สนทนากับหนึ่งในบล็อกเกอร์ที่ทางการเวียดนามต้องการตัว

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เหงียน เติ๋น สุง นายกรัฐมนตรีของเวียดนามออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์รัฐบาล สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนและจัดการกับผู้อยู่เบื้องหลังบล็อกภาษาเวียดนาม 3 แห่งที่เขียนโจมตีรัฐบาล โดยระบุว่านี่เป็นแผนชั่วร้ายของกองกำลังฝ่ายศัตรู พวกเขาเหล่านั้นจะต้องโทษอย่างหนัก รวมถึงสั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการเข้าไปอ่านหรือแชร์บล็อกเหล่านี้ด้วย

องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) รายงานว่า ปัจจุบัน มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 5 คนและพลเมืองเน็ต 19 คนถูกจับกุมตัวในเวียดนาม ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศที่มีการคุมขังบล็อกเกอร์และผู้เห็นต่างในโลกไซเบอร์ มากเป็นอันดับสามของโลก รองจากจีนและอิหร่าน รวมถึงติดอยู่ใน 1 ใน 12 ประเทศที่องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดให้เป็น "ศัตรูอินเทอร์เน็ต" ด้วย

"ประชาไท" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ "D." ชาวเวียดนามวัย 25 ปี หนึ่งในบล็อกเกอร์ของบล็อก Dan Lam Bao (แปลว่านักข่าวพลเมือง) หนึ่งในสามบล็อกที่รัฐบาลเวียดนามต้องการตัว เขาเล่าว่าแถลงการณ์นั้นเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงบล็อกของเขา แม้ว่าบล็อกของเขาจะถูกบล็อคมาตลอดนับแต่เปิดตัวได้ไม่นาน นั่นเพราะที่ผ่านมา การจับกุมผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ปัญหาคอร์รัปชั่น และการจับกุมนักสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้นภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้

ประชาไท: คุณทำอะไรบ้าง
D.: มอนิเตอร์เว็บไซต์ โพสต์ข่าว ตรวจแก้บทความ และดูแลความปลอดภัยของเว็บไซต์

ข่าวและบทความมาจากไหน
มาจากในเวียดนาม บางทีมาจากคนในรัฐบาล บางทีก็มาจากชาวนา หลากหลายอาชีพ บางครั้งก็มาเป็นข่าวแล้ว บางครั้งก็ต้องตรวจแก้และตรวจข้อเท็จจริง

บล็อกของคุณเปิดมานานแค่ไหนแล้ว
เกือบสองปีแล้ว เนื่องจากประเทศของผม รัฐบาลไม่อนุญาตให้มีสื่ออิสระ แม้จะมีสื่อกว่า 700 สื่อแต่เกือบทั้งหมดก็ทำงานให้รัฐบาลพรรคเดียว คนในประเทศไม่มีเวทีสำหรับแสดงความเห็น ทำให้ผมกับเพื่อนๆ เริ่มทำบล็อกนี้ขึ้น เป็นสื่อพลเมือง

คุณบอกว่าไม่มีพื้นที่แลกเปลี่ยน แล้วโซเชียลมีเดียล่ะ
โซเชียลมีเดียตอนนี้เป็นที่นิยมมากในเวียดนาม แต่คนอื่นที่ไม่มีทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงได้ ผมคิดว่าเราสร้างเว็บๆ หนึ่งดีกว่า แค่จำยูอาร์แอล พวกเขาก็เข้ามาอ่านได้ทั้งหมด

แล้วสื่อต่างประเทศล่ะ
ผมไม่รู้ว่าสื่ออย่าง BBC VOA มีนักข่าวในเวียดนามไหม อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่สามารถโฟกัสได้ทั้งเวียดนาม เพราะถ้าคุณเป็นสื่อต่างประเทศ คุณจะอยู่ได้แค่ในเมืองหลวงคือฮานอย คุณออกไปข้างนอกไม่ได้ ถ้าต้องการออกไป ต้องทำหนังสือขออนุญาต ทำให้ยากจะรายงานเรื่องนอกฮานอยได้ และผมคิดว่าจะดีกว่าถ้าคนในประเทศเขียนข่าวและเผยแพร่ได้เอง

ยกตัวอย่างเมื่อหลายเดือนก่อน แม่ของบล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเผาตัวเอง (เพื่อประท้วงกรณีที่รัฐบาลจับลูกสาวของเธอ-ประชาไท) ในจังหวัดหนึ่งที่ห่างไกลจากฮานอย สื่อต่างประเทศทำได้แค่ยกหูสัมภาษณ์ แต่สมาชิกของกลุ่มผมไปที่นั่น ถ่ายรูป และสัมภาษณ์ครอบครัวอย่างลับๆ ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลว่ามีตำรวจมาที่บ้านของเธอจำนวนมากและทำให้ครอบครัวของเธอหวาดกลัว

เนื้อหาแบบไหนที่บล็อกคุณเสนอ
เรื่องสิทธิมนุษยชน เขียนถึงสถานการณ์ปกป้องสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม

บางสื่อบอกว่านายกฯ โกรธ เพราะเว็บเสนอเรื่องส่วนตัวของนายกฯ
ใช่ เราพูดเรื่องจริง เรามีเอกสารที่พูดถึงเขาและครอบครัวซึ่งทุจริตอย่างมาก เขาปิดมันไม่ได้ เพราะคนในรัฐบาลซึ่งน่าจะเป็นผู้หวังดี ส่งมาให้

สถานการณ์ควบคุมสื่อในเวียดนามเป็นอย่างไรบ้าง
ควบคุมหลายทาง เมื่อหนังสือพิมพ์เสนอข่าวซึ่งรัฐบาลไม่พอใจ รัฐบาลก็จะโทรให้เอาออกได้ มีการเซ็นเซอร์ก่อนตีพิมพ์

รวมข่าวในทีวีรัฐด้วยไหม
บางช่องต้องขออนุมัติ บ้างเสนอได้เลย บล็อกเกอร์บางคนเช่นกัน เขาเขียนชื่อจริง เมื่อเขียนข่าวลงบล็อก ตร.ก็ติดต่อให้ลบออก แต่พวกเราทำแบบนิรนาม เขาจึงทำอะไรเราไม่ได้

พวกเขาพยายามแกะรอยคุณอยู่ไหม
พวกเขาพยายามหา ก็ไม่รู้สำเร็จไหม แต่ผู้อ่านบางรายซึ่งมาแสดงความเห็นในบล็อก เจอตำรวจเรียกไปสอบที่สถานีตำรวจ รวมถึงตามไปที่บ้านหลายครั้ง เพื่อถามว่าเข้ามาบล็อกของเราได้อย่างไร และบอกว่าพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย

พวกเขาโดนข้อหาอะไรไหม
ไม่โดน ผมคิดว่านี่เป็นการเตือนและทำให้ครอบครัวของพวกเขาหวาดกลัว นอกจากนี้ ตำรวจนอกเครื่องแบบยังสะกดรอยตามผู้อ่านทุกวัน นานเป็นเดือนหรือสองเดือน

จำนวนผู้อ่านตอนนี้อยู่ที่เท่าไหร่
ล่าสุดที่เช็คใน Google Analysis มีการเรียกดู 500,000 ครั้งต่อวัน หลังการประกาศของรัฐบาล จำนวนผู้ติดตามอ่านก็มากขึ้น เขาบล็อคเว็บพวกเรา เกือบสองปีมาแล้ว หลังจากเปิดเว็บมาได้สามเดือน รวมถึงโจมตีทางไซเบอร์ เช่น DDos (Distributed Denial of Service หรือการใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมากติดต่อเครื่องปลายทางพร้อมๆ กันเกินกว่าที่ระบบจะสามารถรองรับได้-ประชาไท)

ความยากลำบากในการทำงานของคุณคืออะไร
นักข่าวพลเมืองของเราไม่สามารถทำงานได้อย่างเปิดเผย ต้องซ่อนตัว ไม่สามารถถือกล้องถ่ายรูปใหญ่ๆ ได้ ต้องใช้กล้องปากกา บางคนไม่มีทักษะการเขียนข่าว ไม่รู้จะเขียนอย่างไร บางครั้งพวกเขาก็ใช้วิธีเล่าให้ฟัง ผมก็เอามาเขียน ต้องรวมข้อมูลมาเขียนเอง และต้องดูแลด้านเทคนิค ซึ่งมีการโจมตีจากรัฐบาล

ความยากลำบากด้านครอบครัวล่ะ
มีแค่เรื่องคิดถึงบ้าน ผมไม่ต้องการพูดเรื่องงานกับครอบครัว เพราะกลัวเขาไม่สบายใจ มันจะดีกว่าที่ไม่พูด พ่อใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็น ผมติดต่อกับทางบ้านผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งรัฐบาลสามารถดักฟังได้ จึงคุยกันเรื่องทั่วไป

ครอบครัวคุณรู้ไหมว่าคุณคิดอย่างไรกับรัฐบาล
พวกเขารู้ เพราะตอนที่อยู่เวียดนาม ผมเป็นนักกิจกรรม มีปัญหากับรัฐบาลบ่อยๆ แต่พวกเขาคิดว่าเมื่อผมออกมาข้างนอกจะปลอดภัยกว่า

ผมคิดว่ารัฐบาลยังไม่เลิกตามผม พ่อบอกว่าตำรวจมาที่บ้านทุกอาทิตย์และถามถึงผม แม่ผมบอกไปว่าไม่รู้ และบอกว่าผมเป็นนักเรียน ซึ่งเดินทางไปอังกฤษบ้าง ออสเตรเลียบ้าง หรือรัสเซีย

รัฐบาลกลัวอินเทอร์เน็ต?
ผมคิดว่าเขาไม่ได้กลัวอินเทอร์เน็ต แต่เขากลัวเรื่องจริงจะถูกเผยแพร่ออกไป โดยที่เขาไม่สามารถตรวจสอบได้หมด ในเวียดนามตอนนี้ ประชาชนไม่ได้เชื่อในรัฐบาลแล้ว

ทำไม
ห้าปีก่อน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต้องใช้เงินจำนวนมาก คนเข้าถึงเพียง ทีวี หนังสือพิมพ์ของรัฐบาล คนในประเทศไม่สามารถเข้าถึงเรื่องจริงได้ แต่ตอนนี้ อินเทอร์เน็ตถูกมาก เกือบทุกคนสามารถเข้าถึง พวกเขาได้รู้ถึงเรื่องคอร์รัปชั่นของนายกฯ เรื่องสิทธิมนุษยชน จริงๆ แล้ว เขากลัวคนที่ใช้เน็ตเพื่อต่อต้านรัฐบาล

ตอนนี้เศรษฐกิจแย่ลง ยากจะหาเงินเลี้ยงครอบครัว ทำให้พวกเขาโกรธรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าคอร์รัปชั่น คนโกรธ

ในสายตาของคุณ คนรุ่นใหม่ด้วยกันในเวียดนาม สนใจเรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากขึ้นไหม
ไม่มาก แต่ก็เพิ่มขึ้น จำนวนของคนรุ่นใหม่ที่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ผมใช้เฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารกับคนในเวียดนาม ได้เห็นว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากต้องการรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เดือนที่แล้ว พวกเขาจัดกิจกรรมปั่นจักรยาน เพื่อประท้วงรัฐบาลที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น

ในการรณรงค์ให้รัฐบาลปล่อยตัวบล็อกเกอร์ที่เห็นต่างจากรัฐบาล จากที่คนเวียดนามจะกลัวตำรวจมาก ก็ออกมารวมตัวกันตอนที่บล็อกเกอร์สามคนต้องไปขึ้นศาล พวกเขาออกมาบอกให้ตำรวจจับพวกเขาได้เลย พวกเขาไม่สนใจ ซึ่งตำรวจก็จับพวกเขาราวสิบคนและปรับ แต่สำคัญคือพวกเขาไม่กลัว

คุณคาดหวังอะไรจากการเสนอข่าวในบล็อก
หวังว่าคนเวียดนามจะมีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น หวังว่าบล็อกจะสามารถบอกเรื่องจริงที่เกิดขึ้นได้ เหมือนชื่อเว็บที่แปลว่านักข่าวพลเมือง คือทุกคนเป็นสื่อได้

คิดว่าต้องทำอีกนานแค่ไหน
ไม่แน่ใจ แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นๆ แต่ทั้งหมดไม่ได้ขึ้นกับผมคนเดียว มันขึ้นกับประเทศด้วย เมื่อรัฐบาลไม่อนุญาตให้มีสื่ออิสระ เราก็จะทำต่อไป

เมื่อกี้บอกว่าดีขึ้นๆ แปลว่าที่รัฐบาลประกาศไม่กระทบกับบล็อกของคุณ?
เขาบล็อคเราตลอดเวลา โดยเปลี่ยนวิธีบล็อคไปมา แต่คนก็ยังพอเข้าได้ ผ่าน Tor (The Onion Router หรือเครือข่ายที่ช่วยปกปิดตัวตนของผู้ใช้และช่วยให้เรียกดูเว็บที่ถูกปิดกั้นได้) หรือ VPN (Virtual Private Network หรือเครือข่ายส่วนตัวเสมือน)

นอกจากรัฐบาลแล้วมีกลุ่มอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับพวกคุณไหม
มี บางคนเปิดบล็อกโจมตีเรา แต่ผมมองว่าพวกเขาทำไม่สำเร็จ เพราะอัพเดทบทความเพียงเดือนละครั้ง คนไม่รู้จัก

ตอนที่รัฐบาลพูดเรื่องนี้ สื่อรัฐบาลโจมตีเราด้วยเรื่องโกหก เช่น บอกว่าพวกเราเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองนอกประเทศ ซึ่งรัฐบาลจัดเป็นผู้ก่อการร้าย  แต่ก็มีบางสื่อที่เขาไม่อยากพูดถึงชื่อบล็อก แค่พูดว่า "บางบล็อก" เพราะกลัวคนอ่านเราจะไม่พอใจพวกเขา ตอนที่นายกฯ ออกแถลงการณ์เรื่องนั้น เรารายงานเรื่องนี้ด้วย หลังจากนั้น ห้าชั่วโมง มี 600 ความเห็นมาแสดงความไม่พอใจรัฐบาล ตอนนี้ คนอ่านสนับสนุนเรา เมื่อรัฐบาลพูดไม่ดีเกี่ยวกับเรา พวกเขาจะรู้สึกว่ารัฐบาลพูดถึงตัวเขาเองด้วย และโกรธมาก

นอกจากนี้ ตำรวจก็พยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างนักกิจกรรมและบล็อกเกอร์ กับบล็อกเหล่านี้ โดยบุกไปที่สำนักงานของพวกเขาเหล่านั้น เปิดดูอีเมลว่ามีการติดต่อกับเราหรือไม่ ผมคิดว่าเพื่อทำให้พวกเขากลัวและไม่สนับสนุนเราอีก 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท