Skip to main content
sharethis

กิจกรรมปั่นจักรยาน “ปัน ปั่น ปั้น 2” เพื่อขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมเชิงสร้างสรรค์กับทุกภาคส่วนในสังคม โดยมีเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSouth) เป็นเจ้าภาพ

เมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชน นักศึกษา นักพัฒนาชุมชน และนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมประมาณ 80 คน ร่วมกิจกรรมปั่นจักรยาน “ปัน ปั่น ปั้น 2” เพื่อขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมเชิงสร้างสรรค์กับทุกภาคส่วนในสังคม โดยมีเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSouth) เป็นเจ้าภาพ

กิจกรรมปั่นจักรยานในครั้งนี้เริ่มต้นออกจากตัวเมืองปัตตานี มุ่งหน้าสู่หาดตะโละสะมิแล อ.ยะหริ่ง ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร โดยช่วงกลางคืนมีเวทีเสวนาและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ทั้งเก็บขยะและปัดกวาดทำความสะอาดมัสยิดในช่วงเช้าวันที่ 2

นายดีลละห์ เจะสุรี คณะกรรมาธิการ INSouth ในฐานะประธานโครงการ ปัน ปั่น ปั้น 2 (ขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ) เปิดเผยว่า รูปแบบในการจัดโครงการครั้งนี้ออกแบบกิจกรรมตามความหมายของชื่อโครงการ คือ คำแรก “ปัน”หมายถึง การแบ่งปันความคิดดีๆ โดยเริ่มที่การมีจิตอาสาในการช่วยเหลือสังคม

คำที่สองคำว่า “ปั่น” หมายถึง การลงมือปฏิบัติในสิ่งที่ได้คิด ชักชวนทำความดี คือความพยายามในรูปแบบของการ “ปั่น” จักรยาน

คำสุดท้าย “ปั้น”หมายถึงการให้ความสุข ให้ความหวัง และให้โอกาสในการทำความดีเพื่อ “ปั้น” สังคมและโลกนี้ให้น่าอยู่ ทั้งนี้ยังเป็นการรณรงค์สู่การสร้างสรรค์โอกาสให้กับการไม่ใช้ความรุนแรง เป็นการสร้างพลังสาธารณะเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมสู่การเปลี่ยนแปลงโดยเร็วที่สุด

นายดีลละห์ เปิดเผยอีกว่า โครงการครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น กิจกรรม “วงเสวนาใต้เงาจันทร์” ภายใต้หัวข้อ“บทบาทคนหนุ่มสาวมุสลิม” โดยมีนายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิง อดีตรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2550 เป็นผู้นำการเสวนา และหัวข้อ “บทบาทคนหนุ่มสาวกับการเปลี่ยนแปลงสังคมท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์” มีนายตูแวดานียา ตูแวแมแง รองผู้อำนวยการสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA) เป็นผู้นำเสวนา รวมทั้งกิจกรรมเทศบาลอาสา “เก็บขยะให้ลิงดู” กิจกรรม “พระอาทิตย์ขึ้น ปัดกวาดมัสยิดต้อนรับรายอ”

นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ กรรมการฝ่ายสื่อ INSouth และผู้ประสานงานโครงการเปิดเผยว่า โครงการนี้จัดขึ้นมาเพื่อขยายพื้นที่ทางสังคม ส่งเสริมและรณรงค์ให้คนหนุ่มสาวตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองในการทำสิ่งดีๆ แบบสบายๆ ง่ายๆ สไตล์เรา ต่อสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ อดีตรองเลขาธิการ สนนท. กล่าวในเวทีเสวนาว่า เมื่อพูดถึงหน้าที่ของคนหนุ่มสาวมุสลิมแล้วจะมีมากมายหลายหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ อย่างเช่น หน้าที่ของลูกต่อผู้ให้บิดามารดากำเนิด หน้าที่ของลูกศิษย์ต่อครูบาอาจารย์ หน้าที่ความเป็นผู้นำต่อผู้ตาม หน้าที่ของคนมุสลิมต่อเพื่อนร่วมศาสนา และหน้าที่ของคนหนุ่มสาวต่อสังคม

“หน้าที่ในการเผยแพร่และเชิญชวน (ดะวะฮฺ) ให้ทำในสิ่งที่ดี หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นหน้าที่ของเราเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหน้าที่ที่มีต่อสังคม เราในฐานะคนหนุ่มสาวมุสลิมจำเป็นอย่างยิ่ง (วายิบ) ต้องปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้” มูฮำหมัดอาลาดี กล่าว

“วันนี้เราสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะอยู่เพื่อตนเองอย่างเดียว หรืออยู่เพื่อคนอื่นด้วย หรือเพื่อทั้งสองอย่าง ลองคิดดูว่าหากเราอยู่เพื่อให้มีชีวิตรอดไปวันๆ หมูป่ามันก็มีชีวิตอยู่เพื่อให้มีชีวิตรอดไปวันๆ เช่นเดียวกัน และหากเราคิดจะทำงานเพื่อปากท้องตนเองอย่างเดียว ลิงในป่าก็ทำงานเพื่อปากท้องตนเองเช่นเดียว ดังนั้นหากเราต้องการที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เราต้องมีข้อแตกต่างจากหมูป่าและลิงเหล่านั้น” มูฮำหมัดอาลาดี กล่าวทิ้งท้าย

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง รองผอ.YDA กล่าวในเวทีเสวนา “บทบาทคนหนุ่มสาวกับการเปลี่ยนแปลงสังคมท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์” ว่าขอนิยามคำว่า โลกาภิวัฒน์ ให้เข้าใจง่ายๆ คือ การทำให้เรื่องไกลตัวเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวได้อย่างเช่น เมื่อก่อนการเข้าถึงข่าวสารเป็นเรื่องยาก แต่วันนี้เกิดเหตุการณ์แค่เพียงวินาทีเดียวทุกคนก็รับรู้แล้ว เช่น เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ ทุกคนสามารถรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว จนวันนี้ทุกคนก็ยังหาดูได้ผ่านโลกออนไลน์

“ดังนั้น เราในฐานะคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันต้องหาช่องทางเพื่อไปมีบทบาทในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ให้ได้ ที่ผ่านมาเราได้ยินแต่ข้อเสียของโลกาภิวัฒน์ คือเป็นตัวเร่งทำให้เราเสียอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนได้ง่ายเพราะการหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วอย่างไร้พรมแดน ทำให้ความเป็นเอกวัฒนธรรมถูกรุมเร้าโดยพหุวัฒนธรรมอย่างคลุมเครือและสับสนว่าวัฒนธรรมแบบไหนที่ดีและแบบไหนที่ไม่ดี” ตูแวดานียากล่าว

ตูแวดานียากล่าวอีกว่า ข้อดีของโลกาภิวัตน์ก็คือการที่โลกเชื่อมต่อกันทุกมุมโลก ทุกพื้นที่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้นั้น เราก็ต้องใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่นี่ให้สังคมโลกได้รู้ โดยอาศัยความเป็นโลกาภิวัตน์ที่ไร้พรมแดนด้านการสื่อสารให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายรุสลี มะทา ตัวแทนเยาวชนจากบ้านบือซู อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่าปกติชอบปั่นจักรยานอยู่แล้ว พอรู้ข่าวก็รีบตรวจสภาพจักรยานเพื่อเข้าร่วม ประทับใจมาก เป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่ไม่เหมือนที่เคยจัดในหมู่บ้าน และจะนำประสบการณ์ตรงนี้ไปจัดทำในหมู่บ้านตนเองต่อไป

นายรุสดี สาแมง ตัวแทนเยาวชนจากบ้านสะกำ อ.มายอ จ.ปัตตานี กล่าวว่าช่วงปั่นจักรยานมาเกือบ 30 กิโลเมตรก็รู้สึกเหนื่อย แต่เมื่อได้ร่วมกิจกรรมอื่นๆ รู้สึกประทับใจมาก ได้รู้ถึงหน้าที่ของตนเอง และรู้ถึงข้อบกพร่องของสังคมท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง

นางสาวนูเรียณี บือราเฮง ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานีกล่าวว่าดีใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้จัดกิจกรรมเช่นนี้อีก และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมบ้าง เช่น เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงมาร่วมกันมากขึ้น

นายอิสมาแอล หะยีดอเลาะ เจ้าหน้าที่ประเมินหลักทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่ กล่าวว่าการทำกิจกรรมที่เปิดพื้นที่สำหรับทุกภาคส่วนเช่นนี้ถือว่าดี ในฐานะคนทำงานในระบบธุรกิจเมื่อได้เข้ามาร่วมกิจกรรมก็รู้สึกดี อยากให้มีกิจกรรมเช่นนี้อีกเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเฉพาะคนทำงานในระบบธุรกิจกับกลุ่มเพื่อนที่ทำงานในองค์กรเพื่อสังคม

 

......................................................................

Trailer VDO ปันปั่น ปั้น 2
http://www.youtube.com/watch?v=XXRagzhtPc8

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net