ประมวลภาพ: ปลาน้ำโขงแหวกว่ายกลางกรุงฯ ก่อนพบนายกฯ ทวงถามจะเอาปลาหรือเขื่อน

ชาวบ้าน 7 จังหวัดอีสาน พาปลาน้ำโขงบุกกรุงฯ เดินขบวนสร้างความเข้าใจทำไมชาวบ้านต้องต้านเขื่อน ก่อนเคลื่อนขบวนร้อง ‘ยิ่งลักษณ์’ หยุดซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี พร้อมฝากคำถาม “นายกฯ จะกินไฟฟ้าหรือกินปลา?”

วันนี้ (16 ก.ย.55) นิทรรศการและการรณรงค์ “ปกป้องแม่น้ำโขง หยุดเขื่อนไซยะบุรี” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเย็นวันที่ 16 ก.ย.55 ด้วยการเดินรณรงค์พร้อมป้ายผ้าและหุ่นปลาปึกยักษ์เข้ามาแหวกว่ายบนพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยชาวบ้านจากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน และองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม

ขบวนรณรงค์เริ่มตั้งแต่บริเวณตั้งแต่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครไปจนถึงย่านการค้าสยามแสควร์ เพื่อให้ข้อมูลและหวังสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่สัญจรไปมาเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ริมฝั่งโขงหากมีการก่อสร้าง “เขื่อนไซยะบุรี” ก่อนที่ชาวบ้านจาก 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จะเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้อง รวมทั้ง “โปสการ์ดปลาบึกเพื่อหยุดเขื่อนไซยะบุรี” ซึ่งลงนามโดยประชาชนทั่วไปรวมกว่า 9,055 รายชื่อ ต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทีทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเช้าของวันที่ 17 ก.ย.นี้

“เรามาเรียกร้องสิทธิ ความเป็นธรรม เพื่อความเป็นอยู่ของเรา เรามาต่อสู้เพื่อลูกเพื่อหลาน เพื่ออนาคตข้างหน้า เรามาเองเพื่อมาบอกว่าเราเดือดร้อน” นายอร่าม ชาวบ้านจาก อ.บ้านใหญ่ จ.มุกดาหารกล่าว

ด้านอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “ไฟฟ้าของไทย หายนะภัยแม่น้ำโขง” ก่อนการเคลื่อนขบวนว่า อยากทำความเข้าใจว่าพี่น้องชาวบ้านไม่ได้มาประท้วงโดยไม่มีเหตุผล โดยก่อนหน้านี้ก็มีการเคลื่อนไหว ทั้งการยื่นหนังสือถึงนายกผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 7 จังหวัดในภาคอีสาน และทวงภาคเหนือ รวมทั้งส่งหนังสือโดยตรงถึงนายก แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความสนใจ

อ้อมบุญ กล่าวถึงเหตุผลของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า ชาวบ้านอยู่ติดริมน้ำโขงได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากเขื่อน 4 แห่งที่กั้นแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ทั้งกรณีการเกิดน้ำท่วมทั้งที่ฝนในพื้นที่ไม่ตก หรือจู่ๆ นำในแม่น้ำโขงในฤดูแล้งก็เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบวิถีชีวิตริมโขง ทั้งการทำประมง เกษตร การค้าขาย และการท่องเที่ยว ดังนั้นหากเกิดเขื่อนไซยะบุรี ซึ่ง ใกล้กับไทยมากขึ้น โดยห่างจาก อ.เชียงคานขึ้นไปเพียง 200 กิโลเมตร ผลกระทบก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

“สิ่งที่พี่น้องมาคราวนี้ คือมาทวงถามนายกรัฐมนตรีว่านายกฯ จะกินไฟฟ้าหรือกินปลา?” อ้อมบุญกล่าว

“เขื่อนไซยะบุรีเรียกได้ว่าเป็นเขื่อนของประเทศไทย เพียงแต่ไปใช้พื้นที่ของประเทศลาวสร้างแล้วจ่ายค่าสัมปทาน” มนตรี จันทวงศ์ จากโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) กล่าวในเวทีเดียวกัน พร้อมให้เหตุผลว่าเขื่อนดังกล่าวสร้างโดยบริษัทไทย ใช้เงินกู้จากธนาคารไทย และไทยเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าถึง 95%

มนตรี กล่าวด้วยว่า เขื่อนไซยะบุรีจะสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านลุ่มน้ำโขงในภาคอีสานของไทยด้วย โดยจะทำให้การไหลของแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นไปตามฤดูกาล เช่นอาจจะทำให้น้ำในหน้าแล้งสูงกว่าปกติถึงประมาณ 3 เมตร หรือน้ำลดลงอย่างมากทางตอนล่างของเขื่อน เพราะฉะนั้น การทำประมง เกษตรริมโขง การร่อนทอง หรือการเก็บไก (สาหร่ายในแม่น้ำโขง) ที่ เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านจะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ขณะที่ วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาในลุ่มแม่น้ำโขง (MEE Net) กล่าวถึงคำถามที่ว่า “ถ้าไม่สร้างเขื่อนไซยะบุรี จะเอาไฟฟ้ามาจากไหน?” โดยให้ข้อมูลว่า ไฟฟ้า ที่ผลิตได้จากเขื่อนไซยะบุรีแค่ปีละ 5,000 ล้านหน่วย หรือแค่ 3% ของไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ในขณะนี้ เท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองอยู่ถึง 20% ซึ่งเท่ากับเขื่อนไซยะบุรี 3 เขื่อน อีกทั้งปัจจุบันมีหลอดผอมที่ใช้กำลังไฟเพียง 28 วัตต์ ซึ่งหากเปลี่ยนไปใช้กันทั้งประเทศจะประหยัดได้ถึง 1,100 เมกะวัตต์ เกือบเท่าไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนไซยะบุรี

วิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า หากสามารถจัดการกับช่วงเวลา 3 เดือนที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดได้ ด้วยการจัดการกับความต้องการใช้ไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จะลดการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นได้หลายโรง

“เรายังมีไฟฟ้ามากพอ แล้วจำเป็นไหมที่เราต้องสร้างเขื่อนนี้เพื่อแลกกับระบบนิเวศและปลาแม่น้ำโขง เรามีวิธีผลิตไฟฟ้าที่ไม่ทำลายหลายวิธี และมีวิธีการประหยัดพลังงาน เราควรจัดการไฟฟ้าอย่างมี ประสิทธิภาพ  โดยไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเลย” วิฑูรย์กล่าว

ด้าน เมียต เมียน (Meach Mean) จากเครือข่ายสามแม่น้ำกัมพูชา ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของชาวกัมพูชากับเขื่อนยาลีฟอลล์ ที่สร้างบนแม่น้ำเซซาน ในประเทศเวียดนาม ซึ่งทำให้ชาวกัมพูชาที่อยู่ใต้เขื่อนได้รับความเดือดร้อน และแม้จะมีการร้องเรียนไปยังรัฐบาลกลาง แต่จนตอนนี้ความทุกข์ของประชาชนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นในกรณีเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะฮองจึงเป็นสิ่งที่ต้องหาทางหยุดมัน

เมียต เมียน กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวเขาไม่ได้คาดหวังต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) และข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เพราะดูเหมือนประเทศลาวจะไม่ได้ให้ความสำคัญเลย และความเป็นไปได้ในขณะนี้ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงคือเขื่อนต้องสร้างแต่จะ ลดผลกระทบให้มากที่สุดได้อย่างไร ขณะที่ชาวบ้านของทั้ง 4 ประเทศมีความเห็นต่างจากรัฐบาล คือไม่อยากให้เขื่อนเกิดขึ้น ดังนั้น ตรงนี้น่าจะมีการเคลื่อนไหวร่วมกัน เช่นการร่วมลงชื่อต่อหน่วยงานที่มีอำนาจซึ่งรัฐบาลและบริษัทผู้ดำเนินกิจการ ต้องรับฟัง 

ประมวลภาพขบวนปลา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท