Skip to main content
sharethis

แจงข้อมูลกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ มีส่วนได้ส่วนเสียกับ กพร.และบริษัทเอกชน สถานที่จัดเวทีไม่เหมาะสม ทั้งโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำสร้างเสร็จ-เดินเครื่องก่อนจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ขู่ฟ้องศาลปกครองให้เวที เป็นโมฆะ

 
 
วานนี้ (9 ก.ย.55) กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปรางและเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด-พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก ทำหนังสือส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไม่ยอมรับการจัดเวทีและผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีขึ้นในวันเดียวกัน (9 ก.ย.55)
 
กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปรางและเครือข่ายประชาชนฯ ให้เหตุผล 7 ข้อ ดังนี้ 1.กรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ มีส่วนได้ส่วนเสียกับ กพร.และบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด 2.สถานที่จัดประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ จัดที่ จ.เพชรบูรณ์ ทั้งที่พื้นที่การขอขยายกำลังการผลิตตั้งอยู่ฝั่ง จ.พิจิตรใกล้หมู่บ้านเขาหม้อ ซึ่งหากเป็นตามเจตนารมณ์ในการรับฟังประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย การจัดเวทีที่เพชรบูรณ์ก็ควรมีเวทีที่ จ.พิจิตร ด้วย 3.การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ก่อนที่ กอสส.จะให้ความเห็นประกอบในวันที่ 20 ก.ย.55 ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง
 
4.รายงาน EHIA โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำที่นำมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ นั้น มีสภาพไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีการประเมินผลกระทบในส่วนของ ‘เหมืองแร่’ แต่ประเมินผลกระทบในส่วนของ ‘โรงประกอบโลหกรรม’ เท่านั้น ทั้งที่จะต้องจัดทำรายงาน EHIA จำนวน 2 ฉบับ คือ ทั้งในส่วนของ ‘EHIA เหมืองแร่’ และ ‘EHIA โรงประกอบโลหกรรม’
 
5.โรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำส่วนขยายที่ปรากฏอยู่ในรายงาน EHIA ที่จะนำมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ได้ก่อสร้างเสร็จแล้วและทำการเดินเครื่องเพื่อทำการผลิตแล้ว แต่กลับมาดำเนินการจัดทำรายงาน EHIA จนได้รับความเห็นชอบจาก คชก.และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ เพื่อที่จะนำไปขอใบอนุญาตตามหลัง เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลในกฎหมาย
 
6.บ่อกักเก็บกากแร่ TSF2 ที่ปรากฏอยู่ในรายงาน EHIA ที่จะนำมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 ก.ย.55 ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว เพื่อเตรียมรองรับการผลิต แต่กลับมาดำเนินการจัดทำรายงาน EHIA จนได้รับความเห็นชอบจาก คชก.และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ 9 ก.ย.55 เพื่อที่จะนำไปขอใบอนุญาตตามหลัง เช่นเดียวกับโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำส่วนขยาย เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลในกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง
 
อีกทั้ง บ่อกักเก็บกากแร่ TSF2 ได้ถูกระบุเอาไว้ตั้งแต่การจัดทำรายงาน EIA แหล่งชาตรีเหนือ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก คชก.ไปตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.2550 ว่าจะก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่ TSF2 ในส่วนของทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ แต่ได้ย้ายสถานที่มาประชิดติดกับหมู่บ้านเขาดินและหนองระมานทางฝั่งทิศใต้ค่อนตะวันตกของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ โดยมีเพียงการอนุญาตจากอธิบดี กพร.ฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ขาดการได้รับอนุญาตหรือความเห็นชอบจาก คชก.ทั้งที่เงื่อนไขการผ่านความเห็นชอบรายงาน EIA แหล่งชาตรีเหนือ ของ คชก.ระบุไว้ชัดเจน
 
