Skip to main content
sharethis

โดยให้เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมว่าเป็นเพราะสถานการณ์สู้รบในรัฐคะฉิ่น ขณะที่สื่อคะฉิ่นระบุสาเหตุมาจาก "ออง ซาน ซูจี" เลี่ยงพูดถึงปัญหารัฐคะฉิ่นระหว่างการปาฐกถาที่ลอนดอน ขณะเดียวกันอดีตนักโทษการเมืองจากรัฐฉานก็ตำหนิฝ่ายค้านและซูจีที่เมื่อมีตำแหน่งในสภาแล้ว ก็ไม่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

ชาวคะฉิ่นในสหรัฐประกาศไม่เข้าร่วมพิธีรับรางวัลที่สภาคองเกรสของออง ซาน ซูจี

องค์กรชาวคะฉิ่นในสหรัฐอเมริการะบุว่าได้คว่ำบาตรการรับรางวัลของนางออง ซาน ซูจีที่สภาคองเกรส ที่จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ขณะเดียวกันได้เรียกร้องนางออง ซาน ซูจีให้พูดและใช้การจูงใจของเธอในการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างชาวคะฉิ่นและรัฐบาลพม่า

โดยผู้นำของพันธมิตรคะฉิ่นสหรัฐอเมริกา (Kachin Alliance USA หรือ KA-USA) ระบุในจดหมายเปิดผนึกว่าทางกลุ่มได้ปฏิเสธคำเชิญไปร่วมงานดังกล่าวที่อาคาร capitol's Rotunda ของสภาคองเกรส ซึ่งคาดหมายว่าในงานจะมีสื่อมวลชนสหรัฐอเมริกาและนานาชาติไปทำข่าว

"อย่างไรก็ตาม พวกเราชาวคะฉิ่นไม่สามารถที่จะเข้าร่วมได้ เราสนใจความทุกข์ยากที่ไม่ถูกนำมาเปิดเผยของพี่น้องในรัฐคะฉิ่นที่กำลังดำเนินอยู่"

"เรารู้สึกว่าเป็นการไม่เหมาะสมสำหรับพวกเรา ที่จะไปปลื้มปิติยินดี และเฉลิมฉลองเมื่อประชาชนหลายพันคนต้องพลัดถิ่นที่อยู่เนื่องจากมีการต่อสู้รอบใหม่ และอยู่ในภาวะที่ต้องการความจำเป็นพื้นฐานสำหรับมนุษย์อย่างยิ่ง เมื่อพวกเขาต้องอยู่กับความหวาดกลัวที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอน เมื่อเจ้าหน้าที่จีนได้รื้อถอนค่ายผู้ลี้ภัยที่ชายแดนและส่งพวกเขากลับเข้าสู่พื้นที่ขัดแย้ง เมื่อสิทธิของพวกเขาถูกละเมิด ซึ่งเกิดขึ้นแม้แต่ในพื้นที่ศักดิสิทธิ์ของค่ายอพยพที่ดูแลโดยโบสถ์ในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลพม่าควบคุม" จดหมายดังกล่าวระบุ

จดหมายดังกล่าวเรียกร้องให้ออกซาน ซูจี ให้ความสนใจความขัดแย้งในรัฐคะฉิ่นมากขึ้นและออกมาปกป้องผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่น

โฆษกของ KA-USA ซาง กุม ซัน (Nsang Gum San) ให้สัมภาษณ์ว่าเคยเรียกร้องไปยังออง ซาน ซูจีให้ช่วยเหลือและหาทางออกระยะยาวให้กับปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์

 

สื่อคะฉิ่นระบุเหตุไม่พอใจมาจาก "ออง ซาน ซูจี" เมินพูดเรื่องปัญหาในรัฐชนกลุ่มน้อย

ในขณะที่สำนักข่าวคะฉิ่น (KNG) ระบุว่า กรณีที่ออง ซาน ซูจี ปฏิเสธที่จะพูดย้ำเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อปฏิบัติการทางทหารในรัฐคะฉิ่น ได้ทำให้ชาวคะฉิ่นจำนวนมากไม่พอใจ

ในขณะเดียวกัน องค์กรสิทธิมนุษยชนชั้นนำรวมทั้งฮิวแมนไรท์ วอช (HRW) ได้ให้รายละเอียดลงไปในรายงานที่ระบุว่ากองทัพพม่าได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อชาวคะฉิ่น ในขณะที่ออง ซาน ซูจีเองก็เลี่ยงที่จะวิจารณ์ปฏิบัติการของทหารในรัฐคะฉิ่น

ก่อนหน้านี้ในการปาฐกถาที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ออง ซาน ซูจีกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่นยังคลุมเครือเพราะว่าขาด "ผู้สังเกตการณ์อิสระ" ในพื้นที่ ซึ่งได้ทำให้สถานการณ์ที่นั่น "เหมือนกับข้อกล่าวหาต่างๆ ออกมาจากทิศทางที่ต่างๆ กัน"

"ถ้าถึงคราวที่จะประณาม เราจำเป็นต้องรู้ให้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนที่เราจะประณามคนกลุ่มเดียว หรือกลุ่มอื่นๆ" ออง ซาน ซูจี กล่าว "การคลี่คลายความขัดแย้งไม่ใช่การประณาม แต่เป็นการสืบค้นอย่างถึงรากและสาเหตุของปัญหา และค้นหาว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาด้วยหนทางที่ดีที่สุดและเป็นไปได้"

ทั้งนี้สำนักข่าว KNG ได้อ้างคำพูดของนักสิทธิมนุษยชนชาวคะฉิ่นคนหนึ่งที่กล่าวว่า "เป็นไปได้อย่างไรที่ออง ซาน ซูจีจะไม่รู้เกี่ยวกับรายงานของฮิวแมนไรท์ วอช เกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามในรัฐคะฉิ่น เธอจำเป็นที่จะต้องออกมาพูด และวิจารณ์กองทัพ หรือจะให้ประชาชนคะฉิ่นไม่ต้องเชื่อถือในตัวเธออีก"

ทั้งนี้กองทัพอิสรภาพคะฉิ่น หรือ KIA ได้ทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่าตั้งแต่ปี 2537 และได้พื้นที่ปกครองตนเองบริเวณชายแดนรัฐคะฉิ่นติดกับจีน อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่ปี 2553 หลัง KIA ปฏิเสธเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border guard force - BGF) ตามคำสั่งของกองทัพพม่า และได้เกิดการปะทะกันเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ปี 2554 เมื่อทหารพม่ามากกว่า 200 นาย ได้ข้ามมายังเขตควบคุมของ KIA และโจมตีฐานของทหารคะฉิ่น โดยจากข้อมูลของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยแล้วกว่า 90,000 คน

 

นักการเมืองรัฐฉานตำหนิฝ่ายค้านพม่ารวม "ออง ซาน ซูจี" ไม่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ

ขณะเดียวกัน ขุนทุนอู ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ซึ่งเคยได้รับเลือกตั้งในปี 2533 และเป็นอดีตนักโทษการเมืองซึ่งถูกจองจำหลายปี โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างเดินทางในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ให้สัมภาษณ์อิระวดีด้วยว่า "ฝ่ายค้านในสภารวมทั้งออง ซาน ซูจี ถูกรัฐบาลพม่าลดบทบาทไปแล้ว ด้วยการให้ตำแหน่งในสภา ดังนั้นเธอจะไม่พูดถึงสิทธิของประชาชนอีกต่อไป" ขุนทุนอู กล่าวระหว่างแถลงข่าวที่วอชิงตัน

ทั้งนี้ขุน ทุน อู พร้อมด้วยนักกิจกรรมในพม่าอย่างเช่น จอ ตู่ พญ.ซินเธีย หม่อง หรือหมอซินเธียจากแม่ตาวคลินิก และอ่อง ดิน เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อรับรางวัลของสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ (NED) ของรัฐสภาสหรัฐ ที่สภาคองเกรสเช่นกัน ซึ่งออง ซาน ซูจีเองก็มีกำหนดการที่จะไปกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีนี้

ในการตอบคำถามสื่อมวลชน ขุนทุนอูกล่าวด้วยว่า "ความเชื่อถือในตัวเธอ (ออง ซาน ซูจี) ได้ลดลง"

ขุนทุนอู กล่าวด้วยว่า รัฐบาลพม่าพยายามลดบทบาทคนที่พยายามพูดต่อต้านรัฐบาลด้วยการให้ตำแหน่งในฝ่ายบริหาร รัฐสภา หรือองค์กรต่างๆ "ถ้านางยังเป็นเช่นนี้ ก็จะไม่สามารถเป็นตัวแทนประชาชนได้ เธอไม่ยอมพูดอะไรเพื่อสาธารณะ" ขุนทุนอูกล่าว พร้อมกันนี้ยังไม่เห็นด้วยกับถ้อยแถลงของออง ซาน ซูจีเรื่องสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

อย่างไรก็ตามองค์กรในสหรัฐอมริกาอย่าง "Barma Task Force" ยังคงยืนยันว่าจะจัดชุมนุมกว่า 100 พื้นที่ทั่วสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ออง ซาน ซูจีมาเยือน "พวกเราเคารพออง ซาน ซูจีอย่างยิ่ง ต่อการต่อสู้ของเธอ และการอุทิศเพื่อประชาธิปไตยในพม่า" นพ.ชาอิก อูเบด สมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มกล่าว "พวกเราจะชุมนุมใน 7 เมืองที่ออง ซาน ซูจีจะไปเยือนเพื่อแสดงความสมานฉันท์กับการต่อสู้ของเธอ และเรียกร้องให้เธอพูดเพื่อชาวโรฮิงยาและพลเมืองคนอื่นๆ" เขากล่าว

ทั้งนี้ ออง ซาน ซูจี อยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อรับเหรียญทองสดุดีจากสภาคองเกรส ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดในระดับพลเรือนซึ่งมอบโดยสภาคองเกรส โดยเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้ ออง ซาน ซูจีได้รับรางวัลขณะถูกกักบริเวณ โดยออง ซาน ซูจี กล่าวสุนทรพจน์หลังรับรางวัลว่าถือเป็นหนึ่งในวันที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดในชีวิต "ข้าพเจ้ายืนอยู่ที่นี่ในขณะนี้ ด้วยความรับรู้อย่างเต็มเปี่ยมว่า ข้าพเจ้าอยู่ท่ามกลางหมู่มิตรสหายที่จะอยู่กับเรา ขณะที่เรายังคงเดินหน้าภารกิจสร้างชาติ ซึ่งจะมอบสันติภาพและความมั่นคั่ง รวมทั้งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองจากหลักนิติธรรม แก่ผู้ที่อยู่ในดินแดนนั้น"

โดยภายหลังรับรางวัลออง ซาน ซูจี ได้พบปะกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา ซึ่งทั้งคู่ต่างได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเช่นกัน

 
 

ที่มา: แปลและเรียบเรียง​จาก

Kachin group boycotts Suu Kyi award ceremony, Wednesday, 19 September 2012 15:07 Mizzima News

Suu Kyi ‘Neutralized’: Shan Leader, By LALIT K JHA / THE IRRAWADDY| September 20, 2012

Aung San Suu Kyi awarded US congressional medal, The Guardian, September 20, 2012

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net