2 ปี คอป.เสนอ 13 ข้อไขปมขัดแย้ง

นอกเหนือจากการแถลงรายงานการศึกษาข้อเท็จจริงเหตุการณ์เม.ย.-พ.ค.53 ฉบับสมบูรณ์แล้ว ในรายงานรวมทั้งในแถลงข่าวของ คอป.ยังมีส่วนของข้อเสนอแนะต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เรื่อสถาบันกษัตริย์ สถาบันทหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม ฯลฯ

 

17 ก.ย.55 ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ถนนรัชดา คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แถลงข่าวถึงรายงานการศึกษาการค้นหาความจริงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ฉบับสมบูรณ์ หลังจากทำงานจนครบวาระ 2 ปี โดยภายหลังการนำเสนอที่มาของปัญหาในเชิงโครงสร้าง และข้อมูลรายละเอียดในประเด็นสำคัญของเหตุการณ์ความรุนแรงแล้ว ยังได้มีการนำเสนอข้อเสนอแนะของ คอป.ต่อทุกฝ่าย

โดยแบ่งเป็น 13 ข้อ มีประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์: ขอให้ทุกฝ่ายไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรงระหว่างกัน  โดยหยิบเอาประเด็นบางส่วนเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนเองมานำเสนอ

2.ยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน: นำหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้ร่วมกับหลักกระบวนการยุติธรรมในทางอาญา หากจะมีกฎหมายนิรโทษกรรม จะต้องกำหนดขอบเขตความผิดและเงื่อนไขที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง ไม่เป็นการทั่วไป และเพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลและยุติการก่ออาชญากรรมร้ายแรงในอนาคต รัฐควรเร่งพิจารณาให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ และแก้ไขกฎหมายให้มีการพิจารณาโดยไม่มีตัวจำเลยในความผิดอาญาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง

3.หลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม: ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมถูกตั้งข้อสงสัยว่าไม่เป็นอิสระ ถูกแทรกแซง และขาดกระบวนการตรวจสอบ ดังนั้นทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมพึงวางตนเป็นกลางและเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใด องค์กรตุลาการซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายพึงระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้อำนาจที่เหมาะสมภายในกรอบกฎหมายและหลักนิติธรรม และคำนึงถึงดุลยภาพของการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ในระยะยาวรัฐต้องปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ

4.หลักประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล: เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดถือหลักประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาล และการเคารพสิทธิมนุษยชน หากมีปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย ทุกฝ่ายจะต้องอดทนและเรียนรู้ที่จะแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นด้วยวิธีการตามระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางของสันติวิธี

5.โครงสร้างปัญหา: รัฐบาลควรมีความมุ่งมั่นและมีเจตจำนงทางการเมืองในการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย โดยมีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาที่เสมอภาค

6.การแก้รัฐธรรมนูญ: การเร่งรัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนยังมิได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน อาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปอย่างถูกต้องตามหลักการและกระบวนการที่กำหนด มีการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดให้มีเวทีสาธารณะหรือสานเสวนาเพื่ออภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญว่ามีปัญหาอย่างไรและควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

7. สถาบันพระมหากษัตริย์: ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม รัฐควรสนับสนุนให้สังคมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง รัฐบาลและรัฐสภาควรพิจารณาแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันซึ่งมีปัญหาในการบังคับใช้ที่มีการระวางโทษสูงเกินสัดส่วนของความผิด จำกัดดุลพินิจของศาลในการกำเนิดโทษที่เหมาะสม และการเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ สามารถกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีได้ แต่ประเด็นนี้มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง รัฐจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบด้วยความระมัดระวัง ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐพึงระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยไม่ใช้อย่างกว้างขวางเกินไปกว่าที่กฎหมายบัญญัติ

8.สื่อมวลชน: เรียกร้องทุกฝ่ายหยุดใช้สื่อเพื่อปลุกระดมมวลชนหรือยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง สื่อทุกแขนงต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ นำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วนและรอบด้าน โดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง นอกจากนี้ สื่อควรเพิ่มบทบาทในการคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งในประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีความเห็นในสายกลาง (moderates) เพื่อลดบทบาทของผู้ที่มีความเห็นแบบสุดโต่ง (extremists) ส่วนรัฐต้องไม่ปิดสื่อหรือเข้าไปมีอิทธิพลใดๆ ต่อสื่อ สนับสนุนการควบคุมกันเองและให้ประชาชนมีบทบาทในการตรวจสอบ

9.กองทัพ: เรียกร้องให้กองทัพและผู้นำกองทัพวางตัวเป็นกลาง งดเว้นการก่อรัฐประหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองและไม่แทรกแซงทางการเมืองอย่างเคร่งครัดไม่ว่าในทางใด นอกจากนี้ สังคมหรือกลุ่มการเมืองจะต้องไม่เรียกร้องหรือสนับสนุนให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง โดยทุกฝ่ายต้องยึดหลักการว่ากองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (Civilian control)

10. สิทธิการชุมนุม: เรียกร้องให้ผู้นำและผู้ร่วมชุมนุมใช้เสรีภาพในการชุมนุมด้วยความสงบ เรียบร้อย ไม่ใช้อาวุธ  หรือสิ่งอื่นใดเยี่ยงอาวุธ ต้องยึดมั่นในวิถีทางสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัด ขอให้รัฐบาลใช้ความระมัดระวังอย่างสูงต่อการนำกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงมาบังคับใช้เพื่อจัดการสถานการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐต้องไม่สั่งการให้ทหารควบคุมฝูงชน แต่ควรให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน

11.หน่วยแพทย์ฯ: เรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม ให้ความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยแพทย์ พยาบาล การขนส่งทางแพทย์ หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม และขอให้ทุกฝ่ายใช้เครื่องหมายกาชาดอย่างถูกต้อง

12.สถาบันศาสนา: เรียกร้องให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูหลักศีลธรรมและจริยธรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีสันติภาพและส่งเสริมสันติวิธี รัฐควรส่งเสริมให้สถาบันศาสนามีบทบาทในการลดความขัดแย้ง ยุติการใช้ความรุนแรง เยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ

13. การเผยแพร่รายงานสุดท้าย: ให้รัฐบาลและสื่อมวลชนนำเสนอและเผยแพร่รายงานฉบับสุดท้ายของ คอป. ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งรากเหง้าของความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างความปรองดอง ให้ประชาชนและได้รับรู้อย่างกว้างขวาง
 

=========================================================

สรุปข้อเสนอแนะของ คอป.

 

คอป. มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่อาจกระตุ้นให้ความขัดแย้งยกระดับไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ คอป.เห็นว่า สังคมไทยควรตระหนักว่าประเทศชาติได้รับความเสียหายและบอบช้ำจากปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมมาเป็นเวลานานแล้ว และควรนำวิกฤตการณ์ความรุนแรงในอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อระลึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นและร่วมกันประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้ความประเทศต้องประสบกับเหตุการณ์ความรุนแรงอีก รวมทั้งช่วยกันนำพาสังคมไทยให้ก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่ความปรองดอง

คอป.ขอเรียกร้องให้รัฐและทุกภาคส่วนในสังคมนำข้อเสนอแนะของคอป.ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลต่อการปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม และไม่เลือกปฏิบัติตามเฉพาะข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น โดย คอป.มีข้อเสนอแนะอันเป็นแนวทางในการสร้างความปรองดองของชาติ ดังนี้

๑. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการนำข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และรากเหง้าของความขัดแย้งมาเป็นบทเรียนในการสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน

คอป.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันรักษาบรรยากาศของการปรองดอง ลดทัศนคติในการเอาชนะกันและประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังหรือความรุนแรงระหว่างกัน โดยเฉพาะภาคการเมืองต้องไม่นำข้อได้เปรียบทางการเมืองหรือใช้พื้นที่ทางการเมืองเพื่อทำให้ประเด็นความขัดแย้งขยายตัวเพียงเพื่อความได้เปรียบเฉพาะหน้า ในการดำเนินกระบวนการปรองดอง รัฐบาลและภาคการเมืองต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยไม่พยายามรวบรัดหรือเร่งรัดกระบวนการปรองดอง อีกทั้งรัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลและมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างกันได้มีพื้นที่ทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง

ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้หยั่งรากลึกถึงปัญหาที่โยงใยกันอย่างซับซ้อนในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง คอป.จึงขอให้ทุกฝ่ายเรียนรู้และทำความเข้าใจสาเหตุของความขัดแย้ง เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานและก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่การปรองดอง สำหรับการเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น คอป.มีความห่วงใยอย่างยิ่งว่า อาจมีข้อเท็จจริงไปขยายผลทำให้ปัญหาความขัดแย้งบานปลาย เช่น การเลือกเฉพาะข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนมานำเสนอต่อสาธารชนอย่างไม่รอบด้าน เพื่อโจมตีคู่ขัดแย้งฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเปิดเผยข้อเท็จจริง คอป. จึงขอให้ทุกฝ่ายงดเว้นการกระทำที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าว