7.สัดส่วนผู้เข้าร่วมเวทีตั้งแต่เริ่มกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA โรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำส่วนขยาย ที่ต่อเนื่องมาจนถึงเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 ก.ย.55 มีสัดส่วนของประชาชนและผู้มีส่วน ‘ได้และเสีย’ ไม่เท่าเทียมกัน เหตุเนื่องจากว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และส่วนราชการในท้องถิ่นได้เกณฑ์ประชาชนผู้สนับสนุนโครงการเข้าร่วมเวทีแต่ละครั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 80  แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและมีความคิดเห็นคัดค้านโครงการมีสัดส่วนประกอบอยู่ในเวทีเพียงร้อยละ 10 ถึง 20 ในแต่ละเวทีเท่านั้น ซึ่งเป็นการไม่ยุติธรรม
 
กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปรางและเครือข่ายประชาชนฯ ระบุด้วยว่า จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่ว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 ก.ย.55 จะดำเนินการผ่านไปแล้วหรือไม่ก็ตาม กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปรางและเครือข่ายฯ จะดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการและพลเรือน (ก.พ.)
 
เพื่อให้ตรวจสอบจริยธรรมข้าราชการของอธิบดี กพร. ที่ลงนามคำสั่งแต่งตั้งกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ โดย 4 คนที่เป็นนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษามีรายชื่อซ้ำซ้อนเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักบริหารการมีส่วนร่วม สังกัด กพร. ทำงานภายใต้การสั่งการของอธิบดี กพร. อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย เพราะเห็นว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม กดขี่ ข่มเหง รังแก เอาเปรียบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองแร่และโรงถลุงแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ แทนที่จะตั้งกรรมการที่มีความเป็นกลางมากกว่านี้ 
 
และจะทำหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจุฬาฯ เพื่อให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของนักวิชาการทั้ง 4ด้วย รวมทั้งจะทำหนังสือถึง สสส. ให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของหมอกิจจา เรืองไทย ที่มีตำแหน่งหน้าที่หลายบทบาทซ้ำซ้อน ด้านหนึ่งอยู่ในองค์กรขอสัมปทานทำเหมืองแร่อย่างเอสซีจี อีกด้านหนึ่งมีบทบาทเสมือนเป็นนักบุญคนดีอยู่ในองค์กรอย่าง สสส. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อนโยบายและโครงการการพัฒนาจากภายนอกที่เข้ามาทำลายวิถีชีวิตทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่น
 
รวมทั้งฟ้องต่อศาลปกครองอีกทางหนึ่งด้วยเพื่อขอให้วินิจฉัยพิพากษาให้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 ก.ย.55 เป็นโมฆะ หากเวทีดังกล่าวดำเนินการผ่านไปแล้ว
 
 
 
 
ที่ กพน. ๑/ ๒๕๕๕
กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง
เลขที่ ๕๒๕/๑ หมู่ที่ ๔  ตำบลเนินมะปราง
อำเภอเนินมะปราง  จังหวัดพิษณุโลก  ๖๕๑๙๐
 
๙ กันยายน ๒๕๕๕
 
เรื่อง      ไม่ยอมรับการจัดเวทีและผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในวันอาทิตย์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๕
 
เรียน      ๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
            ๒. อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
๓. ประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด
 
ตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EHIA ด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.)ได้พิจารณาผ่านความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไปเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ และคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิจิตรไปเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๕ เพื่อนำไปประกอบการจัดทำความเห็นนำส่งให้แก่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ประกอบการพิจารณาอนุญาตโครงการต่อไปนั้น ปรากฏว่า กพร. จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียโครงการดังกล่าว ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๕ นี้
 
กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปรางและเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ๓ จังหวัด-พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก ไม่ยอมรับการจัดเวทีและผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในวันอาทิตย์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๕ ด้วยเหตุผลดังนี้
 
๑. กรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ มีส่วนได้ส่วนเสียกับ กพร. และบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เพราะ กรรมการสี่คนเป็นอาจารย์สถาบันอุดมศึกษาสอนวิชาเหมืองแร่ และเป็นผู้เชี่ยวชาญ ประจำสำนักบริหารงานการมีส่วนร่วม สังกัด กพร.ทำงานภายใต้การบังคับบัญชาและรายงานตรงต่ออธิบดี กพร. และอีกหนึ่งคนเป็นที่ปรึกษาของบริษัทเอสซีจีหรือปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งตามหลักการทางกฎหมายหรือตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้วกรรมการในการดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น ต้องมีคุณสมบัติไม่มีส่วนได้เสียกับโครงการหรือกิจการนั้นๆ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม แต่กรรมการทั้งห้าล้วนเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับกิจการส่งเสริมและสนับสุนนการทำเหมืองแร่ทั้งสิ้น
 
๒. สถานที่จัดประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ จัดที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งที่พื้นที่การขอขยายกำลังการผลิตตั้งอยู่ฝั่งจังหวัดพิจิตรใกล้หมู่บ้านเขาหม้อ ซึ่งแม้ว่าผลกระทบจะคาบเกี่ยวกับพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ด้วยก็ตาม ซึ่งหากเป็นตามเจตนารมณ์ในการรับฟังประชาชนผู้มีส่วนได้เสียซึ่งควรสามารถใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างสะดวกนั้น หากไปจัดที่เพชรบูรณ์ก็ควรมีเวทีจัดที่จังหวัดพิจิตร เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
 
๓. วันที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ คือ วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๕  เป็นวันก่อนที่ กอสส. จะให้ความเห็นประกอบในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๕  การรับฟังความคิดเห็นนี้จึงตัดโอกาสที่จะรับฟังความคิดเห็นของ กอสส. และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียไม่มีโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจพิจารณารายงานความเห็นประกอบของ กอสส. ก่อนการให้ความเห็นในเวทีนี้ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง
 
๔. รายงาน EHIA โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำที่นำมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ นั้น มีสภาพไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีการประเมินผลกระทบในส่วนของ ‘เหมืองแร่’ แต่ประเมินผลกระทบในส่วนของ ‘โรงประกอบโลหกรรม’ เท่านั้น ซึ่งผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๖๗ วรรคสอง เพราะไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ระบุเอาไว้ว่าในส่วนของกิจการทำเหมืองแร่ทองคำจะต้องจัดทำรายงาน EHIA จำนวนสองฉบับ คือ ทั้งในส่วนของ ‘EHIA เหมืองแร่’ และ ‘EHIA โรงประกอบโลหกรรม’
 
๕. โรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำส่วนขยายที่ปรากฏอยู่ในรายงาน EHIA ที่จะนำมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๕  ได้ก่อสร้างเสร็จแล้วและทำการเดินเครื่องเพื่อทำการผลิตแล้ว แต่กลับมาดำเนินการจัดทำรายงาน EHIA จนได้รับความเห็นชอบจาก คชก. และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๕ เพื่อที่จะนำไปขอใบอนุญาตตามหลัง เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลในกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง
           
๖. บ่อกักเก็บกากแร่ TSF2 ที่ปรากฏอยู่ในรายงาน EHIA ที่จะนำมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๕  ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว เพื่อเตรียมรองรับการผลิต แต่กลับมาดำเนินการจัดทำรายงาน EHIA จนได้รับความเห็นชอบจาก คชก. และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๕ เพื่อที่จะนำไปขอใบอนุญาตตามหลัง เช่นเดียวกับโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำส่วนขยาย เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลในกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง
 
มิหนำซ้ำ บ่อกักเก็บกากแร่ TSF2 ได้ถูกระบุเอาไว้ตั้งแต่การจัดทำรายงาน EIA แหล่งชาตรีเหนือ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก คชก. ไปตั้งแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐  ว่าจะก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่ TSF2 ในส่วนของทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ แต่ได้ย้ายสถานที่มาประชิดติดกับหมู่บ้านเขาดินและหนองระมานทางฝั่งทิศใต้ค่อนตะวันตกของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ โดยมีเพียงการอนุญาตจากอธิบดี กพร. ฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ขาดการได้รับอนุญาตหรือความเห็นชอบจาก คชก.  ทั้งที่เงื่อนไขการผ่านความเห็นชอบรายงาน EIA แหล่งชาตรีเหนือ ของ คชก. ระบุไว้ชัดเจนว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงแผนผังการทำเหมืองหรือวิธีการทำเหมืองอื่นใดจะต้องนำกลับมาที่ คชก. เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงแผนผังฯ หรือวิธีการทำเหมืองได้
 
๗. สัดส่วนผู้เข้าร่วมเวทีตั้งแต่เริ่มกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA โรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำส่วนขยาย คือ เวทีกำหนดขอบเขตเพื่อจัดทำรายงาน EHIA หรือเวที Public Scoping  เวทีนำเสนอร่างรายงาน EHIA หรือเวที Public Review และเวทีอื่น ๆ ที่ต่อเนื่องมาจนถึงเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๕ นี้ มีสัดส่วนของประชาชนและผู้มีส่วน ‘ได้และเสีย’ ไม่เท่าเทียมกัน เหตุเนื่องจากว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และส่วนราชการในท้องถิ่นได้เกณฑ์ประชาชนผู้สนับสนุนโครงการเข้าร่วมเวทีแต่ละครั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐  แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและมีความคิดเห็นคัดค้านโครงการมีสัดส่วนประกอบอยู่ในเวทีเพียงร้อยละ ๑๐ ถึง ๒๐ ในแต่ละเวทีเท่านั้น ซึ่งเป็นการไม่ยุติธรรมที่อาศัยคนหมู่มากกดดันไม่ยอมรับความคิดเห็นของประชาชนเสียงข้างน้อย
 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ  เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่ว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 กันยายน 2555  จะดำเนินการผ่านไปแล้วหรือไม่ก็ตาม กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปรางและเครือข่ายฯ จะดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการและพลเรือน (ก.พ.) เพื่อให้ตรวจสอบจริยธรรมข้าราชการของอธิบดี กพร. ที่ลงนามคำสั่งแต่งตั้งกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ โดยสี่คนที่เป็นนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษามีรายชื่อซ้ำซ้อนเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักบริหารการมีส่วนร่วม สังกัด กพร. ทำงานภายใต้การสั่งการของอธิบดี กพร. อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย เพราะเห็นว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม กดขี่ ข่มเหง รังแก เอาเปรียบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองแร่และโรงถลุงแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ แทนที่จะตั้งกรรมการที่มีความเป็นกลางมากกว่านี้ 
 
และจะทำหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจุฬาฯ เพื่อให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของนักวิชาการทั้งสี่ด้วย รวมทั้งจะทำหนังสือถึง สสส. ให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของหมอกิจจา เรืองไทย ที่มีตำแหน่งหน้าที่หลายบทบาทซ้ำซ้อน ซ่อนเร้นจนมั่วไปหมด ด้านหนึ่งอยู่ในองค์กรขอสัมปทานทำเหมืองแร่อย่างเอสซีจี อีกด้านหนึ่งมีบทบาทเสมือนเป็นนักบุญคนดีอยู่ในองค์กรอย่าง สสส. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อนโยบายและโครงการการพัฒนาจากภายนอกที่เข้ามาทำลายวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่น  รวมทั้งฟ้องต่อศาลปกครองอีกทางหนึ่งด้วยเพื่อขอให้วินิจฉัย/พิพากษาให้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 กันยายน 2555 เป็นโมฆะ หากเวทีดังกล่าวดำเนินการผ่านไปแล้ว
 
สุดท้ายนี้ ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  อธิบดี กพร.  และประธานรับฟังความคิดเห็นฯ ตอบจดหมายฉบับนี้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือติดต่อประสานงานหรือจัดส่งเอกสารอื่นตามข้อเรียกร้องภายใน ๑๕ วัน โดยขอให้จัดส่งเอกสารมาที่ ‘กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง เลขที่ ๕๒๕/๑ หมู่ที่ ๔  ตำบลเนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง  จังหวัดพิษณุโลก  ๖๕๑๙๐’ หรือประสานงานติดต่อได้ที่ นางอารมณ์ คำจริง
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถือ
 
 
(นางอารมณ์ คำจริง)
ผู้ประสานงานกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net