แอมเนสตี้วิพากษ์ร่าง กม.ศาลลับ อังกฤษ ราวนิยายของ 'คาฟคา'

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานวิจารณ์ร่าง กม.ที่อนุญาตให้มีการไต่สวนแบบปิด และใช้หลักฐานลับซึ่งรัฐเห็นว่าอ่อนไหวต่อความมั่นคงในการพิจารณาคดีชั้นศาลได้ บอกว่า "ระบบยุติธรรมแบบลับๆ นี้ราวถอดแบบมาจากนิยายของคาฟคา"

15 ต.ค. 2012 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นำเสนอรายงานวิพากษ์วิจารณ์ร่างญัตติของคณะรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ที่เสนอให้มีการขยายการทำงานของ 'ศาลลับ' โดยบอกว่า "ระบบยุติธรรมแบบลับๆ นี้ราวถอดแบบมาจากนิยายของคาฟคา" (ฟรานซ์ คาฟคา นักเขียนผู้เขียนเรื่อง 'กลาย', 'คดีความ', 'แดนลงทัณฑ์')

รายงานของแอมเนสตี้อ้างว่าญัตติดังกล่าวที่เสนอให้มีการขยายผลการใช้หลักฐานลับ จะทำให้รัฐบาลสามารถอ้าง 'ความมั่นคงของชาตื' เพื่อทำให้เรื่องต่างๆ กลายเป็นความลับได้

กลุ่มองค์กรสิทธิพลเมืองได้เรียกร้องให้รัฐบาลผสมยกเลิกร่างกฎหมายความยุติธรรมและความมั่นคง ที่เสนอให้สามารถใช้ 'กระบวนการสืบวัตถุพยานลับ' (Closed Material Procedures หรือ CMPs) กับศาลแพ่งในอังกฤษ

กระบวนการดังกล่าวคือการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่นำเสนอข้อมูลที่มีความอ่อนไหวต่อศาลได้โดยไม่ต้องให้เหยื่อหรือโจทก์ทราบข้อกล่าวหาที่มีต่อตนทั้งหมด ซึ่งระบบนี้ได้นำมาใช้ในศาลฝ่ายความมั่นคงของอังกฤษแล้ว โดยในตอนนี้ยังไม่มีการระบุวันที่จะให้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังสภาขุนนางซึ่งจะมีการโหวตในประเด็นนี้

ทางพรรคแรงงานซึ่งบอกว่าพวกเขายังไม่รู้สึกว่าควรจะมีการปฏิรูปกฎหมายตอนนี้ ได้เรียกร้องให้มีการเพิ่มเวลาอภิปราย

รายงานของแอมเนสตี้ ชื่อ 'Left in the Dark: the use of secret evidence in the UK' ประเมินว่ามีการใช้ CMPs แล้วในบริบททางกฎหมายต่างกัน 21 บริบท โดยอลิซ ไวสส์ จากแอมเนสตี้กล่าวว่ากระบวนการนี้เป็นภัยอย่างแท้จริงต่อหลักความเที่ยงธรรมและความยุติธรรมที่เปิดเผยในอังกฤษ

"มันเป็นเรื่องแย่พออยู่แล้วที่กระบวนการลับได้รับอนุญาตนำมาใช้กับระบอบตุลาการ แต่รัฐบาลในตอนนี้พยายามขยายการใช้กระบวนการลับในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" ไวสส์กล่าว

รายงานมีการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเผชิญกับกระบวนการลับนามสมมุติว่า G อายุ 43 ปี ผู้ที่ถูกกฎหมายสั่งให้เนรเทศไปอยู่แอลจีเรียเป็นเวลา 10 ปี บอกว่า "ผมต้องการความยุติธรรม ต้องการโอกาสในการปกป้องตนเอง ในกระบวนการที่มีความยุติธรรม...ผมไม่มีสิทธิจะรู้ด้วยซ้ำว่าหลักฐานที่รัฐใช้อ้างดำเนินคดีกับผมคืออะไร"

ชายอีกคนหนึ่งมีนามสมมุติว่า BB บอกว่า "คดีกล่าวหาผมหรือ? ผมเห็นแค่ชั่วแว๊บเดียวเท่านั้น ผมรู้มาไม่มากพอที่จะอธิบายด้วยซ้ำ มันเป็นการพิจารณาคดีแบบปิด ผมเข้าไปไม่ได้ ทนายของผมเข้าไปไม่ได้"

แอมเนสตี้สรุปว่า การใช้หลักฐานลับเสนอต่อศาลที่พิจารณาคดีแบบปิด เป็นการขัดแย้งต่อหลักการความเที่ยงธรรมที่มีมานานในกฎหมายอังกฤษและขัดแย้งต่อหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

"สำหรับคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยกระบวนการลับนี้ ส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างใหญ่หลวง ตั้งแต่การถูกลิดรอนเสรีภาพ, ต้องพลัดพรากจากครอบครัว, ถูกส่งกลับไปยังประเทศที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง ... แม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อผลกระทบอย่างมาก กระบวนการสืบวัตถุพยานลับทำให้ยิ่งยากในการที่บุคคลที่โดนซัดทอดโดยหลักฐานลับจะสามารถแก้ต่างในคดีของรัฐบาลได้"

"กระบวนการสืบพยานลับเป็นความล้มเหลวต่อการเคารพในหลักการความยุติธรรมที่โปร่งใส ...หากร่างกฎหมายความยุติธรรมและความมั่นคงถูกนำมาบังคับใช้ในรูปแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็เสี่ยงต่อการทำให้กระบวนการลับกลายเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิในการรับพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิในการรับการเยียวยาของเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน"

รัฐบาลอังกฤษแย้งว่า การใช้ศาลลับจะไม่ทำให้การพิจารณาคดีใดๆ ที่เป็นการพิจารณาแบบเปิดเปลี่ยนไปเป็นการพิจารณาคดีแบบปิด และให้ข้อพิพาทเรื่องความมั่นคงของชาติมีการโต้แย้งกันในศาลได้

โฆษกคณะรัฐมนตรีกล่าวว่า "จุดที่แอมเนสตี้ไม่เข้าใจคือในตอนนี้ไม่มีใครเลย ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ หรือทนายของพวกเขา หรือผู้พิพากษา จะสามารถพึ่งพาหลักฐานที่มีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงของชาติได้"

"ผลที่เกิดคือ คดียุบไป แล้วพวกเราก็ไม่สามารถดำเนินคดีที่มีการกล่าวหาอย่างร้ายแรงต่อรัฐไปจนสุดได้"

"กฎหมายความยุติธรรมและความมั่นคงจะช่วยแก้ปัญหานี้ โดยสามารถให้นำหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งถูกห้ามในกฎปัจจุบัน นำมาใช้ในกระบวนการลับได้"

"กระบวนการยุติธรรมแบบลับอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีอย่างอุดมคติ แต่ก็ดีกว่าเมื่ออีกทางหนึ่งคือความเงียบ"

ที่มา:

Secret courts plan criticised as 'Kafkaesque' by Amnesty, The Guardian, 15-10-2012
http://www.guardian.co.uk/law/2012/oct/15/secret-courts-plan-kafkaesque-amnesty
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท