Skip to main content
sharethis

การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 14 “การปฏิรูปรัฐสภา: มุมมองเชิงเปรียบเทียบ” เวที “แนวทางการปฏิรูปรัฐสภาไทย” ‘ลิขิต ธีรเวคิน’ แนะปฏิรูปตัวแปร ‘ส.ว.ดิเรก’ ระบุอำนาจที่ 4 ทำให้รัฐสภาอ่อนแอ ด้าน ‘จาตุรนต์’ เตือน “แช่แข็งประเทศ” ส่อพาประเทศล่มจม

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 55 ที่ผ่านมาที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 14 “การปฏิรูปรัฐสภา: มุมมองเชิงเปรียบเทียบ” โดยการอภิปรายเรื่อง “แนวทางการปฏิรูปรัฐสภาไทย” มีวิทยากรนำอภิปรายคือ ศ.ดร. ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย, นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา จ.นนทบุรี, ศาสตราจารย์ ดร. ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ศาสตราจารย์ประจำสาขารัฐสาสตร์ มหาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โดยมีนางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ราชบัณฑิตแนะปฏิรูปหลายตัวแปร สร้างความเข้มแข็งระบบรัฐสภา

ในการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 14 “การปฏิรูปรัฐสภา: มุมมองเชิงเปรียบเทียบ” การอภิปรายเรื่อง “แนวทางการปฏิรูปรัฐสภาไทย” ศ.ดร. ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ได้อภิปรายถึงแนวทางว่าการจะทำให้รัฐสภาไทยเข้มแข็งนั้น เสนอว่าต้องปฏิรูป หลายตัวแปร เพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบรัฐสภา อาทิเช่น

1. ส.ส. ต้องปฏิรูปจิตสำนึกในการตระหนักถึงสถานะของตนเองในทางการเมือง คือตัว ส.ส. ต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเป็นใคร ต้องมีจิตสำนึกมีศักดิ์ศรีให้สมกับการเป็นตัวแทนที่ได้รับเลือกมาจากประชาชน โดยประสบการณ์ส่วนตัวที่ ศ.ดร. ลิขิต เคยเจอมานั้นมีหลายกรณีที่พบว่า ส.ส. ยังไม่เข้าใจสถานะของตนเอง ซึ่ง ศ.ดร. ลิขิต มองว่าศักดิ์ศรีและเกียรติของความเป็น ส.ส. นั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้าราชการประจำ ตัวอย่างเช่น เมื่อบางครั้งที่ ส.ส. เดินทางไปต่างประเทศการพูดจาระหว่าง ส.ส. กับเจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงสุดที่มีลักษณะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง ส.ส. บางคนมีความเคารพนบน้อมจนเกินเลยไป ซึ่งในความเป็นจริงทั้งสองฝ่ายควรให้เกียรติกันและกัน รวมถึงการที่องค์กรอิสระต่างๆ ก้าวล่วงไปพยายายามให้โอวาทชี้นำแก่ ส.ส.

“หรือครั้งหนึ่งได้มีการจัดเลี้ยงหลังการเลือกตั้ง และมี กกต. ท่านหนึ่งได้ขึ้นกล่าวให้โอวาทแก่ ส.ส. ให้รู้รักสามัคคี ลืมความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และช่วยกันทำงานให้ประเทศชาติ .. ผมสงสัยว่าคุณเป็นใครที่มาให้โอวาท ส.ส.” ศ.ดร. ลิขิต กล่าว

ทั้งนี้ ศ.ดร. ลิขิต มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจถึงฐานะที่แท้จริง เพราะ ส.ส. คือตัวแทนของประชาชน เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของ 3 อำนาจ กกต. เป็นเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะให้โอวาทชี้แนะชี้นำอะไรทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ศ.ดร. ลิขิต มองว่าแนะนำว่าตัว ส.ส. เองก็ต้องทำการปฏิรูปตนเองให้สมกับสถานทางการเมืองที่ตนเองเป็นอยู่

“การจะปฏิรูปสถานะของตนเองนั้น ก็ต้องทำให้ตนเองเป็นคนที่น่านับถือ มีความรู้ ไม่ขาดประชุม ถ้าทำไม่ได้เขาก็ไม่นับถือ” ศ.ดร. ลิขิต กล่าว

2. บทบาทของ ส.ส. และ ส.ว. ที่มีหน้าที่ 3 ประการคือ 1.การออกกฎหมาย (Lawmaker-legislator), 2.การพิจารณางบประมาณ และ 3. ตรวจสอบการบริหารงานให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยการออกกฎหมายนั้น ศ.ดร. ลิขิต เห็นว่าต้องมีการปฏิรูปแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้จากประสบการณ์การเป็น ส.ส. ของ ศ.ดร. ลิขิต พบว่าเรามักจะให้น้ำหนักและความสำคัญแก่ฝ่ายบริหารมากเกินไป เราลืมนึกไปว่า ส.ส. ผู้ออกกฎหมายมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและต่อกระบวนการยุติธรรม และความยุติธรรมในสังคม

3. การสนับสนุน (Logistics Support) แก่ ส.ส. และ ส.ว. เช่น เงินเดือนผู้ช่วย ส.ส. และ ส.ว. ต้องอยู่ในระดับที่จูงใจให้คนที่มีคุณภาพมาทำงานให้กับ ส.ส. และ ส.ว. โดยให้เป็นผู้ช่วยทางฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนผู้ช่วยส่วนตัวนั้นให้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“เงินเดือนผู้ช่วย ส.ส. ส.ว อย่างน้อย 30,000 บาท ต้องให้เขา และให้มี นักเศรษฐศาสตร์ 1 คน นักนิติศาสตร์ 1 คน และทั่วไป 1 คน แค่นี้พอ ให้ทำงานอย่างจริงๆ จังๆ มันจะได้เป็นเนื้อเป็นน้ำ … ไม่ใช่แค่เอาไว้หิ้วกระเป๋าแล้วก็ไปซื้อตั๋วเครื่องบินให้” ศ.ดร. ลิขิต กล่าว

รวมถึงเรื่องค่าตอบแทนให้แก่ ส.ส. และ ส.ว. ต้องอยู่ในระดับที่ดีและสมเหตุสมผล แต่สังคมไทยส่วนใหญ่ยังคงมีอคติกับเรื่องนี้ เพราะค่าใช้จ่ายของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงข้าราชการต่างๆ มันจะต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน

“แล้วก็รายได้ ส.ส. ผมว่าหยุดพูดแบบนี้ได้แล้ว คนไทยชอบพูดแล้วเพราะ พูดแล้วไพเราะ พูดแล้วเหมือนกับว่าตัวเองเป็นเทวดา ส.ส. และ ส.ว. ควรเสียสละเพื่อชาตินะ ไม่ควรรับเงินเดือน มันเพราะดียิ่งใหญ่มาก แต่ความเป็นจริงมันเป็นไปได้หรือ” ศ.ดร. ลิขิต กล่าว

4. พรรคการเมือง ศ.ดร. ลิขิต มองว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่สำคัญมากที่สุดต่อจากรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่กลั่นกรองสมาชิกไปให้ประชาชนเลือก ถ้าพรรคการเมืองเป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจหรือเป็นของคนกลุ่มเล็กๆ มีการบริหารไม่เป็นประชาธิปไตย คัดแต่คนที่มีโอกาสได้เสียงลงเท่านั้น แต่สมาชิกพรรคไม่มีวินัย ไม่มีเอกลักษณ์ ไม่มีอัตลักษณ์ของพรรคการเมืองของตนเองติดตัวอยู่เลย เหมือนในต่างประเทศที่พรรคอนุรักษ์นิยม หรือพรรคสังคมนิยม จะมีภาพของพรรคติดตัว ส.ส.  รวมถึงพรรคการเมืองจะต้องเข้มแข็งด้วยโดยควรจะมีสถาบันวิจัยเป็นของตัวเองเพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างเป็นระบบและตรวจสอบความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. การปฏิรูปประชาชน โดย ศ.ดร. ลิขิต กล่าวว่า “if you are not economically independent, you cannot be politically independent” คือ ถ้าประชาชนไม่สามารถเป็นอิสระทางการเมืองได้ ก็ไม่สามารถเป็นอิสระทางการเมืองได้ ซึ่งไม่สามารถโทษประชาชนได้ ต้องโทษฝ่ายที่ปกครองบ้านเมือง และกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปประชาชนและพรรคการเมือง

6. สภาพแวดล้อมของรัฐสภา อาคาร สถานที่ทำงาน และข่าวสารข้อมูลให้ ส.ส. และ ส.ว.  ศ.ดร. ลิขิต เห็นว่าสภาพแวดล้อมของรัฐสภาในปัจจุบัน ไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมให้ ส.ส. และ ส.ว. พัฒนาตนเอง เช่น ห้องสมุดที่ไม่มีคุณภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐสภาไทยไม่ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ เลย แม้จะมีการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ก็ยังให้ความสำคัญกับเนื้อหาความรู้น้อยมาก ไม่มีการพัฒนาให้ทันสมัย รวมทั้งการจัดเตรียมข้อมูลต่างๆ ทั้งในด้านกฎหมายและข่าวสารข้อมูลต่างๆ ไว้รองรับการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. ทั้งเป็นสิ่งพิมพ์และในระบบออนไลน์ต่างๆ ให้เข้าถึงได้ง่าย เพื่อประโยชน์ในการทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติและตรวจสอบ

และ 7. ส.ส. และ ส.ว. ต้องได้รับ บำเหน็จและบำนาญ เพื่อการันตีความมั่นคงให้หลังเกษียรอายุ

 

‘ดิเรก ถึงฝั่ง’ ระบุอำนาจที่ 4 ทำให้รัฐสภาอ่อนแอ

ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา จ.นนทบุรี กล่าวถึงปัญหาของรัฐสภาไทยว่าระบบรัฐสภานั้นไม่ได้มีปัญหาในตัวของมันเองแต่ปัญหาอาจจะอยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ได้ลดทอนอำนาจของรัฐสภาลง และถึงแม้จะมีความพยายามในการแก้ไข แต่ก็พบว่ามีขบวนการพิทักษ์รัฐธรรมนูญปี 2550 เคลื่อนไหวต่อต้านอยู่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ผ่านมาที่การแก้ไขในรัฐสภาได้ผ่านถึงวาระที่ 3 แล้ว แต่ปรากฏว่าฝ่ายพิทักษ์รัฐธรรมนูญปี 2550 กลับใช้ ม. 154 ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจนบัดนี้รัฐสภาไม่สามารถลงมติในวาระที่ 3 ได้เพราะการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ทั้งๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญควรทำหน้าที่ตีความตามตัวอักษร แต่กลับไปตีความนอกตัวบท

ซึ่งนายดิเรกเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้กลายเป็นอำนาจที่ 4 ไปแล้ว ทั้งๆ ที่ระบอบประชาธิปไตยควรมีแค่ 3 อำนาจ คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ไม่ควรมีอำนาจที่ 4 คือศาลรัฐธรรมนูญ ที่คอยควบคุมการทำงานของรัฐสภา รวมทั้งการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในหลายๆ กรณีทำให้เกิดความล่าช้าในการออกกฎหมายต่างๆ ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้รัฐธรรมนูญ 50 เพื่อให้รัฐสภามีอำนาจในการตรวจสอบดูแลควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลได้

นอกจากนี้นายดิเรกยังชี้ให้เห็นด้วยว่าปัญหาของระบอบรัฐสภายังมีปัญหาที่ตัวบุคคลด้วยเช่นกัน ส.ส. และ ส.ว. มีการตั้งกันเป็นก๊วนเป็นแก๊งค์ ไม่มีสปิริต เกิดการประหัตประหารแย่งชิงอำนาจกัน สะท้อนให้เห้นว่าสมาชิกรัฐสภาของประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการพัฒนาบ้านเมือง ดังนั้นการยึดแนวทางของความเป็นธรรมของ ส.ส. และ ส.ว. จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่งในสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ รวมถึงกลไกในการทำงานในรัฐสภานั้นควรมีข้อบังคับให้รัฐบาลหรือรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ของส.ส. และ ส.ว. ในสภาฯ ด้วย หากไม่มาจะถูกลงโทษเหมือนกับการบังคับใช้ พ.ร.บ. เรียกบุคคลมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ

ทั้งนี้ผู้ดำเนินรายการได้ซักถึงประเด็นความเห็นของนายดิเรกว่าต้องการให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญไปหรือไม่นั้น นายดิเรกกล่าวว่าพิจารณาเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะต้องการให้รัฐธรรมนูญนั้นมาจากประชาชนโดยตรง เราจะไม่ไปชี้นำว่าอะไรควร หรือไม่ควร เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามย้ำอีกว่า ถ้าให้ตอบในฐานะประชาชนได้หรือไม่ ดร.ดิเรก ตอบว่า

"รัฐธรรมนูญต้องกำหนดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ไม่ใช่ให้กลายเป็นอำนาจที่ 4 ที่ทำให้เสาหลัก 3 เสานั้นเกิดความโยกคลอนและเคลื่อนไหว ชัดเจนไหมครับ"

 

‘ธีรภัทร์’ เสนอเลือกนายกโดยตรง สส.ห้ามเป็นรัฐมนตรีช่วยในหลวงหลุดพ้นการเมือง

ศาสตราจารย์ ดร. ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ศาสตราจารย์ประจำสาขารัฐสาสตร์ มหาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอการเลือกตั้งนายกโดยตรงและแยก ส.ส.ออกจากการบริหาร ซึ่งจะทำให้พระมหากษัตริย์หลุดพ้นเหนือไปจากการเมือง

ศ.ดร. ธีรภัทร์ เสนอว่าควรจะมีการเลือกตั้งนายกโดยตรงและแยกส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ดำรงค์ตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้เป็นอย่างดีเพราะมันไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนซื้อเสียง ลดความต้องการผลประโยชน์ของนักธุรกิจ ให้นายกแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีลงเลือกตั้งเสนอต่อประชาชน ส.ส.ทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างแท้จริง ทั้งนี้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้พระมหากษัตริย์หลุดพ้นจากการเมืองโดยสิ้นเชิง

ในเรื่องการคอรัปชั่นนั้นศ.ดร. ธีรภัทร์ ได้อ้างถึงบทความ "คอร์รัปชั่นไทย ก้าวหน้าเกินใคร" เขียนโดย ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา ที่วิเคราะห์ว่าโครงสร้างตลาดค้างบประมาณในระบบคอร์รัปชั่นแบบใหม่ออกเป็น 3 ตลาด (คล้ายกับตลาดทุน) คือ ตลาดหลัก ตลองรอง และตลาดย่อย

โดยในบทความระบุว่า ตลาดหลัก คือ ต้นทางของระบบการคอร์รัปชั่นโครงการ Mega project ทั้งหลาย เริ่มต้นกันที่ระดับชาติ โดยกลุ่มธุรกิจการเมืองระดับชาติ ซึ่งมีอำนาจอยู่ในมือ, ตลาดรอง คือ กลุ่มผู้ค้างบประมาณ ที่เหมาซื้องบประมาณมาจากกลุ่มธุรกิจการเมืองระดับชาติ จะมีวิธีค้ากำไรจากงบประมาณ และตลาดย่อย คือ บรรดาบริษัทที่ซื้องบประมาณโครงการใหญ่ๆ เมื่อได้โครงการมา ก็มาว่าจ้างผู้รับเหมารายย่อย ไปดำเนินการต่อ พร้อมกับหักค่าหัวคิวเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง เช่น 5-10% เป็นต้น

ทั้งนี้ ศ.ดร. ธีรภัทร์ ยังเห็นว่าปัญหาในรัฐสภามีทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงบุคคล การที่จะปฏิรูปโครงสร้างโดยมีการเลือกตั้งนายกโดยในรัฐสภาควรที่จะให้ประชาชนลงมัติด้วยรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพราะที่ผ่านมานักการเมืองไม่กล้าจะทำประชามติเพื่อฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง และยังเสนอด้วยว่าหากจะแก้ไขรัฐะรรมนูญปี 2550 ก็ควรจะทำประชามติถามประชาชนเสียก่อนเพราะรัฐธรรมนูญนี้แม้จะมีข้อเสียแต่ก็ได้มาจากเสียงของประชาชน ไม่ใช่มานั่งถกเถียงกัน และก็ขัดแย้งกัน ประชาชนควรมีบทบาทในการเป็นตัวแทนการลงมติ ประชาธิปไตยน่าจะมีเสถียรภาพและสามารถพัฒนาต่อไปได้ในทางที่ดี ทุกฝ่ายจะต้องมีโครงสร้างกลไก ความรับผิดชอบ และความโปร่งใส และจะนำไปสู่ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

 

‘จาตุรนต์’ เตือนระวัง ‘แช่แข็งประเทศ’ จุดชนวนการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตาม รธน.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้ทัศนะถึง 2 กระแสความเคลื่อนไหวที่สวนทางกัน ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายที่ต้องการแช่แข็งประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นการทำลายระบบรัฐสภา

นายจาตุรนต์ ระบุว่าระบบรัฐสภากับระบบพรรคการเมืองประเทศไทยยังมีการส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยน้อยเกินไป และกลไกของรัฐสภาก็ยังทำงานในเรื่องดังกล่าวน้อยเกินไปเช่นกัน ซึ่งความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศ เป็นปัญหาที่ต้องมีการแก้ไข และการจะปฏิรูปรัฐสภาก็ต้องเริ่มจากการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยก่อน

นายจาตุรนต์ กล่าวว่าความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยกำลังถดถอยลงและระบบรัฐสภาถูกจำกัดบทบาทมากขึ้น พร้อมเห็นว่าประเทศไทยกำลังเผชิญ 2 กระแสที่สวนทางกัน คือ 1.ฝ่ายที่ต้องการเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น กับ 2.ฝ่ายที่ต้องการล้มล้างระบบรัฐสภา ซึ่งมองว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายในประเทศอย่างมาก และตนเห็นว่าสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวในสภาที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป้าหมายเพื่อล้มรัฐบาลอย่างที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว ทั้งยังต้องการให้แช่แข็งประเทศไทยอีก 5 ปี

นอกจากนี้นายจาตุรนต์เห็นว่า แม้การเคลื่อนไหวนอกสภาจะเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่จะเป็นปัญหาหากข้อเสนอไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย มีความต้องการแช่แข็งประเทศ จึงถือเป็นความล่อแหลมที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ความไม่มีเสถียรภาพ และประเทศต่างๆ จะขาดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย

 

ที่มาข่าว: เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net