การฟัง และผู้ชี้นำในแบบนี้มีความสำคัญอย่างเป็นพิเศษที่จะชี้นำการบริโภคดนตรีแนวดนตรีที่ไม่สามารถหาฟังได้ง่ายๆ จากทางวิทยุ (ไม่ต้องพูดถึงโทรทัศน์) อย่างบทเพลงต่างประเทศต่างๆ ซึ่งการได้มาซึ่งงานดนตรีเหล่านี้จาก “แผงเทป” อาจต้องดั้นด้นและเฟ้นหางานดนตรีจากร้านบางร้านที่มีงานดนตรีหลากหลายเป็นพิเศษ หรือกระทั่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ณ ที่นี้เราจะเห็นว่านักวิจารณ์ต้องมีคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างต่ำ 2 ประการ

  1. เป็นผู้ที่มีประสบการฟังเพลงมาก (จะมีประสบการณ์ฟังที่ “กว้าง” หรือจะมีประสบการณ์ฟังที่ “ลึก” หรือทั้ง “กว้าง” และ “ลึก” ก็ได้ประเด็นสำคัญคือต้องมีประสบการณ์มากกว่าบุคคลทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะประสบการณ์ฟังเพลงต่างประเทศ)
  2. เป็นผู้ที่สามารถจะตัดสินได้ว่างานดนตรีชิ้นไหนดี ชิ้นไหนเลว

จะสังเกตได้ว่านักวิจารณ์จำเป็นต้องมีความสามารถในการตัดสินให้ได้ว่างานดนตรีชิ้นไหนดีหรือเลวอยู่แล้วเพราะนี่เป็นหน้าที่ของนักวิจารณ์ที่ทำให้นักวิจารณ์ยังมีความจำเป็นอยู่ อย่างน้อยที่สุดแล้วนักวิจารณ์ต้องสามารถตัดสินได้ว่าดนตรีในแนวทางเดียวกันชิ้นไหนเป็นงานที่ดีและเลว จะบอกว่า ‘งานทุกชิ้นมีความดีงามของมันอยู่หมด งานแต่ละชิ้นเทียบกันไม่ได้ จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับ “รสนิยม” ’ นั้นล้วนไม่ใช่สิ่งที่นักวิจารณ์ทำได้หรือสมควรจะทำ อย่างน้อยๆ ระบบการ “ให้ดาว” ของนิตยสารดนตรีมันก็บีบให้นักวิจารณ์นำงานดนตรีที่มีความต่างกันเชิงคุณภาพมาอยู่ในระนาบของความแตกต่างเชิงปริมาณเดียวกันโดยอัตโนมัติในการ “ให้ดาว” อยู่แล้ว การตัดสินความดีงามของดนตรีจึงเป็นเรื่องของ “หน้าที่” ของนักวิจารณ์ ดังนั้นหากจะบอกว่าการกระทำเช่นนี้เป็น “เผด็จการทางรสนิยม” มันก็คงจะเป็นการกระทำเยี่ยงเผด็จการไปตามหน้าที่

จริงๆ บทบาทที่ว่าของ “นักวิจารณ์ดนตรี” นั้นปรากฏไปในทุกอาณาบริเวณของโลกสมัยใหม่ที่คนสามารถเลือกได้อย่างจำกัด กล่าวคือ “นักวิจารณ์” สิ่งอื่นๆ ก็มีบทบาทแบบนักวิจารณ์ดนตรีในพื้นที่ของตนเอง นักวิจารณ์ภาพยนตร์ก็ทำหน้าที่แบบเดียวกันในการช่วยให้คนเลือกดูภาพยนตร์ที่ดีคุ้มค่าเงิน นักวิจารณ์เกมก็ทำหน้าที่แบบเดียวกันในการช่วงให้คนเลือกซื้อเกมที่ดีคุ้มค่าเงิน หรือกระทั่งนักวิจารณ์การเมืองก็ช่วยให้คนเลือกนักการเมือง พรรคการเมือง หรือกระทั่งระบบการเมืองที่ดีที่สุดที่คุ้มค่ากับการใช้สิทธิไปจนถึงการลงทุนลงแรงของตน [1] อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษจารีตของการวิจารณ์ดนตรีสมัยนิยมก็คือ มันเป็นจารีตการวิจารณ์ที่อนุญาตให้ใช้อคติในการประเมินคุณค่าที่สุดโดยไม่ต้องมีหลักการหรือเหตุผลที่เป็นระบบใดๆ รองรับทั้งสิ้น

หากลองเปรียบเทียบดู เราจะพบว่าหลักการหรือทฤษฎี (ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีดนตรีหรือทฤษฎีสังคม) เป็นสิ่งที่ปรากฏน้อยมากในการวิจารณ์ดนตรีสมัยนิยมไม่ว่าจะเป็นคำวิจารณ์ของนักวิจารณ์จากฝั่งใดของโลก ถ้าลองเปรียบเทียบกับโลกของการวิจารณ์ภาพยนตร์ที่จัดว่าเป็นศิลปวัฒนธรรมของมวลชนในวงกว้างในระดับเดียวกันแล้ว เราก็แทบจะพบความแตกต่างแบบคนละโลกเลย เพราะถึงแม้บทวิจารณ์ภาพยนตร์แบบที่ไม่มีหลักการและทฤษฎีจะมีปรากฏอยู่มากมาย แต่การวิจารณ์ภาพยนตร์โดยใช้ทฤษฎีสารพัดจากทั่วทุกหัวระแหงไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีภาพยนตร์ไปจนถึงทฤษฎีสังคมก็ปรากฏอยู่ดาษดื่นเช่นกัน และนี่ก็คงจะไม่ต้องไปเทียบกับโลกทางการวิจารณ์ของงานทางทัศนศิลป์ งานวรรณกรรม หรือกระทั่งงานดนตรีคลาสสิคที่การวิจารณ์ส่วนใหญ่ดูจะเป็นการวิจารณ์ผ่านหลักการที่แน่นหนาทั้งสิ้น และการวิจารณ์แบบบ้านๆ ไม่มีหลักการหรือทฤษฎีรองรับเป็นสิ่งที่แทบไม่ปรากฏหรือปรากฎน้อย เพราะนี่เป็นสิ่งที่ดูยากจะยอมรับได้ในแวดวงเหล่านั้น [2]

ในทางกลับกัน ก็ไม่มีใครจะคาดหวังการให้เหตุผลและทฤษฎีที่แน่นหนาในบทวิจารณ์นักวิจารณ์ดนตรีสมัยนิยม ผู้อ่านคาดหวังบทวิจารณ์ที่มีลักษณะก่นด่าหรือไม่ก็สรรเสริญพร้อมการ “ให้ดาว” หรือการให้คะแนนงานดนตรีว่าได้เท่าไรจากคะแนนเต็ม (ปกติมักจะเต็ม 5) จากผู้ที่มีความจำนาญการในแนวทางดนตรีนั้นๆ ผู้เชี่ยวชาญอาจมีความสามารถในการให้เหตุผลทางทฤษฎีดนตรีหรือทฤษฎีสังคมว่าทำไมงานดนตรีชิ้นนั้นๆ ถึงดีงามหรือต่ำทราม แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้อ่านทั่วไปต้องการจะอ่าน ซึ่งการที่กลุ่มผู้อ่านนิตยสารดนตรียังเป็น “ตลาด” ของบทวิจารณ์นั้นไม่ต้องการการใช้เหตุผลในบทวิจารณ์ ก็น่าจะทำให้นักวิจารณ์เหล่านั้นก็มักจะหลีกเลี่ยงในการให้เหตุผลจนเคยชิน (ซึ่งผลข้างเคียงที่จะตามมาคือสมรรถภาพในการให้เหตุผลรองรับการตัดสินของตัวเองอาจขึ้นสนิม)

ถ้านักวิจารณ์ดนตรีไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลหรือคำอธิบาย แล้วอะไรเป็นตัวตัดสินคุณภาพของงานวิจารณ์หนึ่งๆ? คำตอบเบื้องต้นก็คือสเน่ห์มนตรา (charisma) ของนักวิจารณ์คนนั้นๆ ที่จะสามารถเก็บสะสมได้จากประสบการณ์ฟังเพลงและลีลาการใช้ภาษา กล่าวคือยิ่งฟังเพลงเยอะก็ยิ่งดูเป็นนักวิจารณ์ที่ดีได้ การ “โปรยชื่อ” (name dropping) ในบทวิจารณ์เป็นสิ่งที่ผู้อ่านคาดหวังเพราะมันเป็นการบ่งชี้ภูมิหลังการฟังเพลงของนักวิจารณ์ว่ามีมากพอจะตัดสินงานนั้นๆ หรือไม่ และกระบวนการพิสูจน์ความรู้ของตัวนักวิจารณ์ซึ่งนำมาสู่การยอมรับบทวิจารณ์ที่ไม่มีเหตุผลประกอบของนักวิจารณ์ดนตรีก็มีลักษณะดังนี้เอง

เมื่ออินเทอร์เน็ตทำให้ทุกคนเป็นนักวิจารณ์

ณ ปัจจุบันในปี 2012 เราคงไม่ต้องถกเถียงกันมากมายอีกแล้วว่าในช่วงทศวรรษแรกหลังปี 2000 โลกทางดนตรีของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล มนุษย์ลดการบริโภคงานดนตรีที่จับต้องได้ลงอย่างมหาศาล และก็เปลี่ยนรูปแบบและโครงสร้างการบริโภคและการผลิตดนตรีสารพัด เรื่องเหล่านี้คงจะต้องคุยกันยาวถึงจะเหมาะสม หากแต่ในที่นี้ผู้เขียนจะเน้นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลโดยตรงกับบทบาทของนักวิจารณ์ดนตรีในสังคมยุคปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดก็คือการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตทำให้ทุกๆ คนสามารถมีคุณสมบัติแบบเดียวกับที่นักวิจารณ์ดนตรีในยุคก่อนมี หากเขาต้องการ มันทำให้คนที่ต้องการจะมีประสบการณ์ฟังบทเพลงจำนวนมากสามารถมีประสบการณ์ฟังเพลงจำนวนมากได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าสมัยก่อนมากทั้งต้นทุนด้านตัวเงินและเวลาการค้นหาบทเพลง

นักฟังเพลงยุคปัจจุบันมีทางเลือกจำนวนมากทั้งที่ถูกต้องตามกฏหมายและไม่ใคร่จะถูกกฎหมายนักในการสืบค้นหาบทเพลงทั้งเก่าและใหม่มาฟังจากอินเทอร์เน็ต บทเพลงจำนวนมากอยู่เพียงแค่ปลายนิ้วของผู้ที่มีคอมพิวเตอร์ติดอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นจากบรรดาเว็บสตรีมเพลงถูกกฎหมายต่างๆ จากเว็บวีดีโอชื่อก้องอย่าง YouTube หรือจากเว็บบิตทอร์เรนต์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ยืนหยัดสู้กับอำนาจรัฐนานาชาติอย่าง Pirate Bay ผลที่เกิดขึ้นก็คือ มีนักฟังเพลงที่มีประสบการณ์การฟังเพลงในระดับเดียวกับนักวิจารณ์ในยุคก่อนมากมายด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าและเวลาที่รวดเร็วกว่า

