ฟื้นศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ เล็งใช้ อ. องครักษ์ นครนายก

วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ประกาศฟื้นโครงการวิจัยนิวเคลียร์  ระบุมีความจำเป็นด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมและเกษตร  ด้านกรีนพีซชี้นิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีที่ไม่คุ้มค่า สุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายในวงกว้างประเมินไม่ได้   ได้มีกระแสข่าวว่าขณะนี้มีสถานที่จัดเก็บสารกัมมันตรังสีถึง 29 แห่ง ในเขตชุมชนจังหวัดสงขลามติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อ  3 พฤศจิกายน 2555 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวถึงการดำเนินโครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก ว่า โครงการได้หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2532 มีปัญหาในเรื่องกระบวนการขั้นตอนการก่อสร้าง แต่ด้วยปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีความจำเป็นในแง่ของการนำมาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม การเกษตร จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องมือเหล่านี้ถือเป็นตัวชี้วัด และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้

"ใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือถึงการเดินหน้าโครงการดังกล่าว ซึ่งจะทำเป็นรูปแบบใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เนื่องจากผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว การจะใช้เทคโนโลยีรูปแบบเดิมในโครงการเดิมคงไม่ได้ แต่ยังคงใช้พื้นที่องครักษ์ จ.นครนายก อยู่และจำเป็นต้องเพิ่มขนาดการผลิต เนื่องจากโครงการเดิมกำหนดไว้ที่ 10 เมกะวัตต์ แต่โครงการต้องหยุดชะงัก ขณะที่สำนักงานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (สทน.) หน่วยงานในสังกัด วท.มีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูใช้งานอยู่เพียงเครื่องเดียว มีขนาด 2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ บางเขน กรุงเทพฯ มีอายุใช้งานหลายสิบปี เดินเครื่องผลิตรังสีเพื่อการแพทย์ ซึ่งไม่เพียงพอ" นายวรวัจน์กล่าว และว่า ด้วยเหตุนี้จะหารือปรับปรุงโครงการใหม่รูปแบบใหม่จะเพิ่มขนาดการผลิตให้เพียงพอกับการพัฒนาทั้งด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมและการเกษตร เบื้องต้นของใหม่ต้องมีขนาดผลิตระหว่าง 10-30 เมกะวัตต์ ส่วนงบประมาณต้องขอพิจารณาก่อนว่า จะนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดบ้าง ต้องหารืออย่างละเอียดก่อน แต่เรื่องนี้จำเป็นต้องเดินหน้าอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่หากฟื้นโครงการดังกล่าวจะเกิดกระแสต่อต้านจากชุมชนเหมือนอดีต นายวรวัจน์กล่าวว่า ก่อนทำโครงการใดๆจะต้องหารือ สอบถามความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่อยู่แล้ว ตรงนี้ต้องยอมรับว่า การเดินหน้าโครงการมีความจำเป็น เพราะเทคโนโลยีมีส่วนช่วยในการพัฒนาด้านต่างๆ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็เช่นกัน และโครงการศูนย์วิจัยก็ไม่ได้อันตรายอะไร เนื่องจากไม่ใช่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่เป็นศูนย์วิจัยเท่านั้น

นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จุดยืนของกรีนพีซยังคงเหมือนเดิม คือไม่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ ยิ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยิ่งไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ไม่คุ้มค่า สุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายในวงกว้างประเมินไม่ได้ แต่ในกรณีที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะผลักดันโครงการวิจัยนิวเคลียร์นั้น ต้องขอศึกษาในรายละเอียดก่อนว่าจะเดินหน้าลักษณะใด หากขัดกับจุดยืนของกรีนพีซที่ต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อมก็จะคัดค้านด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์เกิดขึ้นภายใต้วงเงินงบประมาณว่าจ้างบริษัท เจเนรัล อะตอมมิกส์ (จีเอ) ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาโครงการให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส. ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ดูแลดำเนินการ เริ่มแรกใช้งบประมาณ 2,750 ล้านบาท ต่อมามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 พิจารณาเพิ่มเงินงบประมาณเป็น 3,335 ล้านบาท ปี 2540 เพิ่มเป็น 4,500 ล้านบาท ที่ผ่านมา ปส.ได้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่จีเอแล้วประมาณ 1,800 ล้านบาท และจ่ายเงินค่าที่ปรึกษาโครงการให้แก่บริษัท อีดับเบิลยูอี ประมาณ 247 ล้านบาท รวมกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าโครงการก็ยังคงทิ้งร้างจนกระทั่งปัจจุบัน

ที่ จ.สงขลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวถึงกรณีการจัดเก็บสารกัมมันตรังสีของบริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซี เอสเอ จำกัด ในเขตเทศบาลนครสงขลา สร้างความหวาดผวาให้กับชุมชนอย่างมาก และมีกระแสข่าวว่า มีสถานที่จัดเก็บสารกัมมันตรังสีถึง 29 แห่ง ในจังหวัดและมี 8 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา ล้วนแล้วแต่อยู่ในชุมชนว่า ยังไม่ทราบเรื่อง เนื่องจากที่ผ่านมาแม้บริษัทชลัมเบอร์เจอร์ฯเก็บสารกัมมันตรังสีมานาน 30 ปี แต่ไม่ได้แจ้งให้จังหวัดและส่วนราชการในพื้นที่รวมถึงชุมชนได้ทราบเรื่อง เพราะทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติ แต่เมื่อจังหวัดสืบทราบจึงเชิญตัวแทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเข้ามาให้ข้อมูลเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา และดำเนินการตรวจสอบ ทั้งนี้ ทางจังหวัดยืนยันไม่ได้เพิกเฉย แต่เป็นหน่วยงานแรกที่ขอให้ตรวจสอบ

"จากการที่มีนักวิชาการหลายหน่วยงานเห็นว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะให้จัดเก็บสารกัมมันตรังสีในชุมชน แม้ว่าทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะยืนยันว่า มีการจัดเก็บสารตามหลักวิธีการที่ถูกต้องก็ตาม ทำให้มีการขอให้ย้ายสารกัมมันตรังสีทั้งหมดออกไปภายใน 3 เดือน ระหว่างนี้ทางผู้ประกอบการก็รับที่จะทำติดป้ายเตือนภัยสารกัมมันตรังสี ทั้งบริเวณสถานที่จัดเก็บรวมถึงรถขนย้าย ระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้าง และเตรียมที่จะขนย้ายสารกัมมันตรังสีออกจากชุมชนตามที่รับปากเอาไว้" นายกฤษฎากล่าว
 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท