Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break->

คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติหรือ คอป. ได้ออก “รายงานฉบับสมบูรณ์ พ.ศ. 2555” ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการตรวจสอบและค้นหาความจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 โดยรายงานดังกล่าวได้บรรยายรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าควบคุมฝูงชนที่มาชุมนุมและแกนนำผู้ชุมนุมในเวลานั้น ประกอบด้วยเหตุการณ์ในช่วงเวลาต่างๆ กัน ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์เสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เหตุการณ์ความรุนแรงบริเวณถนนราชปรารภ - มักกะสัน - ดินแดง โดยแบ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนการปิดล้อมพื้นที่และเหตุการณ์ช่วงการปิดล้อมพื้นที่ ระหว่างวันที่ 13 ถึง 18 พฤษภาคม 2553 และเหตุการณ์บริเวณวัดปทุมวนารามฯ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553

แม้ว่า คอป. ได้พยายามพรรณาหรือบรรยายถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การใช้ความรุนแรงในการควบคุมฝูงชนในห้วงช่วงเวลานั้น แต่ข้อเท็จจริงในบางประเด็นก็ยังไม่ได้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือให้ความกระจ่างแก่สังคมอย่างแน่ชัด จนอาจเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงจากการควบคุมฝูงชนและการสลายผู้ชุมนุม ที่อาศัยอำนาจรัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการกระทำการดังกล่าว เช่น กรณีกลุ่มชายชุดดำที่มิได้สรุปว่ากลุ่มชายชุดดำมีอยู่จริงหรือไม่และมีบทบาทชัดเจนอย่างไรต่อเหตุการณ์ดังกล่าว อันอาจทำให้บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำหรือเกี่ยวข้องกับชายชุดดำมีตราบาปและถูกสังคมประณามว่าเป็นผู้ใช้ความรุนแรง เป็นต้น

เหตุการณ์ความคลุมเครือหรือน่าเคลือบแคลงสงสัยของรายงานที่จัดทำขึ้นด้วยภาครัฐหรือคณะกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นมาโดยรัฐมิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก หลายประเทศในอดีตก็เคยเผชิญกับปัญหาความน่าเคลือบแคลงสงสัยในรายงานที่จัดทำขึ้นที่มีเนื้อหาและสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมฝูงชนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหรือเหตุการณ์ที่ต้องอาศัยกำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมเหตุการณ์เช่นว่านั้น ซึ่งรายงานของต่างประเทศที่น่าสนใจและน่าจะนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับรายงาน คอป. พ.ศ. 2555 ได้แก่ “รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต” ค.ศ. 1990 (Taylor Report) ของประเทศอังกฤษ ที่ได้บรรยายถึงการไต่สวนข้อเท็จจริงและประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร ค.ศ. 1989 (Hillsborough Disaster) ซึ่งรายงานนี้จัดทำขึ้นเมื่อ 23 ปีที่แล้ว โดยคณะกรรมการอิสระที่มีผู้พิพากษาเทย์เลอร์ (Lord Peter Taylor) เป็นประธาน

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้กล่าวถึงข้อเท็จจริงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรว่ามีเหตุมาจากการแออัดยัดเยียดของฝูงชนเป็นจำนวนมากเกินไปกว่าที่สัดส่วนหรือจำนวนปริมาณของผู้ชมการแข่งขันที่เป็นแฟนบอลลิเวอร์พูลต่อความจุสนามในฝั่งตะวันตกของสนามสโมสรฟุตบอลเชฟฟิลล์เวนส์เดย์ที่เป็นเจ้าของสนามที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศระหว่างทีมสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลกับทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ในปีนั้น ซึ่งการแออัดยัดเยียดของฝูงชนที่เป็นแฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูลในขณะนั้นทำให้อัฒจรรย์ในฝั่งตะวันตกได้พังทลายลงมาและมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 96 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นแฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล โดยการปล่อยให้ฝูงชนเข้าชมในขณะที่พื้นที่รองรับของสนามไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่มาจากสโมสรลิเวร์พูลที่มหาศาลเช่นนั้น ย่อมเป็นปัญหาในเรื่องของการจัดการความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอล

นอกจาก “รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต” ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการจัดการความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลแล้ว คณะผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าวยังได้สรุปประเด็นข้อเท็จจริงว่าปัญหาบางส่วนของเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงและประกอบอาชญากรรมของแฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลบางส่วน ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวได้แสวงหาข้อเท็จจริงโดยมีการเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนโดยตรงในขณะนั้นเข้ามาชี้แจ้งข้อเท็จจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ก็ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าวไปในเชิงที่กล่าวร้ายต่อแฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลในขณะนั้นว่าเป็นผู้ประกอบอาชญากรรมและใช้ความรุนแรงในระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผลของการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ชี้แจงหรือแถลงข้อเท็จจริงที่มีลักษณะไปในเชิงกล่าวหาว่าแฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูลได้ใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้คนในสังคมทั่วไปและผู้เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลอังกฤษ มองแฟนบอลสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลว่าเป็นผู้ที่ชอบใช้ความรุนแรงและอาจก่ออาชญากรรมได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มี “รายงานจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร” ค.ศ. 2012 (Hillsborough Independent Panel) เกี่ยวกับความจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรที่มีสาธุคุณเจมส์ โจนส์ สังฆราชเมืองลิเวอร์พูล ประธานคณะกรรมการฯ ที่ได้ออกมาแถลงรายงานจากการไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ โดยระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นมาจากการประกอบอาชญากรรมของแฟนสโมสรกีฬาฟุตบอลลิเวอร์พูลในขณะนั้น หากแต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากปัญหาการจัดการด้านความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว

นอกจากนี้ “รายงานจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร” ยังได้กลับหรือแย้งความเห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐในอดีตที่มีลักษณะไปในเชิงกล่าวหาว่าแฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูลได้ใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อ 23 ปีที่แล้ว

ผลแห่งการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือความจริงในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรขึ้นมาใหม่นี้ ส่งผลให้แฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น แฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้น และครอบครัวของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมในครั้งนั้น “ได้รับการล้างมลทิน” จากข้อกล่าวหาต่างๆ  ที่เจ้าหน้าที่รัฐได้กล่าวหาในคำชี้แจงข้อเท็จจริงเมื่อ 23 ปีที่แล้วและการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดในอดีตของคณะกรรมการอิสระที่จัดทำรายงาน “รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต”

 

ข้อพิจารณาเปรียบเทียบ “รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต” ในอดีตเมื่อ 23 ปีที่แล้วกับ “รายงาน คอป.” ฉบับปัจจุบัน

รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต” ค.. 1990 (.. 2533)

1. กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงใน “รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต” ใช้ระยะเวลาสั้นเกินไป โดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่เกิน 1 ปีนับจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการดังกล่าวไม่อาจได้ข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงที่เกิดขึ้น

2. ข้อเท็จจริงใน “รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต” บางส่วน คณะกรรมการในขณะนั้นได้รับมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและตำรวจทางการยุติธรรม ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ ที่ได้แถลงข้อเท็จจริงในเชิงลบและอาศัยอคติส่วนตน จนนำมาสู่การสรุปความจริงของคณะกรรมการในขณะนั้น อันทำให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นและแฟนบอลที่รอดจากเหตุการณ์นั้นและยังมีชีวิตอยู่ ตลอดจนถึงครอบครัวถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นอาชญากรและใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าว

3. ข้อเท็จจริงใน “รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต” ทำให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากโศกนาฏกรรมดังกล่าวได้รับการกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้ความรุนแรงหรือประกอบอาชญากรรม มาเป็นเวลานาน 23 ปี ก่อนที่จะมี “รายงานจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร” ค.ศ. 2012 ออกมาในปัจจุบันล้างมลทินให้

4. ในปัจจุบันมี “รายงานจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร” ค.ศ. 2012 ออกมากลับคำแถลงข้อเท็จจริงของ “รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต” นอกจากนี้ รายงานฉบับใหม่ยังให้ความกระจ่างมากขึ้นโดยอาศัยการแสวงหาข้อเท็จจริงจากบุคคลหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายและปราศจากอคติในการให้ข้อเท็จจริง รวมไปถึงการอาศัยกลไกและวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง

รายงาน คอป.” .. 2555

1. กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงจนนำไปสู่การจัดทำ “รายงาน คอป.” ฉบับปัจจุบัน ใช้เวลา 2 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ซึ่งเวลาเพียง 2 ปี อาจเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป ทำให้คณะกรรมการไม่ได้รับข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงในทุกประเด็น

2. ข้อเท็จจริงใน “รายงาน คอป.” ฉบับปัจจุบันก็ได้รับมาจากการให้ปากคำหรือถ้อยคำแถลงของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมหรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการชุมนุม

3. ข้อเท็จจริงในเอกสาร “รายงาน คอป.” หากไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจริง ย่อมส่งผลให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับนั้นบางส่วน ถูกสังคมประณามหรือได้รับตราบาปตามเนื้อหาของรายงานฉบับนี้

4. กรรมการและอนุกรรมการที่มาร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ใน “รายงาน คอป.” มีความเป็นกลางและปราศจากอคติหรือไม่? นอกจากนี้ มีกระบวนการสรรหากรรมการและอนุกรรมการที่ทำหน้าที่แสวงหาความจริงและกลไกที่เป็นหลักประกันไม่ให้กรรมการและอนุกรรมการอาศัยอคติในการทำงานหรือไม่?

5. หากในภายภาคหน้ามีการอาศัยกลไกทางนิติวิทยาศาสตร์และวิทยาการตำรวจขั้นสูง จนเป็นเหตุให้พบความจริงหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ตรงกับเนื้อหาของ “รายงาน คอป.” คอป. ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการและอนุกรรมการต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากน้อยเพียงใด?


หากในอนาคตรัฐบาลไทยในปัจจุบันหรืออนาคตได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระชุดใหม่” เฉกเช่นเดียวกับที่รัฐบาลอังกฤษได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร ค.ศ. 2012” เพื่อรื้อฟื้นหรือแสวงหาความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 ขึ้นมาใหม่ โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการที่ชัดเจนและแน่นอน รวมไปถึงกำหนดกลไกหรือวิธีการไม่ให้คณะกรรมการใช้อคติหรือขจัดปัญหาการบิดเบือนข้อเท็จจริงในลักษณะต่างๆ โดยปราศจากอคติในการแสวงหาข้อเท็จจริง ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นเช่นไรย่อมเป็นเรื่องที่น่าขบคิด …………. !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net