“คนดำสไตล์”: คุณค่าของการมีส่วนร่วมทางดนตรีกับความสำเร็จของ “กังนัมสไตล์”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เพลง Gangnam Style ของแรปเปอร์ร่างท้วมจากเกาหลี PSY ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงและอภิปรายกันในหมู่นักวิจารณ์ดนตรีและนักฟังเพลงในไทยพอสมควรในช่วงปลายเดือนสิงหาคมและปลายเดือนกันยายน 2555 ในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน [1] ซึ่งนักวิจารณ์แต่ละท่านก็มีท่าทีในการปรากฎการณ์ที่ต่างกันออกไป บ้างก็เสนอว่าเพลงนี้มัน “ขยะ” บ้างก็เสนอว่าเหตุผลของนักวิจารณ์ท่านที่ในการกล่าวหาเพลงนี้ว่า “ขยะ” นั้นใช้ไม่ได้บ้าง ซึ่งตอนนี้ข้อถกเถียงในหมู่นักวิจารณ์ชาวไทยก็สงบลงแล้วแต่บทเพลงนี้ก็ยังได้รับความนิยมอย่างไม่หยุดหย่อน โดยในขณะที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้อยู่มันก็ข้ามฝั่งไปติดอันดับ 2 ของ Billboard Hot 100 ซึ่งเป็นซิงเกิลชาร์ตของนิตยสารบิลล์บอร์ดในอเมริกาไปแล้ว (ซึ่งก็พอจะมีลุ้นเป็นเพลง [2] ) นอกจากนี้ในประเทศยุโรปจำนวนมากเพลงนี้ก็ติดอันดับ Top 20 เป็นปกติ ซึ่งในบางประเทศเพลงนี้ก็ติดใน Top 5 หรือกระทั่งขึ้นอันดับ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว [3] และยอดการกด “ไลค์” ของวีดีโอเพลงนี้บนเว็บไซต์ YouTube ก็มากที่สุดในโลกจนทางกินเนสส์บุ๊คได้ลงบันทึกไว้แล้ว [4]

บทเพลงนี้ “ฮิต” ถล่มทลายแน่ๆ แต่มันจะเป็นบทเพลงที่ “ดี” หรือไม่ก็คงเป็นอีกเรื่อง แน่นอนว่าคงจะไม่มีนักวิจารณ์ที่ไหนบอกว่าบทเพลงที่ฮิตนั้นเป็นบทเพลงที่ดีโดยอัตโนมัติ เพราะนักวิจารณ์ที่เอาแต่บอกว่าเพลงที่ฮิตคือเพลงที่ดีก็คงจะไร้หน้าที่ในทางสังคมพอๆ กับนักวิชาการที่ไม่เคยเสนออะไรที่ผิดไปจากสามัญสำนึกของผู้คนทั่วไปเลย อย่างน้อยๆ ที่สุดในตอนนี้ เท่าที่ผู้เขียนเห็นมันก็ยังไม่มีนักวิจารณ์คนไหนที่ออกมาชมบทเพลงนี้แบบตรงๆ ว่าเป็นบทเพลงที่ “ดี” ด้วยซ้ำ

งานชิ้นนี้ผู้เขียนอยากเสนอว่างานชิ้นนี้เป็นงานที่ “ดี” แต่หลักการที่ผู้เขียนใช้ก็ไม่ใช่หลักการเกี่ยวกับงานดนตรีที่ดีตามที่เข้ากันทั่วไปว่างานดนตรีที่ดีคืองานที่ความเป็นแบบฉบับเฉพาะตัว หรืองานดนตรีที่ดีคืองานที่ประพันธ์มาอย่างซับซ้อนและใช้เทคนิคซับซ้อนในการเล่น หรืองานดนตรีที่ดีคืองานดนตรีที่แสดงอารมณ์และความรู้สึกของผู้เล่นออกมาอย่างเต็มที่ หรือกระทั่งหลักการบ้านๆ แบบงานดนตรีที่ดีคืองานดนตรีที่ขายดี

แทนที่จะเป็นเช่นนั้นผู้เขียนมองว่างานชิ้นนี้เป็นงานดนตรีที่ดีเพราะมันเป็นงานดนตรีที่เชื้อเชิญให้เกิดการมีส่วนร่วมทางดนตรี (musical participation) อย่างล้นหลาม ซึ่งนั่นเป็นคนละเรื่องกับการที่งานชิ้นนี้ “ฮิต” หรือไม่ “ฮิต” เพราะเพลงจำนวนมากแม้แต่ในยุคปัจจุบันก็ “ฮิต” ได้แบบที่คนไม่ได้มีส่วนร่วมในแบบที่ Gangnam Style มีแน่ๆ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ไม่น่าจะมีบทเพลงใดที่มีการทำคลิปล้อเลียนกันออกมามากมายขนาดนี้จากผู้คนแทบจะทั่วโลก ซึ่งบรรดาคลิปล้อเลียนหลายๆ คลิปก็กลายเป็นคลิปที่ฮิตไปชั่วข้ามคืน (จะกล่าวต่อไปด้านหน้า) แต่ก่อนอื่น ผู้เขียนอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านมาสำรวจอคติเกี่ยวกับการประเมินค่าทางดนตรีของเราในฐานะของคนเมืองในยุคทุนนิยมตอนปลายกันก่อน

อคติดนตรีที่ดีแบบชนชั้นกลางยุโรปศตวรรษที่ 19

ดนตรีจะมีลักษณะ “สากล” หรือไม่ก็คงเถียงกันได้ไม่จบ เพราะอย่างน้อยๆ คำกล่าวแบบนี้ก็ดุจะคลุมเครือเกินกว่าที่จะตัดสินได้ว่าจริงหรือเท็จ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ไม่ได้เป็นสากลแน่ๆ ก็คือมาตรฐานของดนตรีที่ดีซึ่งเป็นสิ่งที่ผูกอยู่กับความจำเพาะเจาะจงของแต่ละสังคมไปจนถึงชนชั้นมาโดยตลอด และเงื่อนไขพวกนี้ก็เป็นสิ่งที่สร้าง “สามัญสำนึก” ของคนในยุคสมัยหนึ่งๆ ที่คนมักจะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญและเป็นสากลเกินกว่าจะตั้งคำถามด้วยซ้ำ

อันที่จริงแล้วแนวคิดที่ว่าดนตรีที่ดีคือดนตรีที่มีความเป็นต้นตำรับ (originality) เป็นผลผลิตของกระแสความคิดโรแมนติค (romanticism) ในยุโรปศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้านั้นไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก งานดนตรีก็ถูกมองในฐานะงานลอกเลียนทั้งนั้น ดนตรีถ้าไม่เป็นเรื่องของการลอกเลียนธรรมชาติ (ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก พายุ ฤดูกาล หรือกระทั่งรูปอารมณ์ของมนุษย์โดยทั่วไป) ก็เป็นการลอกเลียนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ไม่ว่าจะเป็นนางอัปสรณ์มิวส์ พระเจ้า หรืออะไรก็ตามแต่) [5]  ไม่ก็ลอกเลียนกันเองแบบพวกเพลงพื้นบ้านทั่วโลกอันไม่ปรากฏผู้แต่งและนักดนตรีที่เอามาเล่นแต่ละคนก็เล่นออกมาแตกต่างกันเนื่องจากนักดนตรีแต่ละคนก็ทำการปรับแต่งองค์ประกอบบทเพลงตามใจตนได้โดยเสรี [6]

กระแสความคิดโรแมนติคทำให้คนเริ่มมองว่าอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การแสดงออกทางศิลปะ และเป็นรากฐานของการประเมินคุณค่าทางศิลปะที่สืบทอดมาจนทุกวันนี้ และสิ่งที่พ่วงกันมาด้วยก็คือการให้ความสำคัญกับแบบฉบับเฉพาะตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มองว่าธรรมชาติของดนตรีคือการลอกเลียนมาโดยตลอด ตรรกะก็คือถ้าการนำเสนออารมณ์ของปัจเจกเป็นแกนของงานศิลป์ได้ และปัจเจกทุกคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการแสดงออกทางอารมณ์ผ่านงานศิลป์ของปัจเจก จึงมีแบบฉบับเฉพาะตัว [7]

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในบริบทที่ดนตรีคลาสสิคแบบยุโรปกำลังจะกลายเป็น “ศิลปะ” ในความหมายใหม่ของชนชั้นนำใหม่ของสังคมอย่างชนชั้นกลาง การมองดนตรีของชนชั้นกลางยุโรปต่างจากชนชั้นสูงยุโรปโดยสิ้นเชิง (ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่ต่างกันแบบไปกันไม่ได้เลยเช่นศีลธรรมทางเพศ) ชนชั้นกลางยุโรปเป็นพวกแรกๆ ในโลกที่เสนอว่ามนุษย์ต้องนั่งฟังดนตรีอย่างจริงจังและอย่างสงบเพื่อซาบซึ้งในสุนทรียรสของดนตรี ซึ่งแนวคิดแบบเดียวกับ “โปรดปิดมือถือในโรงภาพยนตร์” นี่ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการแสดงความเหนือกว่าทางศีลธรรมของชนชั้นเช่นเดียวกับศีลธรรมแบบชนชั้นกลางในเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องเพศ [8]

ทั้งนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่าการนั่งฟังดนตรีเงียบๆ นั้นน่าจะไม่มีในโลกมาก่อนนอกบริบทพิธีกรรม (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการฟังดนตรีในฐานะศิลปะ) ชนชั้นสูงเองในระดับชนชั้นก็ไม่เคยมานั่งจริงจังซาบซึ้งกับดนตรีที่เป็นดนตรี “คลาสสิค” ทุกวันนี้เท่าไรนัก เพราะของพวกนี้ดั้งเดิมก็เอาไว้ประดับบารมีชนชั้นมากกว่าที่จะเอาไว้ซาบซึ้ง [9] ซึ่งกว่าพวกชนชั้นสูงจะมาซาบซึ้งทางดนตรีก็ต้องรอให้ชนชั้นกลางมาสะสมอำนาจทางเศรษฐกิจมากมารุกไล่ก่อน ชนชั้นสูงจึงหันมาจริงจังและซาบซึ้งกับดนตรีที่ฟังยากๆ เพื่อแสดงความหนือกว่าทาง “วัฒนธรรม” ก่อนเช่นกรณีของเวียนนาในยุคของบีโธเฟน [10] โลกของชนชั้นล่างยิ่งแล้วใหญ่ การปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมทางดนตรีและกิจกรรมบันเทิงเป็นไปในแบบมีส่วนร่วมมากกว่าที่จะต้องนั่งหุบปากอย่างสำรวมเพื่อฟังอย่างจริงจังแบบชนชั้นกลาง หรืออย่างน้อยที่สุดใน “สังคมไร้ชนชั้น” แบบสังคมอเมริกันในยุคเริ่มแรก จริตในการฟังดนตรีอย่างสงบเสงี่ยมเรียบร้อยก็ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในคนกลุ่มไหน ก่อนที่คนบางกลุ่มจะรับเอาจริตแบบชนชั้นกลางยุโรปมาในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 [11]

“วัฒนธรรมดนตรีคนดำ” กับการมีส่วนร่วมและการเล่นล้อ

เมื่อชนชั้นกลางเป็นใหญ่ในแผ่นดินและสามารถสถาปนาแนวทางการบริโภคดนตรีแบบใหม่และระบบคุณค่าในการประเมินค่ากิจกรรมดนตรีใหม่ได้ในศตวรรษที่ 19 (ทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา) การลืมกำพืดชนชั้นต่ำของตนก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติมากกว่าจะเป็นข้อยกเว้น และในศตวรรษที่ 20 คนขาวชนชั้นกลางทั่วโลกก็ได้ต้องเผชิญกับดนตรีของชนชั้นต่ำใหม่อย่างดนตรีแจ๊สของคนดำในสหรัฐอเมริกาที่ดูจะมีจริตใกล้เคียงกับกำพืดดนตรีพื้นบ้านของชนชั้นกลาง

ดนตรีอย่างแจ๊สวางอยู่บนระบบคุณค่าทางดนตรีที่ต่างจากดนตรีคลาสสิคในแบบชนชั้นกลางอย่างสิ้นเชิง เพราะถึงมันจะเป็นดนตรีสมัยใหม่แต่มันก็อุดมไปด้วย “สุนทรียศาสตร์แบบดนดำ” อย่างชัดเจนถ้ามองในสายตาของบรรดานักวิชาการสายชาติพันธุ์ดุริยางควิทยา (ethnomusicology) แจ๊สเต็มไปด้วยการให้คุณค่ากับปฏิภาณในการด้นสด (improvisation) กล่าวคือให้ความสำคัญกับการใช้ตัวโน้ตเล่นล้อบนโครงสร้างเพลงที่ตายตัวมากกว่าที่ [12] จารีตทางดนตรีไปถึงการมีส่วนร่วม (ในการเต้นรำ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่นอกสารบบของดนตรีคลาสสิคแบบชนชั้นกลาง เพราะเพลงอย่างวอลทซ์ (waltz) ที่ตอนนี้กลายเป็นเพลงคลาสสิคไปแล้ว เดิมทีก็เป็นเพลงเต้นรำของชาวกรุงเวียนนาซึ่งถูกก่นด่าว่าเป็น “เพลงขยะ” อันนำไปสู่การร่วมเพศอันสกปรกโสมมในสายตาของชนชั้นกลาง [13]

นักชาติพันธุ์ดนตรีที่ศึกษาดนตรีในทวีปแอฟริกาเล่าให้ฟังว่าโลกทางดนตรีของคนดำนั้นเป็นโลกทางดนตรีที่เน้นการมีส่วนร่วมเหนือสิ่งอื่นใด ชาวแอฟริกันพื้นเมืองไม่สามารถจะตัดสินได้ว่างานดนตรีมันดีหรือไม่ดี ตราบที่เขายังไม่สามารถมีส่วนร่วมกับมันได้ไม่ว่าจะเป็นการเล่นหรือเต้น [14] และการเล่นและเต้นของชาวแอฟริกันก็ไม่ใช่การเล่นและเต้นให้เป็นเลิศแบบยอดฝีมือ (virtuoso) แต่เป็นการเล่นและเต้นไปเพื่อหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงทั้งหมดหรือกระทั่งสังคม ในกรอบแบบนี้ดนตรีที่ดี (หรือให้ตรงกว่านั้นคือ “กิจกรรมทางดนตรี” ที่ดี) ก็คือดนตรีที่เชื้อเชิญให้คนมีส่วนร่วม และก็แน่นอนว่าในโลกทางดนตรีเหล่านี้มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ในสารบบ การลอกเลียนและดัดแปลงจากบ่อของจารีตมันทำได้อย่างเต็มที่และงานใหม่ๆ เหล่านั้นก็จะลงบ่อไปเป็นทรัพย์สินส่วนรวมให้คนต่อสร้างงานยอดไปอีกได้เรื่อยๆ กล่าวอีกแบบคือวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านดั้งเดิมของคนดำมีลักษณะเป็น “สังคมนิยม” มากถ้าเทียบกับดนตรีคลาสสิคจากโลกตะวันตกที่ระบบคุณค่าของมันวนเวียนอยู่กับความสูงส่งมีอัจฉริยภาพของปัจเจกนักดนตรีและทรัพย์สินส่วนบุคคลของบทประพันธ์ซึ่งดูจะทำให้มันมีลักษณะแบบ “ทุนนิยม” ในระดับโครงความคิด (แม้ว่าโดยพื้นฐานของจริตความเป็นศิลปะแบบโรแมนติคของมันจะทำให้มันเกลียดทุนนิยมก็ตาม) และจริงๆ แล้วดนตรีในวัฒนธรรมดนตรีคนดำทั้งหลายก็อาจมีลักษณะแบบ “สังคมนิยม”  เสียยิ่งกว่าดนตรีในโลกสังคมนิยมตะวันตกต่างๆ ที่มีฐานมาจากดนตรีคลาสสิคแบบยุโรปที่ยังมีซากเดนของวัฒนธรรมของกระฎุมพีอยู่เสียอีก

สิ่งที่ย้อนแย้งและน่าขันเล็กๆ ก็คือสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในโลกทางดนตรีพื้นบ้านของชาวยุโรป (เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก) ซึ่งชาวยุโรปก็ลืมกำพืดไปแล้ว และบรรดาคนขาวในโลกตะวันตกก็ได้รับการย้ำเตือนว่าวิถีทางดนตรีเหล่านี้มีอยู่ในโลกจากดนตรีของบรรดาคนดำพลัดถิ่นทั้งหลายตั้งแต่ดนตรีบลูส์ของทาส ไปจนถึงดนตรีฮิปฮอปจากชุมชนแออัด

กังนัมสไตล์ในฐานะ “คนดำสไตล์” ในยุคอินเทอร์เน็ต

หลังจากผู้เขียนพาผู้อ่านย้อนอดีตกันไกลโพ้นมาแล้ว เราก็จะเข้ามาสู่ประเด็นหลักของเราในปัจจุบันซึ่งเป็นข้อสรุปของบทความชิ้นนี้กัน มีนักวิจารณ์กล่าวว่า Gangnam Style เป็นเพลงที่ “ลอก” มาดังนั้นมันจึงเป็นเพลงที่ไม่ดี อย่างไรก็ดีถ้าหากพิจารณาจากการให้คุณค่ากับ “การมีส่วนร่วม” ในแบบดนตรีคนดำ (และดนตรีพื้นบ้านแล้ว) บทเพลงนี้ก็ดูจะเป็นบทเพลงที่ดีเสียยิ่งกว่าดี เพราะมันได้กระตุ้นให้คนทั่วทุกหัวระแหงมีส่วนร่วมในการร่วมเล่นและร่วมล้อเลียนในการทำคลิปโพสต์ขึ้น YouTube และไม่ทำการขัดขวางใดๆ ในภาพรวม [15] ซึ่งนี่ก็ยังไม่นับการมีส่วนร่วมในแบบเก่าๆ อย่างการเต้นรำตามสถานบันเทิง

คลิปแมชอัพเพลงกังนัมสไตล์ ร่วมกับหลากหลายเพลงฮิต 

ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นต่างในประเด็นว่าเพลงนี้เป็น “ขยะ” เพราะเพลงนี้เป็นเพลงที่ “ดี” บนฐานของโลกดนตรีของคนดำและดนตรีพื้นบ้านกระตุ้นให้คนลุกแทบจะทั่วโลกขึ้นมามีส่วนร่วมโดยแท้ ยอดวิวกว่า 200 ล้านวิวบน YouTube ไม่ได้พิสูจน์อะไรเลยถึงความดีงามของเพลงนี้ในสายตาของผู้เขียน แต่คลิปล้อเลียนสารพัดคลิปที่น่าจะมีเป็นหลักร้อยหรือกระทั่งพันจากคนทั่วไปต่างหากที่เป็นตัววัดความดีงามของบทเพลงนี้บนกรอบแบบนี้

จะว่าไป จริงๆ แล้วบทเพลง “ต่างประเทศ” ที่ผู้ฟังส่วนใหญ่ในโลกฟังเนื้อหาในเพลงไม่เข้าใจก็เล่นบทบาทดนตรีในฐานะเครื่องเชื่อมผู้คนจากที่ต่างๆ กันทั่วโลกเข้าหากันได้ดีกว่าเพลงชั้นดีในประวัติศาสตร์โลกที่คนชอบเคลมความเป็น “สากล” อันสูงส่งทั้งหลายด้วยซ้ำ ซึ่งนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพลงนี้จะเป็น “ภาษาสากล” เช่นกันเพราะคนที่ไม่ใช่คนเกาหลีก็ยากจะเข้าใจอารมณ์ขันที่เล่นล้ออยู่กับย่าน “คังนัม” ของเพลงนี้ซึ่งแทบจะตรงข้ามกับที่ได้รับการนำเสนอในมิวสิควีดีโอ [16] หรือกระทั่งความนิยมของบทเพลงนี้ในโลกตะวันตกเองก็ดูจะเป็นเพราะตัว PSY ที่ถูกนำเสนอมาดูจะสอดรับกับความ “เจ๋ง” และบรรดาภาพเหมารวมอื่นๆ ของคนเอเชียในสายตาคนตะวันตก [17]

แต่อันที่จริงแล้วความ “ไม่เป็นภาษาสากล” (ในความหมายว่าต่างคนต่างเข้าใจไม่ตรงกัน) นี่เองที่ชวนให้คนมา “เล่น” กับกังนัมสไตล์ เพราะไม่มีใครฟังมันรู้เรื่อง จินตนาการของการเล่นก็ยิ่งเปิดกว้าง เพราะนอกจากการทำคลิปเต้นล้อเลียน MV เพลงโดยทั้งชายและหญิงไม่ว่าจะห่มมากหรือน้อยอันมีดาษดื่นจากสารพัดประเทศแล้ว การล้อเลียนที่โดดเด่นก็คือการนำดนตรีมาร้องเปลี่ยนเนื้อใหม่ เช่น “Gotham Style” [18] “Kim Jong Style” [19] หรือกระทั่งแบบไทยๆ ก็มี “กำนันสไตล์” [20] มีการเอามาผสมกับอินเทอร์เน็ตมีมอื่นเช่นการทำมาผสมกับคลิปคำพูดของฮิตเลอร์จากภาพยนตร์เรื่อง Downfall [21] ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสความนิยมนำคลิปมาใส่คำบรรยายต่างๆ เพื่อให้เกิดความขำขัน หรือในส่วนของการนำดนตรีมาบรรเลงใหม่ก็มีการบรรเลงของวงดุริยางค์มหาวิทยาลัยโอไฮโอ [22]

คลิปล้อเลียนกังนัมสไตล์ “Gotham Style”

คลิปล้อเลียนกังนัมสไตล์ ที่เอาส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เยอรมัน “The Downfall” มาดัดแปลง

หรือจะเป็นการบรรเลงเพลง Gangnam Style ใหม่ในสไตล์ดนตรีเมทัลของ Eric Calderone มือกีต้าร์ผู้ชอบนำเพลงสารพัดมาบรรเลงใหม่ในสไตล์เมทัล [23] หรือของจะเป็นเวอร์ชั่นคันทรี่ของ Andy Rehfeldt มือกีต้าร์ที่ฝีมือเรียบเรียงเพลงใหม่อยู่อันดับต้นๆ ของแวดวงดนตรีออนไลน์ [24] ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมดก็เป็นส่วนน้อยเสียยิ่งกว่านั้นของคลิปที่ทำการ “เล่น” กับกังนัมสไตล์อีกนับไม่ถ้วนที่กระจายอยู่ทั่วอินเทอร์เน็ต

การเล่นเพลงกังนัมสไตล์ ในแบบดนตรีเมทัลของ Eric Calderone

ทั้งหมดนี้ทำให้ความเด่นของกังนัมสไตล์ดูจะไม่ใช่มิติอื่นนอกจากการชวนให้ผู้คนทั่วทุกสารทิศมาเล่นสนุกกัน โดยที่ไม่ต้องเข้าใจอะไรกันทั้งนั้น มาสนุกกันเป็นพอ นี่ดูจะทำให้กังนัมสไตล์ตอบสนองความต้องการของผู้คนสังคมทุนนิยมที่ไม่ได้ต้องการดนตรีเป็นอะไรมากกว่าเครื่องสร้างความบันเทิงเริงใจที่มีประสิทธิภาพของมวลชน ซึ่งความ “ก้าวหน้า” ของมันถ้าจะมีเป็นพิเศษก็คือมิติในการ “สร้างความบันเทิงแบบมีส่วนร่วม” ในแบบที่งานดนตรีที่มีมาก่อนหน้านี้ของบรรดาป๊อปสตาร์และร็อคสตาร์ยุคก่อนอินเทอร์เน็ต เพราะอย่างน้อยที่สุด PSY ก็ดูจะเป็นเพื่อนเล่นของมวลชนมากกว่าการเป็นกึ่งศาสดากึ่งเทวะของบรรดานักดนตรีระดับสตาร์ในอดีตทั้งหลาย

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่า Gangnam Style จะเป็นเพลงที่ “ลอก” เพลงมาหรือไม่หรือว่ามันจะมีความเป็นต้นตำรับหรือไม่ก็คงไม่ได้สลักสำคัญตราบที่มันสามารถจะเชิญชวนให้คนมาร่วมสนุกกันได้มากกว่าบทเพลงอันเป็นต้นตำรับทั้งหลายทั้งมวล เพราะอย่างน้อยๆ มันก็กำลังทำหน้าที่ทางสังคมอีกประการของดนตรีได้ดีอย่างที่งานดนตรีร่วมสมัยอื่นยากจะเทียบเคียงได้  และจริงๆ แล้วเรื่องตลกที่สุดของการเรียกร้องให้เพลงเต้นรำอย่าง Gangnam Style มีความเป็นต้นตำรับก็คือด้วยรูปแบบดนตรีของเพลงแล้วแล้ว การมีส่วนร่วมของมันก็ดูจะเป็นประเด็นที่ควรจะมีน้ำหนักกว่าความเป็นต้นตำรับ ไม่เราเราจะพิจารณาว่ามันเป็นเพลงฮิปฮอป (ที่เป็นบทเพลงจากวัฒนธรรมดนตรีคนดำ) หรือเพลงแดนซ์ (ที่แค่ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าต้องมีส่วนร่วมด้วยการเต้น) การเรียกร้องความเป็นต้นตำรับจากเพลงอย่าง Gangnam Style มันชวนให้คิดต่อไปว่าถ้าเชื่อว่าแบบฉบับเฉพาะตัวอันสูงส่งต้องมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นจริงๆ ในดนตรีทุกรูปแบบรวมทั้งเพลงแดนซ์และฮิปฮอป ท้ายที่สุดแล้วเพลงฮิปฮอปและเพลงแดนซ์มันก็คงจะมีชะตาไม่ต่างจากเพลงคลาสสิคหรือกระทั่งเพลงแจ๊สในยุคนี้ที่คนฟังควรจะมีมารยาทในการนั่งฟังเพลงเฉยๆ ในชุดสุภาพเพื่อจะได้ซาบซึ้งกับดนตรีอย่างเต็มที่ ซึ่งจะตลกหรือไม่ผู้อ่านก็คงต้องจินตนาการภาพของคนใส่สูทนั่งฟัง PSY เล่นเพลง Gangnam Style อย่างจริงจังและสำรวมในคอนเสิร์ตฮอลล์อันโอ่โถงเอาเอง

อ้างอิง:

  1. ดู ตัวอย่างเช่น บทความ “เชษฐา กังนัมลีลา” : ว่าด้วยเรื่องของ “เพลงขยะที่ก๊อปปี้ชาวบ้านมา” ของผู้เขียนที่ http://prachatai3.info/journal/2012/08/42396  บทความ “มองเพลงกิมจิผ่าน กังนัม สไตล์” ของอนันต์ ลือประดิษฐ์ที่ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20120907/469171/469171.html และบทความ “Gangnam Style : เพลงขยะกับการลอกเลียน” ของอติภพ ภัทรเดชไพศาลที่ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=823491
  2. ดู เพลงภาษาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ 6 เพลงก่อนหน้านี้ที่เคยคิดอันดับ 1 ของ Billboard Hot 100 มาก่อนได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Billboard_Hot_100_chart_achievements_and_milestones#Non-English_language_number-ones
  3. ดูอันดับต่างๆ และที่มาของอันดับต่างๆ ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Gangnam_style ทั้งนี้หากต้องการรู้รายละเอียดการจัดอันดับแต่ละชาร์ตก็ควรจะคลิกเข้าไปดูรายละเอียด
  4. ดู “ ‘Gangnam Style’ holds Guinness Word Record for most ‘liked’ video in YouTube History” ที่ http://www.guinnessworldrecords.com/news/2012/9/gangnam-style-now-most-liked-video-in-youtube-history-44977/
  5. ดู James H. Johnson, “Beethoven and the Birth of Romantic Musical Experience in France”, 19th-Century Music, Vol. 15, No. 1 (Summer, 1991), pp. 23-35
  6. ดู Peter Burke, Popular Culture in Early Modern Europe, (New York: Harper & Row, 1978)
  7. ซึ่งแนวทางการใช้ตรรกะนี้ก็ไม่ได้เกิดทางสุญญากาศทางเศรษฐกิจ เพราะมันก็โตไปพร้อมๆ กับแนวคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เริ่มมองว่าผู้สร้างสรรค์งานเริ่มมีสิทธิเหนือ “ความคิด” ที่อยู่เบื้องหลังตัวงานด้วย นี่เป็นเหตุผลให้ยุโรปเป็นภูมิภาคแรกในโลกที่กฏหมายลิขสิทธิ์เริ่มให้สิทธิเจ้าของลิขสิทธิ์เหนือ “งานดัดแปลง” ด้วยจากที่ในยุคก่อนคุ้มครองเพียงแค่ “การทำสำเนา” งานเท่านั้น เช่นการพิมพ์หนังสือจากต้นฉบับ นอกจากนี้การนำงานศิลป์ไปเชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกยังทำให้เกิดการมองว่างานศิลป์มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้สร้างด้วย ซึ่งนี่สะท้อนมาในทางกฎหมายที่เปลี่ยนแนวทางการคุ้มครองงานจากที่นับถอยหลังการหมดเขตการคุ้มครองหลังจากการเผยแพร่ มาเป็นหนับถอยหลังการหมดเขตการคุ้มครองหลังผู้สร้างสรรค์ตาย ดู Lee Marshall, Bootlegging: Romanticism and Copyright in the Music Industry, (London: Sage Publications, 2005)
  8. ดู ธนา วงศ์ญาณณาเวช, ใต้เตียงนักดนตรี เล่ม 1, (กรุงเทพฯ: openbooks, 2554).
  9. ดู James H. Johnson, “Musical Experience and the Formation of a French Musical Public”, The Journal of Modern History, Vol. 64, No. 2 (Jun., 1992), pp. 191-226
  10. ดู Tia DeNora, “Musical Patronage and Social Change in Beethoven's Vienna”, The American Journal of Sociology, Vol. 97, No. 2 (Sep., 1991), pp. 310-346
  11. Lawrence W. Levine, Highbrow/ Lowbrow: The Emergence of Cultural Hierarchy in America, (Massachusetts: Harvard University Press, 1988)
  12. ดู Ingrid Monson, “Doubleness and Jazz Improvisation: Irony, Parody, and Ethnomusicology”, Critical Inquiry, Vol. 20, No. 2 (Winter, 1994), pp. 283-313 และ Ingrid Monson, “Riffs, Repetition, and Theories of Globalization”, Ethnomusicology, Vol. 43, No. 1 (Winter, 1999), pp. 31-65
  13. ดู ธนา วงศ์ญาณณาเวช, ใต้เตียงนักดนตรี เล่ม 1, (กรุงเทพฯ: openbooks, 2554).
  14. ดู John Miller Chernoff, African Rhythm and African Sensibility: Aesthetics and Social Action in African Musical Idioms, (Chicago: University Of Chicago Press, 1979)
  15. ดังที่หลายๆ ท่านทราบกัน เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิที่จะแจ้งให้ทาง YouTube ทำการบล็อกวีดีโอหรือเสียงเพลงในคลิปที่มีงานอันมีลิขสิทธิ์ของเจ้าของอยู่ได้ ในแง่นี้ทางเจ้าของเพลงและวีดีโอเพง Gangnam Style (ผู้เขียนไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นเจ้าของอะไรบ้าง) ก็สามารถจะเอาคลิปล้อเลียนทุกคลิปลงได้ แต่ก็ไม่ทำ ซึ่งผู้เขียนก็คิดว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วหากต้องการใช้ชื่อเสียงเพลงนี้มันระบาดดังที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ข้อยกเว้นในการลบคลิป ก็คือในกรณีคลิปแมชอัฟที่โด่งดังมากคลิปหนึ่งที่ทางวง LMFAO  (ซึ่งเป็นวงอเมริกันที่มีเพลงที่หลายฝ่ายกล่าวว่าเป็นเพลงต้นแบบของ Gangnam Style) เคยโพสต์ ดูร่องรอยการลบได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=eqHIkPzl0I0&feature=player_embedded อย่างไรก็ดีคลิปนี้ยังดูได้อยู่ที่ http://www.videobash.com/video_show/like-a-bad-white-guy-party-gangnam-style-378423  ดูข่าวการโพสต์คลิปของทาง LMFAO ได้ที่บทความ “ลอกหรือเจ๋ง? เมื่อ LMFAO โพสต์เอ็มวี "กังนัม สไตล์" แถมโรลลิ่ง สโตนยกย่องสุดยอดเค-ป๊อป” ของเซาะเปีย ที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1347103041&grpid=&catid=08&subcatid=0806
  16. ดู “เปิดใจสาวเกาหลี "จอง เชยอง" เปรียบ "คังนัมสไตล์" เป็นดาวมหาลัย และตัวตนที่แท้จริงของ "ปาร์ก แจ ซาง" ที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1348719641&grpid=&catid=08&subcatid=0801
  17. ดู บทความ “ Is "Gangnam Style" a Hit Because of Our Asian Stereotypes? ” ของ Deanna Pan ที่ http://www.motherjones.com/mixed-media/2012/09/gangnam-style-asian-masculinity%20
  18. http://youtu.be/YSsCU3FcOkw
  19. http://youtu.be/_cG7ZVBXQII
  20. http://youtu.be/eBQz4AZrNuk
  21. http://youtu.be/wJFW7-hyWpE
  22. http://youtu.be/cDficEfonAE
  23. http://youtu.be/qLH6PidZ-7I
  24. ตอนนี้คลิปที่ http://vimeo.com/49576304 ถูกลบไปแล้ว แต่ยังฟังได้ที่ http://soundcloud.com/andy-rehfeldt/gangnam-style-country-version

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท