Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้โดยเสมอภาคกับทุกคนเป็นความรับผิดชอบหลักของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้สร้างกลไกการให้บริการความยุติธรรมที่เท่าเทียมในหลายช่องทาง และหนึ่งในมาตรการเสริมสำหรับลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนใหญ่เป็น “ลูกหนี้นอกระบบ” ซึ่งมีช่องว่างทางกฎหมายให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนรากหญ้า หาเช้ากินค่ำ  ขาดความรู้ความเข้าใจกฎหมาย เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม “ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.)” จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้เข้าถึงความเป็นธรรม ตามครรลองของกระบวนการยุติธรรม

นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยและสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาด้านเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการก่ออาชญากรรม ซึ่งพัฒนาจากการใช้ความรุนแรงเป็นอาชญากรรมและการหลอกลวงที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมากและมีผู้เสียหายจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงช่องทางการช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม   โดยเฉพาะลูกหนี้จากปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งมีจำนวนมาก และจำนวนไม่น้อยถูกแก๊งหนี้นอกระบบตามทวงหนี้อย่างโหดร้าย ได้รับบาดเจ็บ หรือสูญเสียทรัพย์สิน และปัจจุบันขบวนการเหล่านี้มีหลายรูปแบบมากขึ้น

ศนธ.ยธ. เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงยุติธรรม ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการสร้างเสริมความเป็นธรรมและให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายและด้านต่าง ๆ แก่ลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม  ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ มีภารกิจ 3 ด้านหลักคือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน การแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ และการแก้ไขปัญหาการไม่ได้รับความยุติธรรมด้านอื่นๆ เน้นให้การช่วยเหลือ ลูกหนี้ ตั้งแต่ 50 รายขึ้นไป  หรือประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งในภาครัฐ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชน และประชาสังคม โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับบริการงานยุติธรรมอย่างสะดวก รวดเร็วและยุติธรรม

ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กล่าวว่า ผลดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจำนวนมาก  และพบว่า จังหวัดที่มีสถิติสูงสุดของประชาชนที่เป็นหนี้และถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งัศนธ.ยธ.ได้ให้การช่วยเหลือ คือ จังหวัดชัยภูมิ อุบลราชธานี และขอนแก่น  ปัญหาที่พบของลูกหนี้นอกระบบ คือ การถูกเจ้าหนี้เงินกู้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและฟ้องร้องเรียกเงินคืนเกินกว่ามูลหนี้กู้ยืมจริงมีการบังคับคดียึดที่ดินทำกินของประชาชน นอกจากนี้ยังรวมทั้งปัญหาที่ดิน และสิ่งแวดล้อม   ปัจจุบันมีผู้เข้ามาขอความช่วยเหลือจาก ศนธ.ยธ.มากกว่า 360 คดี  มีทุนทรัพย์ที่พิพาทมูลค่ากว่า 559 ล้านบาท

ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯยังตระหนักดีว่า  ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการที่ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงถูกหลอก เอารัดเอาเปรียบ  การดำเนินการในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะเพื่อเตือนภัย ป้องปราม และเฝ้าระวัง  โดยจะมีการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนทั่วประเทศ เช่น จัดเวทีเสวนาและรับฟังปัญหาจากภาคประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ  การแจกหนังสือคู่มือ แผ่นพับ ซึ่งจะมี ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย เช่น เรื่องหนี้นอกระบบ การกู้ยืมเงิน การขายฝาก การจำนอง การจำนำ เป็นต้น ซึ่งจะให้ความรู้แก่ประชาชนตั้งแต่เริ่มทำสัญญา    หรือหากถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับคดี ลูกหนี้จะไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดบ้าง   การถอดบทเรียนประสบการณ์ตรงจากผู้ถูกหลอก  รวมทั้งจะลงไปเก็บข้อมูลเชิงลึกแล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อใช้วางแผนทิศทางการดำเนินงานในอนาคตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

สำหรับในปีนี้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรมจำนวน 25 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนต่อไป โดยมีคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการอาทิ กรณีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบจังหวัดชัยภูมิ จำนวนกว่า 500 รายที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีและอีก  50 รายที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีแพ่งและอาญา โดยกรณีนี้เป็นการกู้เงินเป็นค่าใช้จ่ายไปทำงานต่างประเทศแล้วถูกหลอกให้ลงลายมือชื่อในสัญญาเงินกู้ และภายหลังมีการฟ้องบังคับคดียึดที่ดินของประชาชน  กรณีชาวนาที่โกงเงินจากนายทุนในจังหวัดชัยนาทและพระนครศรีอยุธยา  กรณีปัญหาการทุจริตในสหกรณ์แม่เปิน จ.นครสวรรค์  มีการรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังแล้วเกษตรกรไม่ได้รับเงิน  เป็นต้น

สำหรับลูกหนี้หรือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือด้านกฎหมายและคดีความได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-141-5440 โทรสาร 02- 143- 8285 และตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนเป็นต้นไปติดต่อ ศนธ.ยธ.ได้ที่ ปณท. อาคารศูนย์ฝึกอบรม ชั้น 4เลขที่ 111 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210  โทร.02-575-8585  ติดต่อได้ทั้งทางจดหมายและทางโทรศัพท์.  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net