Skip to main content
sharethis

13 พ.ย. 55 - ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 สมัยสามัญทั่วไป มีการพิจารณาเรื่องด่วนตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอมา คือเรื่องการรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัด ตั้งในลักษณะองค์กร เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190

'พงศ์เทพ' ระบุหากไม่รับรอง ประเทศก็เป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการ ใช้เครื่องมือกลกลของอนุสัญญาได้ไม่เต็มที่

โดยเมื่อเวลา 11.00 น.ประธานที่ประชุมได้ให้สมาชิกอภิปรายเรื่องการรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติ เพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรนั้น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชี้แจงสาระสำคัญแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะ องค์กร ประเทศไทยได้ลงนามเป็นประเทศสมาชิกในอนุสัญญาดังกล่าว เมื่อ 13 ธันวาคม 2543 และมีผลบังคับใช้วันที่ 29 กันยายน 2546 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณ เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 190 เสียก่อน

โดยความจำเป็นและประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับเมื่อดำเนินการให้ความเห็นชอบ อนุสัญญาฯ เพราะปัญหาองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ เพราะมีผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยกลุ่มองค์กรอาชญากรรม มีการตั้งเครือข่ายแบบข้ามพรมแดน และการกระทำความผิดนั้นเกี่ยวข้องกับเขตอำนาจของรัฐต่อรัฐ ซึ่งการที่ให้ประเทศใด ประเทศหนึ่งจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นไปไม่ได้

ทั้งนี้ประเทศไทยตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมข้ามชาติร้ายแรงหลายประเภท เช่น การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ โดยประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้รับ และผู้ส่ง รวมถึงเป็นรัฐทางผ่าน เพราะทำเลที่ตั้งของประเทศ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้ที่กระทำผิดสามารถเดินทางติดต่อไปยังสถานที่อื่นได้สะดวก นอกจากนั้นยังมีปัจจัยให้องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ กลุ่มต่างๆ ใช้ประเทศไทยเป็นฐานประกอบอาชญากรรม

นายพงศ์เทพ ชี้แจงต่อไปว่าปัจจุบันประเทศไทยที่ลงนามในอนุสัญญาฯ เข้าร่วมประชุมรัฐภาคีได้ในฐานะแค่รัฐสังเกตการณ์ ไม่สามารถใช้กลไกความร่วมมือตามอนุสัญญาฯ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ได้ การให้สัตยาบรรณ จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ ในการร่วมมือกับประชาคมโลก ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

โดยหลักการและสาระสำคัญ ของอนุสัญญาฯ ด้วยว่า มีขอบเขตการใช้บังคับในการป้องกัน การสืบสวนและการดำเนินคดีเกี่ยวกับฐานความผิดที่ระบุไว้ในอนุสัญญา ทั้งหมด 4 ฐานความผิด ได้แก่

1.การมีส่วนร่วมในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม

2.การฟอกทรัพย์สินที่ได้มาจากกระทำความผิด

3.การกระทำทุจริตคอร์รัปชัน

4.การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และได้ขยายไปยังฐานความผิดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เมื่อความผิดนั้นเป็นลักษณะของการข้ามชาติและเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม

ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศที่ได้ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ ด้วยว่า ส่งผู้ร้ายข้ามแดน การโอนตัวนักโทษ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญา รวมถึงการรวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะอาชญากรรมระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง, การฝึกอบรมและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ รวมถึงมาตรการอื่นว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ คุ้มครองผู้เสียหาย คุ้มครองพยานจากการล้างแค้นหรือข่มขู่

นายพงษ์เทพ ระบุว่า หลังจากที่รัฐสภาเห็นชอบอนุสัญญา แล้ว รัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.... ต่อรัฐสภาให้พิจารณา และกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะได้ให้สัตยาบรรรณอนุสัญญาฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยต่อไป

ส.ว. แนะปรับปรุงกฎหมาย-โครงสร้างความมั่นคง รองรับอนุสัญญาฯ

พลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายเห็นด้วยกับการรับอนุสัญญาฯ เพราะมองว่ากฎหมายของไทยปัจจุบันยังไม่เอื้อเกี่ยวกับเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการข่มขู่ชักจูงพยาน กฎหมายไทยไม่สามารถสาวถึงผู้บงการ เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมาย รวมถึงกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรืออัยการ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้พลอากาศเอก วีรวิท เห็นว่าควรปรับปรุงโครงสร้างระบบความมั่นคงของประเทศ ที่ต่อการเอื้อให้พลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งสามารถความคุมฝ่ายความมั่นคงได้จริงด้วย

'วัชระ' ชี้รับอนุสัญญาฯ เป็นผลดีถ้านำผู้ฉ้อราษฎร์บังหลวงที่หลบหนีไปต่างประเทศ กลับมาดำเนินคดีได้

นายวัชระ เพชรทอง ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายให้ความเห็นว่าขอสนับสนุนให้สภาฯ ลงมติรับอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ เพราะอนุสัญญาฉบับดังกล่าวอาจจะทำให้ผู้ฉ้อราษฎร์บังหลวงที่หลบหนีไปต่าง ประเทศ ถูกจับส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย  ทั้งนี้เพราะอนุสัญญาฯ มีขอบเขตการใช้บังคับกับการป้องกัน การสืบสวน และการฟ้องคดีอาญาสำหรับการมีส่วนร่วมในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม การฟอกทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด การฉ้อราษฎร์บังหลวง การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และสำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เมื่อมีลักษณะเป็นความผิดข้ามชาติและเกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศหากประเทศไทยได้รับอนุสัญญาฯ นี้ แต่ทั้งนี้นายวัชระยังตั้งข้อสังเกตในรายละเอียดในเรื่องที่ว่าด้วยการสืบ สวนในกรณีพิเศษด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าหากต่างประเทศใช้เครื่องบินไร้คนขับมาโจมตีเป้าหมายในประเทศไทยนั้นจะทำได้หรือไม่

ด้านนายพงศ์เทพ ได้ชี้แจงประเด็นที่นายวัชระตั้งข้อสงสัยว่าเมื่อเข้าไปให้สัตยาบรรณกับ อนุสัญญาดังกล่าวแล้ว จะมีผลบังคับใช้ มีผลเอาผิดในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ที่มีคนร่วมกระบวนการ เกิน 3 คนขึ้นไป และต้องมีสถานะอาชญากรรมข้ามชาติ คือเป็นการกระทำจากรัฐ ไปสู่อีกรัฐหนึ่ง หรือเป็นความผิดอาญาในรัฐหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่การกระทำความผิดโดยบุคคลทั่วไป


ทั้งนี้หลังจากการชี้แจงและอภิปราย รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบให้รับอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้าม ชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร โดยเห็นชอบ 455 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง จากผู้เข้าร่วมลงมติ  460 คน



ที่มาข่าว: เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net