Skip to main content
sharethis

อภิปรายความทรงจำของคนรุ่นหลังต่อ 6 ตุลาที่บางอย่างถูกเลือกให้ "จำ" และ "ลืม" ในขณะที่ประชาธิปไตย กลายเป็นสิ่งที่เชื่อว่าต้องเป็นแบบ "ครึ่งใบ" ซึ่งเป็นผลทำให้ความรุนแรงจากการปราบปรามปชช. หลายครั้ง เป็นสิ่งที่ "เป็นไปได้" และ "คิดได้" 

6 ต.ค. 55 - ในงานรำลึก 36 ปี 6 ตุลา 2519 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการกล่าวปาฐกฐาโดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในหัวข้อ 6 ตุลา 2519 กับอุดมการณ์คนรุ่นหลัง 6 ตุลา โดยพิชญ์อภิปรายแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ ในฐานะความคิดหรือแม้แต่ "ความจริง" ที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งมีนัยยะของการต่อสู้และปฏิบัติการทางการเมือง อาจจะมีความหมายในแง่บวก ลบ หรือกลางๆ ก็ได้

 
 
ต่ออุดมการณ์ของคนรุ่นหลัง 6 ตุลา  พิชญ์กล่าวว่า ด้วยการสร้างความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ยังสรุปชัดเจนไม่ได้ว่าจะไปในทางบวกหรือทางก้าวหน้า คำว่า "16 ตุลา" จึงเกิดขึ้นมาจากความเข้าใจที่รวมเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค. 2519 เอาไว้ในโครงเรื่องเดียวกัน ที่นักศึกษาลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการทหาร ทั้งนี้ เขาชี้ว่า การสร้างพื้นที่ให้กับความทรงจำเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ยังคงมีอยู่ ตราบใดที่ไม่แตะต้องสถาบันพระหากษัตริย์และไม่เปลี่ยนแปลงรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจไปจากที่เป็นอยู่ ซึ่งเขาใช้คำว่า "ความสมานฉันท์หลัง 6 ตุลา 19" 
 
พิชญ์กล่าวถึงความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงจากรัฐว่า มีการปลุกระดมอย่างต่อเนื่องโดยสื่อมวลชนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และการใช้ข้อกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นคน "อื่น" ไม่ใช่คนไทย และไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการล้อมปราบในเหตุการณ 6 ต.ค. 2519 เช่นเดียวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือนเม.ย. - พ.ค. 2553 โดยในสภาวะที่ผู้เห็นต่างทางความคิดทางการเมือง ภายใต้การบีบคั้นจากกฎหมายความมั่นคงและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ รัฐก็ยังไม่มีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดหลากหลาย 
 
นอกจากการจะค้นหาความจริงเพื่อความยุติธรรมแล้ว พิชญ์กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญ คือต้องให้ทุกเรื่องราวที่คลางแคลงใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกดดันด้วยการนำหลักฐานมาเปิดเผยอย่างโปร่งใส ด้วยหลักการที่ว่าทุกคนไม่มีข้อยกเว้นในการไม่ถูกกล่าวหา มากกว่าจะมาอธิบายว่าทุกฝ่ายมีส่วนผิดกันทั้งหมด 
 
0000
 
"6 ตุลา 2519 กับอุดมการณ์คนรุ่นหลัง 6 ตุลา" 
ปาฐกถาในงานสัปดาห์รำลึก 36 ปี 6 ตุลา 2519 
โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
 
ก่อนจะเข้าเรื่องที่จะพูดในวันนี้ กระผมขอกล่าวขอบคุณทางคณะผู้จัดที่ให้เกียรติเชิญผมมาพูดในวันนี้ ซึ่งกระผมตอบรับคำเชิญด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้มีส่วนในการระลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งในฐานะนักรัฐศาสตร์แล้ว กระผมถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อทั้งพัฒนาการทางการเมือง และการเมืองเรื่องภูมิปัญญากับการเมืองเรื่องวัฒนธรรมธรรมในสังคมไทย และจนถึงวันนี้ก็นับได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์ที่เป็นปมปัญหาสำคัญยิ่งต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมไทย ในหลายๆมิติ ดังที่ได้มีการกล่าวถึงกันมาโดยตลอดในทุกๆปี 
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อแรกเริ่มที่ได้รับคำเชิญนั้น ตัวกระผมน่าจะได้สร้างความผิดหวังให้กับคณะผู้จัดอยู่มิใช่น้อย เพราะเดิมนั้นชื่อหัวข้อที่ได้รับเชิญก็คือ ”6 ตุลา กับอุดมการณ์กรรมกรชาวนา" ซึ่งเป็นหัวข้อที่กระผมไม่สามารถที่จะพูดได้ ก็เลยขอเปลี่ยนหัวข้อที่พอจะใกล้ตัวกว่า นั่นก็คือการพูดถึงความเชื่อมโยงและไม่เชื่อมโยงของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กับอุดมการณ์ของคนรุ่นหลัง 6 ตุลา ทั้งนี้โดยพยายามที่จะคงเอาไว้ซึ่งความมุ่งหมายเดิมของคณะผู้จัดทั้งในประเด็นของความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ และประเด็นเรื่องของ "อุดมการณ์" แต่เปลี่ยนแปลงตัวผู้ที่เป็นองค์ประธานของเรื่อง จาก กรรมกร และ ชาวนา มาสู่เรื่องของคนรุ่นหลัง 6 ตุลา
 
โดยในการพูดในครั้งนี้ กระผมจะขอแบ่งการพูดออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ หนึ่ง ส่วนของการพูดถึงแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ สอง การพูดถึงสิ่งที่กระผมขอนิยามว่าเป็นปรากฏการณ์ "หลัง 6 ตุลา" รวมทั้ง "คนหลัง 6 ตุลา" และ ส่วนสุดท้่ายก็คือเรื่องของการพิจารณาเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในฐานะของอุดมการณ์และการต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์ที่เกี่ยวเนื่องในเรื่องดังกล่าวจากอดีตถึงปัจจุบัน  
 
ส่วนที่หนึ่ง - มิติเรื่องอุดมการณ์: 
 
ในการพูดของกระผมในวันนี้ กระผมจำต้องขอกล่าวถึงการให้คำนิยามของคำว่าอุดมการณ์สักเล็กน้อย ว่าคำๆนี้มีการใช้ในหลายความหมายด้วยกัน ทั้งในความหมายบวกและความหมายลบ อย่างไรก็ดีก่อนที่จะอธิบายเรื่องนี้ต่อไป กระผมอยากชี้ให้เห็นว่าเหตุผลหนึ่งที่จำเป็นจะต้องนำเอาเรื่องของอุดมการณ์มาพูดถึงในการรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้นก็เพราะมักจะมีการพูดถึงเรื่องของ "เหตุการณ์เดือนตุลา" ซึ่งมักเป็นการพูดถึงเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันระหว่าง 14 ตุลา 2516 มาจนถึง 6 ตุลา 2519 ในฐานะของการเมืองที่กำกับโดยอุดมการณ์ที่ต่างชุดกันไป และมักจะมีข้อโต้เถียงกันเสมอว่า ตกลงการเมืองที่กำกับด้วยอุดมการณ์นั้นเป็นการเมืองที่พึงปรารถนาหรือไม่? อาทิ เป็นการเมืองที่ถูกชักจูงโดยผู้อื่น หรือเป็นการเมืองในอุดมคติของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่งและในช่วงชีวิตหนึ่งๆ รวมทั้งการตั้งคำถามในแง่ของการเสนอและการวิพากษ์วิจารณ์ถึงอุดมการณ์ที่เหมาะสมกับการเมืองไทยในยุคต่อมา 
กล่าวโดยสรุป ผมขอแบ่งเรื่องคำนิยามของอุดมการณ์ออกเป็นสักสี่ประการเพื่อชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของความหมายในเรื่องนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เราตั้งหลักในเรื่องของอุดมการณ์อย่างรอบด้านและมีความเข้าอกเข้าใจในเรื่องนี้จากหลากหลายมุมมอง
 
หนึ่ง อุดมการณ์ในความหมายบวก เป็นความหมายของชุดความคิดในสังคมใหม่ที่เป็นอิสระจากชุดความคิดทางศาสนา และสังคมศักดินา
สอง อุดมการณ์ในความหมายที่ไม่บวกไม่ลบ แต่หมายถึงชุดความคิดที่กำกับการมองโลกและการเปลี่ยนโลกของเรา ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ต่างๆที่เรายึดถือ เช่น อุดมการณ์เสรีนิยม อุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม อุดมการณ์สังคมนิยม และอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่หากมองในเรื่องนี้อีกที อุดมการณ์อาจหมายถึงสิ่งที่มีความเป็นบวกมากกว่าลบ ในความหมายว่า คนเราจำเป็นต้องมีบางอย่างยึดถือยึดเหนี่ยวเอาไว้และคงเส้นคงวาทางความคิด มากกว่าพวกที่ไม่มีอุดมการณ์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง อุดมการณ์อาจมีความหมายในทางลบมากกว่าบวก ในความหมายว่า เพราะมีอุดมการณ์จึงมองไม่เห็นความเป็นจริงของสังคมที่อาจไม่ได้สวยหรูเหมือนอย่างที่ฝันเอาไว้ ในแง่นี้อุดมการณ์อาจหมายถึงสิ่งที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ และการมีอุดมการณ์กำกับการกระทำอาจสร้างปัญหาเสียมากกว่า
สาม อุดมการณ์อาจหมายถึงสิ่งที่ครอบงำเรา เป็นสิ่งที่หลอกลวงเรา ทั้งจากผู้คนที่คิดอุดมการณ์นั้นขึ้นมา หรือจากสภาพทางสังคมที่จำเป็นจะต้องหลอกลวงเรา เพื่อให้เรานั้นสืบสานความสัมพันธ์ทางสังคมบางอย่างต่อไป ในความหมายนี้เราอาจนึกถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกผลิตจากนักการเมืองหรือกลุ่มทางการเมือง หรือเราอาจหมายถึงอุดมการณ์ในความหมายที่เป็นควมจำเป็นในการสืบสานความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือบางชนชั้นก็เป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ เรามิได้หมายความว่าจะไม่มีความเป็นไปได้ในการต่อสู้โค่นล้ม หรือท้าทาย รวมทั้งต่อรองกับอุดมการณ์เหล่านั้นได้
สี่ หมายถึงการตั้งคำถามว่าความจริง โดยเฉพาะความจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เรียกว่าข้อเท็จจริงนั้นอาจจะเป็นอุดมการณ์ก็ได้ นั่นก็คือความจริงหรือการแสวงหาข้อเท็จอาจทำหน้าที่บางอย่าง ยิ่งในวันนี้เราจะยิ่งพบว่า การพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า "ความจริงเพื่อความปรองดอง" นั้นกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแสวงหาความจริงและข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งที่ว่าความจริงนั้นเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด หรือเป็นบางส่วนเพื่อนำไปสู่ความปรองดองแต่ก็ปกปิดอีกหลายส่วนเอาไว้
มาจนถึงส่วนนี้กระผมก็ขอโทษท่านผู้ฟังที่ได้อภิปรายเรื่องราวของหลักวิชาบางประการเสียจนยืนยาว และบางทีอาจจะดูไม่เกี่ยวกับหัวข้อและบรรยากาศ รวมทั้งความคาดหวังของผู้ฟังมากนัก แต่กระผมก็ตั้งใจที่จะชี้ให้ท่านผู้ฟังเข้าใจว่า เมื่อพูดถึงคำว่าอุดมการณ์นั้น คำว่าอุดมการณ์นั้นมีความสลับซับซ้อน ในแง่ของทั้งการวิเคราะห์ และการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งสิ่งที่มีเสน่ห์อย่างมากของคำว่าอุดมการณ์ก็คือการมีนัยยะของการต่อสู้และปฏิบัติกาทางการเมืองอยู่ในนั้นด้วย นั้นหมายความว่า เมื่อพูดถึงอุดมการณ์ไม่ว่าจะในแง่บวกหรือลบ เราก็มักมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างอุดมการณ์ใหม่ๆขึ้นมาด้วย ไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่ได้ตั้งใจ อาทิ การวิพากษ์วิจารณ์อุดมการณ์ หรือวิจารณ์ว่าบางอย่างนั้นเป็นอุดมการณ์หรืออุดมคติมากไป เราก็แฝงนัยยะของอุดมการณ์แบบอื่นๆอยู่เบื้องหลังอยู่ดี
 
ส่วนที่สอง - ว่าด้วยเรื่องคนรุ่นหลัง 6 ตุลา 
 
ในส่วนนี้จะว่าด้วยเรื่องของการนิยามความหมายของ "คนรุ่นหลัง 6 ตุลา" ซึ่งมีทั้งนัยยะของความหมายทางประวัติศาสตร์ และความหมายในแง่คิดเชิงทฤษฎีสักเล็กน้อย
ในแง่ความหมายทางประวัติศาสตร์ คนรุ่นหลัง 6 ตุลา หมายถึงอะไรที่ตรงตัวมากๆ นั่นก็คือคนที่เกิดหลังจากเหตุการณ์ ซึ่งถ้าจะนับว่าเหตุการณ์นั้นเกิดมา 36 ปีแล้ว ก็ย่อมหมายถึงว่ามีคนจำนวนมากมายมหาศาลที่ไม่ได้ผ่านเหตุการณ์ในครั้งนั้น มิพักต้องกล่าวถึงผู้คนที่เกิดอยู่ในยุคนั้นแต่อายุยังน้อย หรือไม่มีสถานภาพของนักศึกษา หรือผู้ที่มีตำแหน่งแห่งที่ทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องด้วย 
 
ในความหมายเชิงทฤษฎีในระดับที่ง่ายที่สุด คนรุ่นหลัง 6 ตุลา ก็คือคนที่เป็นผลผลิตจากการต่อสู้ทางการเมืองและการต่อสู้ทางอุดมการณ์จากเหตุการณ์ในยุคนั้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการต่อสู้นั้นยังไม่ได้สิ้นสุดลงเสียทีเดียว ดังที่ผู้ที่สนใจในเรื่องดังกล่าวได้พบว่าเรื่องราวของเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้นไม่ได้ถูกกลบฝังลงอย่างง่ายๆ แต่ขณะเดียวกันเส้นทางการสถาปนาความทรงจำและอุดมการณ์ของเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าจะมีทิศทางไปในทางก้าวหน้าหรือทางบวกเสมอไป
ในส่วนนี้จะขอขยายรายละเอียดอยู่สักหน่อย อย่างในกรณีกระผมเองนั้น ก็เกิดขึ้นมาในครอบครัวของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ในปี 2514 และไม่ได้มีความทรงจำใดๆเกี่ยวกับเรื่องเหตุการณ์เดือนตุลา ทั้ง 2516 และ 2519จนถึงระดับมัธยมปลาย สักตอนต้นทศวรรษที่ 2530เมื่อมีโอกาสเริ่มสนใจการศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง และเริ่มที่จะสนใจเรื่องราวของเหตุการณ์เดือนตุลาเข้าจริงๆก็เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแล้ว
 
กระผมยังจำได้ดีว่าในสมัยที่กระผมนั้นเป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น คือในช่วง 2531-2533 งานรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาฯที่จุฬานั้นเป็นงานที่จัดขึ้นล่วงหน้าเดือนตุลาจริงๆเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน ด้วยเหตุผลที่ได้รับฟังมาว่า เพราะว่าถ้าจัดในเดือนตุลานั้นจะเป็นช่วงเวลา "ปิดเทอม" ดังนั้นอาจจะไม่มีคนสนใจมากนัก อีกทั้งในความรู้สึกของผมเองนั้น หากจะเข้าถึงการระลึกถึงเหตุการณ์เดือนตุลาจริงๆแล้ว ก็จะต้องมาเข้าร่วมงานที่ธรรมศาสตร์ แต่ผมจำรายละเอียดเหตุการณ์ได้ไม่มากนัก จำได้ว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากนักในบางส่วน แต่ในบางส่วนก็เปลี่ยนแปลงไปมาก
 
ผมขอยกตัวอย่างความประทับใจในเหตุการณ์การรำลึกในยุคนั้นๆ ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากจนถึงช่วงก่อน 2535 นั่นก็คือ การรำลึกถึงเหตุการณ์เดิอนตุลานั้นจัดร่วมกันทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 คือมองว่าเป็นเรื่องของเหตุการณ์เดือนตุลา และเนื้อหาของงานนั้นก็จะมีทั้งการรำลึกถึงเหตุการณ์ การพยายามพูดถึงการแสวงหาความจริงของเหตุการณ์ รวมทั้งมีการนำเสนอบทกวีและการแสดงดนตรีเพื่อชีวิต และในยุคก่อนที่สื่อด้านอื่นๆจะมีอิทธิพล การหาซื้อสมุดภาพเหตุการณ์ที่บันทึกเรื่องราวซึ่งไม่สามารถรับรู้ได้จากสื่อสาธารณะ หรือจากตำราเรียน ทำให้รู้สึกว่าเราได้เข้าถึงความจริงที่ถูกปกปิด และรู้สึกถึงความเลวร้ายของระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะการปกครองของทหาร และทัศนคติของทหารต่อการเมือง แต่กระนั้นก็ตามก็ต้องเน้นยำ้ตามความทรงจำว่า การระลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มักจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ตุลาโดยรวม เหมือนกับเป็นจุดสิ้นสุดของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เสียมากกว่าที่จะพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ในลักษณะอื่นๆและใหม่ๆ ดังที่จะพูดถึงในลำดับต่อไป
 
  นอกจากนี้แล้ว สำหรับคนรุ่นใหม่กลุ่มเล็กๆในสมัยนั้น งานระลึกถึงเหตุการณ์ก็เป็นโอกาสที่จะได้มาสะสมหนังสือทฤษฎีวิพากษ์วิจารณ์สังคม หรือที่เรียกว่าทฤษฎีฝ่ายซ้ายด้วย รวมทั้งชีวประวัติของวีรบุรุษเดือนตุลาของเราหลายๆคน 
สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในตัวการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งผมอยากจะกล่าวเพิ่มเติมในช่วงที่สามนั้น ในทัศนะของผมก็คือ การกลับมาของอดีตคนหกตุลา ซึ่งกลายมาเป็นผู้นำของการเมืองทางภูมิปัญญาทางรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย ซึ่งทำเกิดการตั้งคำถามใหม่ๆกับความรู้และการเมืองของประเทศ และในขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงในแนวคิดทฤษฎีในการเข้าใจและเปลี่ยนแปลงสังคมก็มีความเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของแนวคิดด้านมาร์กซิสม์ ซึ่งมีทั้งในส่วนของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการนำเข้าทฤษฎีใหม่ๆที่พ้นไปจากทฤษฎีมาร์กซิสม์ แต่ก็ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการตั้งคำถามสำคัญต่อเรื่องอุดมการณ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรื่องของอุดมการณ์ชาตินิยม อุดมการณ์กษัตริย์นิยม อุดมการณ์ประฃาธิปไตย และอุดมการณ์ทุนนิยม 
 
นอกจากนี้แล้วหากเราพิจารณาตัวเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในของการรำลึกถึงเหตุการณ์นั้นเราก็จะพบว่ามีความเป็นพลวัตรสูง จาก ในยุคที่ไม่ได้มีการรำลึกถึงเหตุการณ์ (ซึ่งสำหรับประสบการณ์ของผมนั้นอาจจะไม่ได้ชัดเจนมากนัก เพราะในการรับรู้เรื่องราวตั้งแต่สมัยสัก 2531 มาแล้ว ก็มีการพูดถึงได้มากขึ้น) มาจนถึงการรำลึกถึงเหตุการณ์มากขึ้น และมาถึงการตั้งคำถามกับเรื่องราวในระดับอุดมการณ์ของประเทศนี้ จนบางทีผมอาจจะคิดเลยเถิดไปว่า ในด้านหนึ่งการระลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เองอาจจะไม่สามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ด้วยเงื่อนไขหลายๆด้านที่พูดได้หรอพูดได้แต่เสียง แต่ในอีกด้านหนึ่งการต่อสู้ทางอุดมการณ์อันเป็นผลผลิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาเองนั้นอาจทำหน้าที่ใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงสำหรับคนรุ่นใหม่และในสถานการณ์ใหม่ๆ อาทิ การตั้งคำถามถึงความรุนแรงในเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 และ เมษา-พฤษภา 2553 เป็นต้น ทั้งนี้เพราะว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้นกลายเป็นว่าไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้ายที่เกิดความรุนแรงและสูญเสียกับประชาชนและกับทุกฝ่าย (ซึ่งหมายถึงการสูญเสียความชอบธรรมในการครองความคิดในระยะยาวอย่างต่อเนื่องของฝ่ายที่เชื่อว่าตนได้รับชัยชนะในช่วงแรกด้วย) ดังที่ได้กล่าวถึงแล้่วว่ามีอีกหลายเหตุการณ์หลังจากนั้นที่ดูจะร่วมสมัยมากกว่า แต่ทั้งนี้กระผมก็ยังคิดว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้นมีนัยยะสำคัญยิ่งต่อความเข้าใจต่อปรากฏการณ์และการต่อสู้ทางการเมืองจากวันนั้นจนถึงวันนี้
ในอีกด้านหนึ่ง หากจะมองถึงผลผลิตจากการต่อสู้ในเรื่องของความทรงจำของเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ของคนรุ่นหลัง 6 ตุลาในภาพกว้าง ก็คงไม่อาจจะบอกได้ว่าเป็นไปในลักษณะของการจดจำไม่ได้ หรือไม่รับรู้เสียทีเดียว หรืออยู่ในสภาวะที่รับรู้อย่างสลับซับซ้อน อิหลักอิเหลื่ออย่างที่ปัญญาชน 6 ตุลา ได้ถกเถียงอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง กล่าวคือ สิ่งที่ปรากฏตัวขึ้นของรูปการณ์จิตสำนึกของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้นดูราวกับได้กระทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์อย่างสมบูรณ์แล้วในยุคของการเริ่มต้นพัฒนาประชาธิปไตยใหม่หลังจาก 2531 ที่มีรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง และแม้จะมีการสะดุดหยุดลงไปบ้างในช่วง 2534 ผ่านการรัฐประหารของ รสช ก็จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง 2535 ก็ทำให้วิถีการโคจร (trajectories) ของประชาธิปไตยนั้นดูเหมือนจะย้อนกลับได้ยาก แม้ว่าจะต้องเผชิญกับ การรัฐปะรหารอีกครั้งในปี 2549 ก็ตาม 
 
ด้วยวิธีการมองเช่นนี้ ที่มองว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้นถูกจดจำมาบ้างแล้วนั่นก็คือ เหตุการณ์ 6 ตุลาได้หน้าที่ที่สมบูรณ์แล้ว นั่นก็คือการเป็นที่มาของประชาธิปไตยในวันนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของพัฒนาการของประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งถือเป็นระบอบการปกครองที่เป็นการประนีประนอมอำนาจกันระหว่างอำนาจเผด็จการทหารและข้าราชการกับพลังประชาธิปไตยในระดับที่เหมาะสมจนแทบจะเป็นฉันทามติในวงการรัฐศาสตร์ในช่วงก่อน 2531 โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับความสำเร็จทางการเมืองและเศรษฐกิจของพลเอกเปรมในยุคนั้น ผ่านนโยบาย 66/23 และ การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจด้วยคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน 
 
รูปธรรมที่สำคัญก็คือประสบการณ์ในการเรียนการสอนของผมในคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับนิสิตนับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ก็จะพบกับการพูดถึง "เหตุการณ์ 16 ตุลา" ในความหมายของการควบรวมเวลาและสถานที่ (ภาษาที่ดัดจริตหน่อย อาจจะหมายถึง time-space compression) ของเหตุการณ์เดือนตุลาทั้งสองเหตุการณ์เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยโครงเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ เป็นเหตุการณ์ต่อต้านเผด็จการทหาร ที่เกิดจากการลุกฮือขึ้นของนักศึกษา และการล้อมปราบนักศึกษา แต่สิ่งเหล่านั้นย่อมกลายเป็นอดีต ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพวกเขา ซึ่งในแง่หนึ่งเราอาจจะมองได้ว่า แม้ว่าในรายละเอียดของเหตุการณ์นั้นอาจจะไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด แต่รูปการณ์จิตสำนึกเช่นนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นความคาดหวังหรือเป้าหมายของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือคนรุ่นตุลา ไปเสียทั้งหมด แต่ผมกลับรู้สึกว่าในระดับหนึ่ง เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ได้ถูกประทับเข้าไปไว้ในความทรงจำบางส่วนของคนรุ่นหลัง 6 ตุลา ผ่านการกล่าวถึงในตำราเรียน และในความทรงจำในสาธารณะในระดับหนึ่งไปแล้ว แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นไปในแบบที่เป็นไปตามข้อเท็จจริง หรือเป็นไปในแบบที่คนรุ่น 6 ตุลาต้องการไปเสียทั้งหมด 
ในอีกมุมหนึ่ง หากมองถึงพัฒนาการของรูปการณ์จิตสำนึกของขบวนการนักศึกษาในภาพรวมนับตั้งแต่ยุค 2519 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในยุคสมัยนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดน้อยถอยลงของขบวนการนักศึกษาเสียทีเดียว หากแต่การเคลื่อนไหวในเรื่องของสิ่งแวดล้อมดูจะมีบทบาทสำคัญและนำไปสู่การทำความเข้าใจมิติของการเมืองในความหมายอื่นๆที่เหนือไปจากเรื่องของรัฐธรรมนูญ อำนาจรัฐและรูปแบบการปกครอง แต่เพียงเท่านั้น (นอกจากนี้แล้ว งานวิจัยชิ้นใหม่ๆ อย่างงานวิทยานิพนธ์ล่าสุดของ ภาคิไนย ชมสินมั่น ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ชี้ให้เห็นว่า บทบาทของขบวนการนักศึกษาในเมืองนับจาก 2520 หรือนักศึกษาที่ไม่ได้เข้าป่า นั้นก็มีส่วนสำคัญในการประคับประคองขบวนการนักศึกษาและต่อรองกับกระบวนการจรรโลงประชาธิปไตยนับจากการล้อมปราบเมื่อ 6 ตุลา 2519 และการเข้าป่าของแกนนำนักศึกษาจำนวนไม่น้่อย) ผมจึงคิดว่าใช่ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้นจะไม่ถูกจดจำ หรือจดจำได้ลำบาก หากแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ได้ถูกจดจำไปแล้วในแบบที่ "น้อยที่สุด" ที่จะไม่สร้างปมปัญหาใดๆให้กับการดำเนินต่อไปในสังคมในวันนี้เสียมากกว่า โดยเฉพาะยิ่งเมื่อมีการเสียดเย้ยกันทั่วไปว่า คนในยุคนั้นจำนวนหนึ่งที่เคยเป็นศัตรูกัน ก็สามารถที่จะย้ายขั้วย้ายข้างกันได้ ดังกรณีของ คุณสมัคร หรือ คุณจำลองเป็นต้น ก็ยิ่งทำให้การรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อยู่ห่างไกลจากเหตุการณ์ในวันนี้มากไปทุกที จนดูเหมือนว่าการไปรื้อฟื้นเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมากลับจะยิ่งทำให้การเดินหน้าของสังคมนั้นเป็นไปได้ลำบากในสังคม "ชาตินิยม" และ "สามัคคีนิยม" อย่างที่เป็นอยู่
 
รูปธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการตอกหมุดทองไปที่ผนังของตึกหนึ่งของอาคาร สำราญราษฎรบริรักษ์ หรือตึกหนึ่งของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงหลัง 2540 (ในยุคสมัยที่ ศ.ดร. ชัยวัฒน์ ค้ำชูเป็นคณบดี) เพื่อระลึกถึงศิษย์เก่าหนึ่งท่านที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 (หมายถึงคนที่ถูกแขวนคอในภาพ) นั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ เทียบเท่าหรือเสมอกับการระลึกถึงศิษย์เก่าสามคนที่เสียชีวิตกับการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่หากดูในรายละเอียดแล้วไม่ได้มีรายละเอียดในการบันทึกว่า ศิษย์เก่าที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้นเสียชีวิตเน่ืองจากเหตุการณ์นั้นมีรายละเอียดอย่างไร 
ในอีกด้านหนึ่ง อาจจะเป็นไปได้ว่าการมีที่ทางเล็กๆหรือน้อยที่สุดของเหตุการณ์ 6 ตุลา 19ไว้ในเหตุการณ์ “16 ตุลา" นั้นก็ดูจะสอดคล้องกันดีกับภาพรวมทางรัฐศาสตร์ในยุคสมัยทศวรรษที่่ 2520 ทีื่มุ่งเน้นการเสริมสร้างสถาบันทางการเมืองในความหมายของการกำหนดกฏเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญให้พรรคการเมืองในระบบเลือกตั้งนั้นมีบทบาทนำภายใต้ทฤษฎีความทันสมัยทางการเมืองในฐานะเสถียรภาพทางการเมือง และการก่อให้เกิดการร่วมงานระหว่างรัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลกภายใต้ทฤษฎี Corporatism ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้นเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป และการวางความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบเห็นพ้องต้องกันระหว่างแนวทางประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง และ การพัฒนาทุนนิยม แต่ต้องไม่แตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่เปลี่ยนแปลงรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจพ้นไปจากแนวทางการพัฒนาประเทศที่เป็นอยู่ (หรือเราอาจจะเรียกว่าความสมานฉันท์หลัง 6 ตุลา 2519 – The Great Post- 6 October 1976 Consensus) ดังนั้นการมีที่ทางขั้นต่ำที่สุดหรือน้อยที่สุดของเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ในความทรงจำสาธารณะจึงเป็นไปได้ แต่ต้องไม่มากนัก และมีไว้เพื่อเตือนใจถึงสภาวะที่ล้ำหน้า และมากเกินไปของการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่ ไม่เข้าใจ "ความเป็นจริงทางสังคม" ของประเทศ เสียมากกว่าการปฏิเสธเหตุการณ์ในครั้งนั้นเอาเสียเลย
 
แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ลืมที่จะตั้งคำถามว่าฉันทามติทางการเมือง และเศรษฐกิจหลังหกตุลานั้นได้พังทายลงหลายรอบ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่โลกาภิวัฒน์เท่านั้น ดังที่เงื่อนไขของการต่ออายุราชการของพเอกเปรมนั้นพังทลายลง ความพยายามในการทำรัฐประหารในยุคพลเอกเปรมถึงสองครั้งที่ผูกโยงกับความขัดแย้งกับราชสำนัก การถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่งของพลเอกเปรมจากปัญญาชน วิกฤติเศรษฐกิจ และความพยายามสถานาอำนาจของชนชั้นกลางผ่านระบอบปฏิรูปการเมืองแทนการใช้รัฐประหาร รวมทั้งรูปแบบการต่อรองใหม่ๆของขบวนการประชาชนและกำเนิดประชาสังคม รวมทั้งระบอบการเลือกตั้งและประชานิยมสมัยของทักษิณ ก็ล้วนแล้วแต่มีผลทำให้ฉันทามติของการเมืองและเศรษฐกิจหลัง 6 ตุลาคม นั้นเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย
 
กระผมขอย้ำก่อนว่าที่ได้กล่าวมาจนถึงบรรทัดนี้ ก็ไม่ได้ต้องการจะชี้ว่า สิ่งที่กระผมเสนอไปนั้นเป็นความถูกต้อง แต่ต้องการจะบอกว่าเรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะจากมุมมองของคนๆหนึ่งที่ไม่ได้ผ่านเหตุการณ์นั้นมาโดยตรง แต่จากวันนี้ไปจนถึงวันข้างหน้า คนแบบกระผมก็คงจะต้องมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้นก็จะยิ่งดูไกลตัวไปมากขึ้นเรื่อยๆ ในด้านหนึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ในส่วนที่สามซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของการพูดของกระผมในวันนี้ กระผมคงจะได้อธิบายเพิ่มเติมไปว่า มีประเด็นอะไรที่เราเรียนรู้จากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และการระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในฐานะการต่อสู้ทางอุดมการณ์มาจนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
 
ส่วนที่สาม - เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในฐานะของอุดมการณ์ และการต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์จาก ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จนถึงปัจจุบัน 
 
ดังที่กระผมได้กล่่าวไปแล้วในช่วงต้นในส่วนของความสลับซับซ้อนของความหมายของคำว่าอุดมการณ์ กระผมก็อยากจะตอกย้ำให้เห็นว่าเมื่อพูดถึง เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และปรากฏการณ์คนรุ่นหลัง 6 ตุลา นั้นก็จะพบว่า กระบวนการสร้างความทรงจำและย้อนรำลึกถึงตัวเหตุการณ์เองไม่ว่าจะด้วยการกล่าวถึงเหตุการณ์ และการจัดงาน รวมทั้งการวิเคราะห์เหตุการณ์นั้นมีนัยยะของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในความหมายเชิงบวก เชิงลบ หรือนัยยะที่มีความก้ำกึ่งกัน แต่กระนั้นก็ตาม กระผมอยากจะหยิบยกเอามิติสำคัญสักสี่มิติมาอภิปรายเพิ่มเติม ในการพูดครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดนี้กระผมคิดขึ้นเอง หากแต่กระผมคิดว่ากระผมได้พยายามทำหน้าที่รวบรวมและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เข้ากับ เรื่องของคนรุ่นหลัง 6 ตุลา และความร่วมสมัยของเหตุการณ์ในวันนี้
โดยกระผมขอเสนอมิติสำคัญในเรื่องการต่อสู้ทางอุดมการณ์ 4 มิติ ซึ่งแม้ว่าจะมีความเชื่อมโยงกัน แต่ก็มีความโดดเด่นเป็นตัวเองด้วย ได้แก่ 1. ว่าด้วยเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยและขบวนการเคลื่อนไหวของประชาธิปไตย 2. ว่าด้วยเรื่องของการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ 3. ว่าด้วยเรื่องของอนาคตของการรำลึกถึงตัวเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เอง และ 4. ว่าด้วยเรื่องบทเรียนของเหตุการและการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กับสถานการณ์ความปรองดองในวันนี้
 
3.1ว่าด้วยการทำลายเอกภาพของการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลากับการตั้งคำถามกับพัฒนาการของประชาธิปไตยไทย
เดิมทีนั้น เหตุการณ์ เดือนตุลา หรือการจดจำเหตุการณ์เดือนตุลาของคนรุ่นหลังเดือนตุลานั้นดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องราวที่สมบูรณ์แบบในตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยการเฉลิมฉลองให้วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันประชาธิปไตยของชาติ (แม้ว่าจะเรียกว่า 14 ตุลา ประชาธิปไตย) และการเฉลิมฉลองว่าบรรดา "คนเดือนตุลา" นั้นได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างเปิดเผยในสังคมประชาธิปไตยเลือกตั้ง และการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยโดยเฉพาะนับจากเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม จะพบว่าการต่อสู้เรียกร้องในการรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ได้นำไปสู่พัฒนาการทางภูมิปัญญาของการวิเคราะห์การเมืองและพัฒนาการทางการเมืองที่กว้างขวางลึกซึ้งขึ้นไปจากการเรียกร้องในระดับของการบันทึกเหตุการณ์ความสูญเสีย (หรือรายชื่อและสมุดภาพ) มาสู่การตั้งคำถามถึงลักษณะเฉพาะในทางประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยในแบบ 14 ตุลา 2516 มากกว่าการมองแบบรัฐศาสตร์ในแบบเดิมในความหมายของการลุกฮือขึ้นของประชาชนในการได้มาซึ่งประชาธิปไตยในแบบที่เป็นสากล
 
กล่าวคือจากเดิมที่การศึกษาลักษณะสำคัญของพัฒนาการประชาธิปไตยในช่วงนั้นตกอยู่ในการศึกษาในแบบที่ว่า ประชาธิปไตย 2516 นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากเป็นสิ่งที่ฝืนกาลเวลา ด้วยว่าเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและแช่แข็งทางการเมืองเอาไว้นับเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจากยุคสฤษดิ์เป็นต้นมา และขณะเดียวกันลักษณะความเป็นสากลของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจและชนชั้นใหม่นั้นก็จำเป็นจะต้องปะทะกับความเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยที่ไม่สามารถที่จะไปไกลไปกว่านี้ (นั่นคือเป็นสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ไม่ได้ หรือเลือกตั้งทั้งหมดโดยทันทีไม่ได้) ดังนั้นประชาธิปไตยไทยจึงจำต้องมีลักษณะของสภาวะครึ่งใบและค่อยเป็นค่อยไป การตั้งคำถามใหม่ๆย้อนกลับไปต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้นเริ่มยกระดับจากการอธิบายในแบบเดิมมาสู่ความเข้าใจในลักษณะของความขัดแย้งทางชนชั้น (หรือสภาวะลงแดงหรือโหยหาความมั่นคงทางการเมืองของบางชนชั้น) หรือรวมถึงการเริ่มอธิบายถึงชุดความคิดและอุดมการณ์บางประการที่ทำให้การใช้ความรุนแรงในการล้อมปราบประชาชนนั้น "เป็นไปได้" และ "คิดได้" แทนที่จะมองแค่ว่าการใช้ความรุนแรงนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะบ้านเมืองนั้นเกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่เกินไปจากสิ่งที่เป็นสมดุลย์ของสังคม ดังนั้นจึงพบว่าการตั้งคำถามกับความยอกย้อนของความเป็นไทยหรือชาตินิยมที่ในทางรัฐศาสตร์เคยมองว่าเป็นพลังเชิงบวกที่หล่อหลอมผู้คนเข้าด้วยกัน ได้กลายเป็นการวิเคราะห์ว่าเป็นพลังในทางการทำลายล้างผู้คนในชาติเดียวกันเสียมากกว่า 
 
นอกจากนั้นแล้ว อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาพัฒนาการของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้นได้เริ่มตั้งคำถามกับคำอธิบายและความคาดหวังของการเข้ามามีบทบาทเชิงรุกของพระมหากษัตริย์ต่อพัฒนาการประชาธิปไตยก็มีมากขึ้น นับเนื่องมาจากการอธิบายภาพบทบาทสำคัญของพระมหากษัตริย์ในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสมัย 14 ตุลา 2516 และ พฤษภาทมิฬ2535 นับตั้งแต่การมองว่าประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การได้มาซึ่งประชาธิปไตยในแบบ 14 ตุลา 2516 นั้นไม่สามารถแยกออกจากการผลิตอุดมการณ์ความเชื่อมโยงประชาธิปไตยกับบทบาทเชิงรุกของสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเรื่องของการเรียกร้องประฃาธิปไตยซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนได้รับจากพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ รวมทั้งการแต่งตั้งคนดีอย่างอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีและองคมนตรีในระยะต่อมา และการริเริ่มให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญจากกลุ่มตัวแทนที่หลากหลายในสมัย 2517 การตั้งคำถามถึงลักษณะของประชาธิปไตยแบบพิเศษที่ยึดโยงกับพัฒนาการของประวัติศาสตร์ของไทยเองที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบราชาชาตินิยมจึงเป็นคำอธิบายที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นกว่าการทำความเข้าใจว่าประชาธิปไตยแบบ 2516 นั้นมีลักษณะสากลแต่ไม่ยั่งยืนจนกว่าจะต้องทำให้เป็นครึ่งใบภายใต้ทุนนิยม (The Post October 1976 Consensus) มาสู่การอธิบายว่าประชาธิปไตยแบบ 2516 นันไม่ได้มีความเป็นสากลตั้งแต่แรก และพลังเคลื่อนไหวประชาธิปไตยได้ประกอบสร้างความเป็นท้องถิ่น/ความเป็นไทยเข้าไปในการเคลื่อนไหวตั้งแต่แรก 
 
นัยยะสำคัญในส่วนนี้ทำให้เกิดคุนูปการสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์พัฒนาการของประชาธิปไตยไทย จากสำนักคิดที่มองว่าเหตุการณ์เดือนตุลาทั้งก้อนนั้นเป็นความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ที่สามารถมองว่าเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องหนึ่งเดียวและสะท้อนซึ่งความก้าวหน้าของสังคมที่สะดุดชงักลงเพราะพลังเผด็จการที่ฝืนกระแส มาสู่การตั้งคำถามถึงปมปัญหาของพัฒนาการของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของไทย โดยเฉพาะในหมู่ของนักศึกษา-ปัญญาชนนับจากยุคนั้นมาจนถึงยุค "นายกพระราชทาน" เมื่อไม่นานมานี้ 
 
ดังนั้นการทำความเข้าใจพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยนับจากการย้อนรำลึกและลงหลักปักฐานของประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 นั้นจึงทำให้เรามีความเข้าใจที่ซับซ้อนถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยมากขึ้นและไม่มองว่าทิศทางของการพัฒนาทางประวัติศาสตร์นั้นมีองค์เอกภาพเดียว หากแต่เต็มไปด้วยรอยปริของความไม่เป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น และการมองเช่นนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในสิ่ที่ทำให้ฉันทามติของการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 นั้นเปราะางและพังทลายลง
 
3.2 ว่าด้วยการปลุกระดม และการเชื่อมโยงพระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์กับการเมือง
นอกเหนือจากการกล่าวถึงความคาดหวังในเชิงบวกและการอธิบายบทบาทในเชิงบวกของสถาบันกษัตริย์ในการพัฒนาการทางการเมืองไทยหลังจาก 14 ตุลา 2516แล้ว คงจะหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่ใบอนุญาติใช้ความรุนแรงของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้นก็คือการปลุกระดมให้เกิดการมองสถานการณ์และการใช้ความรุนแรงโดยสื่อมวลชน โดยเฉพาะในเหตุการณ์การตีความเรื่องของกรณีการแสดงละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการจงใจหมิ่นองค์รัชทายาท รวมทั้งการกล่าวหาว่าผู้ที่มาชุมนุมนั้นไม่ใช่คนไทย และไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ
 
ในรายละเอียดนั้นมีการค้นพบเพิ่มเติมว่าประเด็นเรื่องของการตัดต่อภาพนั้นไม่ใช่เรื่องหลักเท่ากับการปลุกระดมอย่างต่อเนื่องของทั้งกลไกรัฐและสื่อมวลชนทั้งรูปแบบของวิทยุและสิ่งพิมพ์
อย่างน้อยในระยะ 36 ปีที่ผ่านมานั้น แม้ว่าในส่วนของการคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19นั้นอาจไม่ได้รับการเยียวยาตามความเข้าใจและการปฏิบัติในยุคปัจจุบัน แต่อย่างน้อยข้อกล่าวหาในเรื่องของการล้มล้างสถาบันของผู้ชุมนุมนั้นก็ได้หายไปแล้วเป็นส่วนมาก (อย่างน้อยในระดับของการกล่าวหาถึงการเป็นกองกำลังติดอาวุธ หรือขบวนการจัดตั้งในหมู่ผู้ชุมนุม) และที่สำคัญก็คือการอธิบายถึงบทบาทของกลไกรัฐและสื่อที่ทำการปลุกระดมจนนำไปสู่ความรุนแรงนั้นก็ไม่สามารถจะถูกปฏิเสธต่อไปได้อีกต่อไป แต่คำถามที่ต้องคิดเอาไว้ก็คือ เท่าที่ทราบนั้นไม่ได้มีการดำเนินคดีหรือตั้งข้อหากับการปลุกระดมและการจัดตั้งกลไกต่างๆของรัฐในการใช้ความรุนแรงกับความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมได้ และดูเหมือนกับว่าสิ่งนี้จะยังสามารถดำเนินต่อไปในสังคมได้จนถึงวันนี้ในรูปแบบที่เหมือนเดิม หรือซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม
 
กล่าวให้ชัดขึ้นก็คือ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากว่าสังคมนั้นจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือมีความเห็นที่แตกต่างในระดับที่ไม่ได้เห็นพ้องต้องกัน หากแต่ความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างไรก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะผดุงเอาไว้ซึ่งความชอบธรรมและเป็นธรรมในสังคม มาจนถึงวันนี้นับเนื่องจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มาจนถึงความล่าช้าในการดำเนินคดีในหลายคดีในปัจจุบัน สิ่งที่เราพบก็คือการปลุกระดมในระดับที่โกหก หรือกล่าวหาผู้อื่นนั้นดูจะเป็นสิ่งที่รับได้ในสังคมไทย เท่าที่ยังอ้างได้ว่าการกระทำทั้งหมดทำไปเพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ โดยไม่ได้เห็นเลยว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะความคิดเห็นที่แตกต่างกันของประชาชนก็ควรถูกนับเข้าเป็นสถาบันหลักของชาติด้วย
 
และด้วยเงื่อนไขของการไม่ระงับยับยั้ง หรือระงับชั่งใจกับเงื่อนไขและวิธีการในการใช้ความรุนแรงทางกายภาพและความรุนแรงทางภาษากับความคิดเห็นที่แตกต่าง ภายใต้โครงสร้างของกฏหมายความมั่นคงและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่บ่อยครั้งอาจส่งผลที่กระทบกระเทือนถึงพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์มากขึ้นนับจากการบริหารจัดการความเห็นต่างที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับหลายฝ่ายที่มากขึ้นเรืื่อยๆ ย่อมไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า วัฒนธรรมการวิจารณ์และการวิเคราะห์ต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองที่หมินเหม่ไปถึงการแตะต้องสถาบันนั้นปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ และแยกออกได้ยากระหว่างความอาฆาตมาดร้าย การวิพากษ์วิจารณ์ตามหลักวิชา และสมัยนิยมของการวิพากษ์วิจารณ์ จนเรื่องทั้งหมดยากที่จะอธิบายว่าตกลงไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่
 
3.3 ว่าด้วยอนาคตของเหตุการณ์และการรำลึกถึง 6 ตุลา 2519 
ผมไม่แน่ใจว่าการรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้นจะสามารถไปถึงความจริงได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แล้วในวันนี้สักเท่าไหร่ หรือกล่าวอีกนัยยะหนึ่ง ผมไม่ได้คิดว่า เรามีกรอบง่ายๆในการมองเรื่องของ 6 ตุลา 19 เหมือนในยุคแรก นั่นก็คือ การปกปิดความจริงกับการเปิดเผยความจริง ทั้งนี้เพราะตัวอย่างกรณีข้อถกเถียงเรื่องของการจัดทำสารคดี 2475 ของโทรทัศน์สาธารณะช่องหนึ่งก็น่าจะเป็นบทเรียนที่สำคัญว่าเราสามารถหาความจริงและเล่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้แค่ไหน และจากมุมของใคร
 
ผมกำลังพูดถึงบทเรียนของการเปลี่ยนผ่านที่หลีกเลี่ยงได้ยากของการรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ว่า การรำลึกถึง 6 ตุลา 2519 กำลังเข้าไปอยู่ในมือของคนรุ่นหลัง 6 ตุลา มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า การรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อาจจะไม่ได้อยู่ในความหมายของขั้วสองขั้ว คือ การปกปิดความจริงของผู้มีอำนาจที่มีชัยชนะในวันที่ 6 ตุลา และการเปิดเผยความจริงมากขึ้นของผู้บริสุทธิ์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวแบบของการเขียนตำรา สร้างอนุสาวรีย์ หอประติมากรรม หรือเอกสารข้อมูลความจริงนั้นอาจไม่ใช่เรื่องทั้งหมดของหมุดหมายในการรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา จากวันนี้ไปถึงวันข้างหน้า
 
ผมกลับเห็นว่าเค้ารางสำคัญอันหนึ่งของการรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จากวันนี้จนถึงอนาคตกลับอยู่ที่การสร้างสรรศิลปะในแบบพานิชย์ หรืองานทางวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีจุดมุ่งหมายในเชิงพานิชย์และคามบันเทิงของคนหมู่มาก โดยเฉพาะบทบาทของภาพยนตร์และอาจจะไปถึงขั้นละคร ซึ่งตัวเหตุการณ์ 6 ตุลานั้นอาจจะไม่ใช่หัวใจสำคัญของเร่ืองราวเท่ากับการกลายเป็น "ฉากหลัง" ของเรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ดังตัวอย่างของภาพยนตร์ไทยในหลายๆเรื่องที่อ้างอิงถึงตัวเหตุการณ์เดือนตุลาในภาพรวม หรือในความหมายของ "เหตุการณ์ 16 ตุลา" หรือการฉายภาพการอ้างอิงความสยองขวัญของเหตุการณ์เดือนตุลาในฉากของภาพยนตร์สยองขวัญ อย่างมหาวิทยาลัยสยองขวัญ และการฉายภาพความสนุกสนานและตลกรักโรแมนติคที่พัฒนาต่อเนื่องขึ้นมาของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อย่างกรณี ฟ้าใสใจชื่นบาน เป็นต้น
 
ผมจึงมีประเด็นในเรื่องนี้ฝากเอาไว้ในแง่ของการรำลึกถึงเหตุการณ์ในสองเรื่องด้วยกัน หนึ่งก็คือ ผมนึกย้อนกลับไปถึงหน้าที่เดิมของการรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในยุคที่ผมเติบโตขึ้นมา นั่นก็คือ การรำลึกถึงเหตุการณ์ รวมไปถึงการต่อสู้เรื่องของการเรียกร้องความจริงและประชาธิปไตยนั้นแยกไม่ออกกับการสร้างสรรและเผยแพร่ทฤษฎีทางสังคมที่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคม และความใฝ่ฝันของเราที่จะมุ่งไปสู่สังคมบางอย่างไปด้วพร้อมๆกัน นั่นก็คือเราคงจะต้องพูดถึงทั้งตัวเหตุการณ์ และวิธีการมองเหตุการณ์ หรือไปถึงตัวทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องของอุดมคติใหม่ๆของสังคมไปพร้อมๆกันในทุกๆครั้งที่เรารำลึกถึงเหตุการณ์ ทั้งในความหมายของการย้อนไปสู่ความเข้าใจที่มีต่ออดีต การทำความเข้าใจปัจจุบัน และ การมุ่งไปสู่อนาคต   
 
ผมนึกถึงคนอย่างอาจารย์ป๋วย ที่ท่านเป็นหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ และผมนึกถึงสิ่งที่ท่านพูดถึงอุดมการณ์ที่เรียกว่าสันติประชาธรรม ซึ่งผมคิดว่าเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญว่า นอกเหนือจากการแสวงหาความจริงแล้ว เราคงต้องแสวงหาตัวแบบที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ก็ดูจะห่างไกลจากความเป็นไปได้มากอยู่ 
สอง คือ ผมคิดว่าหน้าที่ของเหตุการณ์ 6 ตุลา ในการเป็นฉากหลังที่ส่งสารเรื่องอื่นๆต่อไปข้างหน้า ซึ่งอาจมีการอธิบายและตีความแตกต่างกันไปเรื่อยๆ ทั้งที่เคร่งครัดและเอาจริงเอาจัง หรือไม่เคร่งครัด ดังในกรณีของภาพยนตร์ต่างๆนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดูจะดำเนินสืบไปมากขึ้น และหลีกเลี่ยงได้ยาก และในความเห็นของกระผมนั้นก็ไม่ควรจะหลีกเลี่ยงแต่อย่างใด หากแต่ควรจะเผชิญหน้าและเปิดเผยความรู้สึกและความเข้าใจของเราที่มีต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มากขึ้นเรื่อยๆ 
 
ตัวอย่างที่สำคัญล่าสุดที่น่าจะนำมาเทียบเคียงได้ ก็คือ ข้อถกเถียงและข้อเสนอต่างๆที่คณะนิติราษฎร์นั้นมีต่อปัญญาชนของระบอบรัฐประหาร ซึ่งทำให้เกิดการต่อสู้ทางความคิดของการอธิบายและตีความการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เสียใหม่ ด้วยในทางหนึ่งนั้นปัญญาชนของระบอบรัฐประหารก็พยายามอธิบายการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 เพื่อลดทอนข้อกล่าวหาในการทำลายประชาธิปไตยของพวกตน และถ้าย้อนดูดีๆ ก็จะพบว่าคณะนิติราษฎร์เองก็ไม่ได้ผู้ใดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ 2475 แต่ก็ได้อ้างอิงแรงบันดาลใจหลายประการจากการเคลื่อนไหวเมื่อ 2475  และเอาเข้าจริงคณะนิติราษฎร์นั้นก็เกิดหลังพวกที่ชอบอ้างอิง-ตีความ 2475 ในแง่ลดทอนเหตุการณ์ไปว่าเป็นการรัฐประหารไม่ต่างจากเหตุการณ์รัฐประหารอื่นๆเสียด้วยซ้ำ 
 
พูดง่ายๆก็คือ หนึ่งในแรงบันดาลใจที่สำคัญของการพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่เรายังไม่ได้พูดกันก็คือเรื่องพื้นฐานสุดๆก็คือ สิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบ สิทธิที่จะเห็นต่าง สิทธิที่จะต่อต้านเผด็จการ และการไม่ถูกล้อมปราบหรือถูกอธิบายด้วยสถานะของความเป็นอื่น หรือศัตรูของชาติ เรื่องนี้ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าการค้นหาความจริงว่าใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สั่งฆ่าประชาชน และนอกจากนั้นสิ่งที่เหตุการณ์ 6 ตุลาได้ฝากทิ้งไว้ให้เราด้วยดังที่มีการพูดถึงในปีก่อนๆ โดยเฉพาะปาฐกถาของพี่ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ก็คือเรื่องของทัศนะคติของเราหรือของสังคมที่มีต่อความรุนแรง  
 
3.4บทเรียนของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ถึงปรากฏการณ์ปรองดองธิปไตย 2555
หนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญของยุคสมัยนี้ก็คือการพูดถึงการค้นหาความจริงเพื่อความปรองดอง ซึ่งอาจจะดูแตกต่างไปจากการเรียกร้องหาความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งมักจะเสนอเรื่องของความจริงเพื่อความยุติธรรม หรือการเดินหน้าไปสู่ความปรองดองโดยไม่ต้องพูดถึงความจริง แล้วปล่อยให้ความจริงนั้นถูกประกอบสร้างจากส่วนต่างๆของสังคมที่หลากหลาย และเดินทางไปตามยะถากรรมของมันเอง ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญทั้งเกิดไปพร้อมๆกันของเหตุการณ์หลัง 6 ตุลา 2519 
 
ในอีกด้านหนึ่ง กระบวนเคลื่อนไหวในแง่ของการทวงคืนความทรงจำของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เองนั้นในบางส่วนก็ก้าวหน้าไปจนถึงขั้นของการตั้งคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกทำให้ลืม อะไรคือสิ่งที่ถูกจดจำ และอะไรคือสิ่งที่ยังอิหลักอิเหลื่อในการจำและสภาวะของการจำไม่ได้ ลืมไม่ลง แต่สิ่งเหล่านี้ก็ดูจะล่าช้าและเป็นคนละเรื่องกับกรอบการคิดใหม่ของเรื่องความปรองดองและการเยียวยาที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบันจากเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553  
 
ผมกลับรู้สึกว่าว่าบทเรียนสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็คือ แม้ว่าความยุติธรรม ความเยียวยาและความปรองดองของเหตุการณ์นั้นยังไม่บังเกิดและทำท่าจะแก่ชราไปด้วยตัวของมันเอง แต่การที่ไม่มีความจริงหนึ่งเดียวที่เห็นพ้องต้องกันกลับทำให้ความอิลักอิเหลื่อต่างๆนั้นมีชีวิตของมันต่อไปในแบบที่เป็นอยู่ แต่ก็เป็นความอิลักอิเหลื่อที่ประหลาดนั่นก็คือ ทำให้เกิดการอ้างอิงว่าเราไม่อยากให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่สิ่งนั้นอีก แต่เอาเข้าจริงโครงสร้างที่จะไม่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นอีกนั้นไม่ได้มีการแก้ไขอะไรไปมากนัก โดยเฉพาะเรื่องที่ผมพูดไปแล้วคือ ทัศนคติที่มีต่อความเห็นต่าง ทัศนคติที่มีต่อความรุนแรงและใบอนุญาติในการใฃ้ความรุนแรง รวมถึงความเชื่อมั่นว่าการทำรัฐประหารนั้นเป็นวิธีที่จำเป็นในการแก้ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง 
ผมไม่เชื่อว่าเราสามารถสร้างความจริงชุดเดียวที่เห็นตรงกันได้ภายหลังความรุนแรงทางการเมือง โดยเฉพาะการสร้างอภิมหาคำอธิบายถึงที่มาของเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง เพราะสิ่งเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับกรอบคิด และจุดยืนทางทฤษฎีและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของผู้คน แต่สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือการยืนยันหลักการที่จะต้องอยู่ร่วมกันภายใต้กฏกติกาบางอย่างที่เคารพถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการไม่ปกครองด้วยข้อยกเว้นเสียมากกว่าการมองว่าหน้าที่ของตนคือการกล่าวว่าทุกฝ่ายก็มีส่วนผิด ผมกลับรู้สึกว่าหน้าที่สำคัญของการสร้างความจริงเพื่อการปรองดองหรือเพื่อความปรองดองนั้นก็คือการยืนยันหลักการว่าทุกเรื่องราวที่คลางแคลงใจนั้นจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและกดดันนำหลักฐานมาเปิดเผยด้วยหลักการที่ว่าไม่ให้มีใครได้รับข้อยกเว้นในการไม่ถูกกล่าวหาและดำเนิินคดีที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย มากกว่ามานั่งอธิบายว่าทุกฝ่ายมีส่วนผิด ส่วนเร่ืองการเยียวยาเบื้องต้นที่ทำอยู่นั้นผมคิดว่ากระบวนการที่ดำเนินอยู่นั้นเป้ฯสิ่งที่น่าชมเชยยกย่อง   
 
กล่าวโดยสรุป โจทย์ข้อใหญ่จากวันที่ 6 ตุลา 2519 มาจนถึง 6 ตุลา 2555 สำหรับผมจึงยังอยู่ที่บรรยากาศของความรู้สึกที่ว่าเมื่อความรุนแรงทางการเมืองกำลังจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเห็นต่าง บ้านเมืองก็ไม่ได้มีกลไกใดๆที่จะป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะโจทย์เดิมๆของการชุมนุมโดยสงบก็ยังถูกให้ภาพจากข้อกล่าวหาและกลไกจำนวนมากที่ไม่สามารถลดความรุนแรงได้เลยทั้งจากของรัฐเองและของภาคส่วนอื่นๆทั้งที่มีเจตนาไม่ดีในการเอาชนะทางอำนาจ และทั้งที่เจตนาดีแต่ไม่เข้าใจเงื่อนไขพื้นฐานในหลายๆข้อ และย้อนกลับไปคิดว่าสุดท้ายเราคงยังไม่พ้นที่จะกล่าวถึงเรื่องของอุดมการณ์อยู่ดี แต่พูดถึงอุดมการณ์ในลักษระที่ซับซ้อนและเข้าอกเข้าใจและระมัดระวังมากขึ้นกว่าการมองว่าอุดมการณ์นั้นจะมีแต่ผลบวกหรือมีแต่ผลลบเท่านั้น 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net