Skip to main content
sharethis

ชมแบบ HD คลิกที่นี่

ชาวพม่าหลายร้อยคนมาร่วมเทศกาล "สนทนากับนักเขียน" หนึ่งในธรรมเนียมของชาวพม่าที่นิยมเชิญนักเขียนหรือผู้มีความรู้มาบรรยายเรื่องวรรณกรรมและเรื่องทางสังคมต่างๆ 

เซาก์ อู หล่าย ในงาน "สนทนากับนักเขียน"

ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับ ออ ปิ จาล นักวาดการ์ตูน

(7 ต.ค. 55) ในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดหลังทำงานมาตลอดสัปดาห์ ชาวพม่าหลายร้อยคนในย่านอุตสาหกรรมของมหาชัย จ.สมุทรสาคร ได้ใช้เวลาในวันหยุดนี้จัดเทศกาล "สนทนากับนักเขียน" ซึ่งเป็นหนึ่งในธรรมเนียมของชาวพม่าที่นิยมเชิญนักเขียน ผู้มีความรู้มาบรรยายในเรื่องวรรณกรรม และเรื่องทางสังคมอื่นๆ โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นที่วัดเทพนรรัตน์ จ.สมุทรสาคร โดยเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN)

สำหรับนักเขียนที่เดินทางมาพบปะกับชาวพม่าในวันนี้ได้แก่ ถั่น มิ้นท์ อ่อง (Than Myint Aung) นักเขียนและนักกิจกรรมทางสังคมจากสมาคมฌาปนกิจ Free Funeral Services Society ซึ่งในอดีตเคยถูกแบนจากสื่อของทางการพม่าเนื่องจากจัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ได้รับเชื้อเอชไอวีในพม่า เซาก์ อู หล่าย (Saung Oo Hlaing) นักร้องและนักแต่งเพลงซึ่งมีผลงานเพลงมาแล้วกว่า 400 เพลง และออ ปี จาล (Aw Pi Kyal) นักเขียนและนักวาดการ์ตูน มิน ตู่ ยะ (Myint Thu Ya) นักเขียนจากพม่า รวมถึงหลวงพ่ออะชิน วายามะ (Ashin Vayama) ซึ่งจำวัดที่ จ.สมุทรสาคร ก็มาร่วมกิจกรรมนี้ด้วย

โดยภายหลังการจัดงานเช่นเดียวกับงานพบปะนักเขียนทั่วไป บรรดา "แฟนคลับ" ก็ขอถ่ายรูปและขอลายเซ็นเป็นที่ระลึกจากนักเขียน ซึ่งชาวพม่ายังเรียกว่านักเขียนว่าเป็น "ซะหย่า" หรืออาจารย์ รวมถึงเดินไปส่งนักเขียนที่จะเดินทางกลับด้วย

เส่ง เท จาก เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า วันนี้นักเขียนที่มาบรรยายในวันนี้ ได้มาพูดเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้แรงงานพัฒนาตัวเอง หาความรู้ รักการอ่านหนังสือ ตลอดจนใช้เวลาว่างเพื่อประโยชน์ของตัวเองและสังคม โดยงาน "สนทนากับนักเขียน" ในประเทศไทยน่าจะถือว่าจัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่งานนี้จัดในพม่าอยู่แล้วเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ที่มีคนพม่าไปอาศัยอยู่ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือสหรัฐอเมริกาก็มีการจัดงานทำนองนี้เช่นกัน

หม่อง ข่าย แรงงานชาวพม่าใน จ.สมุทรสาคร บอกว่ามาร่วมงานนี้หลังทราบจากการประชาสัมพันธ์ และเห็นว่ากิจกรรมนี้ทำให้ได้ความรู้และสาระมาก และรู้สึกดีใจที่มีการจัดกิจกรรมนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net