Skip to main content
sharethis

 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถือเป็นประเทศที่มีแร่ธาตุทรัพยากรธรณีอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับที่ราบหุบเขา อันเกิดจากการยกตัวของแผ่นทวีปเก่า และมีภูเขาไฟที่ดับแล้วหลายแห่ง จากการสำรวจได้ค้นพบสายแร่ธาตุและโลหะมีค่าต่างๆ เป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสให้รัฐบาลลาวนำทรัพยากรเหล่านั้นมาพัฒนาประเทศ ผ่านทางการให้สัมปทานต่อบริษัทต่างชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและเจรจารัฐบาลต่อรัฐบาล

แร่ธาตุและโลหะที่พบในลาว มีแหล่งแร่สำคัญ ได้แก่

-          เงิน ทองคำและทองแดง ในเหมืองเซโปน เมืองวีละบุลี แขวงสะหวันนะเขด

-          เหล็ก ในแขวงเวียงจัน

-          เหล็ก ทองแดง ทองคำ ดีบุกและสังกะสี ในแขวงเซกอง และอัดตะปือ

โดยการขุดแร่ดังกล่าว ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ (ກະ
ຊວງພະລັງງານ ແລະບໍ່ແຮ່) ให้ได้รับสัมปทานเสียก่อน โดยบริษัทผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายอากรบ่อแร่ ซึ่งในปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติได้รับสัมปทานสำรวจและขุดแต่งแร่จำนวน 140 บริษัท ในการขุดค้นและทำเหมืองกว่า 200 โครงการ ส่วนบริษัทลาวเองก็ได้ร่วมทุนรับสัมปทานขุดแร่อีกกว่า 40 บริษัท ใน 100 กว่าโครงการ

ท่านพูเพ็ด คำพูนวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน ได้แถลงว่า งบประมาณรายรับใน 8 เดือนต้นปี 2012 นี้ เป็นรายรับเกินแผนที่ได้ตั้งไว้ โดยเฉพาะอากรกำไรจากทรัพยากรธรรมชาติจากเหมืองทองคำเซโปน ซึ่งเก็บได้กว่า 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 80.36 ของรายรับจากภาษีอากรประจำปีที่ได้ประเมินไว้อย่างไรก็ตาม ท่านสะหมาน อะเนกา ผู้อำนวยการบริษัทล้านช้างมิเนอรัล จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ลงทุนในการขุดแต่งแร่ทองคำที่เหมืองเซโปน ประมาณการว่า การขุดทองคำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสิบปี จะทำให้ปริมาณทองคำในเหมืองหมดลงจนไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ภายในปี 2013 นี้ แม้ว่าแร่ทองแดงยังมีเหลือพอคุ้มค่าในการขุด และสามารถขุดเพื่อส่งออกไปยังออสเตรเลียได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายการผลิตที่ 150,000 ตันในปี 2013 ก็ตาม

กลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนกับรัฐบาลลาว หรือรับสัมปทาน มีทั้งกลุ่มทุนสัญชาติไทย ญี่ปุ่น เวียตนาม จีน เยอรมัน และออสเตรเลีย โดยส่วนมากจะขนส่งนำแร่ดิบกลับไปถลุงยังประเทศตนเอง ขนส่งขึ้นรถบรรทุกมาลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบังหรือท่าเรือไฮฟอง เนื่องจากกังวลกับความไม่แน่นอนทางการเมืองของลาว ยกเว้นจีนและเวียตนาม ซึ่งตั้งโรงถลุงแร่ในลาวด้วย โดยนำเข้าแรงงานชนชาติตัวเองมาเป็นลุกจ้าง เพื่อเพิ่มตำแหน่งงาน และลดอัตราว่างงาน จนเกิดปัญหากับชาวลาวท้องถิ่นเป็นระยะ ซึ่งรัฐบาลลาวยอมรับว่า ไม่สามารถผลักดันแรงงานที่ก่อปัญหากลับประเทศได้

ในอีกด้านหนึ่ง เหมืองแร่ต่างๆ ได้ก่อปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนชาวลาวมากขึ้น โดยในการประชุมสภาแห่งชาติสมัยสามัญครั้งที่ 3 ของสภาแห่งชาติชุดที่ 7 ระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน ถึง 13 กรกฎาคม 2012 ที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนทั้งทางโทรศัพท์สายด่วย ไปรษณีย์ และอีเมล ถึง 280 เรื่อง เป็น 300 ความเห็นเกี่ยวกับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องมาจากการให้สัมปทานที่ดินทำเหมืองแร่และป่าไม้ รวมถึงคดีความฟ้องร้องในศาลประชาชนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้น จาก 8,000 คดีในปี 2007 เป็นกว่า 10,000 คดีในปี 2011 โดยเฉพาะกับปัญหาสารพิษจากเหมืองแร่ทองแดง และโรงงานถลุงแร่ของเวียตนามในแขวงเซกองและอัดตะปือ ที่ไหลลงแหล่งน้ำชุมชนและแม่น้ำ การขุดแต่งทองคำในแขวงเชียงขวาง โรงงานหลอมแร่เหล็ก ทองแดง ดีบุก สังกะสี และโปแตสเซียม ในแขวงเวียงจันทร์

นอกจากนี้ จากการสืบสวนในทางลับในท้องถิ่นต่างๆ ยังทำให้ทราบปัญหาเพิ่มเติมว่า โดยเฉพาะการละเมิดสัญญาและข้อตกลงต่างๆ อย่างกว้างขวาง ยิ่งในการขุดแต่งเหมืองแร่นั้นทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติอย่างหนักหน่วงมากขึ้นไปด้วย

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ในการประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่ 3 ของสภาชุดที่ 7 ท่านนายกรัฐมนตรี ทองสิง ทำมะวง ได้แถลงยืนยันต่อที่ประชุมว่า จะระงับการอนุญาตและการพิจารณาให้กลุ่มบุคคลหรือภาคเอกชน เข้าสำรวจและขุดค้นแร่ และสัมปทานปลูกยางพาราทั่วประเทศ ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2015 เพื่อตรวจสอบการดำเนินการของกลุ่มบริษัทที่ได้รับสัมปทานไปก่อนหน้านี้ ว่าได้ปฏิบัติตามข้อตกลง ข้อบังคับเรียบร้อยหรือไม่ ก่อนจะพิจารณากลับมาอนุมัติอีกครั้ง

กิจการเหมืองแร่สร้างความมั่งคั่งให้แก่รัฐบาลและประเทศลาวเป็นอย่างมาก แต่ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า ประชาชนชาวลาวได้รับผลประโยชน์จากความมั่งคั่งนั้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ หรือได้รับเพียงผลกระทบ มลพิษ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

 

อ้างอิง:

 

 

  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net