อนึ่ง แม้ คอป.จะสิ้นสุดวาระการดำเนินงานแล้ว กระบวนการปรองดองก็ต้องดำเนินต่อไปโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย คอป.เห็นว่า รัฐควรส่งเสริมกลไกต่างๆ ซึ่งมีความเป็นกลาง เพื่อสนับสนุนให้กระบวนการปรองดองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐควรสนับสนุนด้านงบประมาณโดยไม่แทรกแซงการทำงานของกลไกดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งเครือข่ายด้านการปรองดองในชาติซึ่งอาจเกิดจากการรวมกลุ่มของบุคคลซึ่งเป็นกลางและเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งประสงค์จะมีบทบาทนำในกระบวนการปรองดองตามวิถีประชาธิปไตยและแนวทางของสันติวิธี

๒. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาปรับใช้

คอป.เห็นว่า ทุกฝ่ายควรทำความเข้าใจและนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice)  มาปรับใช้แบบองค์รวม โดยไม่เลือกเพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่งที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนมาใช้ และคำนึงว่าหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมิได้ยกเลิกกระบวนการยุติธรรมหลัก เพียงแต่เป็นกลไกที่ยืดหยุ่นเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยที่กำลังก้าวผ่านความขัดแย้งไปสู่การปรองดอง การนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาใช้เริ่มจากการเปิดเผยความจริงและสร้างกระบวนการเรียนรู้ความจริงในหมู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ความจริงที่เปิดเผยนี้จะนำไปสู่การดำเนินคดี การเยียวยา หรือการดำเนินการเพื่อแสดงความรับผิดชอบอย่างอื่นที่เหมาะสม

การดำเนินคดี

คอป.เห็นว่าผู้กระทำความผิดต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมาย (accountability) โดยรัฐต้องนำตัวผู้กระทำผิดทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องดำเนินไปอย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม คอป.เห็นว่า การกระทำความผิดอาญาในระหว่างที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบหรือสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองสูงนั้น มีมูลเหตุประการหนึ่งมาจากความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองและมีการปลุกเร้าให้เกิดความเคียดแค้น ซึ่งบางกรณีผู้กระทำความผิดมิใช่ผู้ร้ายหรืออาชญากรโดยกมลสันดาน ดังนั้น จึงควรนำหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาปรับใช้ร่วมกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) ที่มุ่งลงโทษทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างคู่ขัดแย้งและอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย

การเยียวยา

รัฐบาลต้องเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่ายอย่างจริงจัง เป็นระบบ และต่อเนื่อง ครอบคลุมความเสียหายลักษณะต่างๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะการเยียวยาด้วยตัวเงินเท่านั้น เช่น การฟื้นฟูสภาพจิตใจ การฟื้นฟูเกียรติยศของเหยื่อ การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เป็นต้น อีกทั้งรัฐบาลควรจัดทำบันทึกความทรงจำ จดหมายเหตุ หรือสร้างสัญลักษณ์ความทรงจำให้แก่สาธารณชน เพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ คอป.ขอให้รัฐเร่งเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม โดยถูกตั้งข้อหารุนแรงเกินสมควรและไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวด้วย

การแสดงความรับผิดชอบโดยการขอโทษ

จากข้อเท็จจริงและรากเหง้าของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ฝ่ายต่างๆ ย่อมมีส่วนรับผิดชอบไม่มากก็น้อย ผู้นำทุกฝ่ายโดยเฉพาะนายยกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศขณะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง และ/หรือนายกรัฐมนตรีซึ่งบริหารประเทศในปัจจุบันควรแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำรัฐบาลต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยการกล่าวขอโทษต่อสาธารณชน (public apology) เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นจากรัฐขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี รวมทั้งแสดงเจตจำนงที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงขึ้นอีกในอนาคต คอป.ขอให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า การขอโทษเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่จะนำไปสู่การปรองดอง ทั้งเป็นการเยียวยาโดยคำนึงถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรีของเหยื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองในสังคมไทย และช่วยรักษาบรรยากาศของการปรองดองในชาติ

การนิรโทษกรรม

คอป. เห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งมีผลเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด เป็นการเร่งรัดกระบวนการปรองดองและกระทบต่อบรรยากาศของการปรองดองในชาติ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเหยื่อและผู้เสียหายที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนิรโทษกรรม คอป. ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปรองดอง โดยเฉพาะในขณะที่สังคมมีความขัดแย้งสูงเช่นนี้ การนำการนิรโทษกรรมมาใช้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยต้องมีความเหมาะสมในแง่ของเวลา สถานการณ์และกระบวนการ และต้องพิจารณาถึงองค์รวมของหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งต้องคำนึงถึงความต้องการของเหยื่อและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ความรับผิดชอบของผู้กระทำความผิด การให้ผู้กระทำความผิดต้องชดเชยเยียวยาหรือแสดงความรับผิดชอบจนผู้ที่มีความขัดแย้งต่อกันในอดีตเกิดความเข้าใจ และให้อภัยหรือประนีประนอมกันเพื่อการนิรโทษกรรมได้ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม รัฐจะต้องประกันและคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและดำเนินคดีแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเท่าเทียมกัน

คอป. เห็นว่าการนิรโทษกรรมจะต้องกำหนดขอบเขตความผิดและเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง โดยพิจารณาแยกแยะการกระทำของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องมิใช่การนิรโทษกรรมตนเอง (self-amnesty) หรือการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมเป็นการทั่วไป  (blanket amnesty) โดยปราศจากเงื่อนไข นอกจากนี้ การนิรโทษกรรมจะต้องไม่ใช่การลบล้างความผิดหรือยกเว้นความผิดโดยมิชอบ (impunity) คอป. เห็นว่า เพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลและยุติการก่ออาชญากรรมร้ายแรงในอนาคต รัฐควรเร่งพิจารณาให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ และแก้ไขกฎหมายให้มีการพิจารณาโดยไม่มีตัวจำเลยในความผิดอาญาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง โดยรัฐให้หลักประกันในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

๓. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม

คอป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกล่าวอ้างความถูกต้องของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อประโยชน์ในระยะสั้นของตนเอง ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาต่อหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว ทุกฝ่ายต้องมุ่งผดุงหลักนิติธรรมในประเทศอย่างจริงจังและรัฐบาลต้องยึดถือหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ รัฐและกระบวนการยุติธรรมควรนำสังคมสู่การจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง และระมัดระวังมิให้กลายเป็นผู้ทำลายหลักนิติธรรมและละเมิดสิทธิของประชาชนเสียเอง นอกจากนี้ การใช้อำนาจของรัฐจะต้องสอดคล้องกับกระบวนการตามกฎหมาย (due process) และต้องดำเนินการให้มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ ทั้งจากองค์กรของรัฐเองและจากองค์กรอื่นที่ไม่ใช่รัฐ

ในช่วงที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งข้อสงสัยว่าไม่เป็นอิสระ ถูกแทรกแซง และขาดกระบวนการตรวจสอบ โดยเฉพาะการดำเนินคดีที่มีความเกี่ยวเนื่องทางการเมือง ซึ่งบุคคลบางกลุ่มรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมและมีการเลือกปฏิบัติ ทำให้ขยายผลไปสู่การวิจารณ์ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีสองมาตรฐาน นอกจากนี้ คอป.พบว่าการสืบสวนสอบสวนในคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ๒๕๕๓ มีการแทรกแซง และการแสวงหาพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในบางกรณียังไม่สมบูรณ์และไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย ทำให้สาธารณชนเกิดความเคลือบแคลงต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น คอป. เห็นว่ารัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่อย่างอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมพึงวางตนเป็นกลางและเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใด ยึดหลักความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ และระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นเครื่องมือของรัฐซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ทั้งนี้ องค์กรตุลาการซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายพึงระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้อำนาจที่เหมาะสมภายในกรอบกฎหมายและหลักนิติธรรม และคำนึงถึงดุลยภาพของการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

รัฐควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และดำเนินกระบวนการยุติธรรมโดยสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ (๑) งดเว้นการตีตรวนและใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ถูกกล่าวหาและผู้ต้องขัง (๒) ตรวจสอบอย่างเป็นระบบให้ชัดเจนเกี่ยวกับการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินสมควร (๓) ดำเนินการอย่างจริงจังให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว และ (๔) คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา โดยปรับปรุงเรื่องการแจ้งสิทธิให้ผู้เสียหายทราบ นอกจากนี้ คอป. เห็นว่าในระยะยาว รัฐต้องปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ รวมทั้งพัฒนาการศึกษากฎหมายและคุณภาพของบุคลากรในวงการกฎหมายให้เข้าใจหลักทฤษฎีทางกฎหมายและหลักความยุติธรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการอบรมจริยธรรมของนักกฎหมาย

๔. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาล และการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

คอป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดถือและเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย โดยเข้าใจว่าแม้ระบอบประชาธิปไตยจะมิใช่ระบอบที่ไร้ซึ่งข้อบกพร่องแต่ก็เป็นการปกครองที่ดีที่สุดในปัจจุบัน หากมีปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย ทุกฝ่ายจะต้องอดทนและเรียนรู้ที่จะแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นด้วยวิธีการตามระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางของสันติวิธี เช่น ใช้กระบวนการทางรัฐสภา กระบวนการยุติธรรมทางศาล หรือการลงประชามติ เป็นต้น และต้องไม่แก้ไขปัญหาด้วยการรัฐประหาร โดยรัฐต้องเผยแพร่หลักพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตยให้เป็นความรู้พื้นฐานของประชาชน รวมถึงส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตยในครอบครัว สถาบันการศึกษา และองค์กรต่างๆ ในสังคม ให้มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย

รัฐต้องนำหลักธรรมาภิบาล หรือระบบการบริหารจัดการที่ดี (good governance) มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การบริหารปกครองประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยมีกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ รัฐต้องแก้ไขปัญหาทุจริตและการเอื้อผลประโยชน์ต่อพวกพ้องและสนับสนุนการรวมตัวของภาคประชาสังคมหรือเครือข่ายภาคประชาชนในการติดตามตรวจสอบรัฐและกลไกมาตรการการควบคุมทางสังคม (social sanction) ต่อผู้ทุจริต

รัฐต้องคุ้มครองและประกันสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมทั้งป้องกันการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนจากการกระทำของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ระหว่างที่ประเทศชาติมีความขัดแย้งและมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน คอป. เห็นว่ารัฐต้องคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น (freedom of expression) ของประชาชน ซึ่งดำเนินไปตามกรอบของกฎหมายโดยสันติวิธี รวมทั้งคุ้มครองไม่ให้บุคคลถูกคุกคามจากการใช้เสรีภาพดังกล่าว อีกทั้งต้องไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อปิดกั้นหรือจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามกรอบของกฎหมาย นอกจากนี้ รัฐบาลต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่มีสาระสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน อีกทั้งควรพิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินความจำเป็น

๕. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย

ตราบใดที่รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งยังมิได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาพื้นฐานต่างๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น สังคมไทยจะอยู่ในสภาพที่มีความขัดแย้งซึ่งบ่มเพาะอยู่และอาจปะทุกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงได้ คอป. จึงเห็นว่ารัฐบาลควรมีความมุ่งมั่นและมีเจตจำนงทางการเมืองในการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย โดยมีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาที่เสมอภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความเป็นธรรมในสังคม รวมถึงการมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ รัฐบาลควรคำนึงถึงสิทธิและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกระจายอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการแทน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็ง

๖. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

การเร่งรัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนยังมิได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้านและไม่เข้าใจกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อกระบวนการดังกล่าวได้ คอป. จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐสภา ภาคการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักนิติธรรม หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และดำเนินไปอย่างถูกต้องตามหลักการและกระบวนการที่กำหนด ทั้งนี้ คอป. ขอย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยรัฐต้องให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง สามารถเข้าใจประเด็นปัญหาและความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดจนให้ข้อคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้

คอป.เห็นว่า รัฐต้องจัดให้มีเวทีสาธารณะหรือสานเสวนาเพื่ออภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญว่ามีปัญหาอย่างไรและควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่รอบด้าน และสามารถพิจารณาผลดีผลเสียรวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบ กระบวนการดังกล่าวจะทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นเจ้าของโดยแท้จริง โดยรัฐควรปลูกฝังให้ประชาชนเกิดความตระหนักว่าประชาชนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ รู้สึกเคารพและหวงแหนรัฐธรรมนูญ บนพื้นฐานของความเข้าใจร่วมกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่รัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติไว้

๗. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

การดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวโยงกับประเด็นและความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีส่วนทำให้ปัญหาความขัดแย้งบานปลายจนเกิดความแตกแยกของประชาชนและส่งผลร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชาติ คอป. จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมและแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ คอป. เห็นว่ารัฐควรสนับสนุนให้สังคมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และให้มีเวทีให้บุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์โดยสันติวิธี

กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

คอป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดคู่ขัดแย้ง เพราะไม่ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดอง คอป. เห็นว่ารัฐบาลและรัฐสภาควรพิจารณาแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันซึ่งมีปัญหาในการบังคับใช้ที่มีการระวางโทษสูงเกินสัดส่วนของความผิด จำกัดดุลพินิจของศาลในการกำเนิดโทษที่เหมาะสม และการเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ สามารถกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีได้ แต่ประเด็นนี้มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง รัฐจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบด้วยความระมัดระวังว่าจะไม่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น โดยอาจศึกษาแนวทางจากประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาปรับใช้ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เหมาะสม

ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐพึงระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยไม่ใช้อย่างกว้างขวางเกินไปกว่าที่กฎหมายบัญญัติ และไม่นำมาตรการทางอาญามาใช้อย่างเคร่งครัดจนเกินสมควรโดยขาดทิศทางและไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี รัฐต้องส่งเสริมการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมและเป็นเอกภาพ รวมถึงสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการโดยมีกลไกในการกำหนดนโยบายทางอาญาที่เหมาะสม สามารถจำแนกลักษณะคดี และกลั่นกรองคดีที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากความหนักเบาของพฤติกรรม เจตนาและสถานภาพของผู้กระทำ บริบทโดยรวมของสถานการณ์ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินคดีโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นจากการถวายพระเกียรติยศสูงสุดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ

๘. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสื่อ

ข้อเสนอแนะต่อองค์กรสื่อ

สื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความแตกแยก และทำให้ความขัดแย้งในสังคมยกระดับเป็นความรุนแรง โดยเฉพาะการนำเสนอของสื่อที่บิดเบือน กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) หรือให้ใช้ความรุนแรง คอป. ขอเรียกร้องทุกฝ่ายหยุดใช้สื่อเพื่อปลุกระดมมวลชนหรือยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง สื่อทุกแขนงต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ นำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วนและรอบด้าน โดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง นอกจากนี้ สื่อควรเพิ่มบทบาทในการคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งในประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีความเห็นในสายกลาง (moderates) เพื่อลดบทบาทของผู้ที่มีความเห็นแบบสุดโต่ง (extremists) และมุ่งให้เกิดความรุนแรง นอกจากนี้ คอป. เห็นว่าองค์กรวิชาชีพสื่อควรมีมาตรการควบคุมสื่อและบุคลากรในวิชาชีพสื่อที่กระทำผิดมาตรฐานจรรยาบรรณอย่างจริงจัง และฝึกอบรมพนักงานถึงความสำคัญของอุดมการณ์และจริยธรรมในวิชาชีพ รวมถึงวิธีการปฏิบัติงานสื่อสารมวลชนในภาวะความขัดแย้งซึ่งมีการใช้ความรุนแรง ข้อควรปฏิบัติของสื่อมวลชนภาคสนาม และข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์

ข้อเสนอแนะต่อรัฐ

รัฐต้องมีมาตรการเพื่อสนับสนุนการทำงานของสื่อให้เป็นไปอย่างอิสระ และสนับสนุนให้มีกลไกป้องกันการแทรกแซงและคุกคามสื่อด้วยอิทธิพลใดๆ และรัฐต้องแก้ปัญหาโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อเพื่อป้องกันการครอบงำสื่อ และควรออกกฎหมายคุ้มครองบุคลากรในกิจการสื่อมวลชนให้สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้โดยอิสระอย่างแท้จริง คอป.เห็นว่ารัฐรัฐต้องดำเนินการในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์

รัฐต้องไม่ใช้มาตรการปิดสื่อหรือเข้าไปมีอิทธิพลใดๆ ต่อสื่อ และต้องสนับสนุนการพัฒนากลไกในการควบคุมกันเองในทางมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน โดยปราศจากการแทรกแซง นอกจากนี้รัฐควรให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบของสื่อ เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทในการตรวจสอบสื่อมากกว่าเป็นเพียงผู้บริโภคสื่อ และในระยะยาวรัฐต้องส่งเสริมการจัดตั้งสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ

๙. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกองทัพและทหาร

การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพและทหาร โดยเฉพาะการรัฐประหาร ส่งผลให้สังคมไทยขาดโอกาสเรียนรู้ที่จะจัดการความขัดแย้งทางการเมืองตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตย และทำให้เกิดความไม่พอใจแก่กลุ่มที่เห็นว่าอำนาจอธิปไตย สิทธิ และผลประโยชน์ของตนถูกคุกคามจากการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อันทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น คอป.ขอเรียกร้องให้กองทัพและผู้นำกองทัพวางตัวเป็นกลาง งดเว้นการก่อรัฐประหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองและไม่แทรกแซงทางการเมืองอย่างเคร่งครัดไม่ว่าในทางใด นอกจากนี้ สังคมหรือกลุ่มการเมืองจะต้องไม่เรียกร้องหรือสนับสนุนให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง โดยทุกฝ่ายต้องยึดหลักการว่ากองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (Civilian control) อีกทั้ง รัฐและกองทัพต้องสร้างทหารอาชีพที่มีความรู้ความสามารถ และปลูกฝังจิตสำนึกให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย และตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล นอกจากนี้ คอป.เห็นว่ารัฐควรตั้งผู้ตรวจการกองทัพ (Ombudsman) แห่งรัฐสภาด้วย

การใช้กำลังทหารเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศมักนำไปสู่ความรุนแรง คอป.เห็นว่ารัฐต้องไม่ใช้กำลังทหารเข้าแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศและการชุมนุมของประชาชนโดยเด็ดขาด เนื่องจากลักษณะของกองทัพไม่เหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาภายในประเทศและการควบคุมฝูงชน รัฐต้องปรับปรุงระบบการควบคุมและกำกับอาวุธของกองทัพให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรการขจัดปัญหาอาวุธที่ผิดกฎหมาย การค้าอาวุธ และมาตรการเพื่อลดอาวุธในมือประชาชน หรือลุ่มองค์กรอาชญากรรมต่างๆ นอกจากนี้ กองทัพต้องมีมาตรการที่เข้มงวดและได้ผลในด้านการป้องกันและด้านวินัยต่อพฤติกรรมของทหารนอกแถวที่มีบทบาทกับกลุ่มการเมือง กลุ่มอิทธิพล และผลประโยชน์ต่างๆ ธุรกิจสีเทาหรือธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เกียรติภูมิของกองทัพเสื่อมเสีย โดย คอป.เห็นว่า รัฐควรแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.๒๔๗๖ ให้สามารถลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ทหารได้ทุกระดับ

๑๐. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม

เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการรับรองจากรัฐ แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย คอป.ขอเรียกร้องให้ผู้นำและผู้ร่วมชุมนุมใช้เสรีภาพในการชุมนุมด้วยความสงบ เรียบร้อย ไม่ใช้อาวุธ  หรือสิ่งอื่นใดเยี่ยงอาวุธ ต้องยึดมั่นในวิถีทางสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัด งดเว้นพฤติกรรมหรือการใช้ถ้อยคำที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง หรือใช้ความรุนแรง รวมทั้งพฤติกรรมที่ท้าทาย หรือยั่วยุให้เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุมใช้ความรุนแรง คอป.เห็นว่าผู้นำการชุมนุมต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่มีการชุมนุมโดยละเมิดกฎหมายและมีการใช้ความรุนแรงขึ้น ในขณะเดียวกัน คอป.ขอให้ประชาชนที่มิได้เข้าร่วมการชุมนุมมีความอดทนอดกลั้นต่อการใช้เสรีภาพดังกล่าว และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้ร่วมชุมนุมด้วยการแสดงความไม่พอใจหรือใช้ความรุนแรง

คอป.ขอให้รัฐบาลใช้ความระมัดระวังอย่างสูงต่อการนำกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ มาบังคับใช้เพื่อจัดการสถานการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่สอดคล้องกับหลักของความได้สัดส่วนหรือพอสมควรแก่เหตุ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและสังคมส่วนรวมได้ นอกจากนี้ รัฐต้องไม่สั่งการให้ทหารควบคุมฝูงชน แต่ควรให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมการควบคุมฝูงชนมาเป็นการเฉพาะ ในกรณีที่มีการละเมิดหลักสกลในการชุมนุม รัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบและขอโทษต่อกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริง เยียวยาเยื่อ และนำตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ในการประกันเสรีภาพในการชุมนุม รัฐต้องคุมครองความปลอดภัยของผู้ชุมนุมจากการแทรกแซงทางหรือประทุษร้ายโดยบุคคลที่สามที่เป็นปรปักษ์หรือต่อต้านการชุมนุมที่ดำเนินไปโดยสงบ ตลอดจนมีหน้าที่อำนวยความสะดวกต่อประชาชนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม รัฐบาลควรจัดทำแผนปฏิบัติการยุติการชุมนุมและมาตรการควบคุมฝูงชนโดยไม่ใช้ความรุนแรง เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ในการยุติการชุมนุมที่เหมาะสมและเพียงพอ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามหลักการสากลอย่างเคร่งครัด และประเมินความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีที่มีบุคคลที่ติดอาวุธแอบแฝงอยู่กับผู้ชุมนุมเพื่อใช้ความรุนแรง รัฐอาจใช้เจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นการเฉพาะปฏิบัติการต่อเป้าหมายอย่างแม่นยำเพียงเท่าที่จำเป็นตามหลักความสมควรแก่เหตุ ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วว่าการปฏิบัติการจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น จะต้องหยุดปฏิบัติการทันที

คอป.เห็นว่ารัฐควรส่งเสริมให้เกิดบรรทัดฐานของการชุมนุมที่ปราศจากการใช้ความรุนแรง โดยจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็น หากจะมีการกำหนดกติกาหรือการตรากฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะในอนาคต ก็ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงประเภทและลักษณะของการชุมนุมด้วย โดยรัฐอาจศึกษากรณีต่างประเทศเพื่อมาปรับใช้ให้เหมาะสม 

๑๑. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทและการคุ้มครองของหน่วยแพทย์ พยาบาล หน่วยบรรเทาสาธารณภัยในการปฏิบัติงานด้านการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในสถานการณ์ความขัดแย้ง

คอป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม ให้ความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยแพทย์ พยาบาล การขนส่งทางแพทย์ หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม และขอให้ทุกฝ่ายใช้เครื่องหมายกาชาดอย่างถูกต้อง โดยรัฐต้องบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายกาชาดอย่างจริงจัง  นอกจากนี้ รัฐควรสร้างความเข้าใจกับสังคมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความสำคัญของหน่วยแพทย์หรือใช้หน่วยแพทย์เป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้ง อนึ่ง คอป. เห็นว่าการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องตั้งอยู่บนหลักการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสากลอย่างเป็นกลางและไม่เลือกปฏิบัติ โดยยึดมั่นในหลักจริยธรรมทางการแพทย์และเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลต้องแจ้งเตือนและประสานงานกับหน่วยแพทย์ พยาบาล และหน่วยบรรเทาสาธารณภัยเกี่ยวกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการจัดการเหตุการณ์ความรุนแรงหรือสลายการชุมนุม รัฐบาลควรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ซึ่งควบคุมฝูงชนให้เข้าใจมาตรฐานในการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยแพทย์ พยาบาล และหน่วยบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งจัดให้มีสวัสดิการและฟื้นฟูเยียวยาบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และบรรเทาสาธารณภัย และเชิดชูเกียรติของบุคลากรที่เสียชีวิตด้วย

๑๒. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันศาสนา

คอป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูหลักศีลธรรมและจริยธรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีสันติภาพและส่งเสริมสันติวิธี รัฐควรส่งเสริมให้สถาบันศาสนามีบทบาทในการลดความขัดแย้ง ยุติการใช้ความรุนแรง เยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ และสร้างทัศนคติที่เอื้อต่อสันติภาพ บุคลากรทางด้านศาสนาทุกศาสนาควรเพิ่มบทบาทในการลดการใช้ความรุนแรง ส่งเสริมสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งนี้ สถาบันศาสนาควรแสดงออกถึงความเป็นกลางในการแสดงธรรมหรือคำสอน โดยพึงละเว้นจากการข้องเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง เพื่อมิให้กระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันศาสนาในระหว่างที่ประเทศชาติกำลังเผชิญกับปัญหาความแตกแยกในสังคม

๑๓. ข้อเสนอแนะในการเผยแพร่รายงานฉบับสุดท้าย

คอป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและสื่อมวลชนนำเสนอและเผยแพร่รายงานฉบับสุดท้ายของ คอป. ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งรากเหง้าของความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างความปรองดอง ให้ประชาชนและได้รับรู้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ต้องตรงกันต่อเหตุการณ์และสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และรับทราบแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อร่วมกันนำพาประเทศชาติไปสู่ความปรองดองอย่างยั่งยืน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท