Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 
การประกาศจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร (Hillsborough Independent Panel) เกี่ยวกับความจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรที่มีสาธุคุณเจมส์ โจนส์ สังฆราชเมืองลิเวอร์พูล ประธานคณะกรรมการฯ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ผู้บริหารองค์กรกีฬาฟุตบอลระดับชั้นต่างๆ สโมสรฟุตบอลเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ที่เป็นเจ้าของสนามที่จัดการแข่งขันในขณะเกิดโศกนาฏกรรม และเจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ ต่างออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษต่อสาธารณะชนต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เหตุที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวทุกภาคส่วนต้องออกมาขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบจากโศกนาฏกรรมดังกล่าว ก็เพราะผลการไต่สวนและแถลงข้อเท็จจริงในเอกสาร Taylor Report ที่มีลอร์ด ปีเตอร์ เทย์เลอร์เป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ประกอบด้วยเนื้อหาที่ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ซึ่งความผิดพลาดของรายงานในอดีตที่ผ่านมาส่งผลให้แฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูลถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งๆ ที่เป็นผู้บริสุทธ์และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน อันเท่ากับว่าผลการไต่สวนและแถลงข้อเท็จจริงในเอกสาร Taylor Report ฉบับเดิมเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ได้สร้างความอยุติธรรมที่ซ้ำซ้อน (Double Injustice) เพราะนอกจากผู้ที่บริสุทธิ์และครอบครัวจะได้รับผลกระทบต่อชีวิต ร่างกายและจิตใจจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าวแล้ว ผู้บริสุทธิ์บางส่วนยังถูกสังคมและหน่วยงานของรัฐในขณะนั้นตราหน้าว่าเป็นผู้ก่ออาชญากรรมจนเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฎกรรมดังกล่าว
 
มองอดีตที่ผ่านมาของโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร
 
โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1989 ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศระหว่างทีมสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลกับทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ที่สนามเชฟฟิลล์เวนส์เดย์  ซึ่งจากการสรุปเนื้อหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าวในเอกสาร Taylor Report  ที่ได้รายงานว่าโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรเกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและการก่ออาชญากรรมของแฟนบอลในก่อนและระหว่างเกมการแข่งขันฟุตบอลในสนามกีฬาได้เริ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในสนาม และการเข้าชมเกมการแข่งขันโดยไม่มีตั๋วเข้าชม เป็นต้น นอกจากข้อสรุปเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและการก่ออาชญากรรมของผู้ชมการแข่งขันในครั้งนั้นแล้ว สาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดเหตการณ์ดังกล่าวตามที่เอกสาร Taylor Report ในอดีตยังได้สรุปเกี่ยวกับข้อเท็จจริงไว้เกี่ยวกับความปลอดภัยในสนามกีฬา กล่าวคือ โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดมาตรการส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลที่เหมาะสม เพราะจากหลักฐานและการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่าอัฒจรรย์ฝั่งตะวันตก (West Stand) มีพื้นที่รองรับผู้ชมกีฬาฟุตบอลได้น้อยกว่าอัฒจรรย์ฝั่งตะวันออก (East Stand) แต่ทางสโมสรฟุตบอลเชฟฟิลล์เวนส์เดย์ที่เป็นเจ้าของสนามที่ใช้ในการแข่งขันกลับให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลจากสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลที่มีจำนวนมากกว่าไปเข้าชมในอัฒจรรย์ฝั่งตะวันตกและให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลจากทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ที่มีจำนวนน้อยกว่าไปเข้าชมทางอัฒจรรย์ฝั่งตะวันออก ซึ่งการเข้าสู่สนามอย่างเบียดเสียดยัดเยียดของผู้ชมกีฬาฟุตบอลจากสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลในอัฒจรรย์ฝั่งตะวันตกโดยขาดการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่ดีจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สโมสรฟุตบอลเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ที่เป็นเจ้าของสนามที่จัดการแข่งขัน เจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนโดยตรงในขณะนั้น และฝ่ายปกครองท้องถิ่น ประกอบกับภาครัฐขาดมาตรการและการฝึกฝนเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมฝูงชนในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลเป็นการเฉพาะ 
 
ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์ ในขณะนั้น จึงได้นำเอาข้อมูลจากเอกสาร Taylor Report ในปีเดียวกับมาเป็นแนวทางในการจัดทำมาตรการทางกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและป้องกันการก่ออาชญากรรมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ซึ่งแม้ในเวลาต่อมาได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแถลงข้อเท็จจริงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมิได้เกิดจากการก่ออาชญากรรมของผู้ชมกีฬาฟุตบอลในสนามในเวลานั้น แต่เกิดจากการขาดเทคนิคการควบคุฝูงชนและการขาดมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในสนามที่ดี แต่ความเข้าใจผิดของคณะผู้จัดทำเอกสาร Taylor Report นี้เอง ได้ส่งผลให้มีการตราและบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมความปลอดภัยและป้องกันการก่ออาชญากรรมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ได้แก่ กฎหมาย Football Spectator Act 1989 ที่บังคับใช้ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียของผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลเป็นจำนวนมากจากโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร
 
กฎหมาย Football Spectator Act 1989 ได้กำหนดมาตรการที่สำคัญสามประการด้วยกันได้แก่ ประการแรก กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในช่วงก่อน ขณะและภายหลังการแข่งขันกีฬาฟุตบอล โดยกฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรออกใบอนุญาตมาตรฐานสนามกีฬาฟุตบอลของอังกฤษในการตรวจสอบความปลอดภัยและโครงสร้างอาคารของสนามกีฬาฟุตบอล ซึ่งมาตรา 13 ของกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้องค์กรออกใบอนุญาตมาตรฐานสนามกีฬาฟุตบอลมีหน้าที่ในการวางหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยของสนามกีฬาฟุตบอล อนึ่ง องค์กรออกใบอนุญาตมาตรฐานสนามกีฬาฟุตบอลสามารถให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการออกใบอนุญาต (Licensing System) เพื่อให้ท้องถิ่นอังกฤษสามารถออกใบอนุญาตตรวจความปลอดภัย (Safety Certification) ของสนามฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ
 
ประการที่สอง กฎหมาย Football Spectator Act 1989 มาตรา 15 ได้กำหนดให้มีหน่วยงานตำรวจทางฟุตบอลที่ถือเป็นตำรวจทางการยุติธรรมประเภทหนึ่งที่มีหน้าที่ในการออกคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรง ที่ประกอบด้วย คำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรงในประเทศ (Domestic Football Banning Orders) และคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรงระหว่างประเทศ (International Football Banning Orders) ตัวอย่างเช่น ตำรวจทางฟุตบอลอาจทำคำสั่งยึดหนังสือเดินทางของผู้ชมกีฬาฟุตบอลต่างประเทศ (Surrender Passports) ที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ เป็นต้น
 
ประการที่สาม กฎหมาย Football Spectator Act 1989 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอื่นๆ เพื่อความปลอดภัยและลดอาชญากรรมในสนามกีฬาฟุตบอล เช่น การจุดพลุหรือประทัดภายในสนามกีฬาฟุตบอลโดยไม่มีเหตุอันสมควร (Throw Missiles) การเหยียดผิวผู้ชมกีฬาฟุตบอล (Racist Chanting) การลงไปในบริเวณสนามฟุตบอลที่กำลังมีการแข่งขันโดยไม่มีเหตุอันจำเป็น การขายบัตรเข้าชมกีฬาฟุตบอลราคาเกินไปกว่าความเป็นจริง (Ticket-touting) หรือการขายบัตรเข้าชมกีฬาฟุตบอลปลอม เป็นต้น 
 
ด้วยเหตุนี้ ผลจากไต่สวนและแถลงข้อเท็จจริงในเอกสาร Taylor Report เกิดขึ้นเนื่องมาจากความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อ 23 ปีที่แล้วต่อโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร แต่ความผิดพลาดของข้อมูลที่รัฐบาลอังกฤษได้มาจากการไต่สวนและแถลงข้อเท็จจริงในเอกสาร Taylor Report กลับทำให้เกิดการพัฒนามาตรการทางกฎหมายเฉพาะหลายประการที่เอื้อประโยชน์ในการสร้างความมาตรการส่งเสริมปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลและมาตรการในการลดอาชญากรรมอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ ในเวลาต่อมา
 
มองปัจจุบันและอนาคต
 
แม้ว่าโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรและผลการไต่สวนและแถลงข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดในเอกสาร Taylor Report จะส่งผลร้ายต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 96 ชีวิต ซึ่งบางคนยังไม่ได้เสียชีวิตทันทีในขณะที่เกิดช่วงชุลมุนในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่กลับมาเสียชีวิตไปเพราะเหตุที่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐไม่ยอมทำการค้นหาผู้ที่ยังรอดชีวิตอยู่ในซากสนามกีฬาฟุตบอลที่ถล่มลงมา นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบกลับถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมที่รุนแรงและประกอบอาชญากรรมอันเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดโศกนาฎกรรมดังกล่าว แต่การเข้าใจผิดและการสรุปผลที่ผิดพลาดในหลายประเด็นในเอกสาร Taylor Report นี้เอง กลับทำให้นักกฎหมายอาญาและนักกฎหมายกีฬาของอังกฤษได้นำเอาข้อสรุปอันเกิดจากการเร่งสรุปและทำงานที่ผิดพลาดของคณะผู้จัดทำเอกสาร Taylor Report ไปแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลและมาตรการในการลดอาชญากรรมอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ เช่น กฎหมาย Football Spectator Act 1989 กฎหมาย The Football (Offences) Act 1991 กฎหมาย The Football (Offences and Disorder) Act 1999 และกฎหมาย The Football (Disorder) Act 2000 เป็นต้น
 
ในปัจจุบันรายงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร (Report of the Hillsborough Independent Panel) ได้ออกมากลับคำแถลงข้อเท็จจริงจากเอกสาร Taylor Report ที่ให้แถลงประเด็นข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดและทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับตราบาปและถูกสังคมประนามว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ออกมาน้อมรับความผิดและแถลงคำขอโทษสาธารณะ (Public Apology) ต่อประชาชนทั่วไปเพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงความผิดพลาดของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา
 
แม้ความผิดพลาดอย่างยิ่งยวดของเอกสาร Taylor Report ได้ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่บาดเจ็บและเสียชีวิต และครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น แต่ความผิดพลาดดังกล่าวอาจเป็นบทเรียนที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลร้ายในอนาคตตามมา ในขณะเดียวกันภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ อาจต้องร่วมมือกันในการพัฒนามาตรการทางกฎหมายอาญาทางการกีฬาและกฎหมายความปลอดภัยในอาคารกีฬา รวมไปถึงแนวทางและวิธีการในการไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงสาธารณะเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการกีฬาเพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฎกรรมในลักษณะเช่นเดียวกับโศกนาฏกรรมนี้ขึ้นมาอีกในอนาคต
 
เอกสารอ้างอิง:
 
กฎหมาย Football Spectator Act 1989 โปรดดูใน http://www.legislation.gov.uk/ukpga/1989/37/contents
เอกสาร Taylor Report (The Hillsborough Stadium Disaster: 15 April 1989, Interim Report, Cmnd.765) โปรดดูใน http://www.southyorks.police.uk/sites/default/files/Taylor%20Interim%20Report.pdf
 
รายงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร (Report of the Hillsborough Independent Panel, 12 September 2012) โปรดดูใน http://hillsborough.independent.gov.uk/repository/report/HIP_report.pdf
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net