AI ร้องชะลอร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข

ชี้ร่างฉบับปัจจุบันระบุ การเข้าถึงสิทธิประการต่างๆ “ต้องสมดุลกับการปฏิบัติหน้าที่” สอดคล้อง “บริบทในประเทศ” โดยอ้างเหตุผลหลายประการ รวมทั้ง “ความมั่นคงแห่งชาติ” และ “ศีลธรรมจรรยาของสังคม”

4 พฤศจิกายน 2555 แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ชะลอการรับรองร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ระบุ เนื้อหาของร่างฉบับปัจจุบันไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และยังเสี่ยงจะลดมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

0 0 0

 

แถลงการณ์ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล

ให้ชะลอการรับรองร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง

 

ในจดหมายที่ส่งถึงประมุขประเทศในอาเซียน บรรดาหน่วยงานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศชั้นนำเรียกร้องให้ชะลอการรับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Declaration) และชี้ให้เห็นว่าเนื้อหาของร่างฉบับปัจจุบันไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และยังเสี่ยงจะลดมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้ 

ที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือเนื้อหาตามหลักการทั่วไปของปฏิญญาฯ ตามหลักการทั่วไปข้อ 6, 7 และ 8 ตามร่างฉบับปัจจุบันระบุว่า การเข้าถึงสิทธิประการต่าง ๆ “ต้องสมดุลกับการปฏิบัติหน้าที่” และสอดคล้องกับ “บริบทในประเทศและภูมิภาค” และต้องคำนึงถึง “ความเป็นมาทางวัฒนธรรม ศาสนา และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน” นอกจากนั้น ยังระบุให้มีการจำกัดสิทธิประการต่างๆ โดยอ้างเหตุผลหลายประการ รวมทั้ง “ความมั่นคงแห่งชาติ” และ “ศีลธรรมจรรยาของสังคม”

แนวคิดที่ว่าสิทธิมนุษยชนประการต่าง ๆ จะต้อง “สมดุล” กับความรับผิดชอบของบุคคล ขัดแย้งกับแนวคิดหลักด้านสิทธิมนุษยชนตามที่มีความเห็นชอบในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 (1948 Universal Declaration of Human Rights - UDHR) ซึ่งบรรดารัฐทุกแห่ง รวมทั้งรัฐภาคีของอาเซียนให้ความเห็นชอบ รวมทั้งการให้ความเห็นชอบต่อปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ (Vienna Declaration and Programme of Action) เมื่อปี 2536” ไวลเดอร์ เทเลอร์ (Wilder Tayler) เลชาธิการคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) กล่าว

“การสร้างสมดุลระหว่างสิทธิมนุษยชนกับความรับผิดชอบเป็นการบิดเบือนหลักความชอบธรรมของสิทธิมนุษยชนทั้งหมด” เขากล่าวย้ำ

นอกจากนั้น กฎหมายระหว่างประเทศยังห้ามรัฐบาลไม่ให้พรากสิทธิประการต่าง ๆ ไม่ว่าในสภาพการณ์ใด ๆ การจำกัดสิทธิบางประการอาจกระทำได้ตามเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง จำกัด และมีการกำหนดอย่างชัดเจนตามแต่พฤติการณ์ สุดท้าย กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้รัฐภาคีทุกแห่งของอาเซียนมีหน้าที่เคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานประการต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีระบบการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างไรก็ตาม

“เป็นที่ชัดเจนว่า เนื้อหาปัจจุบันของร่างปฏิญญาฯ มีแนวโน้มเบี่ยงเบนอย่างมากจากกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีอยู่ และน่ากังวล และยังเบี่ยงเบนจากกฎบัตรสิทธิมนุษยชนภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา และแอฟริกา” ซูเฮร์ เบลฮัสเสน (Souhayr Belhassen) ประธานของสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights - FIDH) กล่าว

“หากไม่มีการแก้ไขอย่างมากต่อเนื้อหาฉบับร่าง อาเซียนน่าจะรับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนในปี 2555 ซึ่งเป็นการให้อำนาจเพิ่มเติมกับรัฐภาคีของอาเซียนที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชน แทนที่จะให้หลักประกันเพิ่มเติมแก่ประชาชนในภูมิภาคเพื่อให้ปลอดพ้นจากการละเมิดดังกล่าว” ไมเคิล โบเคเน็ก (Michael Bochenek) ผู้อำนวยการแผนกกฎหมายและนโยบาย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

หน่วยงานต่าง ๆ กระตุ้นอย่างจริงจังในจดหมายเพื่อให้ผู้นำประเทศอาเซียนควรส่งปฏิญญาฉบับร่างกลับคืนไปที่คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) และให้มีคำสั่งให้แก้ไขฉบับร่างโดยผ่านกระบวนการที่โปร่งใส จริงจังและมีส่วนร่วม โดยมีการปรึกษาหารืออย่างเต็มที่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เนื้อหาต่ำกว่ามาตรฐานและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท