Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงกรณียิง 5 วัยรุ่นกรงปินังในเดือนเมษายน 2555 เดินหน้าสอบปากคำและลงพื้นที่ตามการร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อเลขาฯ ศอ.บต. ด้านแม่ผู้ตายร้องขอความเป็นธรรมยันลูกชายไม่เกี่ยวข้องผู้ต้องสงสัยหมาย พรก.

เมื่อเวลา 09.30  ของวันที่ 18 ตุลาคม 2555 นางมารีแย บือซา และนางรูฮานี หะยีมาลี มารดาสามวัยรุ่นกรงปินังที่เสียชีวิตจากการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2555 เดินทางมาให้ปากคำเพิ่มต่อคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริง กรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านเสียชีวิต 5 ราย ในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านสะเอะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ณ ห้องประชุมสวนอาหารยัสมิซีฟู๊ด สวนขวัญเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา แต่ญาติของนายสะกือรี จะปะกียา และนายตัชกีรี ยะยอ ไม่เข้าร่วมให้ปากคำในวันนี้ เนื่องจากไม่ติดใจเอาความ

ในการสอบปากคำ มีคณะกรรมการฯ ที่ร่วมสอบทั้งหมด 10 ราย จาก 17 ราย และญาติของผู้เสียหายทั้งสองคนคือ นางมารีแย  บือซา มารดาของนายลุกมัน ดือราแม และนายซัมรี ดือราแม และนางรูฮานี หะยีมาลี มารดาของนายอิสมาแอล แปเตาะ ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งสามคนมีผู้ยืนยันว่าเป็นเด็กหนุ่มในหมู่บ้านที่มักใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเส้นทางเพื่อไปดักนกเป็นประจำ

คณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริง ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2555 โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 9 (6) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553  หลังจากญาติได้ร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555

หลังจากได้รับการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้มีประชุมทั้งหมด 5 ครั้ง และลงพื้นที่ 1 ครั้ง โดยมีการการสอบปากคำพยานแวดล้อมจากเหตุการณ์ทั้งหมด 6 ราย ซึ่งประกอบด้วย ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบ้านบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุ 1 ราย ชาวบ้านที่ไปดูศพในที่เกิดเหตุ 1 ราย ชาวบ้านที่ไปดักนกร่วมกับผู้เสียชีวิต 1 ราย และชาวบ้านที่เป็นเจ้าของบ้านใกล้ที่เกิดเหตุ 3 ราย ซึ่งสอบเสร็จล่วงหน้าไปแล้ว

นางรูฮานี หะยีมาลี มารดาของนายอิสมาแอ แปเตาะ ได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ว่า สาเหตุที่ต้องการมาร้องเรียนต่อ ศอ.บต. เนื่องจากต้องการให้เจ้าหน้าที่มอบความเป็นธรรมแก่ลูกชายของเธอ ส่วนเรื่องค่าเสียหายที่รัฐต้องชดเชยนั้นไม่ได้สนใจตั้งแต่แรก

“แค่ขอความเป็นธรรม ลูกเราไม่ใช่โจร แล้วมาบอกว่า เป็นโจรหมดได้ยังไง พรก.ก็ไม่เคยโดน” นางรูฮานี กล่าว

นางสาวภาวิณี ชุมศรี หนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ ได้ชี้แจงต่อสื่อว่าการสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้เพื่อการสร้างความกระจ่างให้ญาติที่มาร้องเรียน และจะมีการชี้แจงให้สาธารณชนที่ตั้งข้อสงสัยกับกรณีการวิสามัญวัยรุ่นทั้ง 5 คน ดังกล่าว แต่ไม่มีผลในชั้นศาลแต่อย่างใด หากมีการสอบสวนที่เป็นประโยชน์ต่อคดีความแล้วทนายของทั้งสองฝ่ายจะนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมก็สามารถทำได้

ซึ่งกรณีนี้ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว โดยมีหมายศาลเรียกสอบไต่สวนการตายของทั้งวัยรุ่นทั้ง 5 คน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เดิมนัดสอบพยาน 3 ปากจากฝ่ายชาวบ้านที่เกิดเหตุ แต่มีการเลื่อนนัดเนื่องจากหลักฐานเอกสารไม่พร้อม จึงมีการสอบเพียงพยานแวดล้อมเสร็จไปแล้วเพียง 1 ปากเท่านั้น ส่วนอีกสองปากนัดสอบในวันที่ 14 ธันวาคม ที่ศาลจังหวัดยะลา

 

 

คณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริง กรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านเสียชีวิต 5 ราย ในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านสะเอะ อำเภอกรงปินัง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ประกอบด้วยคณะกรรมการ 14 คน จากทุกภาคส่วน โดยมีนายสาโรจน์ มะมิง ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดยะลา เป็น

ประธาน ประกอบด้วย

 

1. พลโทมนตรี อุมารี                       ผู้ทรงคุณวัฒิพิเศษ ทบ./หน.คศน.กอ.รมน.ภาค 4 สน

2. พลตำรวจตรีอนุรุต กฤษณะการะเกต  รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจ จชต.

3. ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา

4. ผู้แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา

5. นายกิตติ สุระคำแหง           ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต.

6. ฮัจยีอิสมาแอล ฮารี            ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา

7. นายธีรยุทธ เบญจเดชา       ตัวแทนสภาทนายความประจำจังหวัดยะลา

8. นายประสิทธิ เมฆสุวรรณ      ตัวแทนอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน

9. นางสาวภาวิณี ชุมศรี           ตัวแทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

10. นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน   ตัวแทนผู้ประกอบการวิชาชีพอิสระ

11. นายมะแอ หะมิมะดิง                  ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา

12. นายอับดุลรอฮิง อีแต        อิหม่ามประจำมัสยิดตะโล๊ะสะโต ม. 6 ต.สะเอะ

                                           อ. กรงปินัง จ.ยะลา

13. นายมะดารี ยะยือรี            สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เขต 1 กรงปินัง

14. นายสาโรจน์ มะมิง            ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจ.ยะลา

อำนาจหน้าที่และแนวทางในการดำเนินงาน

1) รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริง ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เพื่อประมวลผลข้อเท็จจริง ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและกำหนดแนวทางในการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เกิดปรองดองและสมานฉันท์ตามแนวทางสันติวิธี

2) เรียกเอกสารจากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นประโยชน์ในการดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

3) รวบรวมปัญหาข้อขัดข้องและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทราบและพิจารณาใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบข้อเท็จและการบังคับใช้กฎหมายต่อไป

4) ปฏิบัติหน้าที่/ภารกิจอื่นๆ ตามที่เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้มอบหมาย

5) ให้มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ เป็นผู้รับผิดชอบอำนวยการ กำกับดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ และให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับแต่มีคำสั่งและรายงานให้ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ ทราบต่อไป

หมายเหตุ มีการขอต่อ ศอ.บต. ให้ขยายระยะเวลาในการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการชุดนี้ เพิ่มอีก 45 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดการสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net