Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เป็นเวลาประมาณหนึ่งปีแล้วที่ผมได้ใช้เวลาบางส่วนของชีวิตในการทวีตแสดงความเห็นวิพากษ์ ม.112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อเปิดพื้นที่การถกเถียงเรื่องนี้ให้กว้างและมีส่วนร่วมมากกว่าสื่อกระแสหลักจะอนุญาต ปรากฎว่าผู้เขียนมักพบกับข้อโต้แย้งและกล่าวหาซ้ำๆ ประมาณ 8 แบบจากบรรดาผู้คนที่รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงและสนับสนุน ม.112  จึงขอรวบรวมเอามาเผยแพร่พร้อมโต้แย้งและพยายามตีความดังต่อไปนี้
 

1) ทำไมไม่พูดเรื่องปัญหาอื่นบ้าง เช่นคอรัปชั่น แทนที่จะมัวแต่บ่นเรื่อง ม.112 ?

ตอบ: มันเป็นทั้งคำถามและข้อเสนอที่พิสดารเพราะผมไม่เคยไปห้ามมิให้คนอื่นไปสนใจเรื่องอื่น หรือบังคับให้ใครมาติดตามสิ่งที่ผมแสดงออกในทวีตภพ ใครสนใจเรื่องปัญหาคอรัปชั่นนักการเมืองมากกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการแสดงออกและการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ก็เชิญตามสะดวก ผมไม่เคยห้าม และคิดว่าเป็นการดี

  คำถามเช่นนี้ทำให้นึกถึงสังคมที่ประชาชนถูกบังคับให้ต้องสนใจในเรื่องที่เหมือนๆ กันทุกคน ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือสังคมเผด็จการ

  การทำเรื่องคอรัปชั่นกับการรณรงค์ต้าน ม.112 สามารถทำไปพร้อมๆ กันได้โดยคนหลากหลายกลุ่มในสังคม ไม่จำเป็นต้องเลือกอันใดอันหนึ่ง เหมือนกับที่เราไม่ต้องเลือกว่าถ้าดื่มน้ำแล้วจะกินข้าวไม่ได้ หรือถ้ากินข้าวแล้วจะดื่มน้ำไม่ได้
 

2) การพูดถึงปัญหา ม.112 ทำให้สังคมแตกแยก

ตอบ: ความแตกต่างไม่ใช่ความแตกแยก แต่การปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนอย่างไม่รู้จักพอเพียง การยัดเยียดข้อมูล ‘ดีๆ ’ เกี่ยวกับเจ้าด้านเดียวอย่างไม่รู้จักพอเพียงผ่านสื่อทุกสื่อ พร้อมการจำคุกคนที่วิพากษ์เจ้าหรือใช้คำหยาบคายแสดงความเกลียดชังเจ้า ย่อมทำให้เกิดความแตกแยกอย่างแทบที่จะหลีกเหลี่ยงมิได้ เพราะคนจำนวนหนึ่งถูกกดขี่ไร้สิทธิพื้นฐานในการแสดงความเห็นต่าง ที่เท่าทันต่อสถาบันกษัตริย์
 

3) ยังต้องคง ม.112 ไว้เพราะคนไทยส่วนใหญ่คิดแยกแยะเองไม่เป็นว่าอะไรจริงอะไรเท็จ

ตอบ: หลายคนที่พูดเช่นนี้กับผมอ้างว่าเขาได้อ่านหนังสือต้องห้ามอย่าง The King Never Smiles มาแล้วและเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่อาจหลงเชื่อ แยกแยะไม่ออก หากมีการเผยแพร่หนังสือเช่นนี้อย่างถูกกฎหมายได้ แต่ผมอดสงสัยมิได้ว่าคนเหล่านี้มิได้เป็นคนไทยหรือฉลาดและเป็นเทวดาเหนือกว่าคนไทยส่วนใหญ่มากนักหรือ จึงสามารถอ่านหนังสือต้องห้ามได้โดยที่ยังคงอุดมการณ์รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงได้อย่างมั่นคง

  ข้อโต้แย้งนี้ทำให้ผมถึงนึกชนชั้นกลางและชนชั้นนำที่อยากให้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่คนที่จบปริญญาตรีหรือเรียนสูงกว่านี้เท่านั้น หรือพวกที่มองประชาชนเป็นควายแต่กลับชอบหมอบคลานเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน
 

4) ก็ ม.112 มันเป็น ‘กฎหมาย’

ตอบ: ใช่ครับ ม.112 เป็น ‘กฎหมาย’ หรือขอสะกดว่ามันเป็น ‘กดหมาย’ ด้วยก็แล้วกัน - แต่มันเป็นกฎหมายที่ชอบธรรมและเคารพความเสมอภาครวมถึงสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน และเป็นประชาธิปไตยหรือไม่? คำตอบคือ ‘ไม่’

  ม.112 ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกฎหมายแบ่งสีผิวอันไม่ชอบธรรมในอเมริกาและอัฟริกาใต้ในอดีต หรือกฎหมายทาส ที่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกเพราะผู้คนที่ถูกกดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพทนไม่ได้และลุกขึ้นมาต่อสู้
 

5) ยังไม่ถึงเวลาอันควร

ตอบ: เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่มีการปิดหูปิดตาปิดปากและยัดเยียดข้อมูลด้านเดียวอย่างไม่รู้จักพอเพียง และมีคนติดคุกจนต้องตายในคุกไปหนึ่งคนแล้ว แล้วจะต้องให้รอถึงชาติหน้าหรือ?
 

6) ไล่ผู้เขียนและผู้ต่อต้าน ม.112 ทั้งหมดไปอยู่ต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เขมร หรือดูไบบุรี

ตอบ: ประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่บ้านของพ่อใครคนใด หรือของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวอย่างที่บางคนอาจเข้าใจผิดตามความเชื่อหลงยุคของดารารุ่นใหญ่แก่ๆ คนหนึ่ง - จึงไม่มีผู้ใดมีสิทธิไล่ใครออกจากแผ่นดินนี้ - ผมสงสารคนที่ยังเชื่อว่าประเทศนี้เป็นของคนๆ เดียว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคนไทยทั้งหมดก็มิใช่พลเมืองหากเป็นเพียงผู้เช่าที่เช่าแผ่นดินคนอื่นเขาอยู่ แถมต้องจ่ายภาษี แต่กลับรู้สึกปิติไปกับการได้เป็นเพียงผู้เช่าอาศัยเขาอยู่ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน
 

7) คนต้าน ม.112 รับจ้างทักษิณหรือต่างชาติ

ตอบ: ใบเสร็จอยู่ไหนครับ? และหากพวกคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงสามารถมีอุดมการณ์รักอย่างไม่พอเพียงและอวยเจ้า อย่างไม่พอเพียงได้ ทำไมพวกเขาจึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าคนอื่นๆ ก็สามารถมีอุดมการณ์เพื่อสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการแสดงออกและความเสมอภาคได้เช่นกัน?
 

8) ผู้ที่ต่อต้าน ม.112 อย่างผู้เขียน เจอคำหยาบคายสารพัดทางทวีตภพ

ตอบ: จะด่าพ่อล่อแม่ และใช้คำหยาบและถ่อยสารพัดก็ตามสบายครับ ผมถือว่าเป็นข่าวดี - เป็นข่าวดีเพราะมันแสดงให้เห็นว่าคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงที่ใช้คำหยาบเขาจนปัญญาที่จะใช้เหตุผลปกป้อง ม.112 แล้วครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net