‘พีมูฟ’ ชี้ 1 ปี ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาคนจน

เปิดสรุปข้อมูล 1 ปี ความล้มเหลวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับการแก้ไขปัญหาของคนจน พร้อมประกาศ 1 ต.ค.นี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จะมาทวงคืนนโยบายคนจน ด้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสานร้องชาวบ้านยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่ คุกคาม

 
วันนี้ (26 ก.ย.55) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ จัดแถลงข่าวที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว เผยความล้มเหลว 1 ปีในการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ต.ค.2555 นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการเจรจาดังกล่าว และระบุว่าทางเครือข่ายจะเดินทางมาปักหลักรอฟังคำตอบจากรัฐบาลอย่างสงบ
 
การแถลงข่าวมีการอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 15 “1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับความล้มเหลว ในการแก้ไขปัญหาของคนจน โดยระบุว่า นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต โดยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้สานต่อการแก้ไขปัญหามาแล้วหลายครั้ง โดยที่ผ่านมารัฐบาลนี้ได้ตอบสนองข้อเรียกร้อง ด้วยการบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 อาทิ นโยบายข้อ 4.นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต ในเรื่องนโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม และการให้โอกาสประชาชนที่มีฐานะยากจนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง 
 
ข้อ 5.นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการสนับสนุนการจัดการอย่างมีส่วนร่วมและให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันในลักษณะที่ทำให้คนมีภารกิจดูแลป่าให้มีความยั่งยืน โดยการปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ 5 ฉบับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากร ให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน และนโยบายข้อที่ 8.นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยการส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อการคุ้มครองช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส 
 
การแถลงนโยบายดังกล่าวผูกพันให้รัฐบาลต้องดำเนินการ และต่อมารัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นอีกจำนวน 10 คณะเพื่อใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
 
 
จี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ เปิดโต๊ะเจรจา หลังแก้ปัญหาไม่คืบ
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่าตลอดช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการติดตามและผลักดันให้กลไกการแก้ไขปัญหาทั้งคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการตามข้อตกลงและแนวทาง เพื่อสานต่อการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงเป็นรูปธรรม แต่ในท้ายที่สุดจนถึงปัจจุบันกลับพบกับอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา อันเกิดจากความตั้งใจของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานราชการ ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง 
 
ขณะที่หลายกรณีปัญหา เช่น การจัดให้มีโฉนดชุมชนและการจัดตั้งสถาบันธนาคารที่ดิน ได้ถูกแช่แข็ง และแปลงหลักการจนผิดเพี้ยน ขณะที่หลายกรณีปัญหามีข้อยุติไว้ชัดเจนแล้ว แต่กลับถูกขัดขวางจากระบบราชการที่ล้าหลัง และทัศนคติของบุคคลากรของรัฐที่ไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้ไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่อไปได้ เช่น กรณีโครงการบ้านมั่นคง กรณีคนไทยพลัดถิ่น และกรณีเขื่อนปากมูล ในขณะที่อีกกว่า 500 กรณีปัญหาก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ 
 
“ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขอยืนยันว่า 1.นโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อปัญหาของพวกเรามีความชัดเจน แต่รัฐบาลไม่ยอมนำไปปฏิบัติ 2.รัฐมนตรีบางคน และหน่วยงานราชการบางหน่วยงาน บิดเบือน และมีการแปลงสาร โดยไม่คำนึงถึงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก 3.แนวทางที่มีอยู่แล้วถูกล้มเลิก และมีการขัดขวางการดำเนินงาน”
 
ข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมต่อรัฐบาลให้เร่งดำเนินการ มีดังนี้ 1.รัฐบาลต้องปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว 2.นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้กำกับและผลักดันการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง 3.รัฐบาลต้องปรับปรุงกลไกการแก้ไขปัญหาให้สามารถปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาได้จริง
โดยรัฐบาลจะต้องเปิดการเจรจาขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ต.ค.2555 นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการเจรจาดังกล่าว โดยทางเครือข่ายจะเดินทางมาปักหลักรอฟังคำตอบจาก
รัฐบาลอย่างสงบที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
 
 
แจงประเด็นความล้มเหลวในเชิงนโยบายของรัฐบาล
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการจัดแถลงข่าวดังกล่าว ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ยังมีการเผยแพร่ข้อมูล “สรุปความล้มเหลว 1 ปีกลไกการแก้ปัญหาร่วมกับรัฐบาล” (ตามเอกสารแนบ) และความล้มเหลวในเชิงนโยบายของรัฐบาล ดังรายละเอียดต่อไปนี้
 

ความล้มเหลวในเชิงนโยบายของรัฐบาล

ประเด็น

ความเป็นมา (ความเดิม)

ผลการดำเนินงาน

ปัญหา/อุปสรรค

ข้อเสนอ

การดำเนินงานเรื่องโฉนดชุมชน

-เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการจัดโฉนดชุมชน ให้แก่ชุมชนที่ประสบความเดือดร้อนด้านการเข้าถึงสิทธิในที่ดิน ซึ่งเป็นแนวคิดดั้งเดิมของภาคประชาชนที่คิดค้นริเริ่มตั้งแต่พ.ศ.๒๕๔๑ โดยเป็นหลักการภายใต้สิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐

-มีการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.๒๕๕๓ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่ดินที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

-ขปส.ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน และให้มีการผลักดันเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ

-หลังจากการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯมีชุมชนที่เดือดร้อนและยื่นคำขอจัดให้มีโฉนดชุมชนจำนวน ๔๓๕ ชุมชน ในพื้นที่ ๔๗ จังหวัด

-มีชุมชนที่ผ่านการอนุมัติให้จัดโฉนดชุมชนโดยคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน(ปจช.) แล้วจำนวน ๕๕ ชุมชน

-มีชุมชนที่รับการจัดให้มีโฉนดชุมชนแล้วจำนวน ๒ ชุมชน คือชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม และชุมชนแม่อาว จ.ลำพูน

-มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ โดยเปลี่ยนประธานจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และส่งผลให้เป็นการยกเลิกคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนชุดเดิม

-๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ ขปส.เข้าเจรจากับรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) โดยรองนายกฯให้คำยืนยันจะดำเนินการสานต่อโฉนดชุมชนต่อ

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้เร่งรัดการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน โดยเสนอรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินการโฉนดชุมชนเข้าเป็นคณะกรรมการ และเร่งรัดให้มีการเปิดประชุมพิจารณาการจัดให้มีโฉนดชุมชนโดยเร่งด่วน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีผลความคืบหน้าใดๆในเรื่องดังกล่าว

-มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ อนุมัติงบประมาณจำนวน ๕๐ ล้านบาทเพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการตามโครงการปราบปรามการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ต้นน้ำลำธารเพื่อปลูก
ไม้ยางพาราในท้องที่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งจะเป็นการขัดขวางการดำเนินงานโฉนดชุมชนในพื้นที่

 

 

-เร่งรัดการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน(ปจช.)

-ผลักดันให้ระเบียบสำนักนายกฯเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพื่อการบังคับใช้ได้ทั่วไป

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พ.ศ.๒๕๕๓

ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้เสนอข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขอให้มีการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎร โดยเสนอให้มีการดำเนินการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและการไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อยและคนยากจนอย่างยั่งยืน ด้วยการดำเนินการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อเป็นองค์กรที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการเกี่ยวกับที่ดินโดยตรง โดยใช้งบประมาณ จำนวน ๕,๐๐๐ ล้านบาท       

 

๑) คณะรัฐมนตรีมีมติ  เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔ เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) พ.ศ. ....  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปดำเนินการเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ....  ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  โดยให้มีการจัดสรรรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) และธนาคารที่ดินที่จะตรากฎหมายขึ้นต่อไปด้วย

๒) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับแล้ว วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๔

๓)ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน

 

 

ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อที่ดินให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ยากไร้ที่ดินตามโครงการนำร่องงบประมาณ ๑๖๗ ล้านบาทได้ รวมทั้งเป้าหมายอื่นๆตามพระราชกฤษฎีกาได้

-ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ภายใต้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พ.ศ.๒๕๕๔ โดยให้ผู้แทนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.)เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในสัดส่วนผู้แทนองค์กรชุมชน

-ผลักดันการจัดตั้งธนาคารที่ดินโดยให้มีเป้าหมายเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินให้แก่คนจนและผู้ด้อยโอกาส และจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

-ผลักดันภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเพื่อเป็นช่องทางในการกระจายการถือครองที่ดิน และนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการเก็บภาษีเป็นกองทุนในธนาคารที่ดิน

โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน งบประมาณดำเนินการ ๑๖๗ ล้านบาท

 

๑) มติคณะรัฐมนตรี ๒๒ กุมภาพันธ์ และ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔ เห็นชอบให้มีการดำเนินงานโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกรรายย่อยไทยเข้มแข็ง ภายใต้นโยบายกองทุนธนาคารที่ดิน ในพื้นที่ ๕ ชุมชน วงเงินงบประมาณ ๑๖๗ ล้านบาท

๒) วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ประชุมการเจรจาระหว่างรัฐบาลซึ่งมีรองนายกฯ(นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ)เป็นประธาน กับตัวแทนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  (ขปส.) ได้มีมติให้เปลี่ยนแปลงหน่วยงานการเบิกจ่ายจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน มาเป็นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) แทนและได้มอบหมายให้พอช.ไปจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบรปะมาณสำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว

ขณะนี้พอช.ได้จัดทำโครงการฯเสร็จแล้ว

 

 

 

-คณะรัฐมนตรียังไม่มีการพิจารณาโครงการนำร่องดังกล่าว

-มีความพยายามของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล) ในการยกร่างแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน โดยยกเลิกแนวทางการจัดสรรที่ดินให้ในรูปแบบโฉนดชุมชน /มีการเปลี่ยนสาระสำคัญจากเดิมที่ส่งเสริมภาคเกษตรเปลี่ยนเป็นการส่งเสริมภาคพาณิชย์และอุตสาหกรรม นอกจากนี้ร่างพ.ร.บ.นี้ยัง ไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

-ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการโครงการดังกล่าวในพื้นที่ ๕ ชุมชน ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์และ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยให้พอช.เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

กรณีบ้านมั่นคง นโยบายที่อยู่อาศัย/คนไร้บ้าน

กรณี คนไร้บ้านได้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดรัฐบาลในยุคที่ผ่านได้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาคุณชีวิตและสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนไร้บ้าน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

 

ได้มีข้อสรุปร่วมกันกับรัฐบาลโดยรองนายกรัฐมนตรี(นายยงยุทธ  วิชัยดิษ) ให้ พอช.ไปจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการดังกล่าว

พอช.ไม่สามารถเนื่องจากมีข้อจำกัดในการจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณประจำปีของกระทรวงได้

ให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ (งบกลางรายการเงินฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน)เพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว

กรณีการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลตามมติคณะรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ได้มีการเจรจากับนายกรัฐมนตรี(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) โดยในการเจรจาดังกล่าวได้มีข้อสรุปร่วมกันดังนี้

๑)เห็นควรทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเป็นระยะเวลา ๕ปี โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ศึกษาเกี่ยวกับการฟื้นตัวของระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชน รวมทั้งผลกระทบจากการเปิดเขื่อนปากมูลดังกล่าว

๒)ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุดที่ นร๐๕๐๖/๑๐๑๔๑ ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๐ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐ แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด นร ๐๕๐๖/๑๒๔๘๙ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ทั้งฉบับ รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี คำสั่งหรือประกาศอื่นใด ที่ขัดแย้งกับแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของขปส.

๓) เห็นควรเยียวยาตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้มีอาชีพประมงที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล รายละ ๓๑๐,๐๐๐ บาท โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับการเยียวยาดังกล่าว

 

 

 

คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นได้มีการประชุมไปแล้ว หนึ่งครั้งเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ แต่ยังไม่มีข้อสรุปและจากนั้นก็ยังไม่มีการจัดประชุมขึ้น

คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นได้มีการประชุมไปแล้ว หนึ่งครั้งเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ แต่ยังไม่มีข้อสรุปและจากนั้นก็ยังไม่มีการจัดประชุมขึ้น

๑.ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔

๒.ให้นำมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ครั้งที่ ๒/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และมติการเจรจาเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ มาใช้ในการแก้ไขปัญหา

กรณีคนไทยผลัดถิ่น ตามพระราชบัญญัติคืนสัญชาติ

หลังการยุบสภาของ รบ.ปชป.ช่วงเลือกตั้งพรรคการเมือง บันทึกความร่วมมือที่จะดำเนินการต่อหากได้เป็น รบ.หลังเลือกตั้ง รบ.ได้มีมติครม.ยืนยันความจำเป็นที่ต้องมี กฎหมายสัญชาติไปยังวุฒิสภาๆตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณากฎหมายสัญชาติก่อนนำเข้าสู่การพิจารณา จนผ่านวาระ ๒และ๓วุฒิสภาและประกาศในกิจจานุเบกษา ๒๑ มีนาคม ๕๕ พร้อมตั้ง กก.รับรองความเป็นไทยพลัดถิ่นและออกกฎกระทรวงหลักเกณฑ์และวิธีการพร้อมเข้า ครม.และมีมติเมื่อ ๑๗กค.๕๕ประกาศในกิจจานุเบกษา ๑๘ กค.๕๕ พร้อมรับคำขอเพื่อพิจารณารับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น  กย.๕๕ในจ.ตราด ระนอง ชุมพร ประจวบฯ ตาก

-มีคณะกก.รับรองฯ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ฯ โดยเฉพาะในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ

-มีการออกกฎกระทรวงฯ

 

๑) มีคณะกก.รับรองฯ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ฯ โดยเฉพาะในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ

๒) กฎกระทรวงฯ ไม่เป็นตามเจตนารมณ์ฯ

๒.๑) กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นถูกแบ่งเป็น ๔ กลุ่ม คือกลุ่มที่ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติว่ามีเชื้อสายไทย, กลุ่มที่ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติว่าเป็นคนต่างด้าวกลุ่มต่างๆ, กลุ่มที่ตกหล่นการสำรวจ

๒.๒) ความไม่ชัดเจนกรณีคนไทยพลัดถิ่นที่แม่สอด

๒.๓) การกำหนดให้ต้องมีพยานบุคคลที่มีเชื้อสายไทย

๒.๔) การกำหนดให้มีพยานบุคคลที่มีเชื้อสายไทย รับรองการไม่มีสัญชาติของประเทศอื่น

๑)ทบทวนองค์ประกอบของกรรมการรับรองฯ ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ

๒)ทบทวน/ปรับเปลี่ยนฝ่ายเลขาฯ

๓)ทบทวนกฎกระทรวงฯ ฉบับปัจจุบัน

๔)ออกกฎกระทรวงฯ เพื่อการแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่นที่มีลักษณะอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

๕)มีมติครม.เพื่อสำรวจคนไทยพลัดถิ่นที่ตกหล่น

 

คปอ.ร้องปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ ยื่นหนังสือ “ยงยุทธ” ถูกข่มขู่ คุกคาม กรณีพิพาทเรื่องที่ดิน
 
 
ขณะที่ นายเด่น คำแหล้ นายนิด ต่อทุน และนายประชัน ชำนาญวงษ์ ตัวแทนชาวบ้านจาก อ.คอนสาร  จ.ชัยภูมิ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้เข้าร่วมแฉลงข่าวร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กรณีความเดือดร้อนเร่งด่วนในพื้นที่ และได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบรัฐสภา เพื่อให้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติการข่มขู่คุกคามราษฎรในพื้นที่พิพาทที่ดินกับหน่วยงานของรัฐ
 
สืบเนื่องจากในขณะนี้ ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินการใช้กำลังข่มขู่ คุกคาม อาทิ กรณีปัญหาที่พิพาทสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ ในวันที่ 24 ก.ย.55 เจ้าหน้าที่สวนป่าคอนสาร พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าไปตรวจพื้นที่และถ่ายรูปในพื้นที่พิพาทที่กำลังมีการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลอยู่ และในขณะนี้ได้มีการแจ้งกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ว่าชาวบ้านมีการขยาย ต้ดไม้ ต่อเติมที่อยู่อาศัย เพื่อให้ร่วมจับตาชาวบ้าน อีกทั้งยังมีการเข้าไปข่มขู่ราษฎรที่อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่พิพาทอีกด้วย
 
กรณีปัญหาพิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย เมื่อวันที่  25 ก.ย.55 เจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยป้องกันและปราบปรามชัยภูมิที่ 4 (ชย.4) ได้นำกำลังทั้งหมด 13 นาย พร้อมด้วยปืนและอาวุธครบมือ เข้าล้อมปราบ พร้อมจับกุมชาวบ้านที่กำลังทำกินอยู่ในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านตกใจได้วิ่งหนีเจ้าหน้าที่เข้าไปในป่าหายไปหลายชั่วโมง จากการกระทำดังกล่าวทำให้ชาวบ้านหวาดผวา รู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต และอาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงในพื้นที่
 
“เพื่อความสงบสุขของราษฎรที่ทำกินในพื้นที่ ให้ได้ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข  และการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลให้สำเร็จลุล่วง  เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) จึงใคร่เรียนขอให้ท่านได้โปรดมีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ยุติการข่มขู่  คุกคามราษฎร” นายเด่นกล่าว
 
ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทที่ดินกับหน่วยงานของรัฐ ทั้งพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงมหาดไทย และอื่นๆ ตามแนวทางโฉนดชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา รวมทั้งได้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) 
 
 
แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มีรายละเอียด ดังนี้
 
 
แถลงการณ์ ฉบับที่ ๑๕
๑ ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับความล้มเหลว ในการแก้ไขปัญหาของคนจน
 
นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.), สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.), เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.), สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.), เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา, เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล อันเป็นปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน ปัญหาการไร้สิทธิสถานะและชาติพันธุ์ปัญหาจากเหมืองและโรงไฟฟ้า ปัญหาการทำเกษตรพันธสัญญา รวมทั้งปัญหาความไม่เป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ทั้งคนจนจากชนบทและคนจนในเมืองได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้สานต่อการแก้ไขปัญหาของพวกเรามาแล้วหลายครั้ง
 
โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของพวกเรา ด้วยการบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลซึ่ง ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ อาทิเช่น นโยบายข้อ ๔.นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต (ข้อ๔.๕. .....นโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม ข้อย่อยที่ ๔.๕.๒ การให้โอกาสประชาชนที่มีฐานะยากจนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง.....) ข้อ ๕.นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ข้อ ๕.๑ ......สนับสนุนการจัดการอย่างมีส่วนร่วมและให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันในลักษณะที่ทำให้คนมีภารกิจดูแลป่าให้มีความยั่งยืน โดยการปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ 5 ฉบับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ..... ข้อ ๕.๔ สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากร..... .....ให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย...... .....ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน......) และ นโยบายข้อที่ ๘.นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ข้อ ๘.๒.๒ ....ส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อการคุ้มครองช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส....) ซึ่งผูกพันให้รัฐบาลต้องดำเนินการ
 
ต่อมารัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) เป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นอีกจำนวน ๑๐  คณะ เพื่อใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
 
อย่างไรก็ตามตลอดช่วงเวลากว่า ๑ ปีที่ผ่านมา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการติดตามและผลักดันให้กลไกการแก้ไขปัญหาทั้งคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการตามข้อตกลงและแนวทางเพื่อสานต่อการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงเป็นรูปธรรม แต่ในท้ายที่สุดจนถึงปัจจุบันพวกเราได้พบกับอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา อันเกิดจากความตั้งใจของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานราชการ ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ขณะที่หลายกรณีปัญหา เช่น การจัดให้มีโฉนดชุมชนและการจัดตั้งสถาบันธนาคารที่ดิน ได้ถูกแช่แข็ง และแปลงเปลี่ยนหลักการจนผิดเพี้ยน ขณะที่หลายกรณีปัญหามีข้อยุติไว้ชัดเจนแล้ว แต่กลับถูกขัดขวางจากระบบราชการที่ล้าหลัง และทัศนคติของบุคคลากรของรัฐที่ไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้ไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่อไปได้ เช่น กรณีโครงการบ้านมั่นคง กรณีคนไทยพลัดถิ่น และกรณีเขื่อนปากมูล ในขณะที่อีกกว่า ๕๐๐ กรณีปัญหาก็ยังคงย่ำอยู่กับที่
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขอยืนยันว่า
๑. นโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อปัญหาของพวกเรามีความชัดเจน แต่รัฐบาลไม่ยอมนำไปปฏิบัติ
๒. รัฐมนตรีบางคน และหน่วยงานราชการบางหน่วยงาน บิดเบือน และมีการแปลงสาร โดยไม่คำนึงถึงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก
๓. แนวทางที่มีอยู่แล้วถูกล้มเลิก และมีการขัดขวางการดำเนินงาน
 
ดังนั้นขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้เร่งดำเนินการ ดังนี้
๑. รัฐบาลต้องปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
๒. นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้กำกับและผลักดันการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
๓. รัฐบาลต้องปรับปรุงกลไกการแก้ไขปัญหาให้สามารถปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาได้จริง โดยรัฐบาลจะต้องเปิดการเจรจาขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการเจรจาดังกล่าว พร้อมกันนี้พวกเราจะเดินทางมาปักหลักรอฟังคำตอบจากรัฐบาลอย่างสงบที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา
๒๖ กันยายน ๒๕๕๕
 

 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท