Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


“เราก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาถึงไม่ให้เราเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะเราก็เข้าใจว่าเราทำตามกฎหมายทุกอย่างแล้ว”
นายเงียโจ งามยิ่ง 3 กันยายน 2555


 

นาย เงียโจ งามยิ่ง มาประชุมผู้ใหญ่บ้าน ณ ที่ว่าการอำเภอุ้มผางเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา

วันนี้มีนัดสอบถามข้อเท็จจริงกรณีนายเงียโจ ผู้ใหญ่บ้านแม่จันที่ได้รับการเลือกตั้งจากลูกบ้าน ซึ่งต่อมาถูกพิจารณาว่า ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะเขาไม่ได้เป็น “ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด” เพราะเลขประจำตัวประชาชนของเขาขึ้นต้นด้วยเลข 8

ณ วันนี้ แม้นายเงียโจ งามยิ่ง จะไม่มีหนังสือยืนยันถึงความเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ในการประชุมผู้ใหญ่บ้านที่ที่ว่าการอำเภออุ้มผาง เขายังมาร่วมและช่วยงานทางราชการอยู่ และนี่เป็นโอกาสที่จะได้คุยกับเขา

จากคำบอกเล่าของนายเงียโจพบว่า เขาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่จันทะ หมู่ที่ 8 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยนายเงียโจได้ยื่นพยานหลักฐานประกอบการสมัครรับเลือกตั้งต่อนายอำเภออุ้มผาง และได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านจากคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งทางคณะกรรมการได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายเงียโจแล้วพบว่า มีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ปรากฎว่าเงียโจได้รับเลือกตั้งจากชาวบ้านให้เป็นผู้ใหญ่บ้านโดยมีคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง (จากผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสิ้นจำนวน 6 คน) ต่อมานายอำเภออุ้มผางได้ออกคำสั่งแต่งตั้งนายเงียโจ งามยิ่ง ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (หนังสือคำสั่งอำเภออุ้มผางที่ 73/2555 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555)

แต่ภายหลังการแต่งตั้งได้ไม่นาน ทางปลัดอำเภอได้แจ้งให้นายเงียโจทราบว่า ทางจังหวัดตากยังไม่สามารถออกหนังสือสำคัญการเป็นผู้ใหญ่บ้านแก่นายเงียโจได้ เพราะนายเงียโจไม่ได้เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 12 (1) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช พ.ศ. 2457 จึงถือว่านายเงียโจขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน

อย่างไรก็ดี ปลัดอำเภอได้แจ้งว่า ทางอำเภอไม่ได้มีข้อขัดข้องใดๆ เนื่องจากนายเงียโจผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว และทางอำเภอก็ได้ออกหนังสือแต่งตั้งให้นายเงียโจเป็นผู้ใหญ่บ้านไปแล้วเช่นกัน จึงขอให้นายเงียโจปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านต่อไป และทางอำเภอก็รับปากว่าจะดูแลปัญหาเรื่องนี้ให้ ทางเงียโจจึงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านเรื่อยมา เช่น การส่งชาวบ้านออกมาอบรมหลักสูตรชรบ.กับทางอำเภอ เป็นต้น จนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม นายเงียโจกล่าวว่า การที่ยังไม่มีหนังสือแต่งตั้งการเป็นผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการส่งมาจากทางจังหวัดนั้น ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ การรับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนายเงียโจบอกว่า เพิ่งได้รับค่าตอบแทนเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียวเท่านั้น ส่วนค่าตอบแทนตั้งแต่ปฏิบัติหน้าที่เมื่อต้นปียังไม่ได้รับ และไม่สามารถตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาช่วยปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะชาวบ้านหลายคนก็ยังไม่แน่ใจว่า นายเงียโจได้เป็นผู้ใหญ่บ้านโดยสมบูรณ์แล้ว

นายเงียโจกล่าวอีกว่า ตนเองมีความสงสัยว่า น่าจะมีบุคคลที่เป็นคู่แข่งในการรับเลือกตั้งไปแจ้งกับทางอำเภอว่า นายเงียโจเป็นบุคคลต่างด้าว ทำให้เกิดปัญหาขัดข้องในการเข้ารับการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านดังกล่าว

ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาก็คือ เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา 12 (1) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พุทธศักราช 2457 ซึ่งได้วางหลักไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านจะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่า โดยข้อเท็จจริงแล้วนายเงียโจเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ อย่างไร

จากการสอบถามข้อเท็จจริง นายเงียโจเล่าว่า นายเงียโจมีบิดาชื่อ นายเงียซะ งามยิ่ง มีบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 8 มารดาชื่อ นางคำหล้า งามยิ่ง มีบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 5 นายเงียโจเป็นบุตรชายคนโต มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 7 คน

จากพยานหลักฐานที่เป็นสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลในครอบครัวของนายเงียโจพบว่า นายเงียซะ นายเงียโจ และนายบุญดี (บุตรชายคนที่สองของนายเงียซะและนางคำหล้า) ถือบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 8 ส่วนนางคำหล้าและลูกๆ คนที่เหลือทั้งหมดถือบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 5

นายเงียโจเล่าต่อมาว่า สาเหตุที่บุคคลในครอบครัวของนายเงียถือบัตรประจำตัวประชาชนโดยมีเลขประจำตัว แบ่งเป็นสองกลุ่มเช่นนี้ เหตุผลก็คือ แต่เดิมนั้นทางอำเภออุ้มผางได้เข้าไปแจ้งให้ชาวบ้านในหมู่บ้านของนายเงียโจ ไปทำบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงที่ทางตัวอำเภออุ้มผาง แต่เนื่องจากการคมนาคมจากหมู่บ้านของนายเงียโจไปยังตัวอำเภออุ้มผางนั้นมีความยากลำบากมาก ประกอบกับนางคำหล้ากำลังตั้งครรภ์บุตรชายคนเล็กด้วย ทั้งครอบครัวจึงมีแค่นายเงียซะ นายเงียโจ นายบุญดีเท่านั้นที่เดินทางออกจากหมู่บ้านมาทำบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง (บัตรสีฟ้า) ส่วนนางคำหล้าและน้องคนอื่นๆ นั้นไม่ได้เดินทางออกมาด้วย ทำให้มีนายเงียซะ นายเงียโจ นายบุญดีเท่านั้นที่มีเอกสารแสดงสถานะเป็นบุคคลพื้นที่สูง

ต่อมาภายหลังราวปี พ.ศ.2547-2550 ทางอำเภออุ้มผางได้เข้าไปแจ้งให้คนในพื้นที่หมู่บ้านนายเงียโจให้มาทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่อีกครั้ง (มีความเป็นไปได้ว่าเป็นการสำรวจและลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลง รายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูงพ.ศ.2543) นายเงียซะ นายเงียโจ นายบุญดีจึงได้รับการเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านและมีบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 8 ส่วนนางคำหล้านั้นปรากฎพยานหลักฐานว่า บิดาและมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย จึงยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อเข้าทะบียนบ้านและมีบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 5 จากนั้นนางคำหล้าก็ขอเพิ่มชื่อบุตรทุกคนที่เหลือเข้าทะเบียนบ้านด้วย บุตรคนที่เหลือทั้งหมดจึงได้บัตรประจำตัวประชาชนเลข 5 ในช่วงปี พ.ศ.2547-2550 เช่นเดียวกัน

พิจารณาในส่วนของกรณีของเงียโจนั้น ปรากฎจากพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. สำเนาทะเบียนบ้านของนายเงียโจ งามยิ่ง
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ระบุเลขประจำตัวประชาชน 8 xxxx 84xxx xx x
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดาและพี่น้องร่วมบิดามารดานายเงียโจ งามยิ่ง

เมื่อพิจารณาจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จะเห็นได้ว่า นายเงียโจ งามยิ่ง มีบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 8 กลุ่ม 84 (เลขหลักที่หกและเจ็ดเป็นเลข 84) จึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่า นายเงียโจคือบุคคลที่มีบิดามารดาเกิดในประเทศไทย และถือว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย จึงได้รับการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543

อย่างไรก็ตาม สำเนาทะเบียนบ้านของนายเงีย โจนั้นกลับแตกต่างจากสำเนาทะเบียนบ้านของน้องคนอื่นๆ กล่าวคือ ระบุสัญชาติของบิดามารดาของนายเงียโจว่า เป็นผู้มีสัญชาติกระเหรี่ยง ทั้งที่น้องของนายเงียโจทุกคนมีสำเนาทะเบียนบ้านระบุว่า มีบิดาและมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย นอกจากนี้ทะเบียนบ้านของนายเงียโจกับของน้องคนอื่นๆ ก็ใส่ชื่อบิดามารดาแตกต่างกัน กล่าวคือ

- ในสำเนาทะเบียนบ้านของนายเงียโจระบุบิดาชื่อ นาย เวียซะ ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน สัญชาติกระเหรี่ยง มารดาชื่อนางคำละ ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน สัญชาติกระเหรี่ยง

- ส่วนในทะเบียนบ้านของน้องๆ ของนายเงียโจทุกคนนั้นระบุมีบิดาชื่อนายเงียซะ สัญชาติไทย มารดาชื่อ นางคำหล้า สัญชาติไทย

ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ที่ทางจังหวัดอ้างว่า นายเงียโจเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดนั้นอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า เป็นการพิจารณาจากสำเนาทะเบียนบ้านของนายเงียโจ โดยไม่ได้พิจารณาจากข้อมูลในเลขประจำตัวประชาชน ทั้งที่เลขประจำตัวประชาชนของนายเงียโจนั้นได้ยืนยันแล้วว่า นายเงียโจเป็น บุคคลบนพื้นที่สูงที่ได้รับลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคล บนพื้นที่สูงพ.ศ.2543 โดยถือว่าเป็นผู้ที่มีบิดามารดาเกิดในประเทศไทย และถือว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ดังนั้นนายเงียโจย่อมไม่ขาดคุณสมบัติการลงสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน ตามมาตรา 12 (1) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช พ.ศ. 2457

จากการสอบถามทางอำเภออุ้มผางกล่าวว่าขณะนี้ (4 กันยายน 2555) เรื่องของนายเงียโจได้ถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความปัญหาการเป็นผู้ใหญ่บ้านของนายเงียโจแล้ว จึงต้องรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมกฤษฎีกาต่อไป

กรณีของนายเงียโจนี้ นอกจากจะต้องพิจารณาในแง่กฎหมายปกครองแล้ว เห็นควรที่จะได้พิจารณาแง่กฎหมายระหว่างประเทศ ในประเด็นเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองในรัฐไทยว่ามีความสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและทางปฏิบัติของนานาประเทศหรือไม่ อย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)[1] โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2539 มีผลผูกพันรัฐไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 ซึ่งกติกาฉบับนี้ ได้รับรองสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองของพลเมืองเจ้าของดินแดน (Right of Self-Determination) และสิทธิทางการเมืองในการที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจ เช่น สิทธิที่จะลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนของตนเอง สิทธิที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนในระดับต่างๆ และสิทธิในการเลือกตั้งหรือลงรับเลือกตั้งดังกล่าวจะต้องไม่ถูกจำกัดอย่างไร้เหตุผลด้วย ดังนั้นเมื่อราษฎรไทยที่อยู่ในสถานะเป็นพลเมืองของประเทศไทยต้องการที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองแล้วก็ควรที่จะรับรองสิทธิดังกล่าวตามพันธกรณีที่ได้ตกลงร่วมกันกับนานาประเทศเพื่อให้เป็นไปตามเจตจำนงร่วมกันของรัฐภาคีในอันที่จะส่งเสริมและยอมรับซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลเมืองในรัฐของตนเอง

นอกจากพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐไทยจะต้องปฏิบัติการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกติกาฉบับดังกล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย[2] ก็ได้รับรองสิทธิในการสิทธิในการแสดงเจตจำนงทางการเมืองของพลเมืองไว้อย่างชัดแจ้งไว้แล้วว่าสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันหน่วยงานของรัฐในการใช้บังคับกฎหมายด้วย ดังนั้นเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงอันทำให้นายเงียโจ งามยิ่ง ราษฎรไทย ที่อยู่ในสถานะผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดแล้วนายเงียโจย่อมสามารถใช้สิทธิฐานะราษฎรไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช พ.ศ. 2457 และเมื่อผลการเลือกตั้งเป็นไปถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงอื่นอันทำให้ผลการเลือกตั้งเสียไปแล้ว ทางรัฐไทยก็ไม่มีเหตุผลอื่นใดอีกที่จะระงับสิทธิสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนายเงียโจไว้ นอกจากจะต้องรับรองให้นายเงียโจดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านตามสิทธิที่นายเงียโจควรจะได้

 

 




[1] ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองค.ศ.1966[International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR] ได้วางหลักว่า ข้อ 2 1.รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติกานี้รับที่จะเคารพและประกันแก่ปัจเจกบุคคลทั้งปวงภายในดินแดนของตนและภายใต้เขตอำนาจของตนในสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่นๆ และข้อ 25 พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาสโดยปราศจากความแตกต่างดั่งกล่าวไว้ในข้อ 2 และโดยปราศจากข้อจำกัดอันไม่สมควร (ข)ในการที่จะออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งอันแท้จริงตามวาระซึ่งมีการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และโดยการลงคะแนนลับเพื่อประกันการแสดงเจตนาโดยเสรีของผู้เลือก

[2] มาตรา 3 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 27 สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net