BBC : 5 วิธีคัดรูปจริง-รูปหลอก ในอินเตอร์เน็ต

จากกระแสรูปปลอมที่อ้างว่าเป็นรูปของเหตุการณ์พายุเฮอริเคน 'แซนดี้' ระบาดหนักในอินเตอร์เน็ต สำนักข่าว BBC ก็ได้นำเสนอวิธีการ 5 วิธีในการคัดกรองว่ารูปใดควรเชื่อ รูปใดไม่ควรเชื่อ

31 ต.ค. 2012 - ในช่วงที่เฮอร์ริเคน 'แซนดี้' กระหน่ำชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา ภาพหายนะหลายภาพได้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก ในขณะเดียวกันโซเขียลเน็ตเวิร์กก็ถูกถาโถมด้วยเรื่องและภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในนิวยอร์กและที่อื่นๆ 'ท่วม' ไปหมด

ตั้งแต่รูปกราวด์ซีโร่ที่น้ำทะเลท่วม, ม้าหมุน ลานเด็กเล่นที่ยังมีแสงไฟอยู่ปรากฏขึ้นกลางน้ำ, ภาพอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพถูกกระหน่ำจากคลื่นยักษ์ และกระทั่งรูปปลาฉลามว่ายอยู่ในสายน้ำที่รัฐนิวเจอร์ซีย์

ทั้งหมดถูกส่งทางอีเมล์ แชร์และรีทวีตต่ออย่างรวดเร็ว แต่เมื่อพายุเฮอริเคนผ่านไปแล้ว คนก็เริ่มรู้ว่าพวกเขาถูกหลอก ขณะที่ภาพของกราวน์ซีโร่และภาพของลานเด็กเล่นเป็นของจริง แต่ภาพของเทพีเสรีภาพและปลาฉลามรวมถึงภาพอื่นๆ เช่น ภาพพายุฟ้าคะนองที่เมืองแมนฮัตตัน ไปจนถึงภาพทหารหาญเข้าไปคุ้มกันสุสานทหารนิรนามอาลิงตันท่ามกลางสายฝนต่างก็เป็นภาพปลอม หรืออย่างน้อยก็ถูกใช้ผิดความหมาย

แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าภาพที่คุณกำลังจะส่งให้เพื่อน, ผู้ร่วมงาน หรือ ผู้ติดตามของคุณ เป็นรูปจริงหรือเท็จ ตัวคุณเองอาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบภาพถ่ายหรืออาจบอกไม่ได้ว่าเฮอริเคนกับพายุไต้ฝุ่นฝนฟ้าคะนอง ผู้คนกำลังเคร่งเครียดมาก สภาพการณ์ก็อันตราย และภาพปลอมหลายภาพก็ไม่ได้น่ากลัวเท่าความจริง

ทาง BBC Future จึงได้ขอนำเสนอข้อแนะนำเล็กๆ 5 ข้อเพื่อให้คุณต้องอับอายเวลาเผลอแชร์รูปเฮอริเคนปลอม หรือรูปปลอมอื่นๆ

1.) เชื่อในสัญชาตญาณคุณ

ถ้ามันดูหลอกๆ มันก็เป็นไปได้ที่จะปลอม เทเรซ่า คอลลิงตัน ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิตอลของ WTSP.COM กล่าว เธอเป็นคนที่ช่วยฝึกให้นักข่าวจับผิดสิ่งที่เธอเรียกว่า "Fauxtography" หรือ "ภาพเก๊" ลองดูที่รูปแล้วคิดด้วยตัวคุณเองสิ นี่มันดูดีเกินกว่าจะเป็นจริงหรือไม่ มันถ่ายได้สมบูรณ์แบบเกินไปไหม รู้สึกว่ามีอะไรแปลกๆ หรือเปล่า

คอลลิงตันกล่าวว่า ถ้าหากภาพถ่ายมันวิเศษมากจริงๆ เช่นเดียวกับภาพเหล่านี้ แล้วไม่ได้อยู่ในหน้าแรกของแหล่งข่าวชั้นนำ คุณต้องฉุกคิดบ้างแล้ว เว็บไซต์ส่วนมากจะนำภาพที่ถ่ายได้สมบูรณ์แบบมาใช้ทันที หากมันไม่มีอยู่ในหน้าแรก  เป็นไปได้ว่ามันอาจไม่เป็นจริง

คอลลิงตันบอกว่า ภาพภัยธรรมชาติมักจะถูกแพร่กระจายไปเร็วมาก เพราะผู้คนตื่นกลัว และความกลัวก็มักจะทำให้ความช่างสงสัยในตัวเราหายไป และมีรูปจำนวนมากที่ยอดเยี่ยม รูปของรถที่จมอยู่บนถนนอเวนิวซีของแมนฮัตตันเป็นของจริง อุโมงค์และสถานีรถไฟใต้ดินที่ถูกน้ำท่วมก็เป็นภาพจริง "มีสิ่งที่ดูไม่น่าเชื่ออยู่มากมาย ดังนั้นในเวลานี้ความรู้สึกน่าเชื่อและไม่น่าเชื่อของคนเรากว้างขึ้นมาก" คอลลิงตันกล่าว เธอบอกอีกว่า ดังนั้นการใช้ความรู้สึกวัดว่าจริงหรือไม่อาจจะผิดพลาดได้ ควรลองใช้เวลาอีกสักนิดในการตรวจเช็คหาความจริง

2.) ลองดูที่แสง

ฮานี ฟาริด ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาพตัดต่อจากวิทยาลัยดาร์ทเมาธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ปลอมยากที่สุดในรูปถ่ายคือแสง, เงา และการสะท้อน ฟาริดเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท โฟร์แอนด์ซิกส์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการตรวจสอบสิ่งที่ทำหลอก

อย่างไรก็ตามฟาริดบอกว่า พายุเป็นสิ่งที่ซับซ้อน "รูปของสภาพอากาศอาจหลอกเราได้ เพราะสิ่งที่พวกเราใช้อย่างเช่น แสง, การสะท้อน และ จุดลับสายตา (vanishing points) กับสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในรูป" แต่บางครั้ง แสงก็เป็นเงื่อนงำ

กล่าวถึงภาพอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพที่มีเหมือนมีพายุวันโลกาวินาศทำให้เมืองนิวยอร์กซิตี้จมอยู่ใต้น้ำ หากคุณลองมองดูใกล้ๆ แสงที่อยู่บนเมฆ และดูรูปเรือที่อยู่บนฉากหน้าของภาพ คุณจะเห็นอย่างชัดเจนว่าทั้งสองไม่ได้มาจากภาพเดียวกัน

คอลลิงตันแนะนำว่า      ถ้าหากคุณนำสิ่งที่อยู่ที่ฉากหน้าไปเปรียบเทียบกับแสงของฉากหลัง คุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามฟาริดบอกว่าขั้นตอนข้อ 1 กับ ข้อ 2 อาจผิดพลาดได้ เพราะสัญชาตญาณเราก็ดีแค่บางเรื่องและทำได้แย่ในบางเรื่อง อีกอย่างหนึ่งที่สัญชาตญาณเราแย่คือการแยกแยะว่าแสงของรูปนี้ถูกตัดต่อหรือไม่ "การใช้สัญชาตญาณวัดภาพทั้งหมดโดยรวมก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อใช้สัญชาตญาณเราวัดส่วนประกอบของภาพ คนเราทำให้แย่ในเรื่องนี้" ฟาริดกล่าว

3.) ดูสิ่งที่คนกำลังหรือกำลังสวมใส่ ดูเส้นขอบฟ้าและคุณภาพของรูป

ในช่วงซึนามิปี 2004 ในไทยรูปภาพจำนวนมากปรากฏออกมาซึ่งจริงๆ แล้วเป็นภาพที่มาจากปี 2002 ที่ถ่ายจากแม่น้ำเฉียนถังของจีน คอลลิงตันสามารถบอกได้เพราะเส้นขอบฟ้าไม่ใช่ของถูเก็ตที่เกิดเหตุ รวมถึงคุณภาพของรูปด้วย

คอลลิงตันบอกว่า ถ้าหากคุณภาพของรูปดูเหมือนมาจากฟิล์ม หรือสแกนจากหนังสือพิมพ์ มันก็ดูน่าสงสัย ให้เตือนตัวเองว่าคนส่วนใหญ่มักจะถ่ายภาพจากกล้องสมาร์ทโฟน เว้นแต่พวกเขาเป็นช่างภาพมืออาชีพ ซึ่งก็เป็นในกรณีที่ภาพดูไม่เหมือนมาจากมืออาชีพด้วยแล้ว มันอาจจะเป็นภาพปลอม

ฟาริดเสริมว่าหากภาพดูเล็กและมีความละเอียดภาพต่ำให้ระวังไว้ "แม้แต่มือถือที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ก็สามารถถ่ายภาพในระดับเมกกะาพิกเซลได้ สาเหตุที่คนเราจะทำให้ภาพเล็กลงคือการซ่อนการปรับแต่ง"

ขอให้ดูด้วยว่าสิ่งที่คนกระทำหรือสวมใส่ในภาพคืออะไร ถ้าลองดูรูปที่ถูกบอกว่ามาจากซึนามิปี 2004 จะเห็นว่าคนจำนวนมากในภาพกำลังยิ้มหรือหัวเราะ เพราะว่าน้ำที่โถมเข้าใส่พวกเขาเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าคลื่นทะเลหนุน (tidal bore) ซึ่งเป็นคลื่นน้ำปกติที่เป้นแหล่งท่องเที่ยวของจีน ถ้าหากภาพนั้นมาจากซึนามิปี 2001 จริง ผู้คนคงไม่ดูร่าเริงนัก

4.) เคยเห็นรูปแบบนี้มาก่อนไหม

ลองนึกถึงภาพอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพที่ถูกคลื่นถล่ม มันดูคุ้นๆ ไหม นั่นเพราะมันมาจากภาพยนตร์เรื่อง Day After Tomorrow ภาพพายุพวกนี้มักจะถูกนำกลับมาใช้ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ทางสภาพภูมิอากาศสำคัญๆ ฟาริดกล่าวว่า ภาพดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้หลายครั้งในรอยหลายปีนี้ ทุกครั้งที่มีเหตุภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ถ้าหากมันดูคุ้นๆ มันก็ไม่ใช่รูปของ 'แซนดี้' แน่ๆ

คอลลิงตันเรียกรูปจำพวกนี้ว่า รูปภาพลาซารัส (Lazarus images) "รูปภาพที่ถูกปลุกให้คืนชีพ" ถ้าหากพิจารณารูปสีเขียวของพายุเหนือเมืองแมนฮัตตัน ภาพนี้ถูกตีพิมพ์ในวอลล์สตรีทเจอร์นัลเดือนเม.ย. ปีที่แล้ว (2011) ในช่วงที่มีปรากฏการณ์พายุทอร์นาโด ถามว่ามันเป็นภาพของสภาพอากาศแปรปรวนไหม คำตอบคือใช่ แต่มันก็ไม่ใช่เฮอร์ริเคนแซนดี้

5.) ถ้ามันมีปลาฉลาม มันมีโอกาสจะเป็นรูปหลอก

มีรูปปลาฉลามหลายรูปปรากฏออกมาในช่วงเริ่มมีเฮอริเคนแซนดี้ และแทบทั้งสิ้นก็เป็นรูปหลอก ไม่มีปลาฉลามมาว่ายอยู่บนทางหลวงรัฐนิวเจอร์ซีหรือเฉลียงหน้าบ้านใครที่ถูกน้ำท่วม เช่นเดียวกับที่ไม่มีปลาฉลามในสถานีรถไฟของโตรอนโต เมื่อย้อนกลับไปในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

รูปภาพปลาฉลามยังเข้ากับข้อแนะนำข้อ 4 ได้ด้วย มันถูกนำกลับมาใช้บ่อยครั้งมาก ภาพของปลาฉลามบนทางหลวงในนิวเจอร์ซีเคยปรากฏในช่วงเฮอริเคนไอรีน ถ้าคุณไม่เคยเห็นรูปทั้งหมด คุณก็อาจเคยเห็นภาพฉลามตัวนี้มาแล้วก็ได้ มีภาพฉลามไม่กี่ตัวที่ถูกเอามาตัดต่อใส่ในรูปครั้งแล้วครั้งเล่า

แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องเป็นไปได้ที่ปลาฉลามจะเข้ามาในเขตน้ำท่วม แต่ก็มีโอกาสน้อยมากๆ และมีโอกาสน้อยยิ่งกว่าที่จะมีคนถ่ายภาพมันได้ ดังนั้นก่อนที่คุณจะแชร์ภาพ "ฉลามมากับน้ำท่วม" ขอให้ตรวจสอบก่อน

ทำไมคนเราถึงถูกหลอก

คอลลิงตันบอกว่า ภาพภูมิอากาศทำปลอมได้ง่ายมาก ด้วยสองสาเหตุคือ หนึ่ง พวกเราอยากจะเชื่อมัน ท่ามกลางพายุโหมหนัก มีความตึงเครียดและความกลัวอย่างมาก ทุกคนก็ตกเป็นเหยื่อของสิง่ที่ดูทรงพลังได้ "ภูมิอากาศทำปลอมได้ง่ายมากเพราะการตอบรับแบบนี้ เมื่อคุณเห็นภาพฟ้าผ่าหรือพายุใหญ่ คุณอยากจะเชื่อมัน"

สิ่งหนึ่งที่ต่างจากภาพถ่ายหลอกๆ ซึ่งถูกตัดต่อ ภาพของเฮอริเคนแซนดี้ที่ถูกส่งต่อๆ กัน ไม่ได้เป็นรูปปลอมในทางเทคนิค พวกมันเป็นภาพถ่ายจริงหรือเป็นพายุจริง แต่เพียงแค่มันไม่ได้เป็นเฮอรริเคนแซนดี้ สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วมันยากที่พวกเขาจะรู้ได้ และคอลลิงตันยังบอกอีกว่า การที่พายุร้ายแรงกำลังทำให้เรากลัวมันก็ทำให้สัญชาตญาณเราทำงานได้แย่ลงได้ สิ่งที่เราเคยคิดว่าน่าสงสัยในเวลาปกติก็ดูเป็นไปได้

แต่ถ้าหากว่าภาพใดที่ไม่ผ่านตามข้อแนะนำทั้ง 5 นี้ มันก็ควรต้องตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่จะทำ มีเว็บไซต์หาที่มาของภาพจำนวนมาก (เช่น tineye.com) ที่ทำให้คุณสามารถค้นหาที่มาเบื้องต้นหรือความเห็นของภาพได้ เนื่องจากรูปภาพพายุเฮอริเคนดูจะถูกกลับมาใช้อีกเรื่อยๆ มีอยู่หลายชิ้นที่ปรากฏบนเว็บไซต์ตรวจสอบเรื่องเหลือเชื่ออย่าง Snopes.com

ฟาริดบอกว่าถ้าเกิดคุณถูกหลอก อย่าได้รู้สึกแย่ แม้กระทั่งสำนักข่าวใหญ่ๆ อย่าง AP และ Reuters ก็เคยถูกหลอกด้วยรูปภาพมาแล้ว "พวกเรามีความสามารถพิเศษเรื่องความคุ้นเคยกับภาพถ่าย ผมคิดว่าสัญชาตญาณของพวกเราดีพอในเรื่องนี้"   ฟาริดกล่าว แต่จริงๆ แล้วพวกเราถูกหลอกได้ง่ายมาก

ดังนั้นก่อนที่จะแชร์ภาพถ่ายให้ทุกคนที่คุณรู้จัก และทำให้เพื่อนๆ และญาติๆ ของพวกคุณตื่นกลัว หยุด ลองใช้เวลาฉุกคิด แล้วตรวจสอบดูก่อน

 

 

ที่มา:

Hurricane Sandy: Five ways to spot a fake photograph, Rose Eveleth, BBC Future, 31-10-2012

หมายเหตุ: แก้ไขเมื่อ 8/11/2555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท