ครั้งแรก กับการไปพื้นที่พักพิงชั่วคราว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันที่ 26 ตุลาคม 2555 เป็นครั้งแรกในชีวิตของฉันที่ได้มีโอกาสร่วมคณะกับคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปเยือนค่ายผู้ลี้ภัย หรือที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

-1-

ตลอดเส้นทางจากอำเภอแม่สอด ไปยังบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง สองข้างทางเต็มไปด้วยความเขียวขจีของแปลงพืชไร่ และทิวทัศน์ของภูเขาตัดกับสีฟ้าของท้องฟ้า ในวันที่แดดดีอย่างนี้ ฉันคิดว่าถ่ายรูปแสงสวยแน่ๆ เมื่อถึงเขตพื้นที่พักพิงฯ ที่อยู่ติดริมถนนเส้นที่รถกำลังวิ่งอยู่นี้ หัวใจของฉันก็เริ่มสูบฉีด จะได้มีโอกาสเข้าไปเห็นสภาพภายในพื้นที่พักพิงฯกับตาตัวเองสักที ไม่น่าเชื่อว่าตั้งแต่ทำงานมา ยังไม่เคยได้ย่างกรายเข้ามาในพื้นที่พักพิงสักครั้ง

จากการนำเสนอของปลัดปรีดา ตระกูลชัย ในฐานะหัวหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ ได้ข้อมูลสำคัญว่า

ประชากรภายในพื้นที่พักพิงนี้ประกอบไปด้วย

1.ผู้หนีภัยการสู้รบที่คณะกรรมการของอำเภอและจังหวัดมีมติรับสถานะเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบ และได้จัดทำทะเบียนร่วมกับ UNHCR มีจำนวน 16,675 คน

2.ผู้หนีภัยทางการเมืองและไม่สามารถดำรงชีพในประเทศพม่าได้ 9,363 คน

3. ประชากรแอบแฝง     22,500 คน

มีประชากรจาก 13 ชนเผ่า แบ่งเขตการปกครองเป็น 3 โซน คือ A,B,C โดยมีหัวหน้าโซนดูแล และแต่ละโซนจะแบ่งเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านดูแล มีสถานศึกษาทั้งหมด 59แห่ง ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงวิทยาลัยเพื่อการประกอบอาชีพ แต่เนื่องจากสถานศึกษาเหล่านี้ไม่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากกระทรวงศึกษาของไทย จึงไม่สามารถออกวุฒิบัตรทางการศึกษาตามกฎหมายไทยได้  โดยโรงเรียนที่นี่ได้มีการเรียนการสอนถึง 4 ภาษาคือภาษาพม่า กะเหรี่ยง อังกฤษ และภาษาไทย

นอกจากจะมีหน่วยงานระหว่างประเทศ อย่าง UNHCR แล้วยังมีหน่วยงานองค์กรการกุศลเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยจากการสู้รบ ทั้งทางด้านสังคมสงเคราะห์ สาธารณสุข การศึกษา กฎหมาย การฝึกอาชีพ

ปัญหาที่น่าสนใจ
หนึ่ง
การจดทะเบียนการเกิด กรณีเด็กเกิดใหม่ มีปัญหาความล่าช้า เพราะโรงพยาบาลในพื้นที่พักพิงจะรวบรวมให้ได้จำนวนพอสมควรจึงจะส่งเอกสารให้แก่ปลัดฝ่ายทะเบียน โดยมีเอกสารที่คล้ายคลึงกับหนังสือรับรองการเกิด  ท.ร.1/1 เพื่อกรอกรายละเอียดของเด็กที่เกิดใหม่ เนื่องจากโรงพยาบาลนี้ไม่ถือเป็นสถานพยาบาล ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ทำให้ไม่สามารถออก ท.ร. 1/1 ได้ และไม่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตามเขตการปกครองของกระทรวงมหาดไทย จึงไม่มีผู้ออก ท.ร. 1ตอนหน้า ปลัดจึงต้องออก ท.ร. 100 และสอบ ป.ค. 14 เพื่อความมั่นใจทราบแน่ชัดเกี่ยวกับตัวพ่อ แม่เด็ก และหากเป็นกรณีแจ้งเกิดย้อนหลัง จะต้องมีคณะกรรมการพื้นที่พักพิงชั่วคราวและผู้ใหญ่บ้าน มาเป็นพยานบุคคลรับรองอีกชั้นหนึ่ง จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการออกสูติบัตรประเภท ท.ร.031 โดยความล่าช้าของกระบวนการทำให้เด็กที่เกิดในพื้นที่พักพิง แจ้งเกิดเกินกำหนด และเด็กกลุ่มที่พ่อแม่ไม่มีชื่อในทะเบียน ก็ไม่สามารถดำเนินการออกสูติบัตรให้ ปัญหาเหล่านี้เป็นโจทก์เก่าที่ยังไม่ได้แก้ไขสำหรับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ต้องคิดหาทางออกสำหรับการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายและสะดวกสำหรับการจดทะเบียนการเกิดเด็กในพื้นที่พักพิงต่อไป

แม้ว่าเด็กที่เกิดใหม่ทุกคนจะได้รับการจดทะเบียนการเกิด แต่ก็ยังเป็นปัญหาสำหรับอดีตเด็กทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด

สอง เรื่องคุณภาพของสถานศึกษา เนื่องจากหลักสูตรที่ทำการเรียนการสอนในพื้นที่พักพิงจัดการเรียนการสอนโดยอิสระ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ทำให้ไม่สามารถออกวุฒิบัตรทางการศึกษาได้ แต่เมื่อผู้ที่เข้ารับการเรียนได้รับความรู้ด้านหนึ่งด้านใดมา จึงมีประเด็นปัญหาว่า จะทำอย่างไรเพื่อมีหลักฐานรับรองการเรียนของคนเหล่านี้

สาม การส่งผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม แม้ว่าจะมีการส่งผู้หนีภัยจากการสู้รบไปยังประเทศที่สาม นับแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2549 ถึงตุลาคม พ.ศ. 2555 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 32,486คน ปัจจุบันUNHCR ดำเนินการให้สถานะผู้หนีภัย เฉพาะผู้ที่ต้องการรวมครอบครัวยังประเทศที่3 ซึ่งต้องดำเนินการสอบสวน ทำ pre scanning เพื่อให้ได้ความว่าเกี่ยวข้องกับผู้ที่อาศัยอยู่ ณ ประเทศที่สามอย่างไร

แต่เนื่องจากการจะถูกส่งไปยังประเทศที่สามได้ ผู้ลี้ภัยนั้นต้องได้รับการขึ้นทะเบียน persons of concern[1] เสียก่อน แต่ปัจจุบัน UNHCR ไม่สามารถขึ้นทะเบียนสถานะเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบได้  ประชากรประเภทแอบแฝงซึ่งเป็นคนหมู่มาก จึงไม่สามารถถูกส่งไปยังประเทศที่สามได้อย่างแน่แท้

-2-

และแล้วเวลาที่ฉันรอคอยก็มาถึง คือการเดินสำรวจภายในพื้นที่พักพิง อย่างกับคำกล่าวที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ถ้าไม่เห็นเอง สัมผัสเอง เราจะรู้ได้อย่างไร

ตามทางเดินเล็กๆ มีบ้านไม้ปลูกอย่างแน่นหนา ใช่สิ บนพื้นที่ 1,150 ไร่ มีบ้านเรือนถึง 4,583 ครอบครัว ฉันเดินตามถนนหลักของโซน C เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่โรงพยาบาล ฉันพบว่าที่นี่เหมือนชุมชนที่บ้านเรือนอยู่ติดๆกัน มีร้านขายของชำ ขายอาหาร ขนม ตัดผม ขายสินค้าทอมือที่ทำโดยผู้ลี้ภัย ซึ่งฉันช่วยอุดหนุนย่ามมา 1 ใบ ระหว่างทางเดิน ฉันก็เห็นที่ตั้งขององค์กรต่างๆที่ร่วมให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โรงเรียน ห้องสมุด จนเดินมาสุดที่สนามฟุตบอลที่ไม่มีหญ้าเลย มีแต่พื้นที่ที่ฝุ่นคลุ้งเมื่อเด็กๆแตะฟุตบอลกัน สุดทางข้างหน้าฉันคือโรงพยาบาลภายในพื้นที่พักพิง แต่เนื่องจากไม่สามารถถ่ายรูปภายในได้ ฉันจึงได้ยืนมองจากภายนอก ฉันเห็นป้าย OPD และ IPD แต่ตลอดเส้นทางเดินนี้ ฉันพบเด็กๆมากหน้าหลายตา ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กๆ เล่นกันอยู่ขวักไขว่ แม้เราจะพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่รอยยิ้ม และท่าทางเขินอาย แต่ยังร่วมเข้าเฟรมกล้องฉันอยู่ ทำให้ฉันรับรู้ได้ว่า นี่เป็นลักษณะของมิตรที่ยังไร้เดียงสา ไม่รู้ว่าเด็กๆเหล่านี้จะรู้หรือไม่ว่าทำไมถึงต้องอาศัยอยู่ภายในพื้นที่พักพิงแห่งนี้ หรืออาจจะคิดว่าที่นี่เป็นบ้านเกิด ที่ตนเกิด เติบโต และอาศัยอยู่เท่านั้น เป็นเด็กก็ดีอย่างที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก แตกต่างจากพวกผู้ใหญ่ ที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว

 จากที่เคยรับรู้มาว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิง ผู้ลี้ภัยไม่มีสิทธิได้รับการว่าจ้างทำงานตามกฎหมาย ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการรอรับอาหารจากทาง UNHCR ซึ่งทำให้ฉันคิดว่า อืม อย่างนี้นี่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือเปล่านะ แต่ในทางข้อเท็จจริงของข้อเท็จจริงอีกที กลับพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงออกไปรับจ้างทำงานข้างนอกพื้นที่พักพิง เพราะลำพังอาหารที่ UNHCR ให้มานั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จะทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงกลายเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้หนีภัยการสู้รบเหล่านี้ อาจถูกละเมิดสิทธิ และถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์กับพวกเขาได้ง่าย

ผู้ที่เข้าไม่ถึงสิทธิ แปรผันโดยตรงกับการถูกละเมิดสิทธิ

จะทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อาจเป็นเพียงแค่คำถาม ที่ทำได้แต่เพียงคิดอยู่ในใจ

 



[1] Persons of concern to UNHC

A generic term used to describe all persons whose protection and assistance needs are of interest to UNHCR. These include refugees under the 1951 Convention, persons who have been forced to leave their countries as a result of conflict or events seriously disturbing public order, returnees, stateless persons, and, in some situations, internally displaced persons. UNHCR's authority to act on behalf of persons of concern other than refugees is based on General Assembly resolutions.

http://www.icmc.net/glossary/term/319

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท