สุรพศ ทวีศักดิ์: ภาวะย้อนแย้งในพุทธศาสนาไทยๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
ภาวะย้อนแย้ง (paradox) ในตัวเองของพุทธศาสนาไทยๆ กลุ่มต่างๆ มีความสลับซับซ้อนไม่แพ้ความสลับซับซ้อนภายในกลุ่มการเมืองกลุ่มต่างๆ เช่น
 
1) ภาวะย้อนแย้งในตัวเองของพระสงฆ์ที่สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดง ในปี 53 ผมทำวิจัยเรื่อง “ความคิดทางจริยธรรมกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน” พบว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดง แต่พระสงฆ์เหล่านี้คือพระสงฆ์กระแสหลักสังกัดมหาเถรสมาคม ซึ่งมหาเถรสมาคมคือองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ที่มีบทบาทหลักในการปกป้อง “พุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ด้วยการสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมผ่านคำเทศนา พิธีกรรม และกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนา
 
แต่ข้อเท็จจริงที่พบคือ พระที่เป็นแกนนำหลักในการจัดการชุมนุมของพระสงฆ์ร่วมกับคนเสื้อแดงในปี 53 เป็นพระที่มีบทบาทประสานงานทั้งกับแกนนำ นปช. พระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม แม้กระทั่งสามารถโทรศัพท์สายตรงถึงคุณทักษิณได้ด้วย แน่นอนว่า การชุมนุมปี 53 น่าจะได้รับไฟเขียวจากระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมด้วยเช่นกัน นี่คือความย้อนแย้งประการหนึ่ง เป็นความย้อนแย้งระหว่างสถานะของพระสงฆ์ผู้มีบทบาททางการสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม กับบทบาทของพระสงฆ์ที่สนับสนุนการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย
 
ยิ่งกว่านั้น ยังมีความย้อนแย้งที่ซับซ้อนขึ้นอีก เมื่อวาระการต่อสู้ของพระสงฆ์ที่ชุมนุมสนับสนุนฝ่ายเสื้อแดงมีการแอนตี้สันติอโศกอยู่ด้วย มีความคาดหวังเรื่องการบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอยู่ด้วย มีความคาดหวังความง่ายขึ้นในการผลักดันกฎหมายที่เอื้อต่อพุทธศาสนาผ่านรัฐบาลพรรคการเมืองที่กลุ่มตนสนับสนุนอยู่ด้วย
 
รวมทั้งความย้อนแย้งระหว่างการสนับสนุนการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย กับการกระทำที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เช่น กรณีที่พระแกนนำของพระสงฆ์ที่สนับสนุนเสื้อแดงออกมากดดันให้ คำ ผกา กล่าวขอขมาคณะสงฆ์ เพราะไปวิจารณ์การสวดมนต์ข้ามปีในรายการ “คิดเล่น เห็นต่าง” เป็นต้น
 
2) ความย้อนแย้งในตัวเองของธรรมกาย โดยภาพลักษณ์ที่ปรากฏ ธรรมกายคือกลุ่มชาวพุทธที่มีวัฒนธรรมการจัดการองค์กรแบบสมัยใหม่ ทว่าความย้อนแย้งประการหนึ่งคือ โครงสร้างการบริหารของธรรมกายเป็นประชาธิปไตยภายใต้ “เจ้าอาวาสผู้ทรงคุณวิเศษ” เหนือสามัญมนุษย์ เจ้าอาวาสคือ “พระราชาในวัด” (คำเปรียบเทียบของ อ.มโน เลาหวนิช) ที่ทรงอำนาจบารมีเหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ ความเป็นประชาธิปไตยภายในกลุ่มธรรมกายจึงมีได้ในระดับต่ำกว่าเจ้าอาวาสลงมา
 
ความย้อนแย้งอีกประการคือ ธรรมกายดูเหมือนมีแนวทางการเผยแผ่พุทธศาสนา และการบริหารจัดการที่เป็นอิสระจากมหาเถรสมาคม ทว่าก็ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม อาศัยคอนเนกชั่นกับพระผู้ใหญ่ในสมาเถรสมาคมในการทำโปรเจคต์ใหญ่ๆ ทางพุทธศาสนาระดับชาติ รวมทั้งศักยภาพของธรรมกายน่าจะเป็นศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐที่สามารถบริหารจัดการตนเองในรูปองค์กรเอกชนได้สบายๆ แต่ธรรมกายก็อาศัยความเป็นองค์กรศาสนาที่ขึ้นต่อรัฐเป็นฐานสร้างคอนเนกชั่นกับระบบราชการ นักการเมือง พรรคการเมืองเพื่อสร้างโปรเจคต์ต่างๆ ระดับชาติเกี่ยวกับการจัดคอร์สปฏิบัติธรรม และอื่นๆ
 
ในขณะเดียวกันธรรมกายดูเหมือนสนับสนุนพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง แต่วัฒนธรรมองค์กรของธรรมกายก็ไม่ใช่วัฒนธรรมประชาธิปไตย ความคิดเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของธรรมกายไม่ปรากฏต่อสาธารณะเลย
 
3) สันติอโศกเป็นพุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ เนื่องจากไม่ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐผ่านสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติและกรมการศาสนา ในแง่นี้สันติอโศกจึงดูเป็นพุทธฝ่ายก้าวหน้า ทว่าวาระทางการเมืองระดับชาติกลับล้าหลัง เพราะแทนที่จะสนับสนุนการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย กลับต่อสู้เพื่อปกป้องอุดมการณ์ราชาชาตินิยม
 
สันติอโศกที่แอนตี้มหาเถรสมาคมกลับทำหน้าที่เสมือนมหาเถรสมาคม คือทำหน้าที่สนับสนุนพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ในอดีตสันติอโศกเคยต่อสู้เพื่อเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้มีอิสรภาพจากระบบเผด็จการขุนนางพระที่ขึ้นต่ออาวุโสทาง “สมณศักดิ์” ทว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 6 ปี ที่ผ่านมา สันติอโศกกลับออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องโครงสร้างอำนาจอันเป็นที่มาของระบบอำนาจที่เคยกดขี่ตน
 
ภาวะย้อนแย้งในตัวเองของชาวพุทธกลุ่มต่างๆ ดังกล่าว ส่งผลให้พุทธศาสนาไทยๆ ไร้พลังทางศีลธรรมที่จะชี้ทางสว่างแก่สังคมใน “สถานการณ์เปลี่ยนผ่าน” อย่างสิ้นเชิง เพราะศีลธรรมที่พุทธไทยๆ แสดงมักเป็นศีลธรรมแห่ง “การเมืองทางศาสนา” ที่มีวาระมุ่งความมั่นคง มุ่งแสวงหาความศรัทธาในแนวทางเฉพาะของตน และผลประโยชน์ของกลุ่มตน มากกว่าที่จะมุ่งยืนยันสัจจะ ความเป็นเป็นธรรม และอิสรภาพจากการถูกครอบงำกดขี่ทุกรูปแบบ
 
ฉะนั้น หากพุทธศาสนาดั้งเดิมเกิดขึ้นเพื่อปลดปล่อยมนุษย์สู่เสรี พุทธศาสนาไทยๆ ก็กำลังทำหน้าที่ตรงข้าม คือทำการปลูกฝังให้ผู้คนบูชาความศักดิ์สิทธิ์ของระบบที่พันธนาการมนุษย์!    
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท