Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนอื่นในนามสำนักงานศาลปกครองต้องขอขอบคุณ ‘ใบตองแห้ง’ ที่ได้ให้ความสนใจและให้ข้อคิดเห็นในการจัดอบรมหลักสูตร ‘นักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง’ ของสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งผมถือว่ามีค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงาน เพราะมีหลายประเด็นที่ผมเห็นว่าเป็นการติเพื่อก่อ เพื่อให้เราได้กลับมาทบทวนการทำงานของเรา

แต่อย่างไรก็ดี ในบทความมีบางประเด็นที่ ‘ใบตองแห้ง’ ยังมีข้อสงสัยและทิ้งคำถามไว้ให้ผู้อ่าน ผมจึงขออนุญาตตอบโดยรวม ดังนี้ครับ

1. ศาลปกครองเป็นองค์กรตุลาการที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เจตนารมณ์เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในสังคม จึงจำเป็นต้องเผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคคลภายนอก เพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องหลักกฎหมายมหาชน กฎหมายปกครอง ตลอดจนหลักปฏิบัติราชการที่มาจากคำพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็เพื่อจะได้ปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช้อำนาจทางปกครองต่อประชาชนโดยไม่ชอบ ทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในขณะเดียวกันถ้าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ การใช้สิทธิของตนอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ทุกฝ่ายในสังคมรู้หน้าที่ของตนเอง ปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีสำนักงานศาลปกครองเป็นหน่วยดำเนินการเพราะมีหน้าที่ในการเผยแพร่คำพิพากษาและจัดให้มีการศึกษาอบรมและพัฒนาบุคลากรของศาลปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนดใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 77 โดยในการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายปกครองและกฎหมายมหาชนให้แก่บุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน มีการจัดในรูปแบบต่างๆ ตามกลุ่มเป้าหมายทั้งการเดินทางไปให้ความรู้ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ หรือการจัดสัมมนาอบรมในส่วนกลาง ให้แก่ผู้สนใจในหลายหลักสูตรทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว สำหรับบุคลากรหลายระดับ ทั้งระดับปฏิบัติการและระดับบริหาร ซึ่งหลักสูตร ‘นักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง (บยป.)’ นี้ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ หลักสูตรของเราเท่านั้น

2. การคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร บยป.ที่ผ่านมาทั้ง 4 รุ่น ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นนักบริหารระดับสูงทั้งสองกลุ่มหลักคือกลุ่มเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคประชาชนประมาณ 3 ส่วนต่อ 1 ส่วนตามลำดับในทุกรุ่น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อยอดจากภาคทฤษฎี ให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยการสัมมนาศึกษาดูงานและนำเสนอเอกสารวิชาการเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองและบทเรียนจากคดีปกครองที่ตัดสินไปแล้วจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ในกรณีของภาคประชาชนหรือเอกชนเราจะคัดเลือกโดยคำนึงถึงความจำเป็นในการเรียนรู้ของบุคคลและหน่วยงาน โอกาสในการนำความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ความพร้อมในการเรียนและข้อเสนองานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางปกครองประกอบกัน โดยผู้ที่เข้ามาเรียนจะมีองค์ประกอบครบจากทุกภาคส่วนและทุกฝ่าย ได้แก่ นักการเมืองที่เป็น สว. และ สส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ผู้บริหารระดับสูงภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนกลุ่มอาชีพและองค์กรควบคุมวิชาชีพ นักธุรกิจอุตสาหกรรม และ NGO มี กสทช. และนักกฎหมายจากบริษัททำธุรกิจโทรคมนาคมที่มีการแข่งขันกันในตลาดจากทุกบริษัท ตำรวจ ทหาร อัยการ และตุลาการ เป็นต้น

3. ศาลปกครองไม่ใช่คู่กรณีในกรณีพิพาททางปกครองในทุกคดีและใช้วิธีพิจารณาในระบบไต่สวนเป็นองค์คณะ (3 ท่านในศาลปกครองชั้นต้น และ 5 ท่านในศาลปกครองสูงสุด) เป็นวิธีพิจารณาที่เปิดเผย โปร่งใส ให้คู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ มีระบบตรวจสอบ 2 ชั้น โดยองค์คณะและผู้แถลงคดีนอกองค์คณะ และมี 2 ชั้นศาล รวมทั้งคำวินิจฉัยจะเปิดเผยต่อสาธารณะที่ประชาชนสามารถตรวจดูเหตุผลและวิพากษ์วิจารณ์ได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างตุลาการศาลปกครองที่เข้าอบรมจำนวน 6 ท่าน จากผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด 120 ท่าน กับเอกชนที่เข้าอบรมในหลักสูตร บยป. เพื่อมาเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยในคดีได้ ที่ผ่านมาก็พบว่ามีหลายคดีที่ผู้เข้ารับการอบรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับคู่กรณีเป็นฝ่ายแพ้คดี เช่น คดีมาบตาพุด คดี 3G คดีสั่งให้การนิคมอุตสาหกรรมชดใช้เงินค่าเสียหายแก่ประชาชน เป็นต้น

4. การใช้เงินงบประมาณบริหารการฝึกอบรมและดูงานทั้งในและต่างประเทศตลอดหลักสูตร มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยท่านละประมาณ 170,000 บาท โดยให้หน่วยงานของผู้เข้าอบรมสมทบค่าใช้จ่ายเป็นค่าลงทะเบียน 120,000 บาท เป็นการใช้จ่ายของแต่ละท่านตามระเบียบของทางราชการที่ตรงไปตรงมาและตรวจสอบได้ทุกรายการ

ผมขอเรียนชี้แจงประเด็นข้อสงสัยของคุณใบตองแห้งเกี่ยวกับหลักสูตร บยป. โดยภาพรวมตามที่กล่าวมาข้างต้น หากท่านยังมีประเด็นข้อสงสัยหรือประสงค์จะให้ข้อเสนอแนะอื่นใดเพิ่มเติม ผมมีความยินดีที่จะรับฟังและให้ข้อมูลแก่ท่านโดยตรง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net