Skip to main content
sharethis

กำหนดเกณฑ์ผลงานทางวิชาการที่ใช้ขอตำแหน่ง จะต้องก่อให้เกิดความรู้ใหม่ มีการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์  และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือมีผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชน สังคม หรือประเทศ

เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ รายงานว่า นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 24 ก.ย.

โดยที่ประชุมที่ประชุมได้นำข้อร้องเรียนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าที่ผ่านมากำหนดให้ผู้ขอเข้าสู่ตำแหน่งสามารถทำตำราหรืองานวิจัย เสนอเพื่อขออนุมัติแต่งตั้งเป็น ผศ.เท่านั้น ต่อมาภายหลังมีการปรับเปลี่ยนให้ต้องทำตำราและงานวิจัย ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ยากขึ้นเพราะต้องทำ 2 อย่าง ส่งผลให้ผู้ทำผลงานรู้สึกไม่เป็นธรรมและร้องเรียนมา ดังนั้นจึงได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์เฉพาะตำแหน่ง ผศ. คือ ให้ทำตำราหรืองานวิจัยเสนอเท่านั้น โดยเปลี่ยนจาก “และ” เป็น “หรือ” สำหรับตำแหน่ง รศ. และ ศ.นั้น ไม่ได้มีการปรับแก้ไข จึงให้ใช้หลักเกณฑ์เดิม

ทั้งนี้ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 17 กันยายน 2555 กรณีกำหนดลักษณะของผลงานทางวิชาการสำหรับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทุกตำแหน่ง และผลงานทางวิชาการที่ใช้ประกอบการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซึ่งมีสาระสำคัญที่ปรับปรุงดังนี้

หลักเกณฑ์เดิม

1. การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผลงานทางวิชาการ ประกอบด้วยผลงาน ต่อไปนี้

(1)  1.1 ผลงานวิจัยซึ่งมีคุณภาพดีและได้รับการเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด  ทั้งนี้ ไม่นับงานวิจัยที่ทำเป็นส่วนของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใดๆ หรือ 1.2 ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ซึ่งมีคุณภาพดี และ
(2) ผลงานแต่งหรือเรียบเรียง ตำรา หนังสือ หรือบทความทางวิชาการ ซึ่งมีคุณภาพดี และได้รับการเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด

คุณภาพของผลงาน

(1) ถูกต้อง สมบูรณ์ และทันสมัย
(2) เป็นประโยชน์ หรือนำไปประยุกต์ใช้ได้

000

 

หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุง

1. การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผลงานทางวิชาการ  ประกอบด้วยผลงาน ต่อไปนี้

(1) ผลงานวิจัยซึ่งมีคุณภาพดีและได้รับการเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด  ทั้งนี้ ไม่นับงานวิจัยที่ทำเป็นส่วนของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใดๆ หรือ
(2) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ซึ่งมีคุณภาพดี และได้รับการเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือ
(3) ผลงานแต่งหรือเรียบเรียง ตำรา หนังสือ หรือบทความทางวิชาการ ซึ่งมีคุณภาพดี และได้รับการเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด

คุณภาพของผลงาน

ผลงานดังกล่าวข้างต้น ต้องเป็นงานที่มีลักษณะคุณภาพระดับดี และมี 3 องค์ประกอบดังนี้ ร่วมด้วย คือ

(1) ก่อให้เกิดความรู้ใหม่  และ
(2) มีการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์  และ
(3) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือมีผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชน สังคม หรือประเทศ

2. กำหนดลักษณะของผลงานทางวิชาการสำหรับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทุกตำแหน่ง ดังนี้

ผลงานทางวิชาการสำหรับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการทุกตำแหน่ง ต้องเป็นผลงานที่มีทิศทางการศึกษาหรือวิจัยตามกรณีใดกรณีหนึ่งหรือหลายกรณีตามความเหมาะสมของแต่ละสาขาวิชา ดังต่อไปนี้

1) สอดคล้องกับศักยภาพหรือทรัพยากรของแต่ละพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ
2) เพื่อให้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก
3) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
4) พัฒนาและส่งเสริมชุมชนหรือสังคมให้มีความเข้มแข็ง
5) ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการ

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net