Skip to main content
sharethis

เยาวชนและนักกิจกรรมพม่า 13 คน ถูกตำรวจพม่าตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายการรวมตัวสมาคม หลังชุมนุมวันสันติภาพสากล 21 ก.ย. และอาจเผชิญโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี หลังถูกซอยย่อยข้อกล่าวหา-ทยอยฟ้องจากตำรวจหลายโรงพักตามพื้นที่ซึ่งผู้ชุมนุมเคลื่อนผ่าน ล่าสุดมีการตั้งเพจ "Free The Thirteen" เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี

นักกิจกรรมจากเครือข่ายสันติภาพคะฉิ่น (Kachin Peace Network) ได้แก่ จอ กุน และเมย์ ซาเบ ผิ่ว เดินทางมาขึ้นศาลเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ศาลเขตดะโกง นครย่างกุ้ง หลังถูกฟ้องในข้อหาละเมิดมาตรา 18 ของกฎหมายการรวมตัวสมาคม หลังจากเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันสันติภาพสากล พวกเขาได้จัดการชุมนุมโดยมีผู้เข้าร่วมนับพันคน เรียกร้องสันติภาพให้กับรัฐคะฉิ่นและทุกที่ในพม่า

ทั้งนี้แม้มาตรา 18 ของกฎหมายการรวมตัวสมาคมของพม่า จะกำหนดโทษจำคุกสูงสุดไว้ 1 ปี แต่นักกิจกรรมชาวพม่า อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 10 ปีจากการกระทำความผิด 10 กรรม หากมีการฟ้องโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจทั้ง 10 เขตในพื้นที่ซึ่งมีการเดินขบวนผ่าน

ในการขึ้นศาลวันแรกนี้ ทั้งจอ กุน และเมย์ ซาเบ ผิ่ว ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้พวกเขาขึ้นศาลเขตตะวันตกของย่างกุ้งเพียงศาลเดียว อย่างไรก็ตามผู้พิพากษาขิ่น ถั่น ซินไม่พิจารณาคำร้องดังกล่าว

โดยจอ กุน และเมย์ ซาเบ ผิ่ว ยังถูกฟ้องในข้อหาคล้ายกันนี้แล้วทั้งหมด 6 ศาลในย่างกุ้ง เช่นเดียวกับนักกิจกรรมอีก 11 คนก็ถูกฟ้องในข้อหาเดียวกัน โดยในจำนวนนี้มีนักกิจกรรมเยาวชนจากเครือข่ายสันติภาพคะฉิ่นอีก 4 รายที่ถูกฟ้องและต้องขึ้นศาล 10 เขตในย่างกุ้งหลังเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อ 21 ก.ย. ดังกล่าว

ผู้นำเครือข่ายสันติภาพคะฉิ่นกล่าวว่า "ถ้ายังเป็นเช่นนี้อีกนาน การขึ้นศาลหลายรอบ ในเวลาต่างๆ กันจะรบกวนหน้าที่การงานของพวกเรา"

ทั้งนี้เครือข่ายนักกฎหมายพม่าได้เข้ามาช่วยเหลือนักกิจกรรมเหล่านี้ โดยซอว์ ซอว์ อ่อง ทนายความจากสำนักกฎหมาย ลอว์รัล กล่าวว่าได้เขียนคำร้องเพื่อขอให้ทั้งจอ กุน และเมย์ ซาเบ ผิ่ว ขึ้นศาลเพียงแห่งเดียว เพราะตามประมวลกฎหมายอาญาพม่า มาตรา 71 ระบุว่าผู้ใดก็ตามที่ถูกดำเนินคดีในสถานที่และเวลาเดียวกันจะต้องถูกลงโทษแค่ครั้งเดียว

โดยการขึ้นศาลนัดต่อไปของนักกิจกรรมชาวคะฉิ่นได้แก่ วันที่ 15 ต.ค. ที่ศาลเขตซัน ฉ่อง 16 ต.ค. ที่ศาลเขตโบดะถ่อง 24 ต.ค. ที่ศาลเขตดะโกง ส่วนนักกิจกรรมอีก 4 รายจะขึ้นศาลวันที่ 15 ต.ค. ที่ศาลเขตเหล่ง และวันที่ 16 ต.ค. ที่ศาลเขตโบดะถ่อง

สำหรับสาเหตุที่นำมาสู่การฟ้องร้องกันหลายศาลนี้ เกิดขึ้นจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา ผู้แทน 13 คน จากกว่า 20 องค์กรประชาสังคมพม่าในนามเครือข่ายสันติภาพ ได้ยื่นคำร้องขอชุมนุมกับเทศบาลย่างกุ้ง โดยจะขอชุมนุมเนื่องในวันสันติภาพสากล 2 ก.ย. โดยวางแผนเคลื่อนขบวนจากเจดีย์สุเหล่มายังทะเลสาบอินยา ผู้แทนจัดการชุมนุมยังได้ส่งข้อความที่จะใช้ตะโกนในการชุมนุม และอุปกรณ์การชุมนุมอื่นๆ รวมถึงป้ายที่เขียนว่า "ยุติสงครามกลางเมือง" ไปแสดงยังเจ้าหน้าที่พม่า ตามที่กฎหมายการรวมตัวสมาคมซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2554 กำหนด อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้เพิกถอนคำร้องในวันที่ 18 และวันที่ 19 ก.ย. โดยระบุว่ากิจกรรมนี้จะรบกวนการจราจร คุกคามต่อสาธารณะ และเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง

ทั้งนี้ผู้จัดการชุมนุมให้ข้อมูลกับฮิวแมนไรท์ วอทซ์ว่าพวกเขาได้แจ้งกับตำรวจว่าจะยังคงดำเนินการชุมนุมแม้จะถูกทางการปฏิเสธคำร้อง โดยอ้างเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัว อย่างไรก็ตามในคืนวันที่ 20 และเช้าวันที่ 21 ก่อนการชุมนุม เจ้าหน้าที่พม่าพยายามที่จะควบคุมตัวผู้จัดการชุมนุม 4 รายที่้บ้านของพวกเขา แต่ปฏิบัติการนี้ล้มเหลว

ต่อมาผู้บัญชาการตำรวจนครย่างกุ้ง มิ้นต์ ทเว ได้จัดแถลงข่าวว่ารัฐบาลอาจจะฟ้องผู้ชุมนุมในข้อหาละเมิดกฎหมายการชุมนุมมาตรา 18 ซึ่งกำหนดให้ผู้ชุมนุมต้องได้รับการอนุญาติการสมาคมและการเดินขบวนในที่สาธารณะ หากพวกเขามีความผิดตามข้อกล่าวหาจริงจะถูกลงโทษจำคุก 1 ปี และถูกปรับ 30,000 จ๊าต (1,050 บาท) ตามมาด้วยการฟ้องจากหลายสถานีตำรวจดังกล่าว

วิดีโอรณรงค์ของเพจ Free The Thirteen สนับสนุนนักกิจกรรมพม่าทั้ง 13 คน ที่ถูกทางการพม่าดำเนินคดี หลังชุมนุมในวันสันติภาพสากล 21 ก.ย. ที่ผ่านมา

 

ล่าสุด เครือข่ายเยาวชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตั้งเพจ Free The Thirteen ขึ้น เพื่อจับตาการดำเนินคดี 13 นักกิจกรรมพม่าดังกล่าว พร้อมสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก และเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีนักกิจกรรมทั้ง 13 คน โดยมีการล่ารายชื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนชาวพม่าทั้ง 13 คนด้วย

ทั้งนี้ในพม่ายังมีสถานการณ์สู้รบในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยทั้งที่รัฐฉาน และรัฐคะฉิ่น โดยที่รัฐคะฉิ่น ทหารพม่าและกองทัพอิสรภาพคะฉิ่นเริ่มปะทะกันเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ปี 2554 หลังทหารพม่าข้ามมายังเขตควบคุมของทหารคะฉิ่น และโจมตีฐานที่มั่น โดยจากข้อมูลของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยในรัฐคะฉิ่นแล้วกว่า 90,000 คน เช่นเดียวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวยะไข่ และชาวโรฮิงยาในรัฐอาระกัน ซึ่งปะทุขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีผู้เสียชีวิตหลายราย

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Don’t prosecute Burmese peace activists: HRW, Mizzima, Tuesday, 02 October 2012 12:3 http://www.mizzima.com/news/inside-burma/8145-dont-prosecute-burmese-peace-activists-hrw.html

Judge turns down Kachin peace activists’ appeal, Kachinland News, 11 October 201 http://kachinlandnews.com/?p=22366

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net