Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสังคมไทยมีมาอย่างต่อเนื่อง นับเนื่องแต่การประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2504 ที่มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ โดยการหนุนช่วยของสหรัฐอเมริกา และธนาคารโลกหลังทศวรรษ 2500 ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการ “พัฒนาสมัยใหม่” ให้ประเทศไทยเป็นประเทศ “ทันสมัย”

โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นการนำแนวคิดจากต่างประเทศเข้ามาปฏิบัติใช้ภายใต้มายาภาพว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศด้อยพัฒนา” โดยมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-3 (พ.ศ. 2504-2519) มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน ไฟฟ้า เพื่อตอบต่อการผลิตในระบบอุตสาหกรรม รวมถึงเพิ่มผลผลิต และรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่มากขึ้น (อมรา พงศาพิชญ์ 2549: 212)

โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เอื้อประโยชน์ต่อการขนถ่ายสินค้า บริการ และทรัพยากรในชนบทเข้าสู่ส่วนกลาง เช่น เมืองหลักในภูมิภาคและกรุงเทพฯ มีการสร้างเครือข่ายคมนาคมเข้าสู่หมู่บ้านในชนบท และเป็นการขยายอำนาจรัฐเข้าสู่ชนบทอย่างกว้างขวาง

การพัฒนาสมัยใหม่ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนการผลิตจากการปลูกข้าวเพื่อกินและขาย ขยายสู่การปลูกพืชชนิดใหม่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการใช้สิ่งของที่ผลิตมาจากเมือง และอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพามากขึ้น นอกจากนี้ยังได้สร้างความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ให้แก่คนกลุ่มต่างๆ รวมถึงสร้างความไม่เท่าเทียมในด้านการพัฒนาเมืองต่างๆ ตามภูมิภาค

โดยเมืองหลักจะได้รับการส่งเสริมด้านงบประมาณมากกว่าเมืองอื่นๆ ในภูมิภาค และกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น เมืองเชียงใหม่ กลายเป็นศูนย์กลางการจ้างงาน ศูนย์กลางส่วนราชการ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการ และศูนย์กลางการศึกษา (ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตน์ เจริญเมือง 2538: 82-97)

การมุ่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดชนชั้นกลาง ที่เป็นผลมาจากการขยายตัวของการศึกษา มีการสร้างมหาวิทยาลัยตามภูมิภาค เช่น ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ ทำให้เกิดคนชั้นกลางที่มีการศึกษาและมีรายได้สูง แต่ในทางตรงกันข้ามได้ทำให้ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทถ่างกว้างขึ้น รวมถึงได้ทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรอย่างกว้างขวาง


การก่อตัวของประชาธิปไตยจากระบอบเผด็จการ
ภายใต้การปกครองในระบบเผด็จการช่วงปี พ.ศ. 2500 – 2516 และประชาธิปไตยครึ่งใบช่วงปี พ.ศ. 2519 – 2531 กว่า 30 ปี ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากทหาร หรือพลเรือน แต่นโยบายหนึ่งที่สืบเนื่อง คือ การใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ที่มุ่งสร้างการพัฒนาในมิติต่างๆ แต่ในทางการเมืองกลับอยู่ในระบบเผด็จการ หรือกึ่งเผด็จการ ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ (ประชาธิปไตยครึ่งใบ: การปกครองในระบอบเผด็จการ คือ การที่ไม่มีการเลือกตั้งมีทหารเป็นนายก)

ความกดดันทางการเมืองในระบอบเผด็จการทำให้ชนชั้นกลางที่มีการศึกษา และมีรายได้สูง ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาของรัฐในช่วงหลายสิบปี ตระหนักถึงปัญหาของความไม่เสรีทางการเมือง จนเกิดเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 ที่มีประชาชนเข้าร่วมอย่างมหาศาล แม้ภายหลังจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้นักศึกษาปัญญาชนหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ (ดูเพิ่มใน ประจักษ์ ก้องกีรติ 2548) แต่ว่าอุดมการณ์ “ประชาธิปไตย” ได้หยั่งรากในสังคมไทยแล้ว

ในช่วงการพัฒนานายทุน และรัฐ ได้พรากประชาชนชนบทออกจากทุนทางทรัพยากร เช่น ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ มีการออกกฎหมายหลายฉบับที่ดึงทรัพยากรที่เคยอยู่ในการดูแลของประชาชนมาเป็นของรัฐ เช่น ป่าไม้ มีการออก พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้องอพยพคนออกจากที่ทำกิน และเป็นปัญหาเรื้อรัง การพัฒนาที่ลำเอียงของรัฐได้ทำให้เกิดช่องว่างของรายได้ ส่งผลให้ประชาชนในชนบทกลายเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก เกิดการล่มสลายของสังคมชนบท

กลางทศวรรษที่ 2520 เกิดการตื่นตัวขององค์กรนอกภาคราชการ เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ได้เข้ามาร่วมพัฒนาชนบทในหลายมิติ และเกิดการตื่นตัวของกระแส “วัฒนธรรมชุมชน” ที่เห็นคุณค่าของหมู่บ้านชนบท เป็นการพัฒนาทางเลือกที่นอกเหนือจากการพัฒนากระแสหลัก เนื่องด้วยการพัฒนาจากภาครัฐไม่อาจสร้างความเท่าเทียม และกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม คนชนบทเข้าไม่ถึงทรัพยากร กลายเป็นแรงงานรับจ้าง และเกิด “คนจน” ทั้งในชนบทและในเมืองจำนวนมาก (ความจน และ “คนจน” ในที่นี้ คือ การที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และไม่มีทางเลือกในมิติต่างๆ)

จากการแย่งชิงและกระจายทรัพยากรอย่างลำเอียง ได้ทำให้เกิดปัญหาการขาดที่ดินทำกิน การสร้างเขื่อนที่ต้องอพยพจากที่ดินทำกิน ค่าเช่าที่ที่ไม่ธรรม ฯลฯ ได้มีขบวนการเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาในหลายมิติ เช่น เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) เครือข่ายป่าชุมชน ชมรมเพื่อเชียงใหม่ สมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสานเพื่อรองรับสิทธิที่ดินทำกินและพื้นฟูธรรมชาติ (สดท.) สมัชชาเกษตรกรรายย่อย (สกย.) คณะกรรมการเครือข่ายชาวบ้านรักษาป่า 7 จังหวัดภาคอีสาน สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) สมัชชาคนจน (ประภาส ปิ่นตบแต่ง 2541: 52-66) เครือข่ายที่เกิดขึ้นมีปัญหาที่หลากหลายสะท้อนให้เห็นผลกระทบของการพัฒนาในช่วงหลายสิบปีของรัฐ


จากสำนึกทางการเมืองของคนชั้นกลางในชนบท สู่ผู้ประกอบการทางการเมือง
ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคมในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เกิด “คนชั้นกลางในชนบท” (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2554) ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง การดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับเมืองอย่างแนบแน่น ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติสร้างผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อการดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้น

“คนชั้นกลางในชนบท” มี “สำนึกทางการเมือง” ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะผ่าน “การเลือกตั้ง” เพราะมีผลอย่างสำคัญต่อการกำหนด “นโยบายสาธารณะ” มีผลต่อการดำเนินชีวิตเขาอย่างมาก เขาเหล่านั้นได้เข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองในฐานะ “ผู้ประกอบการทางการเมือง” (agency politic) ที่กระตือรือร้น

พื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ จึงเป็น “สนาม” ที่คนชั้นกลางใหม่นี้ใช้ในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมในมิติต่างๆ อย่างไพศาล และไม่เพียงแต่คนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่น ที่มีอายุอยู่ในช่วง 30 – 50 ปี และมีการศึกษาที่สูงขึ้นถึงระดับปริญญาตรีถึงร้อยละ 25 มีอาชีพนอกภาคเกษตรกรรมถึง ร้อยละ 50 (กกต. เชียงใหม่ 2555) ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนกลุ่มเดิมที่มีการผลิตในภาคเกษตรกรรม แต่คนกลุ่มใหม่นี้สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเศรษฐกิจ และการเมืองในระดับชาติ ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อเขา

ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เขาย่อมมีความสัมพันธ์กับความเติบโตของเศรษฐกิจในระดับมหภาค ถ้าเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องก็ทำให้เขามีงานทำ และสามารถ “หล่อเลี้ยง” แรงงานในเครือข่ายได้อย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่การผลิตอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้าเองก็สัมพันธ์กับความเติบโตของเศรษฐกิจในระดับมหภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจซบเซา การสั่งซื้อของย่อมมีปริมาณที่ลดลง และคนในเครือข่ายย่อมขาดรายได้ ฉะนั้นการเติบโตของท้องถิ่นในแง่มุมต่างๆ ย่อมสัมพันธ์กับเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และชนบทไม่ได้โดดเดี่ยว

แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่า “เขา” เหล่านั้นจะมีความสนใจ “ทางการเมือง” มากน้อยแค่ไหน แต่การเข้าสู่ “การเมืองในระดับนโยบาย” หรือ “ระดับชาติ” ย่อมมีทำนบกีดขวางมหาศาล ทั้งทุน และเครือข่ายฯลฯ ฉะนั้นพื้นที่ที่ “เขา” จะเข้าไปมีส่วนในทาง “การเมือง” ได้ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ ที่ “เขา” เหล่านั้นพอจะมีศักยภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลายเป็น “พื้นที่ทางการเมือง” ใหม่ของคนกลุ่มต่างๆ

กลุ่มคนที่เข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่น มีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ คือ เป็นพื้นที่ที่คนกลุ่มต่างๆ สามารถเข้ามาใช้เพื่อขับเคลื่อน “วาระส่วนตัว” และ “วาระสาธารณะ” ได้อย่างกว้างขวาง พบว่าคนกลุ่มใหม่ เช่น นายทุนน้อยในท้องถิ่น ผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือชนชั้นกลางระดับต่างๆ (ดูเพิ่มใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2555) ได้เข้ามามีบทบาทใน “สนามการเมืองใหม่” นี้ สะท้อนให้เห็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย เพราะการเมือง หรืออำนาจท้องถิ่นในอดีตมักผูกขาดอยู่ในกลุ่มผลประโยชน์แคบๆ เช่น ตระกูลใหญ่ในพื้นที่ นักเลง พ่อค้าคนกลาง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พระ ครู ฯลฯ (ดูเพิ่มใน แอนดรู เทอร์ตัน 2533) ที่เป็นกลุ่มอำนาจในท้องถิ่นเดิม ที่ผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากรในท้องถิ่น

โดยผูกโยงกับข้าราชการและนักการเมืองระดับชาติ ทำให้เกิด “ระบบอุปถัมภ์ที่ขูดรีด” แต่ในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงได้เห็นการเข้ามาของ “ผู้ประกอบการขนาดเล็ก” ที่ต่างเป็นคน “ใหม่” ที่เข้ามาสู่สนามการเมืองท้องถิ่นด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน และสร้างสายสัมพันธ์ในหลากหลายเป็นรูปแบบของความเปลี่ยนแปลงในการเมืองท้องถิ่นในระดับที่น่าสนใจ

เพราะว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรขนาดเล็ก และตัวสมาชิก ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นล้วนเป็นคนในพื้นที่ หรือไม่ก็มีความผูกพันกับคนในพื้นที่อย่างแน่นแฟ้น หรือเป็นความสัมพันธ์ซึ่งหน้า ทำให้การทำงานต้องรับผิดชอบต่อคนในพื้นที่ทั้งวิถีชีวิต และกฎหมายได้กำหนดให้สมาชิก และผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้ง ถ้าผู้บริหาร หรือสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ตอบสนองต่อปัญหา หรือความต้องการของประชาชน ในสมัยต่อไปก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามา

กลุ่มที่อดีตนายกสนับสนุนไม่สามารถชนะเลือกตั้งกลับเข้ามาบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก่า (คนเดิม) ได้รับเลือกกลับเข้ามาเฉลี่ยแค่ 50 % (ดูเพิ่มใน มติชน 2555; ไทยรัฐ 2555; เดลินิวส์ 2555) ชี้ให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ขนาดเล็กสามารถกำหนดตัว “ผู้เล่น” การเมืองได้


คุณสมบัติสำคัญ: ทำนบกีดกั้นผู้คนออกจากการเมือง
ในแง่ของการเข้ามาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น จากการศึกษาของ อภิชาติ สถิตนิรามัย (2555) พบว่า “…ทำนบกีดขวางการลงสมัครแข่งขันในตำแหน่งทางการเมืองระดับ อบต. …มีค่อนข้างต่ำ ตัวอย่างเช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภา อบต. มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ

    ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในหมู่บ้านของตำบลที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี

    ข) ไม่มีพฤติกรรมในทางทุจริต หรือถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองระดับท้องถิ่น เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ถึงห้าปี

    ค) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ส่วนมาตรา 58/1 กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครตำแหน่งนายก อบต.ว่า ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี และต้องจบการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมตอนปลายเท่านั้น ในขณะที่ผู้ที่จะสมัครตำแหน่งนายกเทศมนตรีและนายก อบจ.จะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี” (หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นระดับนั้นๆ: ผู้เขียน)

ในส่วนของนายกและสมาชิกสภาเทศบาล ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของนายกเทศมนตรี ตามมาตรา 48 เบญจ ตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 (ดูเพิ่มเติม ที่นี่) โดยบุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม

จากคุณสมบัตินี้น่าจะเป็นทำนบที่กีดกันให้คนกลุ่มต่างๆ เข้าสู่การเมืองท้องถิ่น แต่จากช่องทางของกฎหมาย และคุณสมบัติที่ไม่สูงมากนักทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาเล่นการเมืองท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง และพบว่าการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น “พื้นที่ใหม่” ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถสร้าง “ตำแหน่งแห่งที่” (position) ในพื้นที่การเมืองท้องถิ่นได้ ด้วยเหตุผลที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่เกิดใหม่ ที่ไม่ได้เป็น “ราชการ” เต็มตัว แต่เป็นพื้นที่สัมพันธ์แนบแน่นกับคนในท้องถิ่น หรือพูดได้อีกลักษณะหนึ่งว่าเป็นพื้นที่ “กึ่งทางการ” ที่ประชาชนในท้องถิ่นสามารถกำหนดทิศทางท้องถิ่นตามที่คนในท้องถิ่นนั้นๆ ต้องการให้เป็นได้

โดยเชื่อมโยงกับคนกลุ่มใหม่เข้ามา “เล่น” การเมืองท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ปล่อยให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาด และสามารถปรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีขนาดเล็กทำให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้าไปกำกับ ควบคุม ช่วงใช้ เป็นองค์กรใหม่ที่ไม่ถูก “ครอบ” หรือ “ยึดโยง” กับราชการอย่างแน่นแฟ้น ทำให้มีความคล่องตัวสูง สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็น “องค์กรของประชาชน” ได้

การผลิตในภาคนอกเกษตรกรรม หรือในภาคเกษตรกรรมที่เป็นการผลิตเพื่อขาย (การผลิตของคนในชนบททั้งในภาคเกษตรกรรมไม่ได้เป็นการผลิตเพื่อยังชีพ แต่เป็นการผลิตเพื่อขาย รวมถึงรายได้ของครัวเรือนก็มิได้มาจากภาคเกษตรกรรม แต่มีรายได้จากภาคการผลิตอื่น) ทำให้คนในภาคการผลิตนั้นๆ สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเศรษฐกิจ ที่ใหญ่กว่าในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และระบบความสัมพันธ์แบบเดิม (รวมถึงระบบอุปถัมภ์แบบเดิม) ไม่อาจแก้ไขปัญหาให้คนในสังคมได้อีกแล้ว

การ “ถักทอ” สายใยความสัมพันธ์แบบใหม่ทั้งในระบบอุปถัมภ์ใหม่ (ระบบอุปถัมภ์นี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับภาคการผลิต ที่มี “ความเปราะบาง” และ “ไม่รอบด้าน” เหมือนระบบอุปถัมภ์เดิม แต่ระบบใหม่นี้มี “ความยืดหยุ่น” และทำให้ผู้ใต้อุปถัมภ์มีอำนาจต่อรองมากขึ้น: อคิน  รพีพัฒน์ 2539; อมรา  พงศาพิชญ์ 2539)

ระบบพาณิชย์ ฯลฯ ได้สร้างจินตนาการใหม่ของชาวชนบท หรือที่ Keyes (2553) เสนอว่าเป็น “ชาวบ้านผู้รู้จักโลกกว้าง” (Cosmopolitan villager) เพราะว่าการดำเนินชีวิตของชาวชนบทสัมพันธ์กับเศรษฐกิจมหภาคอย่างแยกไม่ออก

เขาเหล่านั้นบางส่วนเป็นคนงานในนิคมอุตสาหกรรม เป็นแรงงานในโรงงานทอผ้าขนาดเล็ก เป็นแรงงานก่อสร้าง หรือเป็นเกษตรกรปลอดสารพิษ ปลูกข้าวเพื่อขาย ทำสวนลำไย ฯลฯ ซึ่งใช้หมู่บ้านเป็นแต่เพียง “ที่นอน” หรือ “กลับเฉพาะในช่วงเทศกาล” ทำให้เขาเหล่านั้นประสบพบเจอปัญหา และโอกาสของชีวิตนอกหมู่บ้าน ทำให้ “จินตนาการทางการเมือง” ของนักการเมืองท้องถิ่น หรือชาวบ้านที่เลือกแตกต่างจากรุ่นพ่อรุ่นแม่อย่างไม่อาจเทียบกันได้ คนกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าชนบทไทยไม่ได้มีแต่เกษตรกรอย่างที่ใครๆ เข้าใจ และพบว่าคนที่มาเล่นการเมืองท้องถิ่นมีความหลากหลาย ทั้งผู้นำตามประเพณี นายทุนน้อย กลุ่มอาชีพอิสระ ข้าราชการเกษียณ ฯลฯ คนกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าชนบทไทยไม่ได้มีแต่เกษตรกรอย่างที่ใครๆ เข้าใจ แต่มีคนหลากหลายกลุ่มผ่านนักการเมืองท้องถิ่นที่สะท้อนให้เห็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละคนต้องรักษา “พันธะสัญญา” กับประชาชนในท้องถิ่นที่เลือกตนเข้ามาทำงาน เพื่อที่จะได้กลับเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ไม่เพียงแต่ตัวนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็น “คนชั้นกลางในชนบท” หรือ “ผู้ประกอบการขนาดเล็ก” “นายทุนน้อย” แต่ชาวบ้านในชนบทเองก็เป็นผู้ที่มีสำนึกทางการเมือง ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางท้องถิ่น รวมถึงการที่เขาได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของการเมืองท้องถิ่น ที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชนบทไทยอย่างไพศาล และเป็นสิ่งที่ไม่อาจได้จาก “รัฐราชการ” ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความตื่นตัวทางการเมือง และให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นอย่างมาก

“การเมือง” ในสำนึกของคนชั้นใหม่นี้จึงต้อง “เป็นธรรม” “เท่าเทียม” “เข้าถึง” “เป็นพื้นที่เปิด”รวมถึง “ตรวจสอบ ถ่วงดุล” ได้ ทำให้การเมืองในระดับท้องถิ่นเป็นพื้นที่ที่ “ชาวบ้าน” เข้าไป “เล่น” และกำหนดทิศทางได้ เช่นคำพูดที่ว่า “ไม่พอใจเราก็ไม่เลือก ถ้าแพ้ครั้งหน้าก็เลือกใหม่ได้”

 

 


หมายเหตุ:
ชื่อบทความเดิม “คนกลุ่มใหม่ในชนบทกับการเมืองท้องถิ่น”
เผยแพร่ครั้งแรกที่
http://www.siamintelligence.com/when-middle-class-from-rural-becomesagency-politic/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net