Skip to main content
sharethis

 

อินโดนีเซีย ซุ่มเงียบประกาศซีแอลยาต้านไวรัสเอชไอวี 7 ตัวรวด ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯชี้รัฐบาลไทยควรพิจารณาทำซีแอลยามะเร็งเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา

(จาร์กาตาร์-กรุงเทพฯ/12 ต.ค.55) สื่อต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน่ ของอินโดนีเซียได้ลงนามในประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ ซีแอล กับยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์และไวรัสตับอักเสบ ทั้งสิ้น 7 ตัว ประกอบไปด้วย ดีดีไอ, เอฟฟาไวเรนซ์, อะบาคาเวียร์, โลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์, เทโนโฟเวียร์, เทโนโฟเวียร์+เอ็มไตรซิตาบีน และ เทโนโฟเวียร์+เอ็มไตรซิตาบีน+เอฟฟาไวเรนซ์ [efavirenz, abacavir, didanosin, lopinavir + ritonavir, tenofovir, tenofovir + emtricitabine, and tenofovir + emtricitabine + efavirenz] เพื่อให้อุตสาหกรรมยาในประเทศสามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรร้อยละ 0.5% ซึ่งเป็นไปตามมาตรการยืดหยุ่นในความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาหรือทริปส์ในองค์การการค้าโลก ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวลงนามไปตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน แต่ที่ผ่านมา ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ยินดีกับเพื่อนผู้ติดเชื้อฯที่อินโดนีเซียอย่างยิ่ง เพราะการประกาศครั้งนี้มีทั้งยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน สูตรสำรอง และยารักษาไวรัสตับอักเสบ หลายตัวมีราคาแพงมาก ทำให้ผู้ติดเชื้อฯจำนวนมากเข้าไม่ถึงยา สำหรับประเทศไทย รัฐบาลควรพิจารณาทำซีแอลกับยารักษามะเร็งที่ยังมีราคาสูงมาก ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษา และขอชื่นชมรัฐบาลอินโดนีเซียที่มีความกล้าหาญทางนโยบายที่จะทำเพื่อประชาชน อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียอาจจะเผชิญกับแรงกดดันจากบรรษัทยาข้ามชาติและประเทศร่ำรวยทั้ง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีแทคติคและเล่ห์กลมากมาย เช่นที่ประเทศไทยเคยเจอมาแล้ว

“ทุกภาคส่วนในอินโดนีเซียจะต้องยืนหยัดร่วมกันเพื่อต้านแรงหากำไรบนชีวิตผู้คนพวกนี้ ซึ่งเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯและภาคประชาสังคมไทยเพื่อการเข้าถึงยาพร้อมที่จะยืนเคียงข้าง และถ่ายทอดประสบการณ์การรับมือกับเล่ห์กลเหล่านี้”

ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรเรียนรู้จากความกล้าหาญทางนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ทำเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสมครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งอยากเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรป

“มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่ต้องการการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งจนถึงขณะนี้ทั้งรองนายกฯกิตติรัตน์ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพยายามบิดเบือนข้อมูล และไม่เปิดโอกาสให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาและ อย.ได้ให้ข้อมูลซึ่งอาจทำให้นายกฯและรัฐสภาตัดสินใจอย่างผิดๆได้ นอกจากนี้ เรายังทราบมาว่า สมาคมบริษัทยาข้ามชาติจับมือกับอุตสาหกรรมส่งออกไก่-กุ้ง แล้วใช้ชื่อสภาหอการค้าไปเที่ยวล็อบบี้และให้ข้อมูลอย่างผิดๆกับภาคส่วนต่างๆ สาธารณชนต้องช่วยกันจับตา”

ทั้งนี้ เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา อินเดียได้ประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) โดยให้บริษัทยาชื่อสามัญมีสิทธิผลิตยา sorafenib ที่ใช้รักษามะเร็งตับและไต ทำให้ราคายาลดลงจาก 280,000 รูปี เหลือเพียงแค่ 8,800 รูปี จากการประกาศดังกล่าว บริษัทยาต้นแบบได้เสนอลดราคายารักษามะเร็งอีกหลายตัวจากหลักแสนเหลือหลักพันรูปีเพื่อให้คนอินเดียเข้าถึงยามากขึ้นและหลีกเลี่ยงการถูกรัฐบาลอินเดียประกาศซีแอล ต่อมา รัฐบาลจีนได้ออกระเบียบซึ่งกำหนดแนวทางการประกาศบังคับใช้สิทธิในกรณีความฉุกเฉินและเพื่อผลประโยชน์แห่งสาธารณะ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เช่นกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net