นักฟังเพลงยุคใหม่ได้เปรียบนักวิจารณ์ดนตรีในยุคก่อนเพียงไรในแง่ของการเข้าถึงงานดนตรี? หากลองคำนวณง่ายๆ สมัยก่อนราคาแผ่น CD นำเข้าราคาแผ่นละ 1000 บาท [3] นักวิจารณ์นำเข้าแผ่นพวกนี้เดือนละ 10 แผ่นมาฟังก็ต้องใช้ต้นทุนเดือนละ 10,000 ทุกเดือนในการสร้างเสริมประสบการณ์ตนเองซึ่งเงินปริมาณขนาดนี้ก็ไม่ใช่เงินน้อยๆ เลยในสมัยก่อน (และสำหรับหลายๆ คนในสมัยนี้ก็ยังไม่ใช่เงินน้อยๆ) ในขณะที่ ณ ตอนนี้การฟังเพลงต่างประเทศที่ไม่มี CD ขายอยู่ในไทย 10 อัลบั้มนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ บนอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่นิด ไม่ว่าจะเป็นการฟังสตรีมตามเว็บสตรีมหรือการดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเองดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นักฟังเพลงที่ขยันหน่อยก็น่าจะฟังเพลง 10 อัลบั้มได้ภายในเวลาวันสองวันได้อย่างไม่ยากเย็นนัก กล่าวคือสามารถคิดคร่าวๆ ได้ว่า สิ่งที่นักวิจารณ์ในสมัยสมัยก่อนทำได้โดยใช้งบ 10,000 บาทและเวลา 1 เดือนนั้น นักฟังเพลงสมัยนี้ทำได้ในเวลา 2 วันโดยไม่ใช้งบประมาณใดๆ เลย [4] ความแตกต่างของความเร็วในการสร้างเสริมประสบการณ์นี้ถ้าจะคิดคร่าวๆ เลยก็คือ นักฟังเพลงในยุคนี้เพิ่มประสบการณ์ได้เร็วเป็น 15 เท่าของนักวิจารณ์ดนตรีสมัยก่อน (2 วัน กับ 30 วัน) หรือถ้าคิดอีกแบบก็คือ นักฟังเพลงสมัยนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปีก็จะสามารถมีประสบการณ์เทียบเท่าประสบการณ์ฟังเพลงของนักวิจารณ์สมัยก่อนที่ต้องใช้เวลาสั่งสมมา 15 ปี (อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่ความหลากหลายของงานดนตรีที่เคยฟัง)

ด้วยความรวดเร็วในการสะสมประสบการณ์นี้เอง นักฟังเพลงรุ่นใหม่จำนวนมากจึงมีประสบการณ์ฟังไม่น้อยกว่านักวิจารณ์รุ่นเก่าอย่างรวดเร็ว นี่เป็นเหตุผลเบื้องต้นที่ทำให้คนฟังเพลงรุ่นใหม่ๆ ไม่ให้ราคากับความเห็นของนักวิจารณ์รุ่นเก่า

เหตุผลที่พ่วงกันมาแบบแยกไม่ออกก็คือ แนวทางการวิจารณ์ดนตรีของนักวิจารณ์รุ่นเก่าเป็นแนวทางที่ไม่ใช้หลักการ ทฤษฎีและเหตุผลที่หนักแน่นอยู่แล้วดังที่กล่าวมา ดังนั้นในแง่นี้ใครที่ฟังเพลงมากพอๆ กับนักวิจารณ์รุ่นเก่า ก็จะสามารถแสดงความเห็นให้อย่างชอบธรรมพอๆ กับนักวิจารณ์รุ่นเก่า เพราะทั้งหมดก็ล้วนเป็นการแสดงความเห็นที่ไม่มีอะไรรองรับนอกจาก “อคติ” หรือ “รสนิยม” ของตนทั้งสิ้น กล่าวคือนักวิจารณ์รุ่นเก่าได้สร้างมาตรฐานของบทวิจารณ์ไว้ “ต่ำ” เอง ในแง่ที่ใครๆ ที่ฟังเพลงมามากพอก็เขียนบทวิจารณ์ในแบบเดียวกันได้ เมื่อถึงยุคที่ทุกๆ คนก็ฟังเพลงไม่น้อยไปกว่านักวิจารณ์กันหมด ความเห็นของนักวิจารณ์ก็ไม่ใช่สิ่งวิเศษวิโสที่คนอื่นๆ จะเชื่อฟังอีกต่อไปในภาพรวม

ความเสื่อมของนักวิจารณ์เป็นความเสื่อมเดียวกันกับความเสื่อมของนิตยสารดนตรีต่างประเทศในไทย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าความยิ่งใหญ่ของนักวิจารณ์แต่ละคนในอดีตเกิดจากบทวิจารณ์ ซึ่งบทวิจารณ์เหล่านี้อยู่ในในนิตยสารดนตรีต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าไม่มีนิตยสารดนตรีต่างประเทศ นักวิจารณ์ก็ไม่สามารถแสดงความยิ่งใหญ่และหาสาวกในแบบเดิมๆ ได้อีก ถ้าเรามองคร่าวๆ เราก็จะพอเห็นได้ว่านิตยสารดนตรีต่างประเทศในไทยค่อยๆ ล้มหายตายจากไปทีละฉบับไม่ว่าจะเป็น Quiet Storm, Generation Terrorist, Crossroads, Music Express, Metal Mag ฯลฯ ผู้เขียนคงไม่อยากอธิบายถึงการเกิดขึ้นและแตกดับของนิตยสารเหล่านี้เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอ แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะขอพูดถึง “หน้าที่” ของนิตยสารเหล่านี้

หน้าที่ของนิตยสารดนตรีต่างประเทศนั้นนอกจากจะเป็นพาหนะของบทวิจารณ์ที่ช่วยให้ผู้ฟังตัดสินใจซื้องานดนตรีได้ง่ายแล้ว มันยังเป็นพื้นที่ของข้อมูลข่าวสารโดยทั่วไปของอุตสาหกรรมดนตรีโลกด้วย อย่างไรก็ดีอินเทอร์เน็ตก็ทำให้หน้าที่ที่ว่านี้ล้าสมัยโดยสิ้นเชิง เพราะข่าวสารโดยตรงจากวงดนตรี ค่ายเพลง นิตยสารดนตรีต่างประเทศก็ย่อมรวดเร็วและเที่ยงตรงกว่าที่มันจะผ่านสื่อไทย นอกจากนี้พวกฐานข้อมูลดนตรีบนอินเทอร์เน็ตทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติวงดนตรีหรือรายชื่อผลงานของวงดนตรีก็ยังมีมากมายในอินเทอร์เน็ต (อย่างน้อยๆ หากนึกอะไรไม่ออกก็เข้า Wikipedia ไปดูประวัติคร่าวๆ ของวงดนตรีและรายชื่องานดนตรีที่วงดนตรีเคยออกมาก็จะได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง) การให้ข้อมูลเหล่านี้ของอินเทอร์เน็ตทำให้นิตยสารดนตรีต่างประเทศในในไทยเป็นสิ่งที่แทบไม่มีประโยชน์ใดๆ โดยสิ้นเชิง อย่างน้อยๆ ก็สำหรับผู้ที่มีความสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้บนอินเทอร์เน็ตได้

ความสามารถการเข้าถึงแหล่งข้อมูลใหญ่ที่มีประสิทธิภาพแบบนี้ของคนทั่วไปทำให้ความเหนือกว่าทาง “ความรู้” ของนักวิจารณ์รุ่นเก่าได้รับการบ่อนทำลายลงไปอีก ลองคิดง่ายๆ ว่าช่วงก่อนอินเทอร์เน็ต การจะได้มาซึ่งความรู้ว่าวงดนตรีหนึ่งๆ ออกผลงานอะไรมาบ้าง ไปจนถึงความรู้ว่าวงดนตรีไหนกำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศนั้นเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในหมู่คนทั่วไปในโลกภาษาไทย นักวิจารณ์ดนตรีตามนิตยสารนี่เองเล่นบทบาทของนักข่าวทางดนตรีเป็นผู้ที่มีบทบาทในการถ่ายทอด “ความรู้” เหล่านี้จากนิตยสารและสิ่งพิมพ์ภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้พวกเขาได้รับความเคารพ อย่างไรก็ดีในตอนนี้ข้อมูลแบบเดียวกันสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายโดยคนทุกคนที่มีอินเทอร์เน็ตแล้วและทุกคนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ก็ไม่มีใครจะมารอฟังข้อมูลที่ได้รับการคัดกรองมาโดยนักวิชาการชาวไทยอีก เพราะอย่างน้อยที่สุดการเข้าถึงข้อมูลเองโดยตรงก็รวดเร็วและเที่ยงตรงกว่า นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ผู้คนในยุคปัจจุบัน “ไม่ให้ราคา” กับนักวิจารณ์ดนตรีอีกต่อไปในภาพรวม

กล่าวโดยสรุปแล้ว การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตทำให้หน้าที่ดั้งเดิมของนักวิจารณ์ดนตรีในฐานะของผู้มีข้อมูลความรู้ด้านดนตรีและประสบการณ์ฟังเพลงที่เป็นผู้ชี้นำความเห็นเรื่องความดีงามของดนตรีจบสิ้นไป เพราะอินเทอร์เน็ตก็ทำให้ใครๆ ก็สามารถมีข้อมูลและประสบการณ์ในระดับที่นักวิจารณ์ในยุคก่อนมีได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส และมาตรฐานการวิจารณ์ที่นักวิจารณ์รุ่นก่อนตั้งไว้ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ทำให้ใครที่มีข้อมูลเพียงพอก็สามารถเล่นบทนักวิจารณ์ได้ ดังนั้นนักวิจารณ์ที่มีคุณภาพในการแสดงความเห็นระดับนักวิจารณ์สมัยก่อนจึงแทบจะเฟ้อล้นตลาด และแน่นอนว่านี่เรายังไม่นับว่ายุคแห่งการ “ปฏิสัมพันธ์” นี้ผู้คนจำนวนมากก็ดูจะชอบแสดง “ความเห็น” เหนือสิ่งอื่นใดโดยไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเป็นบทสนทนากับใครทั้งสิ้น และถ้าเรานับทุกการแสดง “ความเห็น” ดนตรีเป็น “บทวิจารณ์” ดนตรีแล้ว แทบทุกคนก็คงจะเป็นนักวิจารณ์กันหมด ซึ่งก็คงจะมีนักวิจารณ์บางท่านพยายามจะแบ่ง “ความเห็น/ความบทวิจารณ์” ที่ “ดี” และที่เป็น “ขยะ” ออกจากกันอยู่ แต่ก็ยากจะมีคนฟังนักวิจารณ์ท่านนั้น เพราะในความวุ่นวายของเสียง “วิจารณ์” เซ็งแซ่นั้น พวกเขาก็ไม่ฟังกันเองด้วยซ้ำ

 

อ้างอิง:

  1. ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้นที่จะชี้ว่าหน้าที่ของนักวิจารณ์ทั้งหลายจะมีเพียงแค่ที่กล่าวมา ผู้เขียนต้องการจะชี้บทบาทของนักวิจารณ์ในฐานะที่มันสัมพันธ์กับตลาดสินค้าศิลปวัฒนธรรมเฉยๆ ถ้าสัมพันธ์กับสิ่งอื่น นักวิจารณ์ก็มีหน้าที่แบบอื่น
  2. ผู้เขียนยอมรับว่าผู้เขียนมีประสบการน้อยในแวดวงอื่นๆ นอกจากแวดวงดนตรี หากผู้เขียนได้กล่าวอะไรผิดประการใด ผู้เขียนก็ยินดีรับคำชี้แนะ
  3. นี่เป็นราคาแผ่น CD ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ที่นำเข้ามาจากฝั่งยุโรปและอเมริกาในร้านขายแผ่น CD นำเข้า การได้มาซึ่งวิธีอื่นๆ หรือการซื้อในช่วงก่อนหน้านี้อาจทำให้ได้แผ่นมาในราคาย่อมเยากว่านี้ได้
  4. คิดบนฐานว่าต้นทุนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นต้นทุนที่น้อยในระดับที่ละเลยได้ในบริบทนี้ เช่นเดียวกับที่คิดว่าคอมพิวเตอร์ก็เป็น “สิ่งจำเป็น” ในครัวเรือนชนชั้นกลางไปแล้ว จึงไม่นับเป็นต้นทุน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท