หลากความเห็น จะใช้ภาษาอะไร ใน 'ทีวีมลายู 24 ชั่วโมง'

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) รวมนานาทัศนะผู้เชี่ยวชาญภาษามลายู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นมาตรฐานการใช้ภาษา เนื่องจากคนในพื้นที่ใช้ภาษามลายูที่แตกต่างจากภาษามลายูในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) รวมนานาทัศนะผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูเกี่ยวกับทีวีภาษามลายู 24 ชั่วโมงตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) มีแผนจะดำเนินการโทรทัศน์ดาวเทียมและคาดว่าจะออกอากาศก่อนสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นมาตรฐานการใช้ภาษามลายูในการผลิตรายการ เนื่องจากคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยใช้ภาษามลายูที่แตกต่างจากภาษามลายูในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

0 0 0

นายดอรอแม หะยีหะซา
ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปัตตานี
ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “Fajar”
หนังสือพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต

เท่าที่มีการพูดคุยกันในการประชุมที่ผ่านมา (การประชุมหารือการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ ภาษาถิ่นผ่านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนให้มีการประชาสัมพันธ์ภาษาถิ่น ทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ โดยมีผู้แทนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และภาคประชาสังคม เมื่อวันที 14 ตุลาคม 2555 ที่โรงแรมปาร์ควิวปัตตานี) ตกลงจะมีการใช้ภาษามลายูที่คนปัตตานีสื่อสารแล้วมีความเข้าใจ และเป็นภาษามลายูที่ไม่มีการผสมผสานกับภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ในส่วนของภาษาไทยนั้นพยายามที่หลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธการใช้ภาษาไทยเลยทีเดียว

จากประสบการณ์ที่ได้สอนภาษามลายูมาหลายสิบปีในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและในโรงเรียนของรัฐบาล พบว่า นักเรียนที่นี่ได้รับรู้รับฟังภาษามลายูเฉพาะในช่วงการเรียนการสอนเท่านั้น เมื่อออกจากห้องเรียนก็ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นสื่อภาษามลายู รายการโทรทัศน์ไม่มีภาษามลายู ฉะนั้นหากมีทีวีภาษามลายูเกิดขึ้น ถือว่าเป็นความพยายามสร้างสภาพแวดแวดล้อมที่เป็นการส่งเสริมการใช้ภาษามลายูขึ้นมา

สำหรับสถานีวิทยุที่หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของ ส่วนใหญ่ไม่มีความเป็นมืออาชีพในด้านการใช้ภาษามลายู แม้แต่สถานีวิทยุของ ศอ.บต.เอง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่า ผู้ดำเนินรายการนำข่าวสารในหนังสือพิมพ์มาอ่านอย่างไม่ค่อยจะอัพเดท แต่มีสถานีวิทยุของเอกชนในพื้นที่ที่มีการอัพเดนข้อมูลข่าวสารที่ทันยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความมืออาชีพมากกว่า

ในช่วงแรกของการออกอากาศทีวีมลายู 24 ชั่วโมง อาจจะใช้ในรูปแบบบันทึกเทปไปก่อน แต่จะมีการประชุมของภาคประชาสังคมเพื่อสรรหาคนที่จะมาเป็นสมาชิกสภาที่จะมากำกับดูแลทีวีภาษามลายู จะมีการประชุมหลังการนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 หลังจากนั้นจะมีการเปิดดำเนินรายการทีวี

ทีวีภาษามลายูจะต้องมีบอร์ดบริหารที่จะเป็นผู้ที่กำกับดูแลในการผลิตรายการก่อนออกอากาศ แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีที่ปรึกษาหลายๆ ด้าน ทั้งด้านเทคนิค ด้านเนื้อหาซึ่งหากมีการปล่อยปละละเลยก็เหมือนกับสถานีวิทยุในทุกวันนี้ บางสถานีก็อยู่ก็อยู่ได้ ส่วนสถานีอยู่ไม่ได้ต้องยุบไป

การที่จะดึงให้เยาวชนเข้ามาดูทีวีภาษามลายูนั้น คิดว่าต้องมีรายการบันเทิง เป็นรายการที่สำคัญที่จะให้เยาวชนมาดูทีวีภาษามลายู เพราะรายการบันเทิงเป็นรายการให้ความสุขแก่ทุกๆ คนได้ ไม่ว่าเป็นคนแก่ หรือเยาวชน แต่ในที่นี้ต้องเป็นความบันเทิงที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วรายการบันเทิงไม่ใช่มีเพียงแค่ละครหรือการขับร้องอนาซีดอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายรูปแบบมากมาย

การที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. มีความพยายามที่จะก่อตั้งทีวีภาษามลายูท่านอาจจะมองเห็นว่า หนึ่ง ในปัญหาที่เกิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือทางรัฐบาลไม่ได้ตอบสนองสิ่งที่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการ ท่านจึงบอกในประชุมว่าทีวีมลายูที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นทีวีของ ศอ.บต. แต่เป็นทีวีของประชาชน ศอ.บต.เป็นเพียงผู้ที่ประสานงานให้เกิดทีวีภาษามลายูเท่านั้น

0 0 0

ศาสตราจารย์ ดร.ฮารูน ดาวุด
ผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูจาก Universiti Malaysia Kelantan ประเทศมาเลเซีย 

ศ.ดร.ฮารูนให้สัมภาษณ์กับ DSJ ระหว่างเดินทางมาร่วมสัมมนา “Seminar Antarabangsa Mematabakan Bahasa Melayu di Asean” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ปัตตานี เขากล่าวว่าการใช้ภาษามลายูในสื่อทีวีก็ต้องดูว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มไหน เราจะสื่อเฉพาะคนปัตตานีหรือกลุ่มอาเซียน ทวีปเอเชียหรือเป้าหมายทั่วโลก

ถ้าเป้าหมายเป็นคนรับสื่อที่ปัตตานีก็ต้องใช้ภาษามลายูปัตตานีเพราะจะสื่อตรงต่อผู้รับได้เลย แต่ถ้าใช้ภาษามลายูมาตรฐานอย่างที่ใช้อยู่ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย คนปัตตานีก็จะไม่เข้าใจ หน้าที่ของการสื่อสารที่เป็นทีวีดาวเทียมที่ว่าก็จะไม่ถึงเป้าหมายที่เป็นรากฐานเพราะเราจะสื่อให้คนของเรา แต่คนของเรากลับไม่รู้เรื่อง

อันนี้ต้องดูว่าเราต้องการสื่อไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ไกลออกไปถึงกลันตัน หรือไกลกว่านั้น เราก็ต้องใช้ภาษามลายูมาตรฐานซึ่งก็กำลังเกิดข้อขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียอ้างว่าเขามีประชากรที่ใช้ภาษาแบบอินโดนีเซียมากที่สุด ก็ควรจะใช้ภาษาอินโดนีเซียเป็นมาตรฐาน แต่มาเลเซียบอกว่าภาษามลายูเป็นภาษาของเขา

ถ้าเราดูในประวัติศาสตร์ภาษามลายูไม่ใช่ภาษาของคนส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย ซึ่งในอินโดนีเซียกลุ่มที่ใช้ภาษามลายูมีเพียงในพื้นที่จามบีที่เป็นส่วนหนึ่งของสุมาตราและที่เรียวเท่านั้น ภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดในอินโดนีเซียคือภาษาชวาที่ประชากรอินโดนีเซียเกือบ 3 ใน 4 ใช้ ยิ่งที่เกาะสุลาเวสีเขาไม่เข้าใจภาษามลายูและเขาก็เป็นชาติพันธุ์ดายัก ไม่ใช่มลายูแต่ภาษามลายูที่เป็นภาษาของชนกลุ่มเล็กๆ ถูกเลือกโดยนักการเมืองให้เป็นภาษาแห่งชาติ ซึ่งก็ทำให้ทุกคนในอินโดนีเซียต้องเรียนต้องพูดภาษามลายู แต่ละกลุ่มชาติพันธ์ก็ต้องใช้ภาษามลายู

ในบริบทของปัตตานี คนที่นี่ง่ายกว่าที่จะพูดภาษามลายูมาตรฐานเพราะเป็นเชื้อชาติมลายู ถ้าดูที่อินโดนีเซีย คนชวาซึ่งไม่ใช่มลายูเลยยังสามารถพูดภาษามลายูได้ คนดายักยังพูดมลายูได้ สำหรับคนที่นี่กับภาษามลายูมาตรฐานไม่ห่างไกลกันมากนักจึงเรียนรู้ได้ง่ายกว่า

ในการทำทีวีดาวเทียม ถ้าเราวางเป้าหมายว่าต้องการสื่อภาษามลายูปัตตานีให้ไกลกว่าคนปัตตานี ถ้าเราจะยกภาษามลายูปัตตานีเป็นภาษาทางการนั้นคงเป็นเรื่องคล้ายกับการต้องแบกภูเขาทั้งลูกมันยากกว่าถ้าเทียบกับแบกภูเขาทั้งลูกกับการเดินขึ้นเขา หมายความว่าภาษามลายูที่เราพูดกันที่ปัตตานี กลันตัน เราเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กเท่านั้น และมันมีภาษาที่ใช้โดยคนกลุ่มใหญ่อยู่แล้วคือภาษามลายูมาตรฐานที่ใช้อยู่ในมาเลเซีย ที่คนอินเดีย คนจีนเข้าใจ

ในอีกด้านหนึ่ง คนปัตตานีต้องทำให้ภาษามลายูปัตตานีเข้มแข็ง จะไปไหนก็ตามคนปัตตานีต้องให้ภาษาปัตตานีแข็งแรงก่อน พื้นฐานของภาษาต้องแข็งแรง ต้องจัดการเรียนการสอนภาษามลายูปัตตานีก่อนแล้วให้คนปัตตานีก้าวไปสู่ภาษามลายูมาตรฐาน ถ้าลูกหลานเราไม่มีฐานภาษามลายูปัตตานีที่แข็งแกร่งแล้วเราไปใช้ภาษามลายูมาตรฐาน ภาษามลายูปัตตานีก็จะสูญหายไปด้วย เราจำเป็นต้องบำรุงรักษาภาษามลายูปัตตานีให้มั่นคงก่อน เราต้องเริ่มที่สิ่งที่เรามีก่อน เพราะถ้ารากฐานไม่แข็งแรงมันก็จะพัง ถ้าไม่มีรากแก้วมันก็จะล้ม

0 0 0

นายอัศโตรา ญาบัต
นักข่าวนักเขียนอาวุโส
วิทยากรโครงการอบรมนักข่าวภาษามลายู โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

การทำรายการทีวีภาษามลายูเห็นด้วยอย่างยิ่งคือ เราต้องมีการใช้ภาษาทั้งสองแบบคืออย่างเป็นรายการข่าวต้นชั่วโมงต้องเป็นภาษามลายูกลาง แต่พอเป็นรายการวิเคราะห์ข่าวที่เป็นรายการสนทนาก็ใช้ภาษามลายูถิ่น โดยเฉพาะรายการที่มีเป้าหมายสำหรับปัญญาชน รายการที่มีเนื้อหาที่เป็นวิชาการหรือคุ๊ตบะห์วันศุกร์ ต้องใช้ภาษามลายูกลางเพื่อเป็นการฝึกให้คนดูที่นี่ทันกับประชาคมอาเซียน ส่วนรายการที่เป็นการวิเคราะห์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมก็สามารถใช้ภาษามลายูถิ่น

ในความเป็นจริงชาวบ้านมีความเข้าใจภาษามลายูมาตรฐานเพราะเดี๋ยวนี้เขามีทีวีดาวเทียมที่ดูช่องมาเลเซีย ทีวีอินโดนีเซีย ฟังเพลงมาเลเซีย คนที่มีการศึกษาระดับชั้น 10 ซานาวีหรือระดับมหาวิทยาลัยเข้าใจภาษามลายูกลาง โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ...? แล้วเขาจะพึงพอใจสื่อที่ใช้ภาษามลายูกลางมากกว่าสื่อที่ใช้ภาษามลายูถิ่น ซึ่งเมื่อเรามีโอกาสก็ควรเปิดพื้นที่ให้กับภาษามลายูกลางให้มากขึ้น จะเป็นการพัฒนาภาษามลายูกลางให้กว้างขวางขึ้นในบ้านเรา

ในมาเลเซียเองก็เช่นกัน เมื่อก่อนคนมาเลเซียก็ชอบใช้ภาษาถิ่นของตนเองมากกว่า ไม่ค่อยยอมรับภาษากลางมากนัก แต่เมื่อมีสื่อภาษากลางที่เป็นสื่อสารมวลชนมากขึ้น ภาษามลายูกลางก็ได้รับการยอมรับ บ้านเราก็อยากให้ไปถึงจุดนั้น เท่าที่สังเกตการณ์ใช้ภาษามลายูของคนบ้านเราเดี๋ยวนี้ อย่างในพื้นที่ อ.รือเสาะ หรือที่อื่นๆ เริ่มมีการใช้ภาษาที่ใกล้เคียงภาษามลายูกลางเพราะสื่อที่เป็นภาษามลายูกลางเข้ามาสู่บ้านเรา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท