ประวิตร โรจนพฤกษ์: รายงาน คอป. คือ ‘ความจริงที่เชื่อถือได้’?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและกรรมการคนสำคัญของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 ที่ผ่านมาว่าตนอยากให้ถือว่ารายงาน คอป.ว่าด้วยการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษา-พฤษภา ปี 2553 และการสลายการชุมนุม เป็นรายงานที่เป็น ‘ความจริงที่เชื่อถือได้’

สำหรับผู้วิจารณ์ ความจริง ‘ที่เชื่อถือได้’ ควรอยู่บนพื้นฐานของการใช้วิธีการสรุปที่เชื่อถือได้ มีเหตุผลหลักฐาน และความพยายามเป็นกลางอย่างที่สุดของผู้ที่เข้ามาทำงาน ซึ่งผู้เขียนมองว่า คอป.แม้ดูเหมือนจะมีเจตนาดีแต่ก็มีปัญหาทั้งสองด้าน

1) ชายชุดดำกับการสรุปลอยๆ
หน้า 111 ของรายงาน 276 หน้า คอป. ได้สรุปอย่างลอยๆ ไร้หลักฐานว่า ‘เป้าหมาย’ ของชายชุดดำที่ปรากฏตัวตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 คือ: ‘เพื่อยั่วยุให้ทหารใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมและต้องการให้มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น’

การสรุปลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานยืนยันพิสูจน์เจตนาของชายชุดดำ (ทั้งๆ ที่คนเสื้อแดงจำนวนมิน้อยเชื่อว่าชายชุดดำออกมาช่วยต่อสู้ช่วยชีวิตเขาในคืนนั้น) ไม่ได้ช่วยให้รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. น่าเชื่อถือ ในทางตรงกันข้าม มันกลับสร้างความไม่ไว้วางใจในหมู่คนเสื้อแดงมากขึ้น

การสรุปเรื่องชายชุดดำอย่างลอยๆ นั้นต่างจากการใช้ภาษาและเหตุผลที่แม่นยำในหน้า 123 ที่ คอป.ไม่ได้สรุปลอยๆ แถมมีแหล่งอ้างอิงว่า การตายของ เสธ.แดงหรือ พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล ‘มีความเป็นไปได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการปิดล้อมและกระชับพื้นที่ชุมนุม’

ในกรณีนี้ คอป. ไม่ได้สรุป แต่ใช้คำว่า ‘มีความเป็นไปได้’ ซึ่งสำหรับผู้วิจารณ์ เป็นการใช้ตรรกะที่แม่นยำเหมาะสม เพราะไม่มีหลักฐานมากไปกว่าการคาดคะเน ซึ่งต่างจากกรณีการฟันธงลอยๆ เรื่องเจตนาและเป้าหมายของชายชุดดำ (แถมในวันที่ 17 กันยายน 2555 ตอนท้ายของการเสนอรายงานของ คอป. ผู้วิจารณ์ถาม คอป. ว่ารายงานสรุปเรื่องชายชุดดำไปเช่นนั้นได้อย่างไร ก็ไม่มีคำตอบ แถม ประธาน คอป. นาย คณิต ณ นคร ก็รีบปิดการแถลงข่าวหน้าตาเฉย โดยบอกว่าเรื่องรายละเอียด คุยสามวันสามคืนก็ไม่จบ)

2) ความน่าเชื่อถือในความเป็นกลางของกรรมการและอนุกรรมการบางคน
ทุกคนคงทราบว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้เลือกและแต่งตั้งนายคณิต ณ นคร ด้วยตนเอง จึงทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องความเป็นกลางของการแต่งตั้ง เพราะนายอภิสิทธิ์เป็นคู่ขัดแย้งคนสำคัญในเหตุการณ์ปี 53

หลังจากนั้นนายคณิต ก็แต่งตั้ง นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนผู้เคยส่ง e-mail ในปี 2549 ไปยังมิตรสหายเก่าว่าอย่าวิจารณ์กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหนักเกินไป แล้วในที่สุด พอมีการตั้งอนุกรรมการสอบสวน ซึ่งนายสมชายเป็นประธาน ก็ยังมีนำเอานายเมธา มาสขาว หนึ่งในรุ่นน้องคนสนิทของนายสุริยะใส กตะศิลา มาเป็นอนุกรรมการได้อย่างหน้าตาเฉย

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่นายเมธา มีความสามารถหรือไม่ แต่อยู่ที่หาก คอป. อยากให้สังคมทั้งสังคมเชื่อถือใน คอป.และรายงานของ คอป.อย่างแท้จริง คอป.พึงต้องหลีกเลี่ยงการแต่งตั้งคนที่ใกล้ชิดเสื้อสีใดสีหนึ่งมาเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการตั้งแต่แรก

น่าเสียดายที่งบกว่า 65 ล้านบาทของภาษีประชาชนที่ใช้ในการเขียนรายงานต้องเผชิญกับคำถามเรื่องความแม่นยำทางตรรกะในการเขียนรายงาน รวมถึงความเป็นกลางของคนทำงาน ทั้งๆ ที่รายงานก็มีข้อเสนอ 13 ข้อซึ่งรวมถึงการปฎิรูปกองทัพและกฎหมายมาตรา 112 ที่สังคมพึงสำเหนียกและเป็นประโยชน์ และอย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลที่ดำเนินการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมต้องตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อหาข้อเท็จจริงและเสนอรายงานต่อสาธารณะ อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่สำคัญซึ่งต่างจากสมัยหลังเหตุการณ์ พ.ค.2535 ซึ่งสาธารณะไม่มีโอกาสเข้าถึงรายงาน

อย่างไรก็ตาม พอเกิดคำถามเรื่องการสรุปบางประเด็นที่สำคํญและความเป็นกลางของคนทำงาน คอป.ย่อมไม่สามารถทำให้เกิดความจริงที่เชื่อถือโดยทุกฝ่ายโดยปราศจากข้อสงสัยได้ นี่ยังไม่รวมถึงการไม่สามารถสร้างความปรองดองหรือความล้มเหลวในการที่จะนำผู้อยู่เบื้องหลังความตายกว่าเก้าสิบศพมารับผิด 

   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท