Skip to main content
sharethis

ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรี คาดว่า การออกแบบโครงการไฟฟ้าพลังน้ำทางด้านตอนเหนือของลาวแห่งนี้ จะแล้วเสร็จภายใน 2 – 3 เดือนข้างหน้า โดยจะสามารถบรรเทาผลกระทบด้านลบที่จะมีต่อประเทศเพื่อนบ้าน 

 
 
นายเรวัตร สุวรรณกิตติ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไซยะบุรี เพาเวอร์ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนทดสอบที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียในกรุงเทพฯ และการออกแบบใหม่ควรจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
 
ผู้พัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 1,285 เมกะวัตน์ ได้ตัดสินใจที่จะทำการออกแบบเขื่อนใหม่ หลังจากกัมพูชาและเวียดนามได้แสดงความกังวลว่า เขื่อนไซยะบุรีจะมีผลกระทบต่อการย้ายถิ่นของปลาและปิดกั้นการไหลผ่านของแนวตะกอนสู่แม่น้ำโขงตอนล่าง ปลาเป็นแหล่งอาหารหลักสำหรับชุมชนชายฝั่งแม่น้ำโขง ขณะที่ตะกอนเป็นทั้งปุ๋ยและแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิต นักสิ่งแวดล้อมมีความกังวลว่าการสร้างเขื่อนจะมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำและผู้คนนับล้านที่อาศัยอยู่ปลายน้ำ
 
นายเรวัตร กล่าวต่อว่า การออกแบบเขื่อนใหม่จะไม่มีผลกระทบข้ามดินแดน ต่อทั้งกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปถึง 1,500 กิโลเมตรจากลุ่มน้ำ และตามคำแนะนำของที่ปรึกษาอิสระจาก Poyry และ Campagnie Nationale du Rhone ทางโครงการจะติดตั้งทางปลาผ่านรวมถึงบันไดปลาโจนที่เขื่อนไซยะบุรี เพื่อให้แน่ใจว่า ปลาสามารถอพยพขึ้นลงตามลำน้ำโขง โดยผ่านโครงสร้างเขื่อนที่มีความยาวกว่า 40 เมตร ได้โดยไม่ปิดกั้นทางผ่านธรรมชาติ 
 
ทั้งนี้ บันไดปลาโจนจะมีความยาวประมาณ 800 เมตรถึง 3 กิโลเมตร เพื่อให้ปลาสามารถว่ายน้ำผ่านเขื่อนได้ ผู้พัฒนาโครงการยังได้จ้างผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปลาจากองค์กร AF Colenco และ Teraplant เพื่อศึกษาการอพยพของปลาที่บริเวณเขื่อนและสร้างระบบที่ดีที่สุดเพื่อให้ปลาว่ายน้ำผ่านเขื่อนได้ นอกจากนี้ จะมีการติดตั้งระบบฉีดตะกอนที่เขื่อนเพื่อให้แน่ใจว่าตะกอนสามารถไหลผ่านลำน้ำได้ตามธรรมชาติ และระบบนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพจากหลายประเทศที่สร้างเขื่อนในยุโรป และลาวก็ไม่ได้เป็นประเทศแรกที่สร้างเขื่อนที่มีน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-river dam) นายเรวัตร กล่าวเสริมอีกว่า การสร้างเขื่อนนี้ถือเป็นโอกาสที่จะเรียนรู้ถึงด้านบวกและด้านลบของโครงการก่อนหน้านี้
 
ทั้งนี้ ผู้พัฒนาโครงการได้ตกลงที่จะให้เงินทุนในการออกแบบเขื่อนใหม่และการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อให้เขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนที่มีความทันสมัยมากที่สุดในโลก นายเรวัตร ยังได้เน้นย้ำอีกว่า เขื่อนไซยะบุรีอยู่บนพื้นฐานหลักตามการไหลของน้ำและไม่ได้เก็บน้ำเหมื่อนเขื่อนอื่นๆ แนวคิดในการพัฒนาคือ การสร้างเขื่อนที่มีความโปร่งใส ซึ่งหมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถเข้าไปในเขื่อนได้ก็สามารถที่จะไหลผ่านมันได้เช่นกัน
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net