Skip to main content
sharethis

"ออง ซาน ซูจี" สัมภาษณ์บีบีซีขอให้ทุกฝ่ายอดกลั้น และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่สมควรใช้ "ความเป็นผู้นำ" ของเธอไปไกล่เกลี่ย และยังระบุว่าไม่ได้รับรายงานเรื่องชาวโรฮิงยา 8 แสนคนถูกปฏิเสธสถานะพลเมือง ขณะที่บล็อกเกอร์โรฮิงยาโพสต์รูปบัตรสมาชิก NLD ยุค '90 ที่เคยรับชาว "โรฮิงยา" เข้าเป็นสมาชิก

หลังการเข้าพบประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โฮเซ มานูเอล บาร์โรโซได้เสนองบประมาณให้กับพม่า 78 ล้านยูโร หรือมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับความช่วยเหลือด้านการพัฒนา บีบีซีรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (3 พ.ย.) โดยทั้งสองพบกันที่เมืองหลวงใหม่เนปิดอว์ และมีการหารือกันเรื่องการค้า หลังจากที่มีการแซงชั่นกันมานับทศวรรษ นอกจากนี้บาร์โรโซยังได้พบกับผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ออง ซาน ซูจีด้วย

อย่างไรก็ตามไม่มีการนำเรื่องชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงยาซึ่งนานาชาติกังวลขึ้นมาหารือกับ ออง ซาน ซูจี 

โดยความขัดแย้งเมื่อเดือนก่อนระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวพุทธในรัฐอาระกัน หรือชาวยะไข่ ได้ทำให้มีผู้ลี้ภัยนับแสนคน มีผู้เสียชีวิต 90 คน ในความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนเมื่อสัปดาห์ก่อน

ทั้งนี้ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ทัศนคติต่อชาวโรฮิงยาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

สิทธิพิเศษทางการค้า

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นับเป็นเจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกคณะล่าสุดที่เดินทางไปเยือนพม่า หลังจากที่รัฐบาลพม่าเริ่มต้นการปฏิรูปเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้รัฐบาลพม่าเองยังตีพิมพ์รายละเอียดของกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากเข้ามาลงทุน

ทั้งนี้นับเป็นเวลาทศวรรษแล้วที่การค้าและความช่วยเหลือระหว่างสหภาพยุโรปและพม่ามีปริมาณเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียอื่นๆ เนื่องจากชาติสมาชิกสหภาพยุโรปมีมาตรการแซงชั่นรัฐบาลพม่าที่ใช้อำนาจอย่างกดขี่

เช่นเดียวกับความช่วยเหลือ เชื่อกันว่าสหภาพยุโรปจะให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับพม่าอย่างที่ประเทศรายได้ต่ำอื่นๆ ได้รับ

นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังให้งบประมาณสำหรับ "ศูนย์สันติภาพ" แห่งใหม่ เพื่อช่วยพม่าในการขจัดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางและกลุุ่มชาติพันธุ์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน

 

เรียกร้องความอดกลั้น

นอกจากการพบกับประธานาธิบดีเต็ง เส่งแล้ว บาร์โรโซยังเข้าพบกับออง ซาน ซูจีด้วย โดยโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี รายงานว่า ต่อกรณีของโรฮิงยา ชาติพันธุ์ที่ถูกปฏิเสธสถานะพลเมืองนั้น ผู้นำฝ่ายค้านพม่าบอกกับบีบีซีภายหลังการพบกันว่า เธอไม่สามารถพูดเรื่องสถานะของโรฮิงยาได้

ทั้งนี้จากการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบีบีซี ที่บ้านหลังใหม่ของเธอที่เนปิดอว์ ออง ซาน ซูจีเองก็ไม่ได้รู้สึกผิดแต่อย่างใด โดยผู้นำฝ่ายค้านพม่าตอบว่า ประชาชนทั้งสองฝ่ายในรัฐอาระกันได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในชุมชน ซึ่งไม่ใช่สถานะ ที่เธอจะไปเข้าข้างใดข้างหนึ่ง

"ฉันเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น แต่ฉันไม่คิดว่าสมควรที่จะใช้สถานะความเป็นผู้นำของฉันเข้าไกล่เกลี่ย โดยที่ไม่ได้สะสางต้นเหตุของปัญหา"

ซูจีกล่าวด้วยว่า ไม่ได้รับรายงานตัวเลขที่ระบุว่าชาวโรฮิงยา 8 แสนคนถูกปฏิเสธสถานะพลเมือง

ทั้งนี้กฎหมายปี 1982 (พ.ศ. 2525) ฉบับซึ่งถูกวิจารณ์อย่างมาก ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายได้กีดกันพวกเขานั้น ควรจะถูกนำมาพิจารณา ออง ซาน ซูจีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของออง ซาน ซูจี ที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อเรื่องโรฮิงยา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ชาวพม่าระบุว่าต้องขับออกจากประเทศนั้น จะทำให้นักรณรงค์สิทธิมนุษยชนไม่พอใจ ผู้สื่อข่าวของบีบีซีระบุ

 

บล็อกเกอร์เผยภาพชาวโรฮิงยาเคยถือบัตรสมาชิกพรรค NLD

บัตรสมาชิกพรรค NLD ซึ่งออกในช่วงปี 1990 ที่ผู้ถือบัตรเป็นชาวโรฮิงยา (ที่มา: Free Rohingya)

ในเวลาไล่เลี่ยกัน บล็อก Free Rohingya ยังเผยภาพบัตรสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) โดยเจ้าของบัตรเป็นชาวโรฮิงยาชื่ออู อับดุลลาซีด ทั้งนี้พรรค NLD ที่นางออง ซาน ซูจีเป็นผู้นำนั้น ในช่วง 1990 ยอมรับให้ชาวโรฮิงยาเป็นสมาชิกพรรค อย่างไรก็ตามท่าทีของออง ซาน ซูจี ระหว่างไปเยือนยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ ได้กล่าวว่าไม่แน่ใจในประเด็นเรื่องชาวโรฮิงยา

ทั้งนี้เกิดความขัดแย้งขึ้นที่รัฐอาระกันระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวยะไข่มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน และล่าสุดเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้อพยพหลายหมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

EU chief Barroso offers new development aid to Burma, BBC, 3 November 2012 Last updated at 10:51 GMT http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-20189448

Free Rohingya http://freerohingya.blogspot.com/2012/11/nld_3.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net