เสวนานิติราษฎร์: การรัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ

ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยแทบไม่มีการกล่าวถึง 24 มิ.ย.2475... เมื่อนักกฎหมายตีความและใช้กฎหมายตามระบอบเก่า การใช้และตีความจึงบิดเบี้ยวอย่างทุกวันนี้ เมื่อเราประกาศตัวเป็นนิติรัฐ กฎหมายเป็นใหญ่ นักกฎหมายจึงเป็นใหญ่ตาม บรรดานักกฎหมายจึงพยายามช่วงชิงว่าตัวเองเป็นผู้ผูกขาดการใช้การตีความกฎหมาย...ปิยบุตร แสงกนกกุล วิพากษ์บทบาทนักกฎหมายไว้ในตอนหนึ่ง

 

วิดีโอในช่วงอภิปรายโดยปิยบุตร แสงกนกกุล ในการเสวนา "การรัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ" เมื่อ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา

 

30 ก.ย.55 นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ร่วมเสวนาหัวข้อ “การรัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ธีระ สุธีวรางกูร กล่าวในช่วงเกริ่นนำว่า ประเทศไทยมีการรัฐประหารเฉลี่ย 3-4 ปีต่อครั้ง และการรัฐประหารทุกครั้งจะนำมาซึ่งเรื่องใหม่ๆ ทางกฎหมาย ทั้งการมีองค์กรและกฎเกณฑ์ใหม่ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐ

การรัฐประหาร 2549 เป็นสาเหตุของการกำเนิดขึ้นของนิติราษฎร์ซึ่งมีข้อเสนอออกมานับตั้งแต่มีการรวมกลุ่ม และมีหลายข้อเสนอที่ก่อให้เกิดการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ในทางสาธารณะค่อนข้างมาก นั่นคือการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร

นอกจากนี้ คือเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยที่นำมาซึ่งการจำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ แต่ระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์นี้แกว่งไกวมาตลอดแล้วแต่สถานการณ์ แต่ระหว่างการจัดความสัมพันธ์นี้ สิ่งที่เห็นคือ จะมีบรรดานักนิติศาสตร์ที่ทำหน้าที่อธิบายความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นการเทิดพระเกียรติและอำนาจของสถาบันฯ แต่ข้อเท็จจริงนั้น ก่อนการรัฐประหาร 2549 ในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะวุ่นวาย กลไกที่ทำหน้าที่หลักในบ้านเมืองตอนนั้นคือสถาบันตุลาการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญค่อนข้างมากในช่วงที่กำลังจะมีการรัฐประหาร

บทบาทสำคัญอีกประการคือ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2549 เรื่องปัญหาการเลือกตั้ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้เลือกตั้งใหม่ และต้องเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่คณะที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติไม่เลือกโดยอ้างพระราชอำนาจ ตามหนังสือที่ประธานศาลฎีกาเวียนไประบุเหตุที่มีกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจโดยตรงทางตุลาการผ่านพระราชดำรัสวันที่ 25 เม.ย.2549 เมื่อมีพระราชดำรัสเช่นนั้นการที่ศาลฎีกาไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ธีระกล่าวต่อว่า ที่อ้างมานี้ เพื่อให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ถูกนำมาอ้างอิงเสมอไม่ว่าจากศาลหรือใครก็ตาม และ 30 ปีที่ผ่านมา ก็มีคำอธิบายทางนิติศาสตร์มากในเรื่องพระราชอำนาจและอำนาจอธิปไตย เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามและหาคำตอบ

สุดท้าย สิ่งที่ต้องรำลึกเสมอคือ แม้ว่าปัจจุบันมีการรัฐประหารค่อนข้างยาก แต่การรัฐประหารแบบคลาสสิกคือการใช้รถถังก็ยังมีอยู่ ก่อนหน้านั้นเราไม่มีองค์ความรู้ในการป้องกันหรือแก้ไขการรัฐประหารเลย

ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวถึงการสร้างคำอธิบายของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบุว่าอาจจะแบ่งได้เป็น 2 ยุค คือ หนึ่ง ยุคอภิวัฒน์สยามกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยม และช่วงที่สอง การครอบงำของอุดมการณ์กษัตริย์นิยม

ในช่วงแรก ภายหลังการอภิวัตน์สยาม คณะราษฎรได้รณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ในด้านการศึกษาระดับสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเปิดบรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยมีหลวงประเจิดอักษรลักษณ์เป็นผู้บรรยายคนแรก และจากนั้นก็เป็นนายไพโรจน์ ชัยนาม มารับหน้าที่บรรยายต่อ

ในช่วงเวลานั้นเอง บรรดานักกฎหมายรัฐธรรมนูญฝ่ายคณะราษฎรได้ช่วยกันผลิตตำราและบทความจำนวนหนึ่งเพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอน โดยตำราและบทความเหล่านั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม การแบ่งแยกอำนาจ กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ไม่ทำอะไรผิดเพราะกษัตริย์ไม่ทำอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยนั้น ก็ไม่ได้มีเพียงแต่นักกฎหมายรัฐธรรมนูญนิยมฝ่ายคณะราษฎรเท่านั้น ยังมีนักกฎหมายซึ่งมีความคิดโน้มเอียงไปในทิศทางจารีตประเพณีนิยม ซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ และทำงานในแวดวงตุลาการของระบอบเก่า มีความใกล้ชิดกับราชสำนัก เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พระยาเทพวิทุร พระยาปรีดานฤเบศร์ พระยามานวราชเสวี หลวงจักรปราณีฯ นักกฎหมายเหล่านี้มีความพยายามโต้แย้งคำอธิบายของนักกฎหมายฝ่ายคณะราษฎรอยู่เหมือนกัน

ในช่วงที่สอง ภายหลังรัฐประหารในปี 2500 โดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การฟื้นฟูกษัตริย์ก็เริ่มขึ้นอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง จนกลายเป็นยุคที่อุดมการณ์กษัตริย์นิยมครอบงำ ในระยะเริ่มแรก ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการของ “สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส” ไม่มีรัฐธรรมนูญในความหมายสมัยใหม่ให้ศึกษา ช่วงนี้ก็เป็นการปลูกฝัง “อุดมการณ์กษัตริย์นิยม” ผ่านกลไกของรัฐเผด็จการไป จนกระทั่งเริ่มเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ผ่านยุคประชาธิปไตยแบบ “หลัง ๑๔ ตุลา” ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ประชาธิปไตย แต่จะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยนั้นมีวิญญาณของ “กษัตริย์นิยม” สิงสถิตอยู่ 

ภารกิจเหล่านี้บางส่วน ก็ตกไปอยู่กับนักกฎหมายรัฐธรรมนูญในการสร้างคำอธิบายรัฐธรรมนูญใน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งการอธิบายนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐาน ดังนี้
1. กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง พ้นไปจากการเมือง
2. แต่กษัตริย์ก็มีพระราชอำนาจบางประการ และไม่ต้องรับผิดชอบ
3. 24 มิถุนายน 2475 ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่จากระบอบเก่าไปสู่ระบอบใหม่ แต่เป็นการแย่งชิงอำนาจจากกษัตริย์มาแล้วกลับนำมาใช้ในทางที่ผิดจนเกิดวงจรอุบาทว์ รัฐประหารบ่อยครั้ง
4. พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญให้

นักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญแบบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ก็เช่น วิษณุ เครืองาม, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นต้น

มนุษย์เกิดมาแล้วมีชุดความคิดแบบใดย่อมสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับยุคสมัย และอุดมการณ์ที่ครอบงำในยุคสมัยนั้น หากพิจารณาปีที่เกิดของกลุ่มนักกฎหมายรัฐธรรมนูญสายคณะราษฎรแล้ว พบว่า พวกเขาเหล่านี้เกิดในช่วงปี 2443 ถึง 2454 นายปรีดี พนมยงค์ (2443-2526), นายเดือน บุนนาค (2448-2525), นายหยุด แสงอุทัย (2451-2522) นายไพโรจน์ ชัยนาม (2454-2537) นักกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบคณะราษฎร ศึกษากฎหมายในสมัยระบอบเก่า แล้วจึงได้ไปศึกษากฎหมายในประเทศภาคพื้นยุโรป และกลับมาทำงานกับระบอบใหม่

ในขณะที่นักกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เกิดในช่วงปี 2490-2500วิษณุ เครืองาม (2494) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (2497) พวกเขาเติบโตมาในช่วงปี 2510 เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงที่ ระบอบเผด็จการ “สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส” กำลังดำเนินกลไกปลูกฝังอุดมการณ์กษัตริย์นิยม จึงเป็นธรรมดาที่พวกเขาจะไม่เกิดความรู้สึกผูกพันกับคณะราษฎร เมื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศกลับมา ก็มาทำงานให้กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีนักกฎหมายปีกอนุรักษ์นิยมซึ่งไม่ได้สมาทานกับคณะราษฎรอย่าง เสนีย์ ปราโมช ธานินทร์ กรัยวิเชียร สมภพ โหตระกิตย์, อดุล วิเชียรเจริญ, มีชัย ฤชุพันธ์, อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นผู้ใหญ่อาวุโส

ในคำนำของ “กฎหมายมหาชน เล่ม 2 การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน-เอกชน และพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมของชาติ “ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราสอนกันตามฝรั่งว่า ประมุขของรัฐแบบพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงกระทำการใด เว้นแต่ที่รัฐมนตรีกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามหลักของอังกฤษที่ว่า “the king can do no wrong” อันมีผลทำให้พระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นเพียง “สัญลักษณ์” ของชาติเท่านั้น แต่ในประเทศไทย พระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นเพียง “สัญลักษณ์” ของชาติเท่านั้น แต่เป็น “ศูนย์รวมของชาติ” ที่มีบทบาททางสังคมอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาให้ราษฎรส่วนใหญ่ พระราชอำนาจทางกฎหมายเองก็ไม่เหมือนกัน เพราะพระมหากษัตริย์ไทยมีมากกว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษมาก เป็นต้น”

และในเล่มเดียวกัน บทที่7 ความต่อเนื่องของระบบกฎหมายมหาชนไทย สถาบันพระมหากษัตริย์ศูนย์รวมของชาติ บวรศักดิ์ฯได้ขยายความว่า “ถ้าความเป็นรัฐชาติมีอยู่ ก็เพราะคนในสังคมมีจินตนาการยึดมั่นในอดีตร่วมกัน ความประสงค์ที่จะร่วมกันในปัจจุบัน และอนาคต หากขาดความรู้สึกเช่นนี้ รัฐก็จะเป็นรัฐไปต่อไม่ได้ ต้องแตกสลาย สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ก็คือสถาบันที่เชื่อมโยงความเป็นรัฐชาติไว้ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกำเนิดและเคียงคู่ประเทศไทยมาโดยตลอดตั้งแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันเดียวที่แสดงความต่อเนื่องของประเทศไทยให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด”
นักกฎหมายแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้สร้างคำอธิบายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และพระราชอำนาจที่น่าสนใจและยังคงครอบงำสังคมไทยจนทุกวันนี้ โดยยกตัวอย่าง 3 ประเด็น

1. อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ร่วมกับประชาชน
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้สร้างทฤษฎี “อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์และประชาชน” ไว้ในตำรากฎหมายมหาชนของเขาว่า ในระบอบประชาธิปไตยไทย อำนาจอธิปไตยอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชน ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่ประชาชนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก เหตุผลทางประเพณีในสังคมวัฒนธรรมไทยอันเกิดจากการสั่งสมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระมหากษัตริย์กับประชาชน ประการที่สอง เหตุผลทางนิติศาสตร์ แต่ไหนแต่ไรมา อำนาจอธิปไตยอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ครั้นเมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอำนาจอธิปไตยอยู่ก็สละพระราชอำนาจนั้นให้ประชาชนทั้งประเทศด้วยการพระราชทานรัฐธรรมนูญ แล้วลดพระองค์ลงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ยังทรงใช้อำนาจนั้นแทนประชาชน ด้วยเหตุนี้ ในทางกฎหมาย เมื่อมีการรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญ ก็ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ปวงชนนั้นกลับคืนมายังพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475 ดังนั้นในทางกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลต่างประเทศก็ไม่ต้องรับรองรัฐบาลไทยใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงโดยรัฐประหารเป็นเรื่องภายใน แต่ระดับสูงสุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์ยังดำรงอยู่ และยังทรงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่กลับคืนมาเป็นของพระองค์ด้วย ส่วนคณะรัฐประหารไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตย หากมีอำนาจปกครองบ้านเมืองในเวลานั้นตามความเป็นจริงเท่านั้น และเมื่อคณะรัฐประหารประสงค์จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อจัดทำแล้วเสร็จ ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อขอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อลงพระปรมาภิไธยก็เท่ากับว่าพระมหากษัตริย์สละอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาที่ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

ปิยบุตรระบุว่า สามารถวิจารณ์ความเห็นของบวรศักดิ์ฯ ได้ใน 2 ลักษณะ
ลักษณะแรก คือ วันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2475 อำนาจอยู่ที่คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร เสร็จแล้วก็ปล่อยให้ประชาชน ตามมาตรา 1 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม27มิถุนายน 2475 ที่บัญญัติว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” การที่อ้างกันว่า กษัตริย์มอบให้ แสดงว่ากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด และร่วมกับประชาชน ไม่ถูกต้อง เพราะ ไม่ได้มีตรงไหนที่บอกว่าประชาชนมอบอำนาจคืนให้กับกษัตริย์

ในประกาศคณะราษฎรเอง ก็เขียนไว้ว่า “ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึ่งได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา”

และหากจะโต้ว่า แล้วเอามาให้ถวายทำไม ทำไมไม่ทำ รธน เอง คำอธิบายก็มีระบุในประกาศคณะราษฎรแล้ว ว่ายึดไว้ได้ และรอให้ตอบมาเป็นกษัตริย์ การตอบกลับมาเป็นกษัตริย์ และยอมลงนามใน ธรรมนูญ  ๒๗ ก็แสดงว่า กษัตริย์นั่นแหละ ยอมตาม ผู้ก่อการแล้ว ยอมเปลี่ยนสภาวะของตนจาก “ล้นพ้น” มาเป็น กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ แปลงตนเองจากองค์อธิปัตย์ มาเป็น สถาบันการเมืองหนึ่งที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้มี

ส่วนข้อที่ว่า แล้วทำไมคณะราษฎรต้องไปขอนิรโทษกรรมด้วย ทายาทของพระยาพหลฯเคยเล่าให้ฟังว่า นั่นเป็นการที่ผู้ที่อายุน้อยกว่าขอขมาผู้อาวุโสกว่าที่ได้กล่าววาจาล่วงเกินกันไปเท่านั้น

วิจารณ์ลักษณะที่สอง  ในสังคมการเมือง อำนาจเป็นของประชาชนเสมอ เพียงแต่ว่ายุคใดสมัยใด อำนาจนั้นจะถูก “แย่งชิง” ไปหรือไม่ หรือประชาชนจะมอบอำนาจนั้นให้แก่ใคร ดังนั้น หากจะย้อนกลับไปหาความเป็นเจ้าของอำนาจ ในท้ายที่สุดก็จะเจอประชาชนในฐานะเจ้าของอยู่ดี การอ้างว่ากษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นผู้ปกครอง มาตั้งแต่นมนาน ในสังคมการเมืองหนึ่งอาจไม่เคยขาดซึ่งสถาบันกษัตริย์เลย นั่นอาจเป็นการอ้างตามประวัติศาสตร์ของพวกราชาชาตินิยม ประวัติศาสตร์ของเจ้า ไม่จำเป็นต้องเป็นโค้ดของเรา

Saint-Just อธิบายว่า กษัตริย์นั้นเป็นทรราชโดยธรรมชาติและโดยตัวของมันเอง เราไม่ต้องพิจารณาเลยว่าการกระทำของกษัตริย์หรือการบริหารราชการแผ่นดินของกษัตริย์มีความผิดทางอาญาหรือไม่ ถ้ากษัตริย์เป็นทรราช นั่นไม่ใช่เพราะความผิดจากการบริหารราชการแผ่นดินของเขา แต่เขาเป็นทรราชก็ด้วยลักษณะของความเป็นกษัตริย์นั่นแหละ Saint-Just เสนออย่างชาญฉลาดว่า การที่กษัตริย์ยึดครองอำนาจสูงสุดของประชาชนไปใช้เอง นั่นแสดงให้เห็นว่าลักษณะของความเป็นกษัตริย์เป็นอาชญากรรมนิรันดร (crime éternel) ต่อประชาชน มนุษย์จึงย่อมมีสิทธิสัมบูรณ์ในการลุกขึ้นสู้และติดอาวุธ   Saint-Just อธิบายว่า ไม่มีใครสามารถครองราชย์ได้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะ กษัตริย์ทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นกบฏและเป็นผู้แย่งชิง (usurpateur) อำนาจของประชาชนไป

หรือในประกาศคณะราษฎร “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศของเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ และกวาดรวบทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง”

หากพิจารณาตามแนวทางนี้ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนหรือไม่ เพราะ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเสมอ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตลอดกาล เพียงแต่ว่าบางช่วงบางตอน ถูก “ฉกฉวยแย่งชิงขโมย” ไป และสักวันหนึ่ง ประชาชนก็เอากลับคืนมาจนได้

ประเด็นที่ 2.  กษัตริย์กับรัฐประหาร ทั้งนี้ รัฐประหารที่กษัตริย์มีบทบาทสนับสนุนสำคัญอย่างยิ่ง มีอยู่ 2 กรณีที่น่าสนใจ
กรณีแรก อิตาลี เมื่อวันที่ 27 ถึง 29 ตุลาคม 1922 กลุ่มชุดดำเดินเท้าสู่กรุงโรมเพื่อสนับสนุนให้มุสโสลินีเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ก่อความวุ่นวาย รัฐบาลจะประกาศกฎอัยการศึก แต่กษัตริย์วิคเตอร์ อิมมานูเอล ไม่ยอม กลับตั้งให้ เบนิโต้ มุสโสลินี เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในการเลือกตั้ง 1924 มีการลอบสังหารจาโคโม่ มาตเตอ็อตติ ทำให้มุสโสลินีฉวยโอกาส ปกครองแบบเผด็จการฟาสซิสต์โดยอ้างการรักษาความสงบ และพาเข้าสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังอิตาลีแพ้สงคราม ก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติว่าจะเป็นสาธารณัฐหรือกษัตริย์ ในวันที่ 2 มิถุนายน 1946 ผลปรากฏว่า ร้อยละ 54.3 เลือกสาธารณรัฐ ร้อยละ 45.7 เลือกกษัตริย์

กรณีที่สอง สเปน, กษัตริย์อัลฟองโซที่ 13 ได้สนับสนุนให้ปริโม เดอ ริเวร่ารัฐประหารในวันที่ 13 กันยายน 1923 และแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐประหารครั้งนี้เป็นรัฐประหารครั้งสำคัญที่แตกต่างจากรัฐประหารในที่ต่างๆ คือ รัฐประหารแล้วกษัตริย์ยังคงอยู่ เพราะ รัฐประหารครั้งนี้เกิดจากดำริของกษัตริย์นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ผ่านไป ๗ ปี กษัตริย์ก็บีบบังคับให้ปริโม เดอ ริเวร่าออกจากตำแหน่งในปี 1930 จากนั้นกระแสสาธารณรัฐนิยมก็เฟื่องฟูอย่างมาก เพราะความนิยมในตัวกษัตริย์ตกลงไป เนื่องจากกษัตริย์เปิดหน้าเล่นการเมืองชัดเจน จนในปี 1931 กองทัพก็ประกาศเลิกสนับสนุนกษัตริย์ กษัตริย์ลี้ภัย สเปนประกาศเป็นสาธารณรัฐ

สำหรับประเทศไทย ในรัชสมัยของรัชกาลปัจจุบัน มีรัฐประหารเกิดขึ้น 10 ครั้ง 2490, 2491, 2494, 2500, 2501, 2514, 2519, 2520, 2534, 2549) ปัญหาจึงมีอยู่ว่า จะจัดความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับคณะรัฐประหารอย่างไร? เหตุใดจึงต้องมีการลงพระปรมาภิไธย 

ปิยบุตรอ้างถึงเกษม ศิริสัมพันธ์ ที่เคยกล่าวไว้วเมื่อวันที่3 ธันวาคม 2530 ณ หอประชุมเล็ก มธ เนื่องในสัปดาห์วิชาการจัดเฉลิมพระเกียรติในการเฉลิมพระชนม์พรรษาครบห้ารอบก่อนการพยายามก่อปฏิวัติที่ล้มเหลวไป 2 หน คือ "เมษาฮาวาย" เมื่อปี ๒๕๒๔ ครั้งหนึ่ง และ ความพยายามรัฐประหาร 9 กันยายน 2528 อีกครั้งหนึ่งว่า "มีข้อน่าคิดอีกประการหนึ่งว่าความมั่นคงและความสืบเนื่องของระบบรัฐสภาในยุคปัจจุบันสามารถเกิดขึ้นได้ในบ้านเมืองคราวนี้ ก็เป็นด้วยพระบารมีอีกเช่นกัน การพยายามก่อการปฏิวัติรัฐประหารซึ่งล้มเหลวไปถึงสองครั้งสองหน จนในที่สุดมาถึงขณะนี้ก็มีเสียงพูดกันแล้วว่าหมดสมัยของการปฏิวัติรัฐประหารกันได้แล้ว ความสำนึกเช่นนี้อุบัติขึ้นมาได้ก็คงเป็นเพราะเกิดความตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยใช้กำลังฝ่ายทหารนั้นไม่ต้องด้วยพระราชนิยม ฉะนั้นจึงเป็นช่องทางให้ประชาธิปไตยและระบบรัฐสภาได้มีโอกาสเติบโตหยั่งรากลึกในบ้านเมืองกันได้ในครั้งนี้"

อย่างไรก็ตาม ปิยบุตรกล่าวว่า หลังจากคำอภิปรายนี้ผ่านพ้นไปได้ 2 ปีเศษ ก็เกิดรัฐประหาร23 ก.พ. 2534 และครั้งล่าสุด 19  กันยายน 2549 ดังนั้น "การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยใช้กำลังฝ่ายทหารนั้นไม่ต้องด้วยพระราชนิยม" ที่เกษม ศิริสัมพันธ์ กล่าวไว้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2530 เป็นความจริงหรือไม่ โปรดพิจารณา และ "ไม่ต้องด้วยราชนิยม" คืออะไร 

ทั้งนี้ เขากล่าวถึงคำอธิบายของวิษณุ เครืองาม ที่อธิบายว่า คณะรัฐประหารต้องการขออาศัยพระราชอำนาจทางสังคมของกษัตริย์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่ากษัตริย์ก็ยอมตาม และให้ต่างประเทศยอมรับรัฐบาลใหม่ และแสดงให้เห็นว่าไม่ได้แตะต้องสถาบันกษัตริย์

ในขณะที่ บวรศักดิ์ อธิบายตรงกันข้ามว่า รัฐประหารแล้ว อำนาอธิปไตยย่อมกลับไปเป็นของกษัตริย์ในฐานะเจ้าของเดิมมาตลอด สังเกตจากคณะรัฐประหารต้องย้อนกลับไปขอพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ นั่นหมายความว่า ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์, 24 มิถุนายน 2475 อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยมอบให้กษัตริย์ใช้, หลังการปฏิวติ 8 พ.ย. 2490 อำนาจอธิปไตยกลับไปเป็นของกษัตริย์, และในระบอบปกติ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยมอบให้กษัตริย์ใช้ 

"การอธิบายแบบบวรศักดิ์ แทนที่จะสนับสนุนบทบาทของกษัตริย์ในประชาธิปไตย กลับอาจเป็นส่งผลร้ายต่อสถาบันกษัตริย์เสียเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบอกว่า รัฐประหารแล้ว อำนาจกลับไปที่กษัตริย์ ย่อมพิจารณาต่อไปได้ว่า รัฐประหาร เพื่อ กษัตริย์ เอาอำนาจให้กษัตริย์ ถ้าแบบนี้ คนจะคิดอย่างไร? แทนที่จะอธิบายว่า รัฐประหารแล้ว คณะ รปห ยึดหมด แต่ไม่เลิกสถาบันกษัตริย์ ส่วนการลงนาม ก็ให้ลงในฐานะประมุขของรัฐ อธิบายแบบนี้ ยังเป็นผลดีต่อกษัตริย์มากกว่า เพราะ ถือว่า คณะ รปห ทำกันเอง แล้วมาบีบบังคับให้กษัตริย์ลงนาม"

3. ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ
บวรศักดิ์ฯอธิบายเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ ปะปนไปกับ จารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญแบบภาคพื้นยุโรป หากกล่าวอย่างเคร่งครัดแล้วแตกต่างกัน แต่ในตำรากฎหมายมหาชนของบวรศักดิ์ฯนำสองเรื่องนี้มาปะปนกัน เพื่อสร้างคำอธิบายให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจบางประกาศที่แตกต่างจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

"บวรศักดิ์ฯบอกว่าธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญเกิดจาก 2 ประการ ประการแรก เกิดจากการปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าสม่ำเสมอ ประการที่สอง เกิดจากการปฏิบัติโดยรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ โดย บวรศักดิ์ฯยกตัวอย่างธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ เช่น อังกฤษ และประเทศอื่นๆที่มีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ ว่า กษัตริย์จะไม่ใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากสภามาแล้ว แต่กรณีของไทย บวรศักดิ์ฯบอกว่าตรงกันข้าม ในกรณีที่กษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย รัฐสภาก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญยืนยันกลับไปเพื่อประกาศใช้กฎหมายนั้นเสมือนหนึ่งว่าทรงลงพระปรมาภิไธย อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมปฏิบัตินี้อาจเปลี่ยนแปลงได้อีกตามพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์

วิธีคิดเช่นนี้ สืบเนื่องมาจากความคิดที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ตลอดกาล และยอมแบ่งให้ประชาชนเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

24 มิถุนายน 2475 คือการเปลี่ยนระบอบ พระราชอำนาจใดที่มีมาแต่เดิม พระราชอำนาจใดที่ตกทอดกันมาตามธรรมเนียมโบราณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง หรือไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ย่อมต้องถูกยกเลิกไป และจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด เมื่อระบอบใหม่ “อนุญาต” ให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐต่อไปโดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจของกษัตริย์จะมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับประชาธิปไตยตามระบอบใหม่ ดังนั้น การเพิ่มพระราชอำนาจให้กษัตริย์โดยผ่าน “ประเพณี” ย่อมไม่ถูกต้อง

มีข้อควรสังเกตว่า ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญที่ใช้ในอังกฤษนั้น กำเนิดขึ้นมาเพื่อจำกัดอำนาจกษัตริย์ สร้างขึ้นมาเพื่อให้การดำเนินการของระบบพาร์เลียเมนตารี่ โมนาขี้ รัฐสภาเป็นไปอย่างราบรื่น แต่บวรศักดิ์ฯกลับนำข้อความคิดเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญมาเพิ่มพระราชอำนาจให้กับกษัตริย์ และขัดกับหลักการประชาธิปไตย

ทั้งหมดนี้อาจสรุปได้ 2 ส่วนคือ 1. นักกฎหมายแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ให้ความสำคัญกับ 24 มิถุนายน 2475 เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ไม่ใช่การอภิวัตน์ ไม่ใช่การเปลี่ยนระบอบ แต่เป็น “การแย่งอำนาจของกษัตริย์ไป” และกษัตริย์ยอมเสียสละพระราชทานอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชน ระบบการเมือง-กฎหมายมีความต่อเนื่องจากระบอบเก่า

"นักกฎหมายเหล่านี้เติบโตและบ่มเพาะภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยม ในหลักสูตรการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 หรือเรียกได้ว่าแทบไม่มี ในวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เราสามารถไล่ไปได้ถึงสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ กฎหมายตราสามดวง คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ศาสนาพุทธ พราหมณ์ การปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 การปฏิรูปศาลและการจัดทำประมวลกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5 6และ 7 เพื่อทำให้สยามเป็นอารยะประเทศ และรอดพ้นจากการล่าอาณานิคม พอมาถึงรัชกาลที่ 7 ทุกอย่างก็จบลง ไม่มีการกล่าวถึง 24 มิถุนายน 2475 ในฐานะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่กลับหลักการทุกสิ่งทุกอย่างจากเดิม ให้อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย ยกเลิกอำนาจอันล้นพ้นของกษัตริย์ และให้กษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองหนึ่งอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 2475 ทำให้ประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิ ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจ ประชาชนไม่ได้ขึ้นกับใคร แต่เป็นผู้มีอัตวินิจฉัยในการตัดสินใจดำเนินชีวิตและสร้างชะตากรรมของตนเอง ฐานคิดของ 2475 จึงมีความจำเป็นต่อนักกฎหมายในสมัยระบอบใหม่ การใช้การตีความกฎหมายในระบอบใหม่ ต้องสอดคล้องกับระบอบใหม่ เมื่อนักกฎหมายที่อยู่ในระบอบปัจจุบัน กลับมีความคิดแบบระบอบเก่า การใช้และตีความกฎหมายจึงบิดเบี้ยงผิดเพี้ยนกับหลักการประชาธิปไตยอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

"ส่วนคำถามที่ว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับความคิดของนักกฎหมาย? เพราะคนในแวดวงอื่นเขาก็มีการถกเถียงเรื่องพวกนี้กัน รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มีแต่นักกฎหมายนี่แหละ ถ้าให้นักกฎหมายอยากอยู่ในกะลาก็ให้เขาอยู่ไป หากกล่าวเช่นนี้ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่านักกฎหมายมีบทบาทในสังคมสูงมาก ทั้งในที่ลับ และในที่แจ้ง
เมื่อเราประกาศตัวเป็นนิติรัฐ  กฎหมายก็เป็นใหญ่ กฎหมายเป็นใหญ่นักกฎหมายก็จะกลายเป็นใหญ่ตาม บรรดานักกฎหมายก็สร้างพื้นที่สนามของตัวเองเป็นสนามทางกฎหมายเพื่อเข้าไปช่วงชิง แย่งชิงว่าตนเป็นผู้ผูกขาดในการบอกว่ากฎหมายคืออะไร ความยุติธรรมคืออะไร แล้วหวงกันไม่ให้ในคนแวดวงอื่นได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ท่านจะถกเถียงอะไรไปก็ถกเถียงได้ แต่ถ้าเข้าแดนกฎหมายเมื่อไหร่ มีแต่พวกข้านักกฎหมายเท่านั้นที่จะเป็นคนบอก ดังนั้นถ้าพวกท่านคุยกันเรื่อง 24 มิถุนายน 2475 ก็พูดกันไปเถอะครับ อยู่นอกวง แต่คนในแวดวงกฎหมายเขาไม่พูดกัน และเขาก็คิดวิธีแบบเดิม ปฏิบติแบบเดิม ใช้กฎหมายแบบเดิม และถ้าท่านต้องไม่ลืมว่าใช้กฎหมายแบบนี้มันมีผลผูกพัน

"การเปลี่ยนระบบคิดของนักกฎหมายไทย ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย การต่อสู้ทางความคิด เพื่อแย่งชิง เพื่อสถาปนาความรู้ใหม่เข้าไปแทนที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่แพ้การออกแบบรัฐธรรมนูญ การอธิบายเรื่องเหล่านี้ เขียนเรื่องเหล่านี้ อาจดูล้าสมัย แต่เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการต่อสู้ในช่วงหัวต่อหัวเลี้ยวเช่นนี้" 

2. ฝ่ายกษัตริย์นิยมปรารถนาให้สังคมไทยกลับไปใกล้เคียงกับระบอบเก่าให้มากที่สุด โดยให้สถาบันกษัตริย์มีบทบาทและอำนาจมาก แต่พวกเขาก็ตระหนักดีว่า ประการแรก หากเขียนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ คงเป็นไปได้ยากที่สังคมโลกจะยอมรับ เพราะ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็คือเผด็จการรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่กระแสโลกสมัยปัจจุบัน "บังคับ" ให้ทุกประเทศต้องเป็นประชาธิปไตย และการเสนออะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ย่อมทำให้ปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยมแลดูโง่เขลาเกินไป

ประการที่สอง หากกำหนดอำนาจและบทบาทให้กับสถาบันกษัตริย์มากขึ้นลงไปในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร กษัตริย์มีอำนาจโดยแท้ในการตัดสินใจหรือกระทำการโดยลำพังย่อมหมายความว่า การวิจารณ์ การแสดงความไม่เห็นด้วย ย่อมพุ่งตรงไปที่กษัตริย์ ซึ่งเป็นสภาวะอันไม่พึงประสงค์ของพวกเขา

เมื่อใจลึกๆต้องการเพิ่มอำนาจและบทบาทให้สถาบันกษัตริย์ แต่อีกด้านหนึ่งสถานการณ์ปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้ทำอย่างตรงไปตรงมา และไม่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ต้องรับผิดชอบจากการใช้อำนาจ แล้วพวกเขาจะทำอย่างไร?

ฝ่ายกษัตริย์นิยมต้องการให้เป็นแบบระบอบเก่า แต่ก็ต้องแสดงให้คนเห็นว่าเป็นระบอบใหม่ พวกเขาจึงคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้น นั่นคือ การนำเอาลักษณะแบบระบอบเก่าที่พวกเขาปรารถนา เข้ามาตัดต่อพันธุกรรมผสมเข้ากับระบอบใหม่ เมื่อผสมกันแล้ว ลูกที่ได้ออกมาก็ให้ชื่อว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

วิธีการตัดต่อพันธุกรรม ต้องกระทำในรูปของกฎเกณฑ์ เป็นกฎเกณฑ์ที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง และให้เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ได้ เพราะ จะปรากฏชัดเจนจนเกินไป พวกเขาจึงสร้างกฎเกณฑ์ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมา อันได้แก่ "ธรรมเนียมประเพณี" - "วัฒนธรรมสังคมไทย" - "เอกลักษณ์" - "บารมีของกษัตริย์" - "การดำรงอยู่ของกษัตริย์ในแผ่นดินนี้อย่างต่อเนื่อง" - "ศาสนา" ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มอำนาจและบทบาทกษัตริย์ โดยไม่อายชาวโลกโดยอวดอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยและดีเลิศกว่าสมัยระบอบเก่าอีก เพราะ เป็นอำนาจที่ไม่ต้องรับผิดชอบ กฎเกณฑ์เช่นว่า เราไม่อาจจับให้มั่นคั้นให้ตายได้ เพราะ มาในรูปของ "ไทยๆ" ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แถมยังเปิดทางต่อไปอีกว่า อำนาจและบทบาทเหล่านี้เปลี่ยนไปตามกาลสมัย แล้วแต่บารมีของกษัตริย์แต่ละองค์อีก

ปิยบุตรจบการอภิปรายด้วยคำกล่าวของ Jean-Paul Rabaut Saint-Étienne นักปฏิวัติ อดีตประธานสภา สมัยปฏิวัติฝรั่งเศส ว่า

« L’ancienneté d'une loi ne prouve autre chose, sinon qu'elle est ancienne.
On s'appuie de l'histoire; mais l'histoire n'est pas notre code. »
“ความเก่าแก่ของกฎไม่ได้พิสูจน์อะไรเลย หากจะมีมันก็เป็นเพียงความเก่าแก่
เราอาศัยประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ไม่ใช่กฎหมายของเรา”
Jean-Paul Rabaut Saint-Étienne
Considérations sur les intérêts du Tiers-Etat (1788)
 

ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล กล่าวถึงทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติ โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่ถูกอธิบายมานานแล้ว ตั้งแต่พระองค์เจ้าธานีนิวัต แต่คำอธิบายเช่นนี้สมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใด และมีปัญหาในตัวเองหรือเปล่า

ทฤษฎีนี้มาจากพระไตรปิฎกอัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย สุตตันตปิฎก สาระสำคัญคือ ชนชั้นต่างๆ นั้นเป็นการกำเนิดขึ้นตามธรรมชาติของโลก จักรวาล และมวลมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมาในหมู่มนุษย์ซึ่งก่อปัญหาการคุกคามการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน เป็นความจำเป็นในการคัดเลือกบุคคลผู้หนึ่งขึ้นทำหน้าที่ใช้อำนาจปกครอง แต่พอเลือกแล้ว สถานะก็มีต่างๆ กันไป เช่น มหาชนสมมติ กษัตริย์ และราชา ซึ่งมหาชนสมมติเป็นกรณีที่ประชาชนมีมติร่วมกัน กษัตริย์คือผู้เป็นใหญ่ ราชาคือผู้ที่ทำให้เป็นที่พอใจแก่ผู้อื่น

ประเด็นสำคัญของอัคคัญญสูตร คือ เมื่อเกิดปัญหาก็มีการร่วมประชุมกัน “พวกเราจะสมมติผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ...ส่วนพวกเราจะเป็นผู้แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น”

สรุปประเด็นได้ว่า หนึ่งคือเรื่องราวในอัคคัญญสูตร สองคือประเด็นนี้ถูกนำมาอธิบายเป็นทฤษฎีที่เรียกว่าอเนกนิกรสโมสรสมมติ ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ประเด็นที่สาม “พวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น” ซึ่งหายไป ถูกเน้นเพียงประเด็นที่สอง แต่ประเด็นที่สาม เลือกแล้วน้อมศิโรราบหรือ เป็น “ข้อตกลง” ที่ผู้อยู่ใต้ปกครองไปทำหน้าที่ตามที่กำหนดแล้วผู้ถูกปกครองจะเลี้ยงดูด้วยข้าวสาลี

อย่างไรก็ตาม หลักอัคคัญญสูตรนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีมาก่อนผู้ปกครอง เหมือนน้ำมีอยู่ก่อนเรือ และผู้ปกครองขึ้นไปนั่งอยู่ได้เพราะได้รับมอบอำนาจ จึงมีภารกิจและความรับผิดชอบต่อผู้อยู่ใต้ปกครองแล้วถ้าไม่ทำหน้าที่นี้จะจำเป็นต้องให้ข้าวสาลีต่อไปหรือไม่ นักวิชาการที่เสนอประเด็น อเนกสิกรสโมสรสมมตินั้นอ่านพระสูตรไม่ครบหรือเปล่า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท