Skip to main content
sharethis

ด้วยบทบาทในการสร้างสันติภาพและสมานฉันท์ปรองดองกว่าหกทศวรรษ นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกถึงวิกฤติเศรษฐกิจ โดยการตัดสินมอบรางวัลให้สหภาพยุโรปในปีนี้ มีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างเยอรมนี กรีซ และสเปนจากนโยบายรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจ

 
12 ต.ค. 2555 - คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ มอบรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2555 ให้แก่ สหภาพยุโรป ซึ่งประกอบไปด้วย 27 ประเทศ โดยได้รับการยกย่องจากบทบาทการสร้างสันติภาพและการปรองดองมากว่า 6 ทศวรรษ จากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงวิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซนที่ลามไปหลายประเทศในยุโรปในปัจจุบัน
 
รางวัลดังกล่าว ได้สร้างความประหลาดใจต่อผู้ที่สังเกตเห็นถึงความตึงเครียดระหว่างเยอรมนีและประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป จากนโยบายรัดเข็มขัดที่นำมาซึ่งความไม่พอใจในหลายประเทศ โดยเฉพาะในกรีซและสเปน ที่ประชาชนหลายพันคนได้ออกมาเดินขบวนในกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซเพื่อประท้วงการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีเยอรมัน นางแองเกลา แมร์เคล 
 
แต่ธอร์บยอร์น ยากลันด์ ประธานกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล กล่าวว่า รางวัลดังกล่าว พิสูจน์ให้เห็นว่าสหภาพยุโรปเป็น "สิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง" สำหรับชาวยุโรปและเป็น "แรงบันดาลใจ"
 
 
"สหภาพยุโรป และองค์การก่อนหน้านั้น ได้มีบทบาทกว่าหกทศวรรษในการส่งเสริมสันติภาพและความปรองดอง ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน" เขากล่าว
 
"ในช่วงปีของการทำสงคราม คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ให้รางวัลแก่หลายๆ คนที่ช่วยสร้างความปรองดองระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา การปรองดองดังกล่าว ได้กลายเป็นจริง ความทนทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะมียุโรปอันใหม่ ตลอดระยะเวลา 70 ปี เยอรมนีและฝรั่งเศส ได้สู้รบในสงคราม 3 สงคราม แต่ทุกวันนี้ สงครามระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศสนั้นแทบจะจินตนาการไม่ออก นี่แสดงให้เห็นว่า ด้วยความพยายามที่มีจุดมุ่งหมายอันดี และการสร้างความมั่นใจร่วมกัน ศัตรูในประวัติศาสตร์ สามารถกลายเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกันได้"
 
ต่อคำถามที่ว่า เป็นเพราะว่าปีนี้เป็นที่แย่สำหรับสหภาพยุโรปหรือไม่ เขากล่าวว่า "เราต้องการที่จะโฟกัสว่า อะไรเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จในยุโรปโดยเฉพาะความสันติภาพและการปรองดอง และเราต้องการจะเตือนตนเองว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นหากความแตกแยกมาเยือน และหากเราปล่อยให้ฝ่ายหัวรุนแรงและชาตินิยมเติบโตขึ้นอีกในยุโรป ฉะนั้น ในทางหนึ่ง นี่คือการส่งข้อความหายุโรปว่าเราควรจะทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อรักษาสิ่งที่เราบรรลุ และก้าวต่อไป" 
 
มาร์ติน ชุลส์ ประธานรัฐสภายุโรปกล่าวในทวิตเตอร์ต่อรางวัลโนเบลว่า เขารู้สึก "ตื้นตันและได้รับเกียรติ ที่สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ การปรองดอง คือสิ่งที่สหภาพยุโรปเป็น มันทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจ สหภาพยุโรปเป็นแผนการที่เป็นเอกลักษณ์ นำสันติภาพมาสู่สงคราม และนำความสมานฉัทน์มาแทนความเกลียดชัง"
 
นายยากลันด์ ยังกล่าวต่อด้วยว่า "ในช่วงทศวรรษ 1980 กรีซ สเปน และโปรตุเกส ได้เข้าร่วมในสหภาพยุโรปโดยมีประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขของการเข้าเป็นสมาชิก จากนั้น การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ทำให้การเข้าเป็นสมาชิกของหลายประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเป็นไปได้ นำมาซึ่งการเปิดศักราชใหม่ของประวัติศาสตร์ยุโรป การแบ่งแยกระหว่างตะวันตกและตะวันออก  สิ้นสุดลงแล้วเป็นส่วนใหญ่ ประชาธิปไตยถูกทำให้แข็งแกร่งขึ้น และความขัดแย้งระดับชาติที่เกิดจากชาติพันธุ์ก็ยุติลง" 
 
"การเข้ามาเป็นสมาชิกของโครเอเชียในปีหน้า, การเปิดการเจรจาสถานะสมาชิกกับมอนเตเนโกร และการให้สถานะผู้สมัครแก่เซอร์เบีย ต่างช่วยให้กระบวนการปรองดองในคาบสมุทรบอลข่านแข็งเเกร่งมากยิ่งขึ้น ในทศวรรษที่ผ่านมา ความเป็นไปได้ของการเป็นสมาชิกของตุรกี ก็ยังทำให้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศดียิ่งขึ้น" เขาระบุ 
 
"สหภาพยุโรปในขณะนี้ กำลังเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่สาหัส และความไม่สงบทางสังคมที่ใหญ่โต คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ หวังที่จะโฟกัสในสิ่งที่เป็นผลสำเร็จที่สำคัญที่สุดของสหภาพยุโรป นั่นคือ การต่อสู้ได้มาเพื่อสันติภาพ การปรองดอง ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน" 
 
อนึ่ง ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในฐานะองค์กรครั้งล่าสุด คือองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres) ในปี 2542 ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในทางมนุษยธรม โดยเฉพาะในพื้นที่สงคราม และในประเทศกำลังพัฒนา
 
โดยในปีที่แล้ว รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นของสตรีสามท่าน ได้แก่ ประธานาธิบดีไลบีเรีย เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ, นักกิจกรรมต่อต้านสงครามชาวไลบีเรีย เลมาห์ กโบวีย์ และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจากเยเมน ทาวักกัล คาร์มาน 
 
ในปี 2553 รางวัลนี้ เป็นของนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวจีน หลิว เสี่ยวโป  ซึ่งถูกจำคุกจากงานเขียนคำประกาศเพื่อประชาธิปไตย "ชาร์เตอร์ 08" ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตระหว่างนอร์เวย์และจีน 
 
ในปี 2552 รางวัลเดียวกันเป็นของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐอเมริกา โดยเขาได้รับรางวัลนี้ ภายในไม่ถึงปีของระยะเวลาดำรงตำแหน่งของเขา โดยคณะกรรมการโนเบลระบุว่า เขาได้ "สร้างบรรยากาศทางการเมืองแบบใหม่ในการเมืองระหว่างประเทศ" 
 
ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวมีมูลค่า 8 ล้านโครเนอร์สวีเดน (ราว 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 30.6 ล้านบาท) โดยลดลงจาก 10 ล้านโครเนอร์ ซึ่งเป็นมูลค่ามาตรฐานในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากมูลนิธิโนเบลกล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 ได้ส่งผลกระทบกองทุนของมูลนิธิ
 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Nobel Committee Awards Peace Prize to E.U.